26 ก.พ. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์เบลารุส เพื่อนบ้านคนสนิทของรัสเซียและยูเครน
ความขัดแย้งทางการทหารระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ มีเหตุการณ์สำคัญหนึ่ง คือ การที่รัสเซียส่งทหาร “เข้าไปปฏิบัติการณ์พิเศษ” ในภูมิภาคดอนบาส แต่แท้จริงแล้ว ความขัดแย้งในภูมิภาคนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปีค.ศ. 2014 แล้ว
1
ทว่า ในตอนนั้น ทั้งสองประเทศก็ยังสามารถเจรจากันไปได้ในระดับหนึ่ง โดยมีตัวกลางสำคัญที่ช่วยประนีประนอม ก็คือ ประเทศเบลารุสที่อำนวยความสะดวก เปิดเมืองหลวงของประเทศตัวเองให้ทั้งสองฝ่ายเซ็นสัญญา จนนำมาซึ่ง “ข้อตกลงกรุงมินสก์ (Minsk agreement)”
และในเหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้ เบลารุสก็มีบทบาทสำคัญในฐานะจุดยุทธศาสตร์ที่มีดินแดนติดอยู่กับทั้งรัสเซียและยูเครน
ในบทความนี้ ทาง Bnomics จึงได้นำประวัติศาสตร์ของประเทศเบลารุส เพื่อนบ้านผู้มีความใกล้ชิดกับทั้งสองประเทศข้างต้นมาเล่ากันครับ
📌 ประวัติศาสตร์ช่วงเริ่มต้นและการเข้ามาของชาวสลาฟ
หลักฐานการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในดินแดนประเทศเบลารุสรวมถึงดินแดนใกล้เคียง มีมาตั้งแต่ยุคสมัยหินเก่าแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณแม่น้ำสำคัญ 3 สาย ประกอบไปด้วย แม่น้ำ Dvina, แม่น้ำ Dniper และแม่น้ำ Pripyat
1
อย่างไรก็ดี ในยุคสมัยนั้นยังไม่มีอาณาจักรใดที่รวบรวมประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณจนเป็นอารยธรรมขนาดใหญ่ได้
จนถึงกระทั่งถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 6 - 8 ชาวสลาฟ (Slav) ได้ปรากฏตัวขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ของดินแดน และก็ทำการยึดครองพื้นที่จากชนเผ่าเดิมที่เคยอาศัยอยู่
โดยชนเผ่าต่างๆ ของชาวสลาฟในช่วงแรกที่เข้ามาดินแดน ก็มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานและสร้างเมืองสำคัญของเบลารุส เช่น Pinsk, Turaw, Polatsk, Slutsk และ Minsk (เมืองหลวงเบลารุสในปัจจุบัน) เป็นต้น
2
และพอผ่านมาถึงช่วงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 8-9 ชนเผ่าเหล่านี้ก็ถูกรวบรวมและปกครองเป็นดินแดนเดียวกัน ภายในชื่อ “Kievan Rus” ซึ่งถือว่าเป็นรัฐของชาวสลาฟตะวันออกแห่งแรก (The first East Slavic state)
(ที่น่าสนใจ ก็คือ บริเวณของรัฐนี้ครอบคลุมพื้นที่ของทั้งประเทศเบลารุส รัสเซียบางส่วน และ ยูเครนบางส่วน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ร่วมกันที่ยาวนานของทั้ง 3 ประเทศ)
Kievan Rus เจริญเติบโตต่อมาได้ด้วยดี เพราะอานิสงค์สำคัญจากการเป็นทางผ่านของเส้นทางสินค้า ที่เชื่อมระหว่างอาณาจักรไบแซนไทน์ (Byzantine Empire) บริเวณทะเลดำมาสู่ทะเลบอลติก โดยมีชื่อเรียกเส้นทางการค้าขายนี้ว่า “Varangian route”
1
แต่ความเจริญรุ่งเรืองของรัฐก็มีอันต้องล่มสลายไปเมื่อปีค.ศ. 1240 หลังจากที่ชาวมองโกลสามารถบุกยึดกรุงเคียฟที่เป็นเมืองหลวงของ Kievan Rus ในตอนนั้นได้ (ปัจจุบันเคียฟยังเป็นเมืองหลวงของประเทศยูเครนด้วย)
📌 ยุคสมัยที่เบลารุสถูกผลัดเปลี่ยนการปกครองโดยอาณาจักรต่างๆ
ในยุคต่อมา ดินแดนที่เป็นประเทศเบลารุสในปัจจุบันก็ยังถูกผลัดเปลี่ยนการปกครองโดยอาณาจักรต่างๆ ที่ขึ้นมายิ่งใหญ่ในแต่ละช่วงเวลา
โดยหลังจากที่ถูกปกครองโดยชาวมองโกลอยู่ประมาณ 150 ปี อาณาจักร Lithuania ก็ได้กลายมาเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคแทน
โดยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13-14 อาณาจักร Lithuania สามารถขยายอาณาเขตไปได้อย่างกว้างขวาง ทางด้านตะวันออกขยายไปจนเกือบถึงมอสโกว และทางด้านใต้ก็สามารถควบรวมกรุงเคียฟมาเป็นของตัวเองได้
ลักษณะพิเศษที่เกิดขึ้นในยุคสมัยการปกครองของอาณาจักรนี้ คือ การที่รัฐแม่ยังเปิดอิสระในการปกครองตนเองให้กับดินแดนต่างๆ ค่อนข้างมาก จึงทำให้ในช่วงยุคนี้เอง ที่มีการหล่อหลอม ขัดเกลา จนเกิดเป็นตัวตนของชาวเบลารุสขึ้นมา
อย่างไรก็ดี แม้จะสามารถขยายอาณาเขตไปได้อย่างกว้างไกลทางตะวันออกและทางใต้ Lithuania ก็ยังมีอุปสรรคเป็นอาณาจักร Poland ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้อยู่ ที่ไม่สามารถเข้าไปยึดครองได้
1
เมื่อไม่สามารถใช้วิธีทางการทหาร ทั้งสองก็อยู่ร่วมกันโดยการผูกสัมพันธ์ผ่านการแต่งงานระหว่างอาณาจักรแทน เริ่มครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1386 และพัฒนาความสัมพันธ์เรื่อยมา จนในปีค.ศ. 1569 ทั้งสองอาณาจักรได้ตกลงรวมกันเป็นอาณาจักรเดียว ในชื่อ “Union of Lublin” หลังจากนั้นอาณาจักรก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง
1
จนกระทั่งปลายคริสต์วรรษที่ 18 ในดินแดนมีสามอาณาจักรที่เติบโตขึ้นมาอย่างมาก ประกอบด้วยออสเตรีย ปรัสเซีย และ รัสเซียเห็นถึงความอ่อนแอลงของอาณาจักรเดิมเช่นกัน จึงตัดสินใจเข้ามาบุกรุกและแบ่งการปกครองในดินแดนของอาณาจักร Lithuania และ Poland เดิมออกเป็นสามส่วน และแบ่งกันปกครองคนละส่วน โดยดินแดนที่เป็นเบลารุสในปัจจุบันได้ตกไปอยู่ในการปกครองของอาณาจักรรัสเซียนั่นเอง
📌 ดินแดนทางผ่านของการทำสงคราม
1
หลังจากที่เข้ามาอยู่ในจักรวรรดิรัสเซีย พื้นที่ที่เป็นเบลารุสในปัจจุบันก็กลายเป็นทางผ่านของกองกำลังทหารที่ต้องการจะเข้ามาบุกจักรวรรดิรัสเซียเกือบตลอด
ตั้งแต่ในยุคของพระเจ้านโปเลียนผู้นำทัพฝรั่งเศส จนถึงยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทุกครั้งเมื่อเกิดสงคราม ก็มักจะนำมาซึ่งความเสียหายกับสภาพบ้านเมืองอย่างมาก
โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีช่วงระยะเวลาสั้นๆ ด้วย ที่พื้นที่เบลารุสส่วนใหญ่ถูกปกครองโดยเยอรมนี เพราะว่า ในตอนนั้นมีการทำสนธิสัญญา Brest-Litovsk ซี่งทางรัสเซียยอมยกดินแดนบางส่วนให้กับเยอรมนีเพื่อยุติสงคราม ซึ่งรวมถึงเบลารุสด้วยนั่นเอง
1
แต่สุดท้ายเยอรมนีก็เลือกที่จะถอนทัพออกจากเบลารุส ทำให้มีการประกาศจัดตั้งรัฐ Belarusian Democratic Republic ขึ้น ถือเป็นครั้งแรกในรอบเป็นกว่าพันปี ที่ดินแดนแห่งนี้มีรัฐบาลที่ปกครองตนเองจริงๆ ไม่ขึ้นอยู่กับอาณาจักรอื่นๆ
แต่หลังจากนั้นไม่นาน เบลารุสก็ถูกผนวกรวมกลับไปอยู่กับรัสเซีย ซี่งในตอนนั้นก็กำลังเปลี่ยนผ่านเข้ายุคสมัยของสหภาพโซเวียด
ซึ่งพื้นที่เบลารุสก็ยังกลายเป็นสมรภูมิในการสู้รบอีกครั้งระหว่างเยอรมนีและโซเวียด ที่ทั้งสองจะมีการทำสนธิสัญญาไม่โจมตีกันและแบ่งกันยึดครองโปแลนด์ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่สุดท้ายตอนปีค.ศ. 1941 เยอรมนีก็ได้ตัดสินใจที่จะบุกรุกโซเวียด ที่ถึงเยอรมนีจะไม่สามารถเอาชนะได้ แต่ก็ทิ้งไว้ด้วยความเสียหายทั้งด้านร่างกายจิตใจของผู้คน และสภาพบ้านเมืองที่ถูกทำลาย
2
หลังจากสงครามโลกจบลง เบลารุสก็เข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูสภาพบ้านเมืองภายใต้การปกครองโดยโซเวียดอยู่ จำนวนประชากรในกรุงมินสก์ก็สูงขึ้นเรื่อยๆ จนทะลุหลักล้านคนในช่วงทศวรรษ 70 พร้อมกันนี้ยังมีการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงนี้อีกจำนวนมากด้วย
📌 การประกาศอิสรภาพหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียด
1
แต่แล้วในปี 1990 เบลารุสก็ได้ประกาศความเป็นชาติ และประกาศอิสรภาพออกจากการปกครองของโซเวียดในปีต่อมา ภายใต้ความวุ่นวายในการปกครองส่วนกลางของโซเวียด ซึ่งตามมาด้วยการล่มสลายของโซเวียดอย่างที่เรารู้กัน
แต่การแยกตัวออกมาจากโซเวียดที่กลายมาเป็นรัสเซีย ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศเบลารุสเลย เพราะ ก่อนหน้านั้นเศรษฐกิจของประเทศมีการพึ่งพาเศรษฐกิจของแผ่นดินใหญ่อย่างมาก ทั้งในแง่วัตถุดิบราคาถูกและการเป็นตลาดซื้อขายอันดับหนึ่ง
ทำให้หลังจากแยกตัวออกมา ทางเบลารุสก็ยังต้องมีการติดต่อซื้อขายและรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับทางรัสเซียเสมอมา ซึ่งส่วนสำคัญที่ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศสามารถสานต่อมาได้ตลอด ก็เพราะว่า ผู้นำของเบลารุส คุณ Alexander Lukashenko เป็นผู้นำที่สนับสนุนทางรัสเซีย
1
โดยนับตั้งแต่ชนะเลือกตั้งในปี 1995 Lukashenko ก็เป็นผู้นำของเบลารุสมาโดยตลอด จนถึงตอนนี้เขาดำรงตำแหน่งมาทั้งหมด 6 สมัยแล้วจนถึงปัจจุบัน
(เกร็ด:อย่างไรก็ดี ทางประเทศพันธมิตรตะวันตกก็วิจารณ์ว่า การเลือกตั้งรวมถึงการดำเนินงานของรัฐบาลเบลารุสไม่โปร่งใสนะ และก็มีข่าวที่ไม่ดีมากนักในการจัดการฝ่ายผู้ที่ไม่เห็นด้วยในประเทศ)
ถึงแม้ในช่วงหลัง ความสัมพันธ์ของเบลารุสกับรัสเซียจะแย่ลงไปบ้าง และเริ่มมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับทางสหาภาพยุโรปมากขึ้น แต่เบลารุสก็ยังอยู่ภายใต้รับอิทธิพลของรัสเซียอย่างมากอยู่ดี
และก็มีเหตุการณ์สำคัญในตอนปี 2014 ที่ทางเบลารุสได้เข้าไปเป็นกาวใจสำคัญให้กับสองเพื่อนบ้านสนิท ที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน เมื่อพวกเขาเป็นตัวกลางที่ช่วยให้รัสเซียเซ็นสัญญาสงบศึกกับยูเครนในศึกภูมิภาคดอนบาส (ที่บางคนอาจจะวิเคราะห์ทางยูเครนเสียเปรียบมากกว่า แต่ในตอนนั้นก็ดีกว่าให้รัสเซียสนับสนุนทางทหารอย่างเต็มตัวแน่นอน)
และในเหตุการณ์ความขัดแย้งรอบล่าสุด ที่กำลังดำเนินไปอยู่นี้ ก่อนหน้าที่ทางรัสเซียจะตัดสินใจส่งทหารเข้าไปในยูเครน ก็มีการใช้เบลารุสเป็นสถานที่ซ้อมรบ และไม่ยอมถอนทัพทหารกลับ ทำให้กลายเป็นยุทธศาสตร์ที่ทางรัสเซียสามารถส่งทหารเข้าไปบุกยูเครนได้ด้วย
1
ในประวัติศาสตร์ของเบลารุส เต็มไปด้วยบทเรียนจากสงคราม ทั้งการผลัดเปลี่ยนการปกครอง การถูกแบ่งแยกดินแดน ความเสียหายจากการเป็นทางผ่านของกองกำลังทหาร ซึ่งทุกครั้ง ก็ต้องมีผู้ที่สูญเสียและเจ็บปวดจากเรื่องราวสงครามเสมอ
เราก็ได้แต่หวังว่า ทุกคนที่มีส่วนร่วมกับความขัดแย้งในตอนนี้จะเรียนรู้จากประวัติศาสตร์เช่นกัน และหาทางออกที่ดีที่สุดที่จะสร้างความสันติให้เกิดขึ้นในดินแดนบริเวณนี้ไปได้อีกนาน
2
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
เครดิตภาพ : Valentin Volkov via officeholidays.com

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา