Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วิทย์-ชีวะ-ชีวิต
•
ติดตาม
23 ก.พ. 2022 เวลา 04:01 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ศัพท์ S&T ทันโลก ตอน 10
สะเต็ม (STEM) ตอน 2 (จบ)
Photo by stem.T4L on Unsplash
อ่อนสะเต็ม สหรัฐฯ ขาลง
แม้ว่าโดยภาพรวมขนาดเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังมีโมเมนตัมหรือแรงขับเคลื่อนอยู่มาก แต่ก็มีปัจจัยหลายๆ เรื่องที่ชี้ว่า เอาเข้าจริงก็เริ่มอยู่ในช่วงขาลงแล้ว
โออีซีดี (OECD) ที่จัดระดับความสำเร็จด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นประจำ จัดให้ประเทศสหรัฐฯ มีวิทยาศาสตร์อยู่อันดับ 17 ส่วนคณิตศาสตร์อยู่อันดับ 25 จากทั้งหมด 65 ประเทศ
แต่ที่แย่กว่านั้นคือ ความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐฯ ลดลงอย่างมากในรอบทศวรรษที่ผ่านมา
มีรายงานจากมูลนิธิข้อมูลเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Information Technology and Innovation Foundation) ใน ค.ศ. 2009 ที่ระบุว่า เมื่ออาศัยตัวชี้วัด 16 ตัว ซึ่งรวมทั้งปัจจัยด้านเงินลงทุน เงินที่ใช้กับการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ และความสำเร็จด้านระบบการศึกษาแล้ว หากนับเรื่องนวัตกรรมและความสามารถในการแข่งขัน สหรัฐฯ อยู่อันดับ 6 จากทั้งหมด 40 ประเทศ
สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) จัดสหรัฐฯ ไว้ที่อันดับ 48 เรื่อง “คุณภาพ” ของการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
ใน ค.ศ.1981 สหรัฐฯ มีงานตีพิมพ์ในวารสารดังๆ และมีอิทธิพลสูงเกือบ 40% แต่พอถึง ค.ศ.2009 ลดลงมาเหลือที่ 29% ขณะที่ยุโรปขยับจาก 33% ไปเป็น 36% และประเทศเอเชียแปซิฟิกกระโดดจาก 13% ไปเป็น 31% โดยปัจจุบันจีนขึ้นมาเป็นที่ 2 ของโลกด้านการตีพิมพ์ผลงานวิทยาศาสตร์ โดยตีพิมพ์มากถึง 11% ของทั้งหมด
Photo by Vishnu Mohanan on Unsplash
ยูเนสโก (UNESCO) ระบุว่าใน ค.ศ.2002 ราว 83% ของงานวิจัยและพัฒนาทำในประเทศพัฒนาแล้ว แต่พอถึงปี ค.ศ.2007 ลดลงไปเหลือ 76% และแทบจะเป็นเรื่องเหลือเชื่อทีเดียวว่า ในปี ค.ศ. 2009 ถือเป็นครั้งแรกที่สิทธิบัตรของสหรัฐฯ มากกว่าครึ่งมาจากบริษัทนอกสหรัฐฯ
สะเต็ม ตัวชี้ชะตาอนาคตชาติ
กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา คาดการณ์ไว้ใน ค.ศ.2011 ว่า งานที่สืบเนื่องกับ STEM ในอีก 10 ปี (นับจากนั้น) จะเพิ่มในสัดส่วนที่มากกว่างานในแบบที่ไม่ใช่สะเต็ม คือ มีตำแหน่งงานเพิ่ม 17% : 9.8%
งานในสาขาที่ต้องใช้คณิตศาสตร์มาก เช่น งานเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ และงานที่ต้องใช้ทักษะในการแก้ปัญหา จะเพิ่มขึ้น 45% ระหว่างปี 2008-2018
งานในสาขาอาชีพที่ขยายตัวเร็วที่สุดในไม่กี่ปีที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่ต้องใช้ความรู้ (หรือปริญญา) ด้านสะเต็มทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรชีวการแพทย์ (biomedical engineers) นักวิทยาศาสตร์ด้านการแพทย์ นักระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และนักวิเคราะห์ข้อมูลการสื่อสารข้อมูล
https://www.ed.gov/sites/default/files/stem-infographic.jpg
เรื่องที่ตลกสำหรับเมืองไทยก็คือ มีคนอยากเติม A (Art) เข้าไปเฉยๆ กลายเป็น STEAM เพราะเป็นห่วงว่าเรียนแต่วิชาการแล้วจะไม่ดี ซึ่งไม่เกี่ยวอะไร ทุกคนเรียนศิลปะต่างๆ ตามความสนใจได้อยู่แล้ว และ A ที่เติมเข้ามาก็ไม่ได้มีพื้นฐานเรื่องผลกระทบเชิงเศรษฐศาสตร์ หรือแนวโน้มระดับโลกอย่างที่ฝรั่งมอง
ทำให้ผมนึกไปถึงอีกเรื่องคือ EQ ที่มีอีกสารพัด Q ตามมา โดยไม่ค่อยมีหลักฐานหรือหลักการอะไรทางวิทยาศาสตร์รองรับแบบเดียวกับ IQ และ EQ เลย
อันนี้ก็ต้องบอกว่า “แบบไทยๆ” จริงๆ ครับ
Photo by Robo Wunderkind on Unsplash
ความเห็นส่วนตัว (ในฐานะนักสื่อสารวิทยาศาสตร์) เห็นว่าหลักสูตรสะเต็มจะใช้การได้ดีในเมืองไทย ควรจะเน้นเรื่อง
(1) การได้ลงมือทำจริง และ
(2) การนำโจทย์ปัญหาจริงในชีวิตประจำวัน มาทดลองแก้ไขด้วยความรู้ด้านสะเต็ม และจะให้ดีก็ควรจะต้องคิดรูปแบบให้สนุกสนานและน่าสนใจนะครับ
ก็ขอเอาใจช่วยผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษาแบบสะเต็มทุกฝ่ายนะครับ รวมไปถึงนักเรียนทุกคนด้วย
บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ศัพท์ S&T ทันโลก
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย