26 ก.พ. 2022 เวลา 05:16 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ศัพท์ S&T ทันโลก ตอน 13
LBGTQ+ ตอน (2) จบ
กว่าจะมาลงเอยที่ LBGTQ+
ก่อนการปฏิวัติทางเพศในทศวรรษ 1960 แทบหาคำกลางๆ ที่ใช้เรียกคนที่ไม่ได้ชอบเพศตรงข้ามไม่ได้เลย คำที่ใช้กันมากหน่อยคือ เพศที่สาม (third gender) คำนี้มีอายุราว 1 ศตวรรษแล้ว แต่ศัพท์คำนี้ก็ไม่ฮิตในสหรัฐฯ นะครับ
คำที่ใช้กันกว้างขวางหน่อยคือ โฮโมเซ็กชวล (homosexual) ซึ่งก็ออกจะเป็นศัพท์วิชาการมากอยู่ และมีนัยยะทางลบอยู่บ้าง
ทศวรรษ 1950-1960 มีคนเริ่มใช้คำว่า โฮโมไฟล์ (homophile) หรือ “พวกชอบพวกเดียวกัน” มาใช้ (คล้ายกับคำว่า “ไม้ป่าเดียวกัน” ที่คนไทยใช้) และทศวรรษ 1970 คำว่า gay ในความหมายที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันก็เริ่มฮิต
ยังมีอีกคำที่ไม่นิยมนักคือ ชนส่วนน้อยทางเพศ (sexual minority) ที่สร้างขึ้นเลียนแบบคำว่า ethnic minority (ชาติพันธุ์ส่วนน้อย) ที่ใช้กับคนที่ไม่ใช่คนขาวในสังคมอเมริกัน
พวกแอคทิวิสต์ในสหรัฐฯ เป็นกลุ่มแรกที่นำคำว่า LGBT มาใช้กันใน ค.ศ.1988 แต่ต้องรอจนเข้าทศวรรษ 1990 เมื่อมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นแล้ว คำนี้จึงได้รับความนิยม และแม้จะเป็นตัวย่อรวมแค่ 4 กลุ่ม แต่ก็มักใช้ในความหมายกว้างๆ ที่รวมไปถึงคนที่มีเพศรสแบบอื่นๆ นอกเหนือจากทั้ง 4 แบบนี้อีกด้วย
ปัจจุบันขยายต่อ เพิ่มมาเป็น LGBTQ+
หมุดหมายสำคัญในเรื่องการยอมรับความเป็น LGBT ก็คือ การที่โซเชียลมีเดียรายสำคัญคือ เฟซบุ๊ค ยอมใส่ตัวเลือกเพศอื่นๆ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2014 และในเดือนมิถุนายน 2015 ศาลสูงสหรัฐฯ มีคำพิพากษาอนุญาตให้มีการแต่งงานกันของคนในกลุ่มทางเลือกแบบนี้ได้
ทางเฟซบุ๊คก็ทำฟิลเตอร์ (filter) ที่คล้ายกับหน้ากากสีรุ้ง ที่ใช้ทับรูปโปรไฟล์ได้ เพื่อเฉลิมฉลองความเท่าเทียมของกลุ่ม LGBT นี้
LGBTQ+ ผลจากกรรมเก่าหรือกรรมใหม่
อาจมีคนสงสัยว่าเอาศัพท์ LGBT มารวมไว้ในคอลัมน์วิทยาศาสตร์นี้ทำไม
คำตอบคือ มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าา “เพศสภาพ (sexuality)” ที่หลากหลาย ไม่จำกัดแค่ว่าต้องชอบเพศตรงข้ามเท่านั้น ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะถือว่า “ผิดธรรมชาติ” อีกต่อไป
มีงานวิจัยที่ชี้ว่า การมียีนที่แปรผันไปจากคนทั่วไป การมีปริมาณฮอร์โมนที่ไม่สมดุลทั้งในขณะคุณแม่ตั้งครรภ์หรือเมื่อโตแล้ว ล้วนมีส่วนทำให้เกิด “ปรากฏการณ์” พวกนี้ได้ทั้งนั้น (อาจมองว่าเป็น “กรรมเก่า” ที่แก้ไขอะไรไม่ค่อยได้)
แถมยังมีเรื่องผลทางจิตวิทยาหรือสิ่งแวดล้อมในการเลี้ยงดู ซึ่งก็มีผลบ้างบ้างแม้อาจไม่มากเท่า (อาจมองเป็น “กรรมใหม่” ที่ปรับเปลี่ยนแก้กรรมให้หมดได้) กรรมในที่นี้เป็นคำกลางๆ นะครับ หมายถึง “การกระทำ” ใช้เพื่อเปรียบเทียบ ไม่ได้มีนัยยะว่าดีหรือเลว
เพศสภาพจึงเป็นความหลากหลายที่อาจพบเห็นได้ และควรทำความเข้าใจกัน จะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทุกคนทุกฝ่าย
ในรูปแผนที่โลกที่ลงประกอบไว้ จะเห็นได้ว่าในหลายประเทศยังเห็นเรื่องพวกนี้เป็นความผิดบาป หรือแม้แต่ผิดกฎหมาย และมีบทบัญญัติให้ลงโทษชัดเจนอีกด้วย ก็ได้แต่หวังว่าคงจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากขึ้นในอนาคต
กลับมาที่ความหลากหลายทางเพศอีกครั้ง มีคนที่คิดว่า LGBT ยังไม่ครอบคลุมพอ ควรใช้แบบไม่ให้ตกหล่นว่า LGBTQ+ บางคนก็อยากให้เพิ่มเข้าไปเลย เช่น ให้ใช้เป็น LGBTIQ
โดย I มาจาก Intersex ซึ่งสมาคมอินเทอร์เซ็กซ์แห่งอเมริกาเหนือ (Intersex Society of North America) ให้นิยามไว้ว่าเป็น “คำกล่าวทั่วๆ ไปที่ใช้สำหรับระบุสภาวะต่างๆ ของผู้ที่เกิดมาพร้อมกับมีกายวิภาคของระบบสืบพันธุ์หรือระบบเพศ ที่เข้ากันไม่ได้กับนิยามของคำว่าเพศหญิงหรือเพศชายโดยทั่วไป”
ขณะที่ Q ก็มาจาก Queer ที่เว็บไซต์สเปกตรัมเซ็นเตอร์ (Spectrum Center) ของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า เป็นคำกว้างๆ ที่บางทีก็หมายถึงกลุ่มคน LGBT ทุกแบบนี่แหละ
หรืออีกนัยยะหนึ่งอาจจะหมายถึง คนที่ไม่ยอมรับการติดป้ายประกาศหรือจัดจำแนกประเภทให้เป็นแบบต่างๆ แถมยังบอกว่าคำนี้ล่อแหลม เพราะบางคนอาจรู้สึกไม่ดี หรือคล้ายกับโดนดูถูก ทั้งนี้ขึ้นกับทั้งอายุ ชั่วรุ่น ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ หรือนัยยะของคำอื่นๆ ที่ใช้ร่วมกับคำว่าเควียร์นี้ เป็นต้น
https://pixabay.com/photos/lgbtq-equal-lgbt-equality-pride-2495947/
ลองค้นต่อไปก็พบว่า 3 คำ (ตัวย่อ) ที่ยาวที่สุดได้แก่
LGBTTQQFAGPBDSM
LGBTTQQIAAP และ
FABGLITTER
โดยตัวที่เพิ่มมาประกอบด้วย Questioning Flexual Asexual Gender-Fuck Polyamorous Bondage Discipline Dominance/ Submission Sadism/ Masochism Transexual Ally Pansexual และ Fetish
… ต้องถือว่าเยอะจริงๆ
ขอไม่ลงรายละเอียดคำนะครับ ที่แน่ๆ ก็คือคนกลุ่มนี้คึกคักมากจริงๆ มีการจัดอีเวนต์ เดินพาเหรด คาร์นิวาล ฯลฯ เพื่อแสดงตัวตนในสังคมอยู่เนืองๆ
เพศสภาพและเพศรสของผู้คนในปัจจุบันจึงมีหลากหลายมากมายยิ่ง และไม่น่าแปลกใจที่ 7 สีสายรุ้งจะใช้เป็นสัญลักษณ์แทนตัวของพวกเขาได้อย่างเหมาะเจาะ !

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา