Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
22 ก.พ. 2022 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ค่าขนส่งที่ปรับเพิ่มขึ้นผลักให้เงินเฟ้อเร่งสูงขึ้น
📌 ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
ต้นทุนในการขนส่งสินค้าทางทะเลและทางอากาศยังคงปรับเพิ่มขึ้นสูงทั่วโลกและมีแนวโน้มที่จะอยู่ระดับสูงตลอดทั้งปี หากความต้องการของผู้บริโภคยังคงมีมาก ประกอบกับการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของภาคการผลิตทั่วโลกส่งผลให้ยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศพุ่งสูงขึ้น จนก่อให้เกิดปัญหาคอขวดด้านอุปทาน สะท้อนจากระยะเวลาการส่งมอบสินค้าที่ช้าลง และราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น
อัตราค่าขนส่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของต้นทุนสินค้า ดังนั้นการที่ค่าขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจึงเป็นความท้าทายสำหรับเศรษฐกิจโลกในช่วงของการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ราคาค่าขนส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์ก็มีอิทธิพลอย่างมากต่อการค้าโลก เนื่องจากสินค้าต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า อาหารแปรรูป และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ถูกจัดส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์ ธุรกิจต่าง ๆ จึงต้องขึ้นราคาสินค้าที่ขายให้กับผู้บริโภคเนื่องจากต้นทุนแพงขึ้น
📌 สหรัฐอเมริกา
อ้างอิงจากดัชนีราคาผู้ผลิตล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯ ต้นทุนการขนส่งสินค้าและการจัดเก็บสินค้าสำหรับความต้องการขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนมกราคม 2565 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเมื่อพิจารณาค่าขนส่งตามประเภทการจัดส่ง ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าราคาค่าขนส่งรถบรรทุกเพิ่มขึ้น 18.3% และค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางทะเลเพิ่มขึ้น 29% จากเดือนมกราคมของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 12 เดือน ในขณะเดียวกัน ค่าขนส่งทางรถไฟเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2554 ในขณะที่ค่าขนส่งสินค้าทางอากาศเพิ่มขึ้นสูงถึงระดับสูงสุดในรอบทศวรรษ
ดัชนีราคาผู้ผลิตสำหรับความต้องการขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้น 9.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ 1% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ผลสำรวจของ Bloomberg คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 9.1% และ 0.5% ตามลำดับ
รูปที่ 1: ค่าขนส่งสินค้าปรับเพิ่มขึ้นทุกหมวด ในสหรัฐฯ
ตามรายงาน Supply Chain Stress Tracker ของ Oxford Economics แรงกดดันด้านสินค้าคงคลังผ่อนคลายลงเล็กน้อยในเดือนธันวาคม อย่างไรก็ตาม ปัญหาคอขวดยังคงมีอยู่ ในขณะที่ มีแรงกดดันเพิ่มขึ้นในด้าน ราคา และแรงงาน โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจชะลอลงเล็กน้อย และทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานรุนแรงขึ้น
รูปที่ 2: ดัชนีชี้วัดปัญหาด้าน Supply Chain ในสหรัฐฯ (จัดทำโดย Oxford Economics)
ค่าขนส่งได้กลายเป็นประเด็นที่ก่อความกังวลหลักสำหรับธุรกิจต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Under Armour และ Chipotle โดยบริษัท Under Armour ซึ่งเป็นแบรนด์ชุดกีฬาออกเตือนว่าผลกระทบของปัญหาคอขวดอาจคงอยู่ต่อไปในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนที่จะถึงนี้ และราคาค่าจัดส่งที่สูงขึ้นอาจคงอยู่ตลอดช่วงที่เหลือของปี ในขณะที่ Chipotle Mexican Grill ระบุว่าต้นทุนค่าเนื้อวัวและค่าขนส่งที่พุ่งสูงขึ้นเป็นแรงกดดันหลักของบริษัท โดยอัตราเงินเฟ้อยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง และในตอนนี้ธุรกิจต่างๆ ในหลายอุตสาหกรรม กำลังปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อชดเชยต้นทุนการผลิตและการขนส่งที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงการขาดแคลนแรงงาน โดยทาง Chipotle ได้เพิ่มราคาอาหารขึ้นเกือบ 4% ในเดือนธันวาคม 2564
📌 ยุโรป
ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าผ่านคอนเทนเนอร์จากเซี่ยงไฮ้ไปยังรอตเตอร์ดัม (ท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป) อยู่ที่ประมาณ 13,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 60% แสดงให้เห็นถึงแรงกดดันที่เกิดขึ้นกับผู้ส่งออกและผู้นำเข้าที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น ดัชนีค่าขนส่งเส้นทางการค้าตะวันออก – ตะวันตกที่สำคัญแปดเส้นทาง เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 9,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 79% ในปีก่อนหน้า ตามข้อมูลของ Drewry
รูปที่ 3: ดัชนีค่าระวางเรือ World Container Index
อัตราค่าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการตู้ขนาด 20 และ 40 ฟุตมีมาก ท่ามกลางคำสั่งซื้อที่มีมากขึ้นจากผู้บริโภคและการเพิ่มสต๊อกสินค้าของบริษัท ส่งผลทำให้ผู้ให้บริการขนส่งทำกำไรได้มหาศาลในช่วงที่ผ่านมา
บริษัท AP Moller-Maersk A/S ในเดนมาร์ก ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าที่จะสร้างกำไร (EBITDA) ให้ได้ราว 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 นี้ ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ท่าเรือคับคั่งไปด้วยสินค้า เนื่องจากผู้คนหันมาสั่งซื้อของจากที่บ้านกันมากขึ้นในช่วงที่ติดล็อกดาวน์ สร้างรายได้จำนวนมากให้กับบริษัท Maersk และทางบริษัทได้ใช้เงินทุนจากการดำเนินงานไปลงทุนในโครงการอื่น ๆ เช่น การบริการขนส่งทางอากาศและทางบก เพื่อกระจายความเสี่ยงในการดำเนินงาน
รูปที่ 4: ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าผ่านตู้คอนเทนเนอร์ทำกำไรได้มหาศาลในช่วงที่ผ่านมา
📌 ไทย
ในประเทศไทย ราคาน้ำมันดีเซลที่พุ่งสูงขึ้นทำให้เกิดปัญหาในการขนส่งทางบก เนื่องจากคนขับรถบรรทุกหยุดงานประท้วงเพื่อเรียกร้องให้มีการควบคุมราคาน้ำมัน ตลาดน้ำมันดีเซลในเอเชียเริ่มตึงตัวขึ้นอย่างมาก เนื่องจากอุปทานที่ลดลงในประเทศจีน การหยุดชะงักของการผลิต และความต้องการที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ที่ฟื้นตัวจากโรคระบาดของโควิด-19
ต้นทุนเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น เช่น ดีเซลและน้ำมันเบนซินเป็นปัญหาใหญ่สำหรับรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลก เพราะต้องจัดการกับเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ในขณะที่ต้องพยุงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไปด้วยพร้อมกัน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยได้ตัดสินใจลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาท เป็นระยะเวลาสามเดือน จนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 เพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบโลกที่พุ่งสูงขึ้น เพื่อลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว
#เศรษฐกิจไทย #ประเทศไทย #ตลาดหุ้นไทย #ค่าเงินบาท #อุตสาหกรรม
#Bnomics #Global_Economic_Update #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
Bangkok Bank Post ฉบับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
⏬ Download PDF File
https://www.bnomics.co/wp-content/uploads/2022/02/BBL_210222.png
ผู้เขียน : ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Website :
https://www.bnomics.co
Facebook :
https://www.facebook.com/Bnomics.co
Blockdit :
https://www.blockdit.com/bnomics
Line OA : @Bnomics
https://bit.ly/3eYkTJC
Youtube :
https://www.youtube.com/bnomics
Twitter :
https://twitter.com/bnomics_co
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
สหรัฐอเมริกา
เศรษฐกิจ
หุ้น
อุตสาหกรรม
5 บันทึก
4
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Global Economic Update
5
4
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย