22 ก.พ. 2022 เวลา 03:02 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ศัพท์ S&T ทันโลก ตอน 9
สะเต็ม (STEM) ตอน 1
คงต้องเคยได้ยินคำว่า “สะเต็ม” กันมาบ้างใช่ไหมครับ
Photo by stem.T4L on Unsplash
อย่าไปสับสนกับอีกคำคือ “สเต็ม” ที่หมายถึง เซลล์ต้นกำเนิด (stem cell) หรือเซลล์พิเศษของร่างกายที่แปลงร่างกลายเป็นเซลล์ประเภทต่างๆ ได้ ซึ่งคาดว่าจะมีประโยชน์ด้านการแพทย์อย่างมากมายในอนาคตอันใกล้
ผมเคยเขียนหนังสือเรื่อง “สเต็มเซลล์” ไว้ด้วย ใครสนใจก็ลองหาอ่านดูได้นะครับ พิมพ์กับสำนักพิมพ์สารคดีครับ
https://www.rimkhobfabooks.com/book-division/-4852/978-974-484-246-6
ใครอยู่ในแวดวงการศึกษา คงต้องเคยได้ยินคำว่า “สะเต็ม” แน่นอน คำนี้มาจากตัวย่อภาษาอังกฤษ STEM ที่เป็นหมวดวิชา 4 ด้านคือ science (วิทยาศาสตร์) technology (เทคโนโลยี) engineering (วิศวกรรมศาสตร์) และ math (คณิตศาสตร์)
ไม่ทราบเหมือนกันว่า ใครเป็นคนแรกที่เขียนให้มีสระอะกับไม่มีสระอะแตกต่างกัน แต่ก็สะดวกดี วันนี้จะมาดูเกี่ยวกับ “สะเต็ม” หรือจะให้เต็มยศก็คือ “การศึกษาแบบสะเต็ม (STEM education)” กันครับ
Photo by ZMorph All-in-One 3D Printers on Unsplash
ทำไมต้อง “สะเต็ม”?
คำว่าสะเต็มเริ่มฮิตกันมาราวยี่สิบปีนะครับ สาเหตุที่นักวิชาการโดยเฉพาะชาวอเมริกัน มองว่า การเน้นหนักการเรียนรู้ใน 4 สาขาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีปัจจัยหลายเรื่องที่เกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่ที่แสดงว่า หากไม่มีการปรับตัว รับรองได้ว่าสหรัฐฯ ที่เป็นพี่ใหญ่ในทุกวันนี้ จะต้องถดถอยลงมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ และอย่างรวดเร็วอีกต่างหาก
ลองมาดูสถิติจากคณะกรรมาธิการแห่งชาติด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สำหรับศตวรรษที่ 21 (National Commission on Mathematics and Science for the Twenty-first Century) ที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 2000 ซึ่งระบุว่า 60% ของงานใหม่ๆ ที่จะเกิดในศตวรรษ 21 นี้ จะอาศัยคนแค่ 20% ของแรงงานที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน ที่มีทักษะตรงหรือมากพอปรับตัวได้
ถ้าประมาณการณ์นี้ถูกต้อง ก็แปลว่าเฉพาะในสหรัฐฯ แค่ถึงปี ค.ศ. 2018 ก็จะหาคนมาทำในตำแหน่งงานทักษะสูงไม่ได้ถึง 3 ล้านตำแหน่ง ราว 2/3 ของจำนวนนี้จะต้องเป็นคนที่จบสูงกว่ามัธยมศึกษา
แต่สถานการณ์จริงขณะนี้ก็คือ มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ มีคนจบด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ แค่ราว 1 : 3 ของทั้งหมด ซึ่งหากนับเปรียบเทียบจำนวนกันทั้งโลก สหรัฐฯ อยู่ที่อันดับ 17 ในเรื่องนี้เท่านั้น ปัญหาจึงเป็นว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ผลิตคนที่มีทักษะด้านสะเต็มอย่างเพียงพอ
ครั้นพอไปดูเรื่องคุณภาพของเด็กนักเรียน นักศึกษาของสหรัฐฯ ในด้านสะเต็ม ก็พบปัญหาใหญ่ (และไทยซึ่งตามรอยสหรัฐฯ ในเรื่องหลักสูตรการศึกษา ก็มีปัญหาเดียวกันเปี๊ยบ) คือ การเรียนของเด็กนักเรียนสหรัฐฯ ถือได้ว่าย่ำแย่ทีเดียว
https://teacherkobwit2010.files.wordpress.com/2013/12/stem-gif.gif
รายงานการประเมินความก้าวหน้าด้านการศึกษาของชาติ หรือ NAEP (National Assessment of Education Progress) ของสหรัฐฯ ระบุใน ค.ศ.2009 ว่า ยิ่งเด็กๆ เข้าไปอยู่ในระบบโรงเรียนนานวันเข้า คะแนนก็ยิ่งย่ำแย่ลง กล่าวคือหากเทียบคะแนนที่ทำได้กับ “ค่าพื้นฐาน” ที่ควรทำได้แล้ว มีแค่ 72% ของเด็ก ป.4 63% ของเด็ก ม.2 และ 60% ของชั้น ม.6 เท่านั้นที่ทำได้เท่ากับหรือมากกว่าค่าพื้นฐาน “ที่ควรได้”
การที่เด็กอเมริกันไม่ค่อยเลือกเรียนสาขาวิชาสะเต็ม หรือแม้แต่เรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยน้อยก็เป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะเอาเข้าจริงแล้ว คนที่เรียนสะเต็มมีรายได้มากกว่าชัดเจน
ที่มา: รายงาน STEM: Good Jobs Now and for the Future (2011) ของ กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา
กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา ประเมินว่าในสาขาด้านสะเต็มจะตกงานน้อยและมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่า 26% ที่น่าสนใจคือคนจบสาย STEM ได้รายได้รวมสูงกว่า ไม่ว่างานที่ทำจะเกี่ยวข้องกับอาชีพ STEM หรือไม่ก็ตาม แสดงว่าเรียนพวกนี้แล้ว รู้คิดหรือปรับตัวด้านการงานดีกว่า
สรุปคือสหรัฐฯ เดินทางมาถึงจุดที่มีความอ่อนแอด้านการเรียนการสอนสายนี้ ดังเห็นได้จากดัชนีชี้วัดต่างๆ ก็เลยจะต้องให้ความสำคัญกับวิชาสำคัญๆ ที่ส่งผลต่ออนาคตคือ “สะเต็ม” ให้มากขึ้น
นั่นคือที่มาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและตื่นตัวในเรื่องสะเต็มมาก
*** สนับสนุนผู้เขียนได้ด้วยการกด Like, Share & Follow ***

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา