28 ก.พ. 2022 เวลา 23:13 • การศึกษา
ข้อคิดจากหนังสือ The Archer ปราชญ์แห่งธนู
“แต่อย่าละล้าละลังที่จะยิงธนู หากสิ่งเดียวที่หยุดเจ้าคือกลัวว่าจะทำพลาด หากเจ้าเคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้องแล้ว ก็จงคลายมือและปล่อยสายธนูเถิด ต่อให้ลูกธนูไม่โดนเป้า เจ้าก็จะได้เรียนรู้เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป หากไม่ยอมเสี่ยงเลย ก็จะไม่มีวันรู้ว่าต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง ลูกธนูแต่ละดอกฝากความทรงจำไว้ในหัวใจ ผลรวมของความทรงจำเหล่านั้นจะช่วยพัฒนาการยิงธนูให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ”
The Archer by Paulo Coelho
ข้อความข้างต้น นำมาจากหนังสือ The Archer ปราชญ์แห่งธนู ซึ่งเทสึยะ ผู้เป็นปราชญ์แห่งธนู ได้เล่าวิถีแห่งธนู ให้เด็กชายคนหนึ่งฟัง ภายหลังชนะการท้าประลองจากนักธนูผู้มาท้าทายจากอกดนไกล
ข้อความดังกล่าวสะท้อนถึงการเรียนรู้วิธีหนึ่งซึ่งมีความสำคัญ กล่าวคือ เป็นเรียนรู้จากการกระทำของตนเอง สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ (learning theory) ที่มีชื่อว่า “Experiential learning” หรือ “การเรียนรู้จากประสบการณ์ “ อธิบายโดย David A. Kolb กล่าวไว้ว่า การที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ได้นั้น ผู้เรียนต้องผ่านกระบวนการสำคัญ 4 ขั้นตอน เป็นวงจร (loop) ดังต่อไปนี้
1. ประสบการณ์รูปธรรม (Concrete experience) เป็นการรับรู้ สัมผัสประสบการณ์ที่เกิดขึ้น โดยยังไม่ตีความหรือแปลความหมาย จากการมองเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น ได้รับรสชาติ หรือการสัมผัสทางกาย ผ่านอายาตนะทั้ง 5 นั่นเอง
2. การไตร่ตรอง ทบทวน (Observation and reflection) เป็นการเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้รับสู่การเรียนรู้ที่มีความหมาย ผ่านการไตร่ตรอง ทบทวนในสิ่งที่ตนได้สังเกตเห็นหรือรับรู้จากประสบการณ์ดังกล่าว
3. การสรุปเป็นหลักการ (Abstract conceptualization) จากการทบทวนสิ่งที่ได้ประสบที่เกิดขึ้น ผู้เรียนจะสร้างหลักการพื้นฐานซึ่งอธิบายประสบการณ์ที่ตนเองได้รับ
4. การทดลองปฏิบัติจริง (Active experimentation) เป็นการนำหลักการที่ได้จากข้อ 3 มาทดลองปฏิบัติจริง แล้ว กระบวนการก็หมุนวนไปเริ่มต้นใหม่ คือการได้รับประสบการณ์ใหม่ ตาม ข้อ 1. Concrete experience และวนเป็นวงจรเกิดการเรียนรู้ อย่างไม่รู้จบ
วงจร 1-2-3-4 นี้มีชื่อเรียกว่า Kolb’s learning cycle (วงจรการเรียนรู้ของ Kolb)
ที่มา https://wanidawongsopa.files.wordpress.com/2012/01/e0b8a3e0b8b9e0b89be0b8a0e0b8b2e0b89e2.png
ดังนั้นแล้วในวิถีแห่งธนู นักยิงธนูย่อมได้รับรู้สัมผัสประสบการณ์จากยิงธนู ได้เห็นคันธนู ลูกธนู สายธนู ท่วงท่าการยิงธนู และเมื่อยิงลูกธนูออกไปแล้วย่อมเห็นวิถีของลูกธนู ไปจนเห็นว่ายิงธนูเข้าเป้าหรือไม่ หรือพลาดเป้าไปแค่ไหน
การรับรู้ประสบการณ์จากการเห็นข้างต้นเข้าได้กับขั้นที่ 1 คือ Concrete experience ซึ่งเป็นการรับรู้ประสบการณ์ในการยิงธนูอย่างหยาบ ๆ ยังไม่ตีความหมายใด ๆ
จากนั้น เมื่อได้สังเกตและทบทวน (observation and reflection) ว่าเหตุใดจึงยิงไม่เข้าเป้า เกิดจากท่วงท่า การเล็ง หรือมีปัจจัยอื่น ๆ หรือไม่ เป็นการนำประสบการณ์ที่ได้รับในขั้นแรกนั้นมาไตร่ตรอง ทบทวน จนได้หลักการพื้นฐานที่อธิบายได้ว่าเหตุใดจึงยิงไม่เข้าเป้า เป็นการสรุปเป็นหลักการ หรือ abstract conceptualization นั่นเอง
ในขั้นสุดท้าย เมื่อทราบแล้วว่ามีหลักการอะไรจากการยิงลูกธนูในรอบที่ผ่านมา ทำไมถึงไม่เข้าเป้า แล้วจะทำอย่างไรให้ยิงลูกธนูให้เข้าเป้า จึงนำมาสู่การปฏิบัติการใหม่อีกครั้ง หรือ active experimentation คือ ลองยิงลูกธนูด้วยวิธีการหรือหลักการที่ได้เรียนรู้ใน 3 ขั้นแรก เมื่อยิ่งออกไปแล้ว ก็จะเกิดการเรียนรู้ใหม่เป็นวงจร ตามขั้น 1-2-3-4-1-2-3-4-1-... ไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ
ในชีวิตเราที่ไม่ใช่นักธนู หลักการการเรียนรู้จากประสบการณ์สามารถนำไปใช้ได้อยู่เสมอ ทั้งในชีวิตการทำงาน การบริหารงาน ในชีวิตการเรียน หรือแม้กระทั่งชีวิตครอบครัว ลองนำไปใช้ดูครับ ทุกประสบการณ์ คือ การเรียนรู้ครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา