19 ก.พ. 2022 เวลา 11:40
มหาชนกชาดก
ใครหนอ ทนว่ายน้ำอยู่ได้ถึง 7 วัน ทั้งๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง จะทนว่ายไปทำไมกัน คงจะตายเสียก่อนเป็นแน่
นางมณีเมขลา
คนที่ทำความเพียรนั้น แม้จะตายไปในขณะกำลังทำความเพียรอยู่ ก็ไม่มีผู้ใดตำหนิ เพราะได้ทำหน้าที่เต็มกำลังแล้ว
พระมหาชนก
ทศชาติชาดก, มหานิบาตชาดก, พระเจ้าสิบชาติ เป็นชาดกที่สำคัญ กล่าวถึงการบำเพ็ญบารมีใน 10 ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะเสวยพระชาติมาเกิดเป็นพระโคตมพุทธเจ้า หรือเจ้าชายสิทธัตถะแห่งศากยวงศ์
แสตมป์แบบที่ 2 จาก 4 แบบในชุดวันมาฆบูชา 2539 มีราคาหน้าดวง 6 พิมพ์ออกมา 2,000,000 ดวง เป็นภาพ “ชนกชาดก”
แสตมป์มาฆบูชา 2539 แบบที่ 2
ทศชาติ 2 พระมหาชนก (บำเพ็ญวิริยบารมี)
พระอริฏฐชนกแห่งกรุงมิถิลา มีพระโปลชนกพระอนุชาเป็นพระอุปราข พระโปลชนกทรงรับใช้พระอริฏฐชนกด้วยความภักดีมาโดยตลอด แต่อำมาตย์ผู้ใกล้ชิดไม่พอใจ ได้กราบทูลพระราชาว่า พระโปลชนกคิดขบถ พระราชาก็ทรงเชื่อ จึงจับพระเจ้าโปลชนกไปขังไว้ แต่พระเจ้าโปลชนกได้ตั้งจิตอธิษฐานให้เครื่องพันธนาการหักทำลายลง หลบหนีไปยังชายแดนกรุงมิถิลา
ที่นั่นพระโปลชนกได้รวบรวมกำลังพลจำนวนมาก พระองค์จึงตัดสินพระทัยนำทัพกลับมายังกรุงมิถิลา พร้อมส่งสารให้พระอริฏฐชนกมอบราชสมบัติหรือออกมารบกับตน พระอริฏฐชนกเลือกที่จะยกทัพออกมาสู้รบและสวรรคตในที่รบ ราชสมบัติตกเป็นของพระโปลชนก
"พระเทวี" มเหสีของพระอริฏฐชนกซึ่งกำลังทรงครรภ์จึงปลอมตัวหนีออกนอกเมืองท่ามกลางความโกลาหล แล้วเสด็จไปจนถึงเมืองกาลจัมปากะ ได้พราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ "อุทิจจพราหมณ์มหาศาล" อุปการะไว้ในฐานะน้องสาว ต่อมาพระเทวีมีพระประสูติกาล ตั้งพระนามพระโอรสตามพระอัยกาว่า "มหาชนก"
เมื่อโตขึ้น พระมเหสีให้กุมารเรียกพราหมณ์ว่าพ่อ วันหนึ่ง กุมารมหาชนกมีเรื่องกับเพื่อนเด็กๆ เพื่อนร้องว่า ถูกลูกหญิงม่ายรังแก กุมารได้ยินแล้วสงสัยกลับมาคาดคั้นถามแม่ จึงได้รู้ความจริงว่าตนเป็นลูกกษัตริย์ จากนั้นจึงตั้งใจเล่าเรียนเก็บเลเวลเพื่อจะกลับไปทวงราชสมบัติคืน เมื่ออายุ 16 ปี ก็ขออนุญาตพระมารดาออกทำการค้า พระมารดาเอาทรัพย์สินที่นำมาจากกรุงมิถิลามาให้บุตรซื้อสินค้าเป็นทุนค้าขาย
ภาพแกะสลักเรื่องพระมหาชนก ในระเบียงโบโรบูดูร์ เกาะชวา อินโดนีเซีย
พระมหาชนกนำสินค้าลงเรือร่วมไปกับพ่อค้าชาวสุวรรณภูมิระหว่างทางเกิดพายุใหญ่ บรรดาพ่อค้าและลูกเรือพากันบวงสรวงอ้อนวอนเทพยดาขอให้รอดชีวิต ฝ่ายมหาชนกเมื่อรู้ว่าเรือจะจมแน่แล้ว ก็กินอาหารจนอิ่ม นำผ้าชุบน้ำมันจนชุ่ม แล้วนุ่งผ้านั้นอย่างแน่นหนา
ครั้นเมื่อเรือจมลงเหล่าพ่อค้ากลาสีเรือทั้งปวงก็จมน้ำตาย และตกเป็นอาหารของสัตว์น้ำ แต่พระมหาชนกซึ่งมีกำลังจากอาหารที่กิน มีผ้าชุบน้ำมันช่วยไล่สัตว์น้ำ และช่วยให้ลอยตัวอยู่ในน้ำได้ดี พระมหาชนกแหวกว่ายอยู่ในทะเล ได้นานถึง 7 วัน 7 คืน
นางมณีเมขลา เทพธิดาผู้รักษาสมุทร เห็นพระมหาชนกว่ายน้ำอยู่ จึงพูดลองใจพระมหาชนกว่า
“ว่ายน้ำอยู่ได้ถึง 7 วัน ทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง จะทนว่ายไปทำไม”
พระมหาชนกตอบว่า “แม้จะไม่เห็นฝั่ง เราก็จะว่ายไปจนกว่าจะถึงฝั่งเข้าสักวันหนึ่ง”
นางมณีเมขลาพูดอีกว่า “มหาสมุทรนี้กว้างใหญ่นัก ท่านคงไม่ถึงฝั่ง คงจะตายเสียก่อน”
พระมหาชนกตอบว่า “คนที่ทำความเพียร แม้จะต้องตายไปในขณะที่กำลังทำความเพียรอยู่ ก็จะไม่มีผู้ใดตำหนิ เพราะได้ทำหน้าที่เต็มกำลังแล้ว”
นางมณีเมขลาได้ยินดังนั้นจึงสรรเสริญความเพียรของพระมหาชนก แล้วช่วยอุ้มไปจนถึงฝั่งเมืองมิถิลา วางพระองค์ไว้ที่ศาลาสวนแห่งหนึ่ง
ที่เมืองมิถิลา พระราชาโปลชนกสิ้นพระชนม์โดยไม่มพระโอรสสืบราชสมบัติ ทีแต่พระธิดาสีวลีผู้ฉลาดเฉลียว ก่อนที่พระราชาจะสิ้นพระชนม์ ทรงตั้งเงื่อนไขและปริศนากับผู้ที่จะมาครองราชย์ต่อจากพระองค์ คือ
ทำให้เจ้าหญิงสีวลีพอใจ
ยกมหาธนูใหญ่ได้
รู้ทิศหัวนอนของบัลลังก์สี่เหลี่ยม
และไขปริศนาขุมทรัพย์ 16 แห่ง
เมื่อพระราชาสิ้นพระชนม์ลง ไม่มีผู้ใดทำตามเงื่อนไขได้ ในที่สุดจึงทำพิธีเสี่ยงราชรถเพื่อหาผู้มีบุญ ราชรถเสี่ยงทาบแล่นมาหยุดอยู่หน้าศาลาที่พระมหาชนกนอนอยู่ ปุโรหิตพิสูจน์จนแน่ใจว่าพระมหาชนกเป็นผู้มีบุญแน่ จึงเชิญขึ้นราชรถเข้าวัง พระมหาชนกกระทำการบรรลุเงื่อนไขที่พระราชาตั้งไว้ และแก้ปริศนาขุมทรัพย์ไดสำเร็จ จึงได้ขึ้นครองราชย์ ปกครองประชาชนชาวมิถิลาด้วยความผาสุก
วันหนึ่ง พระมหาชนกเที่ยวในสวนมะม่วง ได้หยิบมะม่วงสุกมากินผลนึง พบว่ามีรสชาติอร่อยมาก จึงคิดว่าขากลับจะแวะมาเด็ดเพิ่ม
จนเมื่อพระมหาชนกกลับมา เห็นต้นมะม่วงโค่นลงมา จึงได้สอบถามผู้ติดตาม ได้ความว่า ต้นที่โค่นลงนั้นมีผลรสหวานอร่อย เหล่าชาวบ้าน คนรับใช้ในวังต่างมาปีนเก็บมะม่วงกิน จนทำให้ต้นมะม่วงหักโค่นลงมา ต่างกับอีกต้นมีสภาพอยู่ดีเพราะไม่มีผล พระมหาชนกจึงได้คิดว่า ราชสมบัติก็ไม่ต่างจากผลมะม่วงที่ใคร ๆ ก็อยากได้ ทำให้ต้องคอยกังวล จึงได้ตัดสินใจปฏิบัติสมณธรรม รักษาศีล และได้ปรงผมออกบวช…
บำเพ็ญวิริยบารมี = ทำใจให้เต็มด้วยความเพียร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา