7 มี.ค. 2022 เวลา 01:12 • ไลฟ์สไตล์
“วิบากกรรม บีบคั้นที่ธาตุขันธ์
ทุกข์เกิดที่ใจได้ เพราะไปหลงยึดมั่นถือมั่น ขันธ์ 5”
1
“ …​ ทุกสิ่ง ทุกอย่าง ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ไม่มีอะไรบังเอิญเลย ล้วนเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ที่ได้สะสมไว้ ก็เรียกว่า เป็นไปตามกฏของกรรมนั่นเอง
ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
เป็นทายาทของกรรม
เพราะฉะนั้นทุกเรื่องราว ทุกความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นกับชีวิต ไม่มีอะไรบังเอิญเลย เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย
ถ้ามองให้ลึกลงไป มันก็คือ วิบากกรรม นั่นเอง ที่ขับเคลื่อนหมู่สัตว์ให้ไปตามทิศทางต่าง ๆ
เปรียบเมือนมีรถยนต์นะ รถยนต์เนี่ยจะวิ่งไปได้ มันก็ต้องมีน้ำมัน มีเชื้อเพลิงใช่ไหม ? ถ้าไม่มีน้ำมัน ไม่มีเชื้อเพลิง ก็วิ่งไปไหนไม่ได้ สิ่งที่ขับเคลื่อนรถยนต์ไป มันต้องมีเชื้อเพลิง คอยเป็นแรงส่ง
ชีวิตคนเราก็เช่นกันะ
ผลจากการที่เราเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร
1
กิเลส ความปรุงแต่ง ก็ทำให้หลงกระทำกรรม
เมื่อทำกรรมก็เกิดผลของการกระทำ ที่เรียกว่า วิบากกรรม
วิบากกรรมก็จะเป็นแรงส่ง ให้เกิดกิเลส ความปรุงแต่ง
กิเลสก็ทำให้หลงกระทำกรรม กรรมก็ทำให้เกิดวิบาก
เกิดเป็นวังวนแห่งวัฏสงสาร
ในระดับที่เล็กที่สุด ในระดับจิตวิญญานนั่นเอง
เพราะฉะนั้นก็เรียนรู้ ยอมรับ
ทุกอย่างก็เป็นเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย
เมื่อใดที่ อกุศลธรรม ให้ผล มันก็จะเกิดความบีบคั้น ไม่สบายกายบ้าง ไม่สบายใจบ้าง เกิดความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ดีบ้าง ก็ให้เข้าใจว่า อ๋อ … มันเป็นผลของอกุศลธรรมนั่นเอง ที่เกิดขึ้น
เมื่อใดที่ กุศลธรรม ให้ผล มันก็จะเกิดความรู้สึกสบาย สบายกาย สบายใจ น้อมไปเพื่อการปล่อยวาง เพื่อทำสิ่งดี ๆ ให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ก็ อ๋อ … เสวยผลแห่งกุศลธรรมนั่นเอง
เมื่อเราเรียนรู้ ยอมรับ เราจะวางใจถูกนะ
ก็คือ มันวางได้ที่ใจนั่นเอง
วิบากกรรม มันบีบคั้นที่ธาตุขันธ์ ที่ขันธ์ 5
แต่ผลจากการที่เราไม่ได้เรียนรู้น่ะ
ใจเราน่ะ ไปหลงยึดขันธ์ 5
พอขันธ์ 5 เป็นทุกข์ ใจเราก็เป็นทุกข์แทน
เพราะว่าไปหลงยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง
แต่ถ้าวางใจได้ ใจมันคลาย
กายทุกข์ก็ทุกข์ไป ใจไม่ทุกข์ด้วย
สิ่งเหล่านี้สามารถเรียนรู้ ฝึกฝนได้
เรียนรู้ … ยอมรับ
ทุกสรรพสิ่ง ก็เป็นเช่นนั้นเอง
พระพุทธเจ้าตรัสว่า อริยมรรคมีองค์ 8 นี่แหละ
เป็นปฏิปทาเพื่อความดับไม่เหลือแห่งกรรม
เราจะหลุดพ้นจากวังวนตรงนี้
ชำระวิบากกรรมจนหมดสิ้นไปด้วย …
ก็ด้วยการเดินตามอริยมรรคมีองค์ 8 นั่นเอง
ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม
ที่พาเพียรฝึกเป็นประจำเช้า - ค่ำ นั้นเพื่ออะไร ?
ก็เพื่อชำระตนเองอยู่เนือง ๆ นั่นเอง … “
.
ธรรมบรรยาย
โดย พระมหาวรพรต กิตฺติวโร
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา