1 มี.ค. 2022 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
NFT คืออะไรและจะมาปฏิวัติวงการศิลปะได้อย่างไร?
📌 NFT คืออะไร?
Non-fungible tokens (NFTs) เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีลักษณะเฉพาะตัวและไม่สามารถทดแทนกันได้ แตกต่างจาก Cryptocurrencies อย่าง Bitcoin หรือ Ether ที่สามารถใช้แทนกันได้ (ทุกเหรียญเหมือนกัน เช่น โอน BTC ไป 1 เหรียญ และได้รับ BTC 1 เหรียญ ในเวลาเดียวกัน มีค่าเท่ากัน) และสามารถนำไปใช้เป็นตัวกลางการชำระเงินในการทำธุรกรรมได้
คุณสมบัติของ NFT ที่ไม่สามารถนำมาทดแทนกันได้ ถูกนำมาปรับใช้ในงานหลากหลายแขนง เช่นงานศิลปะ เกมการ์ด การ์ตูน หรือภาพ Meme เนื่องจาก NFT เปรียบเสมือนสัญญาที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของศิลปะชิ้นนั้น ๆ แม้ว่าจะมีการทำซ้ำหรือคัดลอกผลงานไป NFT ก็ยังคงเป็นตัวยืนยันว่างานศิลปะชิ้นนั้นมีเพียงชิ้นเดียวในโลก
NFT ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีผู้ใช้จ่ายเงินอย่างน้อย $44.2 พันล้านดอลลาร์ในสัญญา ERC-721 และ ERC-1155 ซึ่งเป็นสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) บน Ethereum บล็อคเชน สองประเภทที่เชื่อมต่อกับตลาด NFT ตามรายงานของ Chainalysis เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบล็อคเชน นอกจากนี้ ทั้งมูลค่าโอนรวมและขนาดของธุรกรรมเฉลี่ยก็ปรับสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
รูปที่ 1: มูลค่าโดยรวมและมูลค่าเฉลี่ยต่อธุรกรรมที่ส่งไปยังแพลตฟอร์ม NFT รายสัปดาห์ ในปี 2564
📌 ทำไมคนถึงยอมจ่ายเงินหลักล้านให้กับ NFT
NFTs ช่วยป้องกันการทำซ้ำและคงความเป็นเจ้าของให้กับผู้สร้างสรรค์ผลงานหรือผู้ที่ซื้อ ทำให้เกิด Scarcity และมูลค่า เราสามารถมอง NFT ในลักษณะเดียวกันว่าทำไมผู้คนถึงตีมูลค่าภาพวาด อย่าง โมนาลิซา (Mona Lisa) ไว้มหาศาล
บางคนต้องการงานศิลปะเพื่อตกแต่งบ้านให้สวยงาม อย่างไรก็ดี งานศิลปะก็มีบทบาททางด้านสังคมด้วยเช่นกัน เนื่องจากงานศิลปะสามารถแสดงให้เห็นถึงความชอบและรสนิยมส่วนบุคคล
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการซื้อเพื่อสะสม นักสะสมของ เช่น การ์ดกีฬา ของเล่นเกม ฟิกเกอร์ของเล่น และงานศิลปะ ต่างก็พยายามที่จะค้นหาผลงานชิ้นที่หายาก (Rare) มาสะสมไว้ในคอลเลกชันเพื่อแสดงถึงฐานะหรือโชค (ดวงดีซื้อได้/สุ่มได้มา) การมี NFT ที่หายากไว้ในครอบครองก็ใช้แนวคิดในลักษณะเดียวกัน
จากการศึกษาของ NFTGO ระบุว่ามูลค่าการซื้อขาย NFT โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำมาใช้เป็นรูปโปรไฟล์ใน Social Media มีมากเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าโดยรวม หรือราว 46% ชี้ให้เห็นว่าผู้คนนำเอารูป NFT มาแสดงแทนตัวตนของตนเองเพิ่มมากขึ้น และได้รับความนิยมมากจน Twitter อนุญาตให้ผู้ใช้เชื่อมต่อกระเป๋าเงินดิจิทัลกับทางเว็บไซต์เพื่อแสดง NFT เป็นรูปโปรไฟล์
NFT จาก Bored Ape Yacht Club และ Clone X เป็นสองตัวอย่างคอลเลกชันยอดนิยม โดยมีปริมาณการซื้อขายราว 7,300 ETH (19 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และ 5,250 ETH (13 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ตามลำดับ NFT บางคอลเลกชันให้สิทธิ์แก่นักสะสมในการเข้าถึง Community เพื่อพูดคุยกับผู้คนที่มีรสนิยมด้านศิลปะแบบเดียวกัน ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสิทธิพิเศษสำหรับคนที่ถือ NFT ไว้ในครอบครอง
เหตุผลสุดท้าย เราอาจพิจารณาการซื้อ NFT เป็นการลงทุนรูปแบบหนึ่ง บางคนซื้อเพราะหวังว่ามูลค่าของชิ้นงานจะเพิ่มขึ้น เหมือนกับของสะสม อย่างเช่น ภาพวาด นาฬิกา และกระเป๋าแบรนด์เนม ที่เราเห็นราคาขึ้นเอาๆ มาตลอด และอาจขายเพื่อทำกำไรในภายหลังได้
รูปที่ 2: คนส่วนมากซื้อ NFT มาใช้เป็นรูปโปรไฟล์
📌 กระแสความนิยม NFT ในปี 2564
ตามรายงานของ DappRadar ยอดขาย NFT พุ่งสูงถึงเกือบ 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ราคา NFT ในหมวด รูปภาพ วิดีโอ หรือแม้แต่ที่ดินในโลกเสมือนจริง พุ่งสูงขึ้นมากในปีที่แล้ว โดยยอดขายพุ่งสูงสุดที่ 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม 2564 จากนั้นลดลงก่อนดีดตัวขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนธันวาคม ในขณะที่ แบรนด์สินค้าใหญ่ ๆ ต่างพากันทำการตลาดผ่านการใช้ NFT มากขึ้น โดยอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อาหาร (McDonald's, Taco Bell) และแฟชั่น (Nikkei, Louis Vuitton) เป็นต้น
รูปที่ 3: ราคาขายเฉลี่ยของคอลเลกชัน NFT เพิ่มสูงขึ้นในปี 2564
นอกจากนี้ จำนวน Wallet ที่ใช้ซื้อขายในตลาด NFT ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในปี 2564 โดยเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 28.6 ล้านบัญชี จากเพียง 545,000 บัญชี ในปี 2563 เติบโตกว่า 5,150% ในเวลาเพียงปีเดียว (อ้างอิงจากเว็บไซต์ NonFungible.com) และการศึกษายังแสดงให้เห็นอีกว่าคนรุ่น Millennials เป็นคนกลุ่มหลักที่มีแนวโน้มว่าจะซื้อ NFT มากที่สุด และมีโอกาสมากกว่า Gen Z ถึง 3 เท่า
รูปที่ 4: จำนวน Wallet ที่ซื้อ NFT บนบล็อกเชน Ethereum ต่อสัปดาห์
📌 การใช้ NFT ในรูปแบบอื่นนอกเหนือจากงานศิลปะ
NFT ที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่เป็นงานด้านศิลปะ จนอาจทำให้หลายคนคิดว่า NFT จำเป็นที่จะต้องเป็นงานศิลปะแต่เพียงเท่านั้น แต่จริง ๆ ไม่ใช่เช่นนั้น เนื่องจาก NFT สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม
ยกตัวอย่างเช่น NFT สามารถนำไปใช้ในเกมได้ ซึ่งจะแตกต่างจาก NFT ทั่วไปที่ใช้เก็บสะสมไว้ใน Wallet เท่านั้น ผู้เล่นจะสามารถนำเอา NFT ที่เป็นตัวละครในเกมไปใช้เล่นได้จริง ๆ และถ้าหากเล่นผ่านด่านหรือเล่นชนะก็อาจได้รับรางวัลเป็น NFT มา เพื่อในไปขายต่อในตลาดแลกเปลี่ยนให้กับผู้เล่นคนอื่น ๆ ได้
นอกจากนี้ NFT ยังสามารถนำเอาไปใช้แทนตั๋วเข้างาน อย่างเช่น คอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา หรือการประชุมต่าง ๆ ได้ เนื่องจาก NFT มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถทำซ้ำได้ ป้องกันการใช้ตั๋วปลอม และอำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าร่วมงานได้อย่างดี
Bangkok Bank Post ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
ผู้เขียน : ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาววรณ อรรถมายนะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
เครดิตภาพ : Sotheby's via The New York Times

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา