19 ก.พ. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ประเทศอิหร่าน จากจักรวรรดิเปอร์เซียสู่ข้อพิพาทขีปนาวุธ
114
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้มีข่าวทางการทูตที่สำคัญในดินแดนตะวันออกกลาง ที่อาจจะเข้ามามีบทบาทลดความตึงเครียดของราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ภายใต้ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นที่ชายแดนประเทศยูเครน ข่าวนั้น ก็คือ การกลับมาเปิดเจรจาทางการทูตระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน
ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่า หากการเจรจาดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เราก็คงจะได้เห็น สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่อการส่งออกปิโตรเลียมของอิหร่าน และทำให้ตลาดพลังงานโลกมีทางเลือกสำรองมากขึ้น
2
แต่ความสำคัญของอิหร่านก็ไม่ได้มีเพียงแค่เป็นประเทศเจ้าของทรัพยากรที่สำคัญเท่านั้น ในแง่ประวัติศาสตร์นั้น พื้นที่บริเวณนี้ก็มีพัฒนาการที่น่าสนใจมิใช่น้อย โดยอาณาจักรที่หลายคนรู้จักกันดี ก็คือ ช่วงเวลาที่ถูกเรียกกันว่า “เปอร์เซีย (Persia)” นั่นเอง
1
ในบทความนี้ Bnomics จึงหยิบเรื่องราวประวัติศาสตร์ของอิหร่านมาเล่าให้ฟังครับ
📌 ช่วงก่อนประวัติศาสตร์และอาณาจักรแรกในอิหร่าน
บริเวณที่เป็นประเทศอิหร่านในปัจจุบัน ถือเป็นหนึ่งในดินแดนที่มีหลักฐานการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ยุคแรกๆ
โดยหลักฐานที่มีการค้นพบกัน สามารถตรวจสอบอายุได้ถึง 100,000 ปีก่อนคริสตกาล หรือ นับเป็นช่วงยุคหินเก่าเลยทีเดียว ซึ่งแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ คือ “ภูเขา Zagros” ที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของประเทศอิหร่านในปัจจุบัน
พัฒนาการของมนุษย์ยุคแรกๆ ยังเป็นไปอย่างช้าๆ กินเวลาหลายหมื่นปี บริเวณประเทศอิหร่านก็เช่นกัน มนุษย์ยุคแรกก็พัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือและรูปแบบชีวิตไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมทั้งเริ่มขยายการตั้งถิ่นฐานจากบริเวณตะวันตกเข้ามาสู่ภาคตะวันออกบริเวณที่ราบสูงอิหร่านมากขึ้น
1
อย่างไรก็ดี ชุมชนเมืองขนาดใหญ่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในประเทศอิหร่าน ไม่ได้มาตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบสูงที่กว้างใหญ่ตอนกลางของประเทศ แต่ยังอยู่บริเวณตะวันตกที่มีร่องรอยการใช้ชีวิตของมนุษย์ยุคแรกๆ โดยอาณาจักรแรกมีชื่อว่า “Elam” (ตั้งขึ้นประมาณ 2700 ปีก่อนคริสตกาล)
1
ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของหลักฐานที่แสดงการมีอยู่ของ Elam คือ หลักฐานเหล่านั้นมักจะมาจากดินแดนทางตะวันตกของ Elam ซึ่งก็คือ “เมโสโปเตเมีย (ดินแดนลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส)” ที่เป็นหนึ่งในอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอาณาจักรหนึ่งในยุคนั้น
(เกร็ดเล็กน้อย: ที่หลักฐานส่วนใหญ่มาจากเมโสโปรเตเมีย เพราะว่า พวกเขามีการพัฒนาตัวอักษรยุคบุกเบิก ที่เรียกกันว่า “Cuneiform” หรือภาษาไทยแปลว่า “อักษรรูปลิ่ม” ตั้งแต่สมัยประมาณ 3200 ปีก่อนคริสตกาล)
อย่างที่เห็นได้ในแผนที่ ด้วยความที่มีอาณาบริเวณติดกับดินแดนเมโสโปเตเมีย ซึ่งในตอนนั้นมีสองอาณาจักรที่สำคัญแข่งขันกันมาตลอด คือ “บาบิโลน (Babylon)” และ “อัสซีเรียน (Assyrian)”
1
ทำให้ทาง Elam ก็ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับทั้งสองอาณาจักรนี้เสมอ ไม่โดยการทูต ก็ทางการทหาร ซึ่งหลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายช่วง ถึงขนาดเคยเข้ายึดครองเมโสโปเตเมียได้ช่วงสั้นๆ ด้วยซ้ำ สุดท้าย Elam ก็ต้องล่มสลายลงด้วยน้ำมือของอัสซีเรียน ในช่วงประมาณ 600 ปีก่อนคริสตกาล
📌 การก้าวขึ้นมาของจักรวรรดิเปอร์เซีย
อันที่จริง กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “เปอร์เซีย” เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณอิหร่านตั้งแต่ยุคสมัยของ Elam แล้ว โดยอพยพเข้ามาจากดินแดนทางตะวันออก
ซึ่งลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่แบ่งแยกกับชนกลุ่มเดิม ก็คือ การใช้โครงสร้างภาษา Indo-European ที่เป็นภาษาของคนในบริเวณยุโรปและเอเชีย รวมถึงบริเวณอัฟกันนิสถาน ปากีสถาน และ บังกลาเทศด้วย
โดยหลังจากการล่มสลายของ Elam ก็เป็นช่วงเวลาของอาณาจักร “Median” ซึ่งมีช่วงก่อร่างสร้างฐานที่สำคัญ คือ การร่วมมือกับบาบิโลน ในการทำสงครามขับไล่กับอัสซีเรียนออกไปจากดินแดนได้
(คนของอาณาจักร Median คือ ชาว Medes เป็นกลุ่มคนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณอิหร่านพร้อมๆ กับชาวเปอร์เซีย และทำการปกครองชาวเปอร์เซียเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง)
1
ก่อนที่ต่อมาในยุคของพระเจ้าไซรัสที่ 2 หรือ ไซรัสมหาราช (Cyrus the Great) แห่งเปอร์เซีย ที่ในตอนนั้นตั้งถิ่นฐานที่เมือง Fars ทางตอนใต้ของอิหร่านในปัจจุบัน ได้เข้ามายึดครอง Median และก่อตั้งจักรวรรดิชาวเปอร์เซียขึ้นครั้งแรก (the First Persian Empire) ประมาณช่วง 550 ปีก่อนคริสตกาล
โดยราชวงศ์ที่ปกครองเปอร์เซียร์ในช่วงนั้น มีชื่อว่า “Achaemenian” ซึ่งตั้งชื่อตามปฐมกษัตริย์ที่ตั้งอาณาจักรทางตอนใต้ของอิหร่านในตอนแรก ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพระเจ้าไซรัสมหาราชนั่นเอง
1
ช่วงเวลาในราชวงศ์นี้ จักรวรรดิเปอร์เซียสามารถขยายอาณาเขตและอิทธิพลออกไปได้อย่างสุดลูกหูลูกตา ตั้งแต่แถบคาบสมุทรบอลข่าน (ยุโรปตะวันออก) ไปจนถึง ลุ่มแม่น้ำสินธุในประเทศอินเดีย พิชิตได้ทั้งบาบิโลนและอียิปต์ จนกลายเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกขณะนั้น
1
แต่แม้จะเอาชนะอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ได้มากมาย ก็มีอยู่อาณาจักรที่ทางเปอร์เซียไม่เคยจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดสักที นั่นก็คือ “กรีก” ที่แม้จะยกทัพไปบุกสองครั้งสองครา ก็ยังไม่สามารถจัดการได้
ซึ่งต่อมา ในยุคของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great) ก็ถึงคราวที่ กรีกเอาคืนเปอร์เซียบ้าง เมื่อเข้ามาโจมตีแล้วสามารถเอาชนะได้ตอน 330 ปีก่อนคริสตกาล
📌 ดินแดนยุทธศาสตร์ ที่เป็นที่ต้องการเสมอมา
หลังการสวรรคตของอเล็กซานเดอร์มหาราช ดินแดนเปอร์เซียหรืออิหร่านในปัจจุบัน ก็ผ่านการปกครองโดยชาวอิหร่านเอง และถูกยึดครองจากอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ สลับสับเปลี่ยนกันไปตลอด
1
ช่วงเวลาที่ปกครองโดยชาวอิหร่านเองที่สำคัญ ก็คือ สมัยอาณาจักร Parthian และ Sasanian โดยมีเหตุการณ์สำคัญในช่วงนี้ ก็คือ การทำสงครามกับอาณาจักรโรมัน (Roman-Persian Wars) ที่เริ่มต้นตั้งแต่ช่วง 54 ปีก่อนคริสตกาล ยาวนานต่อมาหลายร้อยปี
ดินแดนแห่งนี้ ก็ยังถูกยึดครองโดยอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์อื่นอีก ทั้งอาณาจักรอิสลาม อาณาจักรออตโตมัน(เติร์ก) และอาณาจักรมองโกล ที่ต่างก็เคยเข้ามาปกครองพื้นที่ยุทธศาสตร์แห่งนี้ด้วยกันทั้งสิ้น
โดยเฉพาะในช่วงการปกครองจากอาณาจักรอิสลาม ที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อและการใช้ชีวิตของชาวอิหร่านไม่น้อย แต่อิหร่านก็ยังสามารถคงตัวตนทางด้านวัฒนธรรมและภาษาไว้ได้ในรูปแบบที่เป็นเปอร์เซียดั้งเดิม
📌 ความท้าทายในยุคใหม่ของอิหร่าน
อิหร่านก็ยังต้องเจอกับความท้าทายจากจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ไม่ขาดสาย โดยในยุคหลังนี้ สองจักรวรรดิสำคัญที่กดดันอิหร่าน ก็คือ รัสเซียและอังกฤษ
การกดดันไม่ใช่ในแง่ของดินแดนอย่างเดียว แต่ยังมีบทบาทถึงแนวคิดการปกครองด้วย จนในปี ค.ศ. 1906 เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ครั้งแรกทางการปกครอง คือ “The Constitutional Revolution” ที่ได้รับอิทธิพลมาจากรัฐสภาอังกฤษ โดยเน้นปฎิรูปจากบนลงล่าง
หลังจากนั้น ราชวงศ์ Pahlavis ก็ได้ขึ้นมาปกครองประเทศ และก็เริ่มมีการใช้ชื่อประเทศ “อิหร่าน” ในช่วงนี้เอง ในปีค.ศ. 1935
กษัตริย์คนสำคัญในช่วงนี้ ก็คือ Mohammad Reza Shah ที่ได้ทำการ “ปฏิวัติสีขาว (White Revolution)” ซึ่งเป็นความพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจและสังคม และก็เป็นรัฐที่มีความสัมพันธ์อันดีกับชาติตะวันตก
อย่างไรก็ดี ในยุคต่อมา ทางอิหร่านก็เกิดความไม่ลงรอยกับชาติตะวันตกเรื่อยมา เริ่มตั้งแต่การโอนกรรมสิทธิ์บริษัทน้ำมันต่างชาติให้เป็นของรัฐ สงครามกับอิรัก และก็การพัฒนาอาวุธขีปนาวุธ ที่ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ทางสหรัฐและสหประชาชาติคว่ำบาตรอิหร่าน
ซึ่งมาตรการคว่ำบาตรก็ดำเนินต่อเนื่องมายาวนาน พึ่งจะเริ่มมีการกลับมาพูดคุยอีกครั้ง เจรจาให้อิหร่านยกเลิกการพัฒนาขีปนาวุธในปีค.ศ. 2015
แต่กระบวนการไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยในสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทางสหรัฐฯ ก็ได้ตัดสินใจที่จะออกจากการเจรจาเรื่องนี้ไปในปีค.ศ. 2018 และก็ยังมีเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งสองประเทศอยู่เป็นครั้งคราว
2
จนเมื่อไม่กี่วันก่อนนี่เอง ที่มีข่าวว่า ทางสหรัฐฯ ได้กลับมาพูดคุยเรื่อง ยกเลิกการพัฒนาขีปนาวุธ ของอิหร่านอีกครั้ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งก็เชื่อว่า การเคลื่อนไหวนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนสำรอง ในกรณีที่จะเกิดวิกฤติพลังงานขึ้นในโลก
ที่สหรัฐฯ กำลังมองหาทางเลือกอื่น ให้พันธมิตรในยุโรป รวมถึงพยายามที่จะลดปัญหาเงินเฟ้อที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศของตัวเองด้วย ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า เรื่องราวนี้จะไปจบลงตรงไหน และอิหร่านจะเข้าไปมีบทบาทช่วยวิกฤติราคาพลังงานในตอนนี้ได้มากน้อยแค่ไหน
1
#อิหร่าน #เปอร์เซีย #Iran #Persia #ประวัติศาสตร์
#Bnomics #All_About_History #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
เครดิตภาพ : Directmedia via Wikipedia

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา