8 ก.พ. 2022 เวลา 02:00 • หนังสือ
แนวทางการออกแบบทางเลือกเพื่อสะกิดพฤติกรรม
เราคงเคยได้ยินว่ามนุษย์เราล้วนแล้วอคติ เรามักตัดสินใจในเรื่องใด ๆ ด้วยอารมณ์ ความรู้สึก มากกว่าเหตุผล ส่งผลให้พฤติกรรมที่เราแสดงออกมานั้น ผิดเพี้ยนไป และไม่สมเหตุสมผล
แล้วเราต้องทำอย่างไร เพื่อให้เราตัดสินใจจะทำอะไร ให้เข้าที่เข้าทางหละ
หนังสือ NUDGE สะกดความคิด สะกิดพฤติกรรม โดย Thaler และ Sunstein กล่าวถึงหลักการทั้งหกสำหรับการออกแบบทางเลือกเพื่อสะกิดพฤติกรรม มีตัวย่อว่า NUDGES มีดังนี้
1. iNcentives สร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม
คนเรามักตัดสินใจไปตามแรงจูงใจที่ตัวเองมี แต่บางครั้งถ้าแรงจูงใจเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น การสะกิดโดยออกแบบทางเลือกจะต้องทำให้แรงจูงใจนั้นชัดเจนขึ้น เห็นภาพชัด เช่น การมีหน้าจอแสดงค่าไฟเวลาใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ถ้าหน้าปัดแสดงสีแดงแปลว่าตอนนั้นใช้ไฟมาก ค่าไฟสูง แสงสีแดงจะเป็นสิ่งกระตุ้นที่มองเห็นได้และสร้างแรงจูงใจให้เจ้าของบ้านทำให้ลดการใช้ไฟฟ้าลง หรือถ้าเราอยากลดน้ำหนัก เราก็ต้องชั่งน้ำหนักเรื่อย ๆ เพื่อให้เราเห็นว่าน้ำหนักเราอยู่จุดไหนเมื่อเทียบกับเป้าหมาย
2. Understand mapping การช่วยแปลความหมาย
สิ่งที่เราตัดสินใจน้ันมีทั้งเรื่องง่าย ๆ และเรื่องยาก ๆ หากเรามีความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับทางเลือกในการกระทำใด ๆ นั้น ย่อมทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น เวลาเลือกซื้อรถ หนึ่งในสเป็คที่เราสนใจคือเรื่องการประหยัดน้ำมัน ถ้ามีการรายงานเรื่องการประหยัดน้ำมัน หรือเรียกว่าการแปลความหมายออกมาเป็นภาษาที่เราเข้าใจได้ง่าย ย่อมทำให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เช่น สเป็ครายงานการใช้น้ำมันของรถเป็น ระยะทางต่อจำนวนลิตรน้ำมัน หรือจำนวนลิตรต่อระยะทาง 1 หน่วย
3. Defaults กำหนดค่าเริ่มต้น
เพราะคนเรามักเลือกอะไรที่ใช้ความพยายามน้อยที่สุดหรือมีแรงต้านน้อยที่สุด อาจมีสาเหตุมากจาก ความเฉื่อยชา (inertia) ความยึดติดในสภาพที่เป็นอยู่ (status quo bias) และความคิดแบบอะไรก็ได้ ดังนั้นหากมีค่าเริ่มต้นที่กำหนดมาให้อย่างเหมาะสม คนจำนวนมากจะใช้ทางเลือกดังกล่าว ตัวอย่างเช่น เพื่อที่จะเพิ่มอัตราการบริจาคอวัยวะ เราอาจออกกฎให้ผู้ขับขี่บนท้องถนน มีสถานะเป็นผู้บริจาคอวัยวะตั้งแต่เริ่มต้น โดยสามารถออกจากสถานะดังกล่าวได้ โดยต้องดำเนินเรื่องออกจากสถานะดังกล่าวเอง ดังนั้นมนุษย์เราที่มีความเฉื่อยชาและมีความยึดติดในค่าเริ่มต้น จึงจะคงอยู่ในสถานะผู้บริจาคอวัยวะ ทำให้ยอดผู้บริจาคอวัยวะเพิ่มมากขึ้น
4. Give feedback การให้ข้อมูลป้อนกลับ
การให้ข้อมูลป้อนกลับจะทำให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น ดังนั้นการออกแบบทางเลือกที่ดี การให้ข้อมูลป้อนกลับจะทำให้เราสามารถรู้ได้ว่าเราทำถูกต้องหรือผิดพลาด เช่น เวลาขับรถถ้าเราลืมคาดเข็มขัดนิรภัย รถจะร้องเตือนไม่หยุด นี่เป็นการป้อนกลับที่ดี ทำให้ผู้ขับขี่ไม่ลืมคาดเข็มขัดนิรภัย ก่อนจะขับรถเสมอ
5. Expect error การคาดคะเนความผิดพลาด
คนเรามักทำผิดพลาดอยู่เสมอ การออกแบบทางเลือกที่ดีต้องคาดคะเนความผิดพลาดและพยายามอะลุ้มอล่วยให้มากที่สุด ตัวอย่างเช่น เวลาไปกดตู้เอทีเอ็ม หลังได้รับเงินแล้ว บางคนอาจลืมเอาบัตรออก ถ้าแก้ไขโดยให้รับบัตรก่อนแล้วค่อยรับเงิน ก็จะลดโอกาสลืมของคนเราได้
6. Structure complex choices การวางโครงสร้างให้กับตัวเลือกที่ซับซ้อน
ผู้คนมีแนวทางในการตัดสินใจที่แตกต่างกันไปตามจำนวนตัวเลือกและความสลับซับซ้อนของตัวเลือก ยิ่งจำนวนตัวเลือกยิ่งมาก ยิ่งซับซ้อน การตัดสินใจย่อมทำได้ยากยิ่ง ทำให้อาจเกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ ตัวอย่างเช่น การตัดสินใจซื้อกองทุน เพื่อการลงทุน จะพบว่ากองทุนในตลาดมีจำนวนมหาศาล รายละเอียดของกองทุนมีจำนวนมาก ข้อมูลผลประกอบการ ข้อมูลชนิดของการลงทุน ข้อมูลสถานการณ์ตลาดปัจจุบัน ทั้งหมดนี้ล้วนแล้ว มีจำนวนมากและสลับซับซ้อน ถ้าผู้ประกอบการหรือสถาบันทางการเงิน สามารถสรุปหรือ recap กองทุนให้เข้าใจง่าย หรือจัดกลุ่มตามประเภทหรือความเสี่ยง ย่อมง่ายต่อผู้คนที่จะตัดสินใจเข้าซื้อกองทุน
อยากชวนมาออกแบบทางเลือก เพื่อสะกิดพฤติกรรมกัน ลองนำหลักการการสะกิดข้างต้นไปใช้กันดูครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา