6 ก.พ. 2022 เวลา 15:12 • ไลฟ์สไตล์
“สรุปใจความสำคัญในการปฏิบัติธรรม”
“ … สติ เกิดจากถิรสัญญา
ถิรสัญญา แปลว่า การจำได้อย่างแม่นยำ
การจำสภาวะได้อย่างแม่นยำ สติจะเกิด
สติตัวนี้คือสติปัฏฐาน ไม่ใช่สติธรรมดาอย่างโลกๆ
สติธรรมดาอย่างโลกๆ ก็มี
สติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นมา เป็นสัมมาสติ
พวกที่เรียนตำราเฉยๆ จะบอก
ไม่มีหรอกคำว่า สัมมาสติ
เพราะสติทุกตัวเป็นสัมมา ไม่ใช่
พระพุทธเจ้ากำหนด scope ไว้
ตัวที่เป็นสัมมาสติจริงๆ คือสติปัฏฐาน 4
มีสติระลึกรู้กายเนืองๆ รู้เวทนาเนืองๆ
รู้จิตเนืองๆ รู้สภาวธรรมเนืองๆ
ไม่ใช่ไม่ดื่มสุรา การดื่มสุราทำให้ขาดสติ
อันนั้นสติอย่างโลกๆ ท่านเรียกว่า สติธรรมดา
คำว่าสัมมาสติ คำว่ามิจฉาสติยังมีเลย
ในพระไตรปิฎก มีคำว่ามิจฉาสติด้วย
ไม่ใช่ว่ามีแต่สัมมาสติ
มิจฉาสติ คือ สติ โลกๆ นี้ล่ะ
เดินไม่ตกถนนเรียกมีสติ
แต่ถ้าจะเป็นสัมมาสติจริงๆ
คือสติระลึกรู้รูปนาม สติระลึกรู้
สติปัฏฐาน 4 ก็คือรูปกับนามนั่นล่ะ
วิธีรวบยอด ฝึกให้ได้ทั้งสติและสมาธิด้วยวิธีเดียวกัน
ฉะนั้นเราก็จะฝึก แต่ว่าเรามีวิธีรวบยอด ย่อลงมาเลย
สามารถฝึกให้ได้ทั้งสติ ทั้งสมาธิด้วยวิธีเดียวกัน
อย่างเราทำกรรมฐาน อันนี้เป็นวิธีลัดเลย ไม่ต้องแยกฝึก
ไม่ใช่มาเจริญสติปัฏฐานเพื่อให้เกิดสติ
แล้วก็มาแบ่งเวลามาทำในรูปแบบ
เพื่อให้เกิดสมาธิที่ถูกต้องอะไรอย่างนี้ ไม่จำเป็น
มีวิธีที่ลัดสั้นกว่านั้นอีก รวบ 2 อันนี้เข้าด้วยกัน
ทำได้ วิธี อย่างเราหายใจเข้า รู้สึก หายใจออก รู้สึก
แล้วจิตมันหนีไป เรารู้สึก
ต่อไปพอจิตมันหนีปุ๊บ มันจะระลึกได้เอง
มันจำได้ว่าจิตที่หลงไปคิดเป็นอย่างไร
นี่เรียกว่ามันมีถิรสัญญาแล้ว มันจำได้แล้ว
พอจิตหลงไปคิดทีแรกไปคิดตั้งชั่วโมง ยังไม่รู้เลย
พอฝึกมาคิด 5 นาทีรู้แล้ว คิด 1 นาทีรู้แล้ว
ต่อไปจิตเคลื่อนปั๊บ รู้ปั๊บเลย
ยังไม่รู้ว่าจะไปคิดเรื่องอะไร
แค่มันจะไหลไปคิด สติระลึกแล้ว
เพราะว่าอะไร เพราะเราเกิดถิรสัญญาแล้ว
เราจำได้แม่นแล้วว่า จิตที่มันเคลื่อนไป
มันจะเคลื่อนไปคิด มันเป็นอย่างไร
เพราะฉะนั้นถ้าเราหัดทำกรรมฐานอย่างที่หลวงพ่อบอก
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง จิตเคลื่อนแล้วรู้
อาจจะเคลื่อนไปคิด หรือเคลื่อนไปเพ่งก็รู้เอา
ตรงไปเพ่งคือหลงเหมือนกัน
ถ้าว่าไปจริงๆ คือจิตมันเคลื่อนออกจากฐานไป
เพราะฉะนั้นบางทีเราดูในร่างกายเราอยู่
จิตมันไหลเข้าไปในร่างกาย อันนี้จิตไม่ตั้งมั่นแล้ว
เรียกจิตส่งออกนอกแล้ว
แต่ส่งเข้าไปข้างใน ก็เรียกออกนอกเหมือนกัน
ออกนอกจากฐานของความรับรู้ ของตัวรู้
เราทำกรรมฐานไป ย่อๆ เลย ง่ายๆ เลย
ทุกวันต้องทำ มีเครื่องอยู่อย่างหนึ่ง
แล้วรู้ทันจิตตัวเองไว้ จิตหนีไปคิด ทิ้งเครื่องอยู่
เช่น ทิ้งพุทโธไปคิดเรื่องอื่น คิดเรื่องโควิดอะไรอย่างนี้
รู้ทันว่าจิตไหลไปแล้ว
หรือหายใจอยู่ จิตไหลไปอยู่ที่ลม
รู้ว่าจิตไหลไปอยู่ที่ลมแล้ว จิตผู้รู้ก็เกิด
ต่อไปพอจิตมันไหล มันเคยเห็นจิตไหลบ่อยๆ
วันหนึ่ง ไหลร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้งแล้ว
ยิ่งฝึกจะยิ่งเห็นว่ามันไหลบ่อยที่สุดเลย
ถ้าไม่เคยฝึก วันหนึ่งไหลไม่กี่ครั้งหรอก
บางคนครั้งเดียววันหนึ่ง ตั้งแต่ตื่นจนหลับ
ไม่เคยกลับมาเลย นี่หลงวันละครั้ง ไม่ได้เรื่องเลย
บางคนหลง วันละ 2 ครั้ง
หลงวันละ 2 ครั้งคือประเภทไหน
หลงยาวเลยแล้ว รู้สึกตัวได้แวบหนึ่งแล้วหลงอีกยาวเลย
ทั้งวันรู้สึกตัวครั้งเดียว ก็หลง 2 ครั้ง ก็เลยมีสมการ
หลง เท่ากับ รู้บวกหนึ่งๆ
ฉะนั้น ต่อไปพอเราหลงแล้วเรารู้ๆ เราจะหลงบ่อย
แต่หลงสั้น ยิ่งหลงบ่อย ยิ่งหลงปุ๊บรู้ปั๊บ หลงบ่อยมากเลย
วันละแสนครั้งอะไรอย่างนี้ แสดงว่าสติเกิด
หนึ่งแสนลบหนึ่งครั้ง
ไปเฝ้ารู้ แล้วสติจะเกิดถี่ขึ้นๆๆ
หัดรู้สภาวะไป พอจิตมันหนีไปที่อื่น รู้ทัน
จิตมันถลำไปที่สภาวะ รู้ทัน เราก็จะจำ
ถึงจุดหนึ่ง เราจะจำสภาวะที่จิตเคลื่อนได้
พอจิตมันเคลื่อนปุ๊บ สติจะเกิดอัตโนมัติ
แล้วสมาธิตั้งมั่นก็จะเกิดอัตโนมัติด้วย
นี่เป็นวิธีที่รวบเลย ทำอย่างเดียว
ยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว
คือได้สติที่ถูกต้องและสมาธิที่ถูกต้อง
ทำกรรมฐานไปแล้วรู้ทันจิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ
เคลื่อนไปคิดก็รู้ จะเคลื่อนไปเพ่งก็รู้
จิตไปเพ่งก็เคลื่อน ไม่ใช่ไม่เคลื่อน
เมื่อก่อนมีหลานหลวงพ่อคนหนึ่ง อายุ 9 ขวบตอนนั้น
มันก็หัดภาวนา ฟังหลวงพ่อเทศน์ก็ภาวนา
วันหนึ่งมันก็ไปบอกคุณแม่ชี บอก
“อาโกๆ รู้แล้วว่าจิตเพ่งคืออะไร”
มันรู้จักว่าจิตเพ่ง ก็คือ จิตหลงแบบมีปัญญา
จิตหลงแบบฉลาด ไม่ใช่หลงโง่ๆ หลงอย่างฉลาด
มันพูดแบบเด็ก มันสื่อแบบเด็ก
แต่จุดสำคัญก็คือมันรู้ว่าจิตเพ่ง
มันหลง หลงเพ่ง ตรงนั้นสำคัญ
ส่วนภาษาที่มันจะสื่อ
สื่อแบบเด็กไม่ถูกตำรับตำรา ไม่เป็นไร
เพราะฉะนั้นเราทำกรรมฐานแล้วจิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ
เคลื่อนไปคิดแล้วรู้ เคลื่อนไปเพ่งแล้วรู้ ฝึกให้ชำนาญ
พอจิตมันจำการเคลื่อนได้ พอมันเคลื่อนปุ๊บสติจะเกิดเอง
ทันทีที่สติเกิด สติที่ถูกต้องเกิดเมื่อไร
สมาธิที่ถูกต้องก็จะเกิดเมื่อนั้น
ฉะนั้นในพระไตรปิฎกจะสอนไว้
สัมมาสติต่อด้วยสัมมาสมาธิ
มีสัมมาสติเมื่อไร สัมมาสมาธิจะมาเองเลย
ฉะนั้นเราฝึกไปเรื่อยๆ เราจะได้ควบ 2 อันนี้เลย
เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาวายามะอยู่
การฝึกจิตของเราจะพัฒนา
สัมมาญาณะคือการหยั่งรู้อย่างถูกต้องจะเกิดขึ้น
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
พอมีสัมมาสติ มีสัมมาสมาธิ มีสัมมาวายามะ
สัมมาอื่นๆ เป็นโซนของศีล
เป็นโซนของปัญญาเบื้องต้นอะไรอย่างนี้
ปัญญาในขั้นต้น แล้วก็โซนของศีล
โซนที่ฝึกจิตมี 3 โซน 3 ตัว
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
สัมมาวายามะเป็นตัวกรอบ
เป็นตัวชี้นำให้เรารู้ว่าที่เราปฏิบัติทำไปเพื่อลดละกิเลส
เพื่อเจริญกุศล ไม่ได้ทำเพื่อความสุข ความสงบ
ความดีใดๆ ทั้งสิ้น
ทำไปเพื่อสิ่งนี้ แล้วถ้าเรามีเป้าหมายที่ถูก
แล้วเราเจริญสติปัฏฐานไป เราจะได้สัมมาสติขึ้นมา
สติที่ระลึกรู้อัตโนมัติโดยไม่เจตนาระลึก
แล้วสติที่ถูกต้องสมบูรณ์ขึ้นมา
จะส่งผลให้สัมมาสมาธิสมบูรณ์
เพราะฉะนั้นถ้าจะสอน
สัมมาวายามะที่สมบูรณ์ที่บริบูรณ์ก็จะทำให้สัมมาสติบริบูรณ์
สัมมาสติที่บริบูรณ์ก็จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์
พอเรามีสัมมาสมาธิแล้ว
มีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาวายามะอยู่
การฝึกจิตของเราจะพัฒนา
สัมมาญาณะคือการหยั่งรู้อย่างถูกต้องจะเกิดขึ้น
คือเริ่มเห็นเกิดวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ขึ้นมา
สุดท้ายสัมมาวิมุตติก็เกิดขึ้น
เกิดอริยมรรค อริยผลขึ้นมา
เห็นไหมวิมุตติ ยังมีคำว่าสัมมาเลย
เพราะมันมีมิจฉาวิมุตติด้วย
มิจฉาวิมุตติ เช่น เราทำสมาธิ
จิตสว่างว่างแล้วเราก็อยู่ตรงนี้
อันนี้มันเป็นนิพพานพรหม นิพพานแบบพรหม
จิตไปติดความว่าง ติดความสว่างหลายที่เขาสอนกัน
ฝึกจิตให้ว่าง ฝึกจิตให้ว่างก็คือไปฝึกมิจฉา
มิจฉาสมาธิ มิจฉาวิมุตติ ไม่ใช่
พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้ฝึกจิตให้ว่าง
ท่านสอนให้รู้ทุกข์ คือเรียนรู้ความจริงของกายของใจ
ท่านไม่ได้บอกให้ทำกายทำใจให้ว่าง
แต่เมื่อเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว ปล่อยวางแล้ว
มันว่างเอง ไม่ต้องร่ำร้องหาความว่าง
ไม่ต้องฝึกให้เห็นความว่าง มันเห็นอัตโนมัติ
เพราะว่าจริงๆ โลกนี้มันว่าง
แต่ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ไปฝึกจิตให้ว่าง อันนั้นไม่ใช่
อันนั้นไปเป็นพรหม เป็นมิจฉาสมาธิเลย เป็นพรหม
เข้าใจไหมที่สอนมานี้ สรุปถือศีล 5 ไว้
ทุกวันทำในรูปแบบ ทำกรรมฐานอย่างหนึ่ง
แล้วรู้ทันจิตตัวเองไว้ จิตเคลื่อนแล้วรู้
จะเคลื่อนไปคิดหรือเคลื่อนไปเพ่ง ก็ช่างมันเถอะ
ให้รู้ทันอย่าไปห้ามมัน มันจะเคลื่อนให้รู้ทันเท่านั้น
ไม่ต้องไปห้ามเคลื่อน ห้ามเคลื่อนจะเครียด
เครียดใช้ไม่ได้ จิตที่เครียดๆ มันเป็นอกุศลจิต
จิตที่เป็นกุศลจริงๆ มันเบา นุ่มนวล
อ่อนโยน คล่องแคล่ว ว่องไว
ซื่อตรงในการทำงาน รู้อารมณ์ซื่อๆ
ถ้าจิต’อกุศล’ ไม่ใช่
ฉะนั้นไปทำ รักษาศีล 5
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วรู้ทันจิตตัวเองไป
ถัดจากนั้นพอได้จิตผู้รู้แล้ว
สติระลึกรู้กาย ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของกาย
สติระลึกรู้เวทนา ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของเวทนา
สติระลึกรู้สังขาร เช่น โลภ โกรธ หลง
ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของโลภ โกรธ หลง
แต่ทั้งหมดมีจิตเป็นคนรู้
สุดท้ายมันจะรวบยอดลงมาที่จิตดวงเดียวนี้ล่ะ
มันเห็นว่าจิตผู้รู้เองก็ยังตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์อีก
สุดท้ายมันก็วางจิตผู้รู้
จิตผู้รู้แสดงไตรลักษณ์ได้อย่างไร
ประเดี๋ยวมันก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้ไปดูรูป
เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ไปฟังเสียง
เดี๋ยวเป็นผู้รู้ เดี๋ยวเป็นผู้ดมกลิ่น เป็นผู้ลิ้มรส
เป็นผู้ไปรู้สัมผัสทางกาย
เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้ไปคิดทางใจ
จิตมันไหลอยู่ทางอายตนะทั้ง 6 ตัว ไหลๆๆ
จิตไม่ได้มีดวงเดียว จิตเกิดดับทางอายตนะทั้ง 6 เฝ้ารู้ไป
แต่ต้องมีจิตผู้รู้ ถ้าเราไม่มีจิตผู้รู้
จิตเรามีแต่ผู้หลง มันจะหลง
เดี๋ยวก็หลงดู หลงฟัง หลงคิด มันมองไม่ออกหรอก
แต่พอมีจิตผู้รู้มาคั่น มันก็จะเห็นว่า
จิตผู้รู้ กับ จิตผู้หลง มันคนละแบบกัน
จิตผู้หลง เขาเรียกหลงใหล
ไม่ใช่หลงเฉยๆ หลงแล้วไหล ไหลไปไหน
ไหลไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
จิตผู้รู้มันตั้งมั่น มีสมาธิ
สมาธิ แปลว่า ความตั้งมั่น ไม่ใช่ตั้งนิ่งๆ สงบ
อันนั้นสมาธิยังธรรมดามาก สงบอยู่เฉยๆ
ตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นั่นล่ะถึงจะตั้งมั่นจริง
ฝึกไปเรื่อยๆ มันก็จะเห็นสภาวะทั้งหลาย
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ว่ารูปหรือว่านาม
จะแยกรูปนามเป็นขันธ์ 5 มันก็เกิดดับ
จะแยกเป็นอายตนะ 6 มันก็เกิดดับ
จะแยกเป็นธาตุ 18 มันก็เกิดดับ ลงไตรลักษณ์หมด
1
จะแยกเป็นอินทรีย์ 22 มันก็เกิดดับ
หรือจะเห็นปฏิจจสมุปบาท
เห็นกระบวนการที่ว่าความทุกข์มันเกิดอย่างไร
ความพ้นทุกข์มันเกิดอย่างไร
ก็มีความเกิดดับตลอดเวลา
ลงท้ายก็คือ เห็นไตรลักษณ์นั่นล่ะ
พอเห็นจริง จิตก็จะคลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น
จิตหลุดพ้น ก็คือ จิตไม่ยึดกาย
พอจิตไม่ยึดกาย
อะไรจะเกิดขึ้นกับกาย จิตจะไม่ทุกข์
ถ้าจิตเห็นความจริงของจิตว่าตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ไม่ยึดจิต
ต่อไปนี้ไม่ว่าอารมณ์ใดๆ ที่จะมากระทบ
ก็ไม่ได้ทำให้จิตเป็นทุกข์ไปด้วย
แล้วความยึดถือว่าจิตเป็นของเรา เป็นตัวเรา ไม่มีๆ
มันเป็นแค่ธรรมธาตุ เป็นธาตุเท่านั้น
ใจเข้าถึงธรรมจริงๆ มีความสงบสุข
ถ้าเข้าถึงธรรม แล้วสิ่งที่เราได้มา มันสงบสุข
มีชีวิตที่สงบสุข หายาก ในโลกไม่มี
ในโลกมีแต่ความกระเพื่อมไหว ไม่สงบหรอก
มีแต่ความเสียดแทง มีแต่เรื่องวุ่นวายตลอดเวลา
เราภาวนาจนถึงวันหนึ่ง เราเข้าถึงความสงบ
ในความสงบนั้นมีบรมสุขอยู่
เพราะฉะนั้นนิพพานเป็นความสงบ
เป็นความว่างอย่างยิ่งเลย
เรียก นิพพานัง ปรมัง สุญญัง
อันนี้เป็นผลที่เราฝึก อยู่ๆ จะไปทำจิตให้ว่าง
แล้วบอกนิพพาน ไม่ใช่
แล้วท่านก็บอก นิพพานัง ปรมัง สุขัง เป็นบรมสุข
ฉะนั้นสิ่งที่เราได้มา เราได้ความสงบสุขมา
แต่ไม่มีเจ้าของหรอก
ถ้ายังมีเราเป็นเจ้าของความสงบสุข
ยังไม่ได้กระทั่งโสดาบัน
ค่อยๆ ฝึก เดี๋ยววันหนึ่งเราก็แจ้งที่หลวงพ่อบอกนี่ล่ะ
พวกเรามาบอกหลวงพ่อเรื่อยๆ
ว่าสามารถเป็นพยานคำสอนที่หลวงพ่อสอนได้
ในเรื่องนี้ๆ คือรู้เรื่องนี้แล้ว
มันก็เหมือนที่หลวงพ่อบอกจริงๆ อะไรอย่างนี้
ถ้าเราภาวนา
ต่อไปเราก็เป็นพยานให้คำสอนของพระพุทธศาสนาได้ว่า
พระพุทธศาสนาสอนความจริง
ถ้าเราภาวนาแล้วเราพ้นทุกข์ได้จริงๆ
เราเป็นพยานได้. …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
23 มกราคม 2565
ติดตามการถอดไฟล์ฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา