13 ก.พ. 2022 เวลา 01:45 • ไลฟ์สไตล์
“การปฏิบัติในเบื้องต้นอาจจะหลากหลาย
แต่ถ้าเข้าใจวิถีที่จะก้าวไป
ก็สามารถนำมาสู่ทางสายกลางได้เหมือนกัน”
1
“ …​ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า
กายคตาสติที่บุคคคลเจริญแล้ว ชื่อว่าเจริญอมตธรรม
กายคตาสติที่บุคคลส้องเสพแล้ว ชื่อว่าส้องเสพในอมตธรรม
กายคตาสติที่บุคคลไม่ประมาทแล้ว ชื่อว่าไม่ประมาทในอมตธรรม
เจริญกายคตาสติ ระลึกรู้กาย
ตั้งสติไว้ภายในกายอยู่เนือง ๆ
ทำให้มาก เจริญให้มาก
สามารถหยั่งเข้าสู่อมตธรรม
ธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ที่หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้
วิธีการฝึกเจริญกายคตาสติ
หรือตั้งสติไว้ภายในกาย
อาจจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป
แม้กระทั่งในสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนไว้
ก็แบ่งไว้หลายหมวดหมู่ด้วยกัน
เช่น อานาปานสติ ระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก
เป็นอุปกรณ์ของการฝึก
ลมหายใจก็เป็นกายอันหนึ่ง
เจริญอานาปานสติ ระลึกรู้ลม
ก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติเช่นกัน
หรือเจริญอิริยาบถใหญ่
ในขณะนั่งอยู่ ก็ระลึกรู้กายที่นั่งอยู่
เวลาเรานั่งอยู่ ระลึกรู้กาย รู้สึกอะไรได้บ้าง ?
ก้นสัมผัสพื้น ก็รู้ รู้สึกได้
ขาสัมผัสพื้น ก็รู้
แผ่นหลังตั้งตรง รับรู้ความรู้สึกของกายที่นั่งอยู่
ในขณะยืน ก็ระลึกรู้กายที่ยืนอยู่
เวลายืน รับรู้ความรู้สึกอะไรได้บ้าง ?
ก็จะพบว่า เท้าที่ยืนอยู่ จะรู้สึกได้ชัดกว่า
สัมผัสความรู้สึกที่ฝ่าเท้าทั้งสองข้างได้
ฝ่าเท้าที่สัมผัสพื้น ก็รู้
กายที่ยืนอยู่ ก็รู้
ทำความรู้สึกตัวในขณะยืน
ก็เรียกว่ามีสติอยู่ในการนั่ง การยืน
การเดิน การเคลื่อนไหว การนอน
ซึ่งก็สามารถเรียนรู้ฝึกตาม ที่ลงสอนเป็นประจำได้
เพราะว่าก็จะไล่สเต็ปอย่างนี้
ในทุกบัลลังก์การฝึกอยู่แล้ว
แต่ถ้าบางท่านมีแนวทางที่ฝึกปฏิบัติมาก่อน
และมีความชำนิชำนาญมาแล้ว
ก็สามารถเริ่มต้นจากแนวทางที่ตนเองมีความชำนาญแล้วก็ได้
แต่ให้สติอยู่ภายในกายไว้เป็นหลัก
อย่างเช่น ลมหายใจ
บางท่านก็อาจจะถนัดการจับความรู้สึกที่ปลายจมูกก็มี
ถ้าถนัดมาแล้ว เราก็เริ่มจากตรงที่เราถนัดก่อนก็ได้
หรือบางท่านก็ตามลมหายใจเข้าออก
บางท่านก็อาศัยการสังเกต การกระเพื่อมหน้าอกหน้าท้อง
บางท่านก็อาศัยการพอง ยุบ
การกำหนดลมไม่พอ อาจจะใช้การกำหนดมาช่วย
เช่น พองหนอ ยุบหนอ
หายใจเข้าพุธ หายใจออกโธ
ถ้าเรามีวิธีแนวทางการปฏิบัติ
ที่เรามีความชำนาญคล่องตัวมีอยู่แล้ว
เราก็ใช้สิ่งที่เรามีความชำนาญเป็นบาทฐานก่อน
แล้วจะต่อยอดได้
แต่ถ้าเราไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจนมาก่อน
ก็แนะนำว่าให้เรียนรู้ฝึกตามที่ลงสอนไปเลย
จะได้เข้าร่อง แล้วก็เดินสภาวะได้โดยลำดับนั่นเอง
แต่สำหรับผู้ที่มีความชำนาญ ในแนวทางของตนเองแล้ว
เริ่มต้นจากแนวทางของตนก่อน แล้วต่อยอดนั่นเอง
ต่อยอดได้อย่างไร ?
ก็ให้รู้ไว้ว่า การฝึกที่เรียกว่า เริ่มต้นตั้งสติไว้ภายในกายนั้น
วิธีการเบื้องต้นมันมีหลายอย่างมากเลย
เช่น บางท่านเน้นการจดจ่อ
ไว้ที่จุดใดจุดหนึ่งของกาย เช่นจดจ่อที่ปลายจมูกอย่างเดียวบ้าง
เวลาเดินก็อาจจะจับความรู้สึกตัวที่ฝ่าเท้าบ้างก็ตาม
ก็เป็นวิธีการฝึกปฏิบัติ
หรือสมัยนี้ที่มีการนิยมกัน
เช่น การฝึกจังหวะ จังหวะการขยับ
ถ้าทำแล้ว รู้สึกว่ามีสติอยู่กับตัวได้ดี
ก็สามารถใช้เป็นบาทฐานเบื้องต้นได้
หลัก ๆ สมัยนี้ ส่วนใหญ่คนรู้จัก
ก็หายใจเข้าพุธ หายใจออกโธ
หรือว่า พองหนอ ยุบหนอ
หรือว่า การขยับมือจังหวะ 16 จังหวะต่าง ๆ
ถ้าเราคล่องตัวแบบนั้น
เราก็สามารถใช้ได้เช่นกัน
แต่ให้รู้ไว้ว่าการฝึกปฏิบัติ
ในแนวทางของสติปัฏฐานทั้ง 4 นั้น
ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นจากแบบใดก็ตาม
แต่เมื่อฝึกไปถึงจุดหนึ่งเนี่ย
มันจะรู้สึกขึ้นมาได้ทั้งตัวเลย
เรียกว่า “สติเต็มฐาน”
ฐานกาย ก็จะรู้กายขึ้นมาทั้งกายเลย
เพราะฉะนั้นต่อให้เราเริ่มจากจุดที่ปลายจมูกก็ตาม
ให้รู้ไว้ว่าฝึกไปถึงจุดหนึ่ง
มันจะต้องรู้สึกขึ้นมาได้ทั้งตัว
เราจะจับที่เท้าก็ตาม
ฝึกไปถึงจุดหนึ่ง มันจะรู้สึกขึ้นมาได้ทั้งตัว
เราจะจับที่ท้องพองยุบก็ตาม
ฝึกไปถึงจุดหนึ่ง มันจะรู้สึกขึ้นมาทั้งตัว
ก็คือสิ่งที่เรียกว่า สัมปชัญญะ
เกิดความรู้สึกทั้งตัวขึ้นมานั่นเอง
แล้วมันถึงจะเข้าร่องของสภาวธรรมต่าง ๆ โดยลำดับ
หรือบางท่านอาจจะใช้การสแกนร่างกาย
ค่อย ๆ ไล่ความรู้สึกจากข้างบน
ไล่ลงมาเรื่อย ๆ จนจรดปลายเท้า
แล้วก็ไล่ความรู้สึกขึ้นไป
ถ้าทำแล้วรู้สึกว่า เราตั้งสติไว้ภายในภายได้ดี
เราก็ใช้ได้
เพราะฉะนั้นเบื้องต้นเราจะพบว่า
การปฏิบัติอาจจะหลากหลายก็ตาม
แต่ถ้าเราเข้าใจวิถีเนี่ย เราจะรู้เลยว่า
มันก็สามารถนำมาสู่ทางหลัก
หรือทางสายกลางได้เหมือนกัน
ถ้าเราเข้าใจในวิถีที่จะก้าวไป
ในการปฏิบัตินั่นเอง … “
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวพรต กิตฺตวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา