7 ก.พ. 2022 เวลา 02:32 • สุขภาพ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ คือ การหยุดหายใจ หรือหายใจแผ่วช่วงสั้น ๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยระหว่างนอนหลับ ส่งผลให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง ทำให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆโดยเฉพาะหัวใจ สมองและปอด ซึ่งบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงตายได้ ภาวะนี้พบบ่อยในคนอ้วน เพศชาย ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีความดันโลหิตสูง
ในกลุ่มผู้ชายสูงอายุและอ้วน พบภาวะหยุดหายใจขณะหลับประมาณร้อยละ 10 ขณะที่กลุ่มคนทั่วไปที่นอนกรน  พบภาวะนี้เพียงร้อยละ 1
สาเหตุ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับปัจจัยดังต่อไปนี้
  • อายุ คนที่มีอายุมาก เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อหย่อยยาน ทำให้ช่องทางเดินหายใจบริเวณลำคอแคบลงลิ้นไก่และลิ้นตกไปอุดกั้นทางเดินหายใจได้ง่าย โรคนี้พบบ่อยในคนอายุ 40–70 ปี
  • เพศ พบภาวะนี้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เชื่อว่าฮอร์โมนเพศหญิงมีส่วนช่วยทำให้กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ขยายช่องทางเดินหายใจ    มีความตึงตัวที่ดีกว่า จึงมีการอุดกั้นทางเดินหายใจน้อยกว่าผู้ชาย  แต่หลังวัยหมดประจำเดือนผู้หญิงมีโอกาสเป็นโรคนี้พอ ๆ กับผู้ชาย
  • ลักษณะโครงสร้างของกระดูกใบหน้า คนที่มีลักษณะคางสั้น กระดูกใบหน้าแบน จะมีช่องทางเดินหายใจส่วนต้นแคบกว่าปกติ
  • ความอ้วน คนที่อ้วนจะมีการสะสมไขมันมากที่ลำคอและทรวงอก ทำให้ช่องทางเดินหายใจส่วนต้นแคบลง  และการเคลื่อนไหวของหน้าอกน้อยกว่าปกติ
อาการ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการนอนกรนเสียงดังสร้างความรำคาญแก่ผู้ที่อยู่ใกล้เคียง ร่วมกับมีการหยุดหายใจหรือหายใจแผ่วเป็นช่วง ๆ (ผู้ที่อยู่ข้าง ๆ จะสังเกตเห็นหน้าอกและท้องไม่กระเพื่อมหรือกระเพื่อมน้อยลง) นานอย่างน้อย10 วินาที บางครั้งอาจนานถึง 1 นาที
ผู้ป่วยจะรู้สึกนอนไม่เต็มตื่น อ่อนเพลียหลังตื่นนอน ทั้งที่มีเวลานอนนานเพียงพอ บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะหลังตื่นนอนร่วมด้วย ผู้ป่วยมักมีอาการง่วงนอนบ่อย นั่งสัปหงก หรือหลับง่ายในช่วงเวลากลางวัน เช่น ขณะทำงาน เรียนหนังสือ นั่งคุยกับผู้อื่น ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ หลังอาหารกลางวัน เป็นต้น บางครั้งมีอาการหลับในขณะขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรจนได้รับอุบัติเหตุ ผู้ป่วยมักมีอารมณ์หงุดหงิด หรืออารมณ์เสียง่ายเสียสมาธิ หลงลืมง่าย
การรักษา ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
หากสงสัย  ควรส่งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  มักจะทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจความผิดปกติระหว่างการนอนหลับด้วยวิธีที่เรียกว่า  “polysomnography (PSG)” โดยต้องไปนอนค้างที่โรงพยาบาล แล้วใช้อุปกรณ์ตรวจวัดลักษณะการหายใจ และการเปลี่ยนแปลงของหัวใจปอด  สมอง การเคลื่อนไหวของแขนขา ระดับออกซิเจนในเลือด
การรักษา โดยทั่วไปจะเริ่มต้นด้วยการให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่
  • 1.
    การลดน้ำหนักตัว ควรลดให้ได้มากกว่าร้อยละ10 อาจมีผลทำให้หายขาดในผู้ป่วยบางรายได้
  • 2.
    หลีกเลี่ยงการบริโภคแอลกอฮอล์และยานอนหลับก่อนเข้านอน  เพราะจะทำให้ทางเดินหายใจอุดกั้นได้ง่าย และหยุดหายใจนานขึ้น
  • 3.
    พยายามนอนในท่าตะแคง หรือท่าที่ทำให้อาการลดลง (สมัยก่อนมีการใช้ถุงใส่ลูกเทนนิส 3-4 ลูกติดไว้ด้านหลังของเสื้อนอน เพื่อบังคับให้ผู้ป่วยนอนตะแคง)
  • 4.
    งดสูบบุหรี่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา