11 มี.ค. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
รู้หรือไม่ ทำงานกะดึก เสี่ยงเป็นมะเร็ง
ในอาชีพการทำงานของใครหลาย ๆ คน หลาย ๆ อาชีพ อาจต้องทำงานกะดึก (night shift work) อยู่บ่อยครั้ง ประมาณการว่า คนบนโลกนี้ทำงานกะดึกอยู่ราว 1 ใน 5 ของประชากร อาชีพที่ทำงานเป็นกะดึก ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะพยาบาล นักบินที่บินไปมาระหว่างประเทศข้ามเขตเวลา รปภ. หรืออาชีพที่ทำงานตามสถานบันเทิงในยามค่ำคืน รู้หรือไม่ว่า การทำงานกะดึกของคนที่มีอาชีพเหล่านี้กำลังเผชิญกับความเสี่ยงของโรคมะเร็งในอนาคต
ในปี ค.ศ. 2007 หรือประมาณ 15 ปีที่แล้ว มีรายงานจากคณะทำงาน โดยความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์และบุคลากรทางการแพทย์ชั้นนำทั่วโลก ประชุมกันในงานประชุม International Agency for Research on Cancer (IARC) ซึ่งดำเนินการโดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) สรุปข้อมูลจากงานวิจัยในสัตว์ทดลองและข้อมูลในมนุษย์พบว่า การทำงานกะดึก "อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ในมนุษย์" (probably carcinogenic to human) จัดในกลุ่ม Group 2A พูดง่าย ๆ คือ เทียบเท่ากับสารตะกั่ว ไกลโฟเซต (ยาฆ่าหญ้า) หรือสารโคบอลต์ กันเลยทีเดียว (ซึ่งกลุ่ม 2A นี้จัดอยู่ลำดับรองจาก Group 1 กลุ่ม 1 คือ มีหลักฐานชัดเจนว่าก่อมะเร็งแน่นอนทั้งในสัตว์ทดลองและมนุษย์ สารในกลุ่ม 1 นี้ ตัวอย่างเช่น สารกัมมันตภาพรังสีต่าง ๆ สารอะฟลาท็อกซิน จากเชื้อราในถั่ว เบนซีน แร่ใยหิน เป็นต้น)
งานวิจัยในสัตว์ทดลองจำพวกหนูขาว หนูแฮมสเตอร์ ถูกนำมาทดลองโดยให้นอนสลับเวลา เหมือนทำงานกะดึก ผลการทดลองพบว่า สัตว์ทดลองในกลุ่มที่สลับเวลานอนเหมือนการทำงานกะดึกเมื่อเทียบกับกลุ่มสัตว์ที่ใช้ชีวิตปกตินอนตามเวลา เกิดมะเร็งในกลุ่มสัตว์ที่อยู่ในสภาพที่เหมือนทำงานกะดึก และไม่พบมะเร็งในกลุ่มสัตว์ทดลองควบคุม นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยในสัตว์ทดลอง พบว่ามะเร็งมีการแบ่งตัว และมีการกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ มากขึ้น เมื่อปรับสภาพแวดล้อมให้สัตว์เหล่านี้อยู่ในสภาพเหมือนทำงานกะดึก
สำหรับในมนุษย์นั้น งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยศึกษาแบบย้อนหลังหรือติดตามไปข้างหน้า งานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นบ่งว่า การทำงานกะดึกสัมพันธ์กับการเกิดโรคมะเร็งเต้านมในผู้หญิง การเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ชาย และการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งยิ่งมากตามระยะเวลาที่ได้ปฏิบัติงานกะดึก อย่างไรก็ตามงานวิจัยบางชิ้นมีความขัดแย้งกับผลการวิจัยข้างต้น ซึ่งอาจเป็นมาจากงานวิจัยในลักษณะนี้ไม่มีการควบคุมปัจจัยพื้นฐานเหมือนการวิจัยเชิงทดลองในสัตว์ ทำให้เกิดความอคติในการแปลผล
อย่างไรก็ตาม ในเชิงพยาธิกำเนิดของมะเร็งจากการทำงานกะดึกนั้น มีคำอธิบายที่ดี สามารถอธิบายได้เป็นเหตุเป็นผล กล่าวคือ การทำงานกะดึกนั้น รบกวนการนอนปกติของเรา ทำให้รบกวนการหลั่งสารเมลาโทนิน (melatonin) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เรามีความรู้สึกอยากหลับ สารตัวนี้เองจะมีการหลังเปลี่ยนไปไม่เป็นไปตามวิถีปกติ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในระดับยีนส์ และส่งผลต่อระดับฮอร์โมนเพศ รวมทั้งฮอร์โมนความเครียด การเปลี่ยนเหล่านี้ ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ร่างกายเกิดการอักเสบแบบเรื้อรัง และทำให้มีการสร้างเซลล์ต่าง ๆ มากขึ้น ผลของกลไกเหล่านี้เอง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง และในคนที่เป็นมะเร็งอยู่แล้ว มะเร็งยิ่งจะโตเร็วและลุกลามได้เร็วอีกต่างหาก
ในปี ค.ศ. 2019 คณะทำงานของ IARC ขององค์การอนามัยโลก มาร่วมประชุมกันอีกครั้งหลังมีข้อมูลต่าง ๆ มากขึ้น มีการทบทวนหลักฐานงานวิจัยต่าง ๆ และยังสรุปว่า การทำงานกะดึกนั้น ยังคงจัดในกลุ่มสิ่งที่ก่อมะเร็งในกลุ่มเดิมนั่นคือ "อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ในมนุษย์" (probably carcinogenic to human) กลุ่ม Group 2A เช่นเดิม
แม้ว่าจะไม่ได้จัดอยู๋ในความเสี่ยงระดับ 1 แต่ความเสี่ยงระดับ 2A เมื่อไปรวมกับความเสี่ยงอื่น ๆ จากปัจจัยภายในและภายนอกอื่น ๆ การทำงานกะดึก ยังถือว่า เพิ่มความเสี่ยงอยู่ดี ดังนั้นแล้วถ้าเป็นไปได้ การเลี่ยงไปทำงานตามรอบปกติของวันที่ไม่รบกวนการนอน น่าจะดีกว่า
ถ้าไม่สามารถเลี่ยงการทำงานกะดึกได้ จะทำอย่างไรดีหละ
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการทดลองถึงแนวทางการป้องกันโอกาสเสี่ยงของการเป็นมะเร็งในคนทำงานกะดึก ถึงอย่างนั้น แนะนำว่า ถ้าสลับการทำงานกะดึกกับกะอื่น ๆ ให้การนอนหลับเป็นไปตามปกติตามนาฬิกาชีวภาพได้ก็อาจช่วย รวมทั้งการนอนหลับในตอนกลางวันให้ระยะเวลามากขึ้นกว่าปกติ และอาจงีบหลับเพิ่มเติม ่ควรจัดสถานที่นอนหลับในช่วงกลางวันให้ปราศจากเสียงหรือแสงรบกวน
นอกจากนี้ในขณะทำงานกะดึกควรเปิดไฟสว่าง (เพื่อหลอกนาฬิกาชีวภาพว่า ตอนนี้ที่ทำงานคือตอนกลางวัน ตอนเวลาเลิกงานเราจะได้สามารถเข้านอนหลับได้ง่ายขึ้น) ถ้าต้องดื่มกาแฟตอนทำงานกะดึก ควรดื่มในช่วงแรกของการทำงาน เพื่อกระตุ้นให้สมองตื่นตัว และไม่ส่งผลกระทบต่อการนอนหลังเสร็จงานกะดึก
นอกจากการจัดการเรื่องการทำงานและการนอนดังกล่าวข้างต้นแล้ว คนที่ทำงานกะดึกควรหาวิธีลดความเสี่ยงของมะเร็งด้วยวิธีอื่น ๆ ได้แก่ การรับประทานอาหารสุกสะอาด กา่รออกกำลังกายเป็นประจำ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ไม่ทานของทอด ลดการทานของมัน ลดปริมาณการทานเนื้อแดงลง ถ้าทำได้ความเสี่ยงของมะเร็งในอนาคตก็จะลดลงได้ครับ
สุดท้ายที่อยากเน้นย้ำ การนอนหลับที่เพียงพอ มีคุณภาพ และเป็นไปตามนาฬิกาชีวภาพ สามารถป้องกันมะเร็งได้ ถ้ามีปัญหาการนอนหลับอย่าทิ้งไว้จนมันย้อนมาทำร้าย ทำให้เราเสี่ยงเป็นมะเร็งในอนาคต พบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญน่าจะเป็นทางออกที่ดีครับ
เอกสารอ้างอิง
IARC Monographs Vol 124 group. Carcinogenicity of night shift work. Lancet Oncol. 2019 Aug;20(8):1058-1059. doi: 10.1016/S1470-2045(19)30455-3. Epub 2019 Jul 4. PMID: 31281097.
โฆษณา