22 มี.ค. 2022 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เมื่อราคาพลังงานสูงขึ้นได้มากกว่านี้อีก
ผ่านมามากกว่าสองอาทิตย์ รัสเซียก็ยังคงบุกยูเครนต่อไปท่ามกลางความไม่พอใจของหลายประเทศ และนี่ก็น่าจะทำให้ประเทศมากมายเริ่มแบนสินค้าส่งออกสำคัญของรัสเซีย ซึ่งก็คือ สินค้าพลังงาน เป็นแน่
3
อย่างสหรัฐฯ ก็ประกาศแล้วว่าจะไม่นำเข้าน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย และบริษัทเอกชนอย่าง Shell ก็บอกว่าจะหยุดซื้อพลังงานจากรัสเซีย
แม้ว่าแต่ละประเทศจะยังไม่ลงรายละเอียดในการแบนสินค้ารัสเซียอย่างชัดเจน นักวิเคราะห์หลายคนต่างเห็นพ้องกันว่าการแบนพลังงานของรัสเซีย ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม จะส่งผลเสียกับตลาดพลังงานและเศรษฐกิจโลกเพราะรัสเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันและผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายสำคัญของโลก
4
จากการวิเคราะห์ของบริษัท Capital Economics การคว่ำบาตรครั้งนี้ มีแนวโน้มทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent crude oil) พุ่งแตะ 160 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และทำให้ราคาก๊าซยุโรปเพิ่มขึ้นเป็น 300 ยูโร ต่อ เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) ในช่วงสั้นๆ ทันทีหลังการคว่ำบาตรมีผลบังคับใช้
1
ส่วนในระยะยาว ราคาก็น่าจะยังคงค่อนข้างสูง เนื่องจากแต่ละประเทศต้องใช้เวลาสักพักในการทดแทนอุปทานพลังงานที่หายไป ซึ่งในกรณีนี้ Capital Economics คาดการณ์ไว้สำหรับทั้งปีนี้ว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และราคาก๊าซยุโรป จะอยู่ที่ราวๆ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ 150 ยูโรต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง
สถานการณ์นี้อาจยิ่งแย่ลง ถ้ารัสเซียมีการตอบโต้ ซึ่งล่าสุด รองนายกรัฐมนตรีของประเทศ ได้ออกมาเตือนแล้วว่า รัสเซียสามารถโต้กลับโดยการปิดท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปเยอรมนี และการสู้กลับครั้งนี้อาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งไปถึง 300 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลได้
เมื่อดูจากสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มเร็วขึ้นและอยู่นานขึ้น ซึ่งทาง Capital Economics ได้ประมาณการไว้ว่าราคาพลังงานที่สูงขึ้น จะทำให้อัตราเงินเฟ้อ ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศตลาดเกิดใหม่ สูงขึ้นกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้อีกประมาณ 2%
นอกจากนี้ ผลเสียจากรายจ่ายด้านพลังงานที่สูงขึ้นก็น่าจะเยอะกว่าผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบการด้านพลังงานได้รับจากราคาขายที่สูงขึ้น ตามคาดการณ์ของ Oxford Economics GDP ของประเทศที่นำเข้าพลังงานจากรัสเซียเยอะ เช่น ประเทศในโซนยุโรปและอังกฤษ อาจลดลงได้ถึง 0.5% จากค่าครองชีพที่สูงขึ้น
1
แม้ประเทศที่ไม่ได้ทำการค้ากับรัสเซียมากมายเอง ก็ไม่น่าจะหนีผลกระทบนี้ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นในประเทศไทย ที่อัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ราวๆ 5% ในปีนี้ ตามการวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เนื่องจากราคาพลังงานที่แพงขึ้น
5
ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ประเมินไว้ด้วยว่า ทุกครั้งที่ราคาน้ำมันขึ้น 1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล GDP ของประเทศจะลดลงประมาณ 0.3-0.4%
1
ซึ่งนี่ยังไม่รวมถึงรายได้นักท่องเที่ยวรัสเซียที่อาจลดลง จากการแบนธนาคารรัสเซียที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถใช้จ่ายเงินในประเทศไทยได้อย่างสะดวกเหมือนเมื่อก่อน
ทั้งนี้ เมื่อรวมผลกระทบจากทุกประเทศทั่วโลกแล้ว สงครามรัสเซีย-ยูเครนครั้งนี้ อาจทำให้ GDP โลกโดยรวมลดลงไปกว่า 1% ตามรายงานของ Capital Economics
3
อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยที่น่าจะช่วยฉุดราคาพลังงานลงมาบ้าง เช่น การตั้งเพดานราคา โดยรัฐบาลในประเทศพัฒนาแล้วหรือในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีงบประมาณเพียงพอ หรือการที่ประเทศในองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency, IEA) จะช่วยกันผลิตน้ำมันเพิ่มเพื่อทดแทนส่วนที่ขาดแคลน แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังคงต้องดูกันต่อไปว่าปัจจัยเหล่านี้จะช่วยกดราคาพลังงานได้มากน้อยแค่ไหน
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา