4 มี.ค. 2022 เวลา 13:20 • ไลฟ์สไตล์
ติดหนี้บัตรเครดิต มีผลทางกฎหมายอย่างไร ?
ปัจจุบันบัตรเครดิตได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก และยังเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินชีวิตในสังคมยุคไร้เงินสดอีกด้วย
เมื่อมีการใช้บัตรเครดิต ธนาคารเจ้าของบัตรจะทดรองจ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการแทนลูกค้าไปก่อน จากนั้นก็จะมีการเรียกเก็บเงินคืน โดยออกใบแจ้งหนี้ให้กับลูกค้า
หากลูกค้าชำระเงินคืนครบเต็มตามจำนวนที่ใช้ไป และชำระตรงตามกำหนดเวลา ก็จะไม่มีดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมในการใช้บัตร แต่หากเป็นการชำระคืนบางส่วนหรือไม่ชำระคืนหรือชำระคืนไม่ตรงตามกำหนดเวลา ธนาคารก็จะมีคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในการใช้นั้น ซึ่งจะแจ้งให้ผู้ใช้บัตรทราบในใบแจ้งหนี้งวดถัดไป
กรณีที่ลูกค้าจ่ายไม่เต็มวงเงิน ซึ่งอาจจ่ายแค่เท่าที่มีเงินแล้วเหลือยอดค้างไว้ หรือจ่ายแค่ขั้นต่ำ และเมื่อใดที่ผิดนัดในการชำระค่าบัตรเครดิต ปัญหาที่จะตามมาคือ ผู้ใช้บัตรจะขาดความน่าเชื่อถือด้านการเงิน
ซึ่งสถาบันการเงินเจ้าของบัตรเครดิตจะเปลี่ยนสถานะของผู้ใช้บัตรจากเดิมเป็นลูกหนี้ชั้นดีมาเป็นลูกหนี้ค้างชำระ หรือที่ชอบเรียกกันว่า แบล็กลิสต์
และจะรายงานข้อมูลการค้างชำระนั้นไปยังบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร ส่งผลให้ผู้ใช้บัตรมีประวัติเสียด้านการเงิน และอาจจะขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ยากขึ้น
ในกรณีที่เป็นหนี้บัตรเครดิตตามกฎหมายจะถือเป็นคดีแพ่ง ซึ่งผลลัพธ์ของคดีแพ่งคือ การบังคับคดีการชำระหนี้และชดใช้ค่าเสียหายเท่านั้น
ภาพจาก Pinterest
โดยทั่วไปของคดีบัตรเครดิต หากถึงกำหนดลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดนั้น อายุความจะเริ่มนับทันทีในวันถัดไป ซึ่งมีอายุความ 2 ปีนับจากผิดนัดชำระ ถ้าหากธนาคารไม่ได้ฟ้องร้องในเวลา 2 ปี คดีก็เป็นอันขาดอายุความ
1
แต่ถึงจะขาดอายุความไปแล้ว ทางฝ่ายเจ้าหนี้ก็ยังสามารถยื่นฟ้องได้ โดยศาลก็จะดำเนินการไปตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป
1
ประเด็นสำคัญคือ หากเป็นหนี้บัตรเครดิต เจ้าหนี้สามารถอายัดทรัพย์ของลูกหนี้ได้ หากศาลมีคำพิพากษาให้เจ้าหนี้ชนะคดี และหากลูกหนี้ไม่ชำระคืนตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน เจ้าหนี้มีสิทธิยึดหรืออายัดทรัพย์ของลูกหนี้ได้
1
โดยศาลจะตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อออกหมายยึดและอายัดต่อไป ซึ่งทรัพย์สินที่สามารถยึดได้ มีดังนี้
2
1. เงินในบัญชีเงินฝาก อายัดให้ตามที่ขอ โดยหากเจ้าหนี้ไม่ได้ระบุให้อายัดเฉพาะปีใดปีหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเป็นประจำทุกปีจนกว่าจะพ้นหนี้
2. ทรัพย์สินที่เป็นการลงทุน เช่น เงินปันผล หุ้น ทองคำ ตราสารหนี้ หรือ กองทุน ให้อายัดได้ตามที่ขอ
3.เงินเดือน อายัดได้ไม่เกิน 30% และลูกหนี้ต้องมีเงินเดือนมากกว่า 20,000 บาทถึงจะสามารถอายัดได้
เช่น นาย ก. เป็นลูกหนี้ มีเงินเดือน 18,000 บาท กรณีนี้ไม่ถูกอายัดเงินเดือน และนาย ข. เป็นลูกหนี้ มีเงินเดือน 30,000 บาท กรณีนี้จะถูกอายัดได้ไม่เกิน 30% คือ 9,000 บาท คงเหลือเงินเดือนที่ไม่ถูกอายัด 21,000 บาท
หากลูกหนี้มีค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่น ๆ เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่ารักษาพยาบาล ก็สามารถนำหลักฐานไปขอลดหย่อนที่กรมบังคับคดีเพื่อลดเปอร์เซ็นต์การอายัดเงินเดือนได้
1
4. เงินโบนัส อายัดได้ไม่เกิน 50%
5. เงินตอบแทนการออกจากงาน อายัดไว้ได้ไม่เกิน 300,000 บาทหรือตามที่เจ้าหน้าที่บังคับคดีเห็นสมควร
6. เงินค่าตอบแทน ค่าสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ อายัดได้ตามที่ขอแต่ไม่เกิน 30%ของจำนวนทีมีสิทธิได้รับ
ภาพจาก Sanook
ส่วนทรัพย์สินที่เจ้าหนี้ไม่สามารถยึดได้ ได้แก่
1. เงินเดือน ค่าจ้าง บํานาญ บําเหน็จ เบี้ยหวัดของลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการ
2. เงินเบี้ยเลี้ยงชีพ (เบี้ยคนชรา, เบี้ยคนพิการ)
3. เงินค่าวิทยฐานะ(ค่าตำแหน่งทางวิชาการ)กรณีเป็นข้าราชการ
4. เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
5. เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กรณีลูกหนี้บัตรเครดิตเสียชีวิต ความเป็นหนี้ไม่สิ้นสุด โดยเจ้าหนี้สามารถทวงถามต่อกองมรดกของลูกหนี้ ผู้รับมรดกของลูกหนี้ไม่ต้องรับชำระหนี้เกินวงเงินมรดกที่ได้รับ
เช่น ผู้รับมรดกได้รับเงินมรดกจำนวน 5 ล้านบาท แต่จำนวนหนี้สินของผู้ตายมีมากถึง 8 ล้านบาท เท่ากับว่าผู้รับมรดกจะต้องชำระหนี้แค่เท่าที่ได้รับคือ 5 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนอีก 3 ล้านบาทถือเป็นหนี้สูญ ไม่ต้องชำระหนี้เพิ่มแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม หากเป็นหนี้บัตรเครดิตแล้ว ก็อย่าได้เพิกเฉยเลยนะคะ เพราะอาจถูกดำเนินคดีดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้
และกฎหมายยังมีกำหนดวิธีการบรรเทาหนี้บัตรเครดิตให้ โดยการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยบรรเทาภาระหนี้สิน และปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเงินของลูกหนี้ในเวลาปัจจุบันได้ค่ะ
1
Cr. SCB
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกๆ กำลังใจที่มีให้กันเสมอค่ะ
🌷🌷❤❤🙏🙏🙏🙏❤❤🌷🌷

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา