9 มี.ค. 2022 เวลา 13:25 • ข่าวรอบโลก
Road to Crisis “Russia Ukraine” ตอนที่ 1
กว่าที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครน - รัสเซียที่เกิดขึ้น ในปี 2565 นี้ จะมาถึงปัจจุบัน ลองมาย้อนมองพัฒนาการของสถานการณ์ตามลำดับเวลา เพื่อให้เห็นภาพว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้น เป็นมาอย่างไร
(ระหว่าง 11 พ.ย.64 – 23 ก.พ.65) D-Day 24 ก.พ.65
11 พ.ย.64 สหรัฐฯ ส่งสัญญาณเตือนพันธมิตรในสหภาพยุโรปว่า รัสเซียอาจวางแผนบุกยูเครน โดยสหรัฐฯ ติดตามการสั่งสมกองกำลังของรัสเซียบริเวณชายแดนยูเครนอย่างใกล้ชิด และพบหลักฐานยืนยันว่ามีความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจมีการปฏิบัติการทางทหาร
1
23 พ.ย.64 สหรัฐฯ อยู่ระหว่างพิจารณาส่งที่ปรึกษาทางทหาร รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ไปยังยูเครน อาทิ ขีปนาวุธต่อต้าน รถถังรุ่น Javelin ขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศ และเฮลิคอปเตอร์รุ่น Mi-17 หลังจากที่รัสเซียจัดตั้งกองกำลังใกล้ชายแดนด้านยูเครน
1
25 พ.ย.64 สหรัฐฯ แจ้งเตือนสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดนยูเครนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากพบกิจกรรมทางทหารที่ผิดปกติของรัสเซียในบริเวณชายแดนยูเครน และคาบสมุทรไครเมียที่ถูกรัสเซียผนวกเมื่อปี 57
27 พ.ย.64 เลขาธิการ NATO เตือนรัสเซียกรณีเสริมกำลังทางทหารบริเวณชายแดนยูเครน และกล่าวเตือนรัสเซีย หากใช้กำลังทางทหารโจมตียูเครน รัสเซียจะได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง พร้อมเรียกร้องให้รัสเซียลดความตึงเครียดบริเวณชายแดนยูเครนลงด้วยการแสดงความโปร่งใสในการระดมยุทโธปกรณ์ รถถัง และกองกำลังจำนวนมากในบริเวณนี้
28 พ.ย.64 รัสเซียยืนยันไม่มีแผนบุกยูเครนตามข้อกล่าวอ้างของสหรัฐฯ พร้อมว่าข้อกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่ประสงค์ร้ายของ กต.สหรัฐฯ ที่ต้องการทำให้ความขัดแย้งในพื้นที่ยูเครนตะวันออกรุนแรงมากขึ้น
03 ธ.ค.64 สหรัฐฯ เตือนรัสเซียอาจได้รับผลกระทบรุนแรงหากรุกรานยูเครน พร้อมเรียกร้องให้รัสเซียหาทางออกด้วยวิธีการทูต ถอนกำลังทหารตามแนวชายแดนกลับไปตำแหน่งปกติ ละเว้นการข่มขู่และพยายามทำให้ยูเครนไม่มั่นคง
04 ธ.ค.64 หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ แจ้งเตือนว่ารัสเซียกำลังวางแผนปฏิบัติการทางหารโจมตียูเครนในช่วงต้นปี 65 โดยใช้กองกำลังประมาณ 175,000 นาย และได้เคลื่อนกำลังกว่าครึ่งของจำนวนนี้ไปประจำการตามจุดต่าง ๆ ใกล้ชายแดนยูเครนแล้ว นอกจากนี้ยังพบข้อมูลว่า รัสเซียใช้การปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation-IO) โดยใช้ตัวแทน (Proxy) และสื่อ เพื่อโจมตียูเครนและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ก่อนใช้ปฏิบัติการทางทหาร
06 ธ.ค.64 ผู้นำสหรัฐฯ จะหารือกับผู้นำรัสเซีย กรณีรัสเซียเตรียมการเข้าบุกยึดยูเครน เนื่องจากสหรัฐฯ กังวลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางทหารของรัสเซียบริเวณชายแดนรัสเซีย-ยูเครน พร้อมทั้งย้ำว่า สหรัฐฯ สนับสนุนอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน
07 ธ.ค.64 ผู้นำชาติตะวันตกแสดงจุดยืนจะช่วยเหลือยูเครนจากการคุกคามของรัสเซีย โดยอาจใช้มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจและการเงินต่อรัสเซียหากโจมตียูเครน ขณะที่ ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวตอบโต้ว่า ท่าทีของชาติตะวันตกยิ่งปลุกปั่นให้เกิดความตึงเครียดในพื้นที่ ทั้งนี้ ปรากฏข่าวสารการเพิ่มกำลังทหารของรัสเซียกว่า 100,000 นาย ตามแนวชายแดนด้านยูเครน ซึ่งทางการยูเครนเชื่อว่า รัสเซียอาจบุกโจมตียูเครนในปลาย ม.ค.65
08 ธ.ค.64 ผู้นำสหรัฐฯ ยืนยันว่า จะคว่ำบาตรธนาคารขนาดใหญ่ของรัสเซีย หากรัสเซียใช้กำลังทหารโจมตียูเครน และมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้รัสเซียไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินสกุลรูเบิลของรัสเซียเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม รัสเซียยังคงยืนยันไม่มีเจตนารุกรานประเทศใด ๆ กับทั้งห่วงกังวลท่าทีของยูเครนและองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่แข็งกร้าวมากขึ้น ส่วนการประจำการทหารเพิ่มเติมในพื้นที่ใกล้เคียงพรมแดนระหว่างรัสเซียกับยูเครน เป็นไปเพื่อป้องกันอธิปไตยของรัสเซีย
1
10 ธ.ค.64 สถานการณ์ชายแดนระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังคงตึงเครียด โดยรัสเซียขู่ว่าพร้อมใช้มาตรการทางทหารป้องปรามและตอบโต้หากยูเครนใช้กำลังทหารกระชับพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครนซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน
16 ธ.ค.64 จีน รัสเซียหารือประเด็นด้านความมั่นคงร่วมกัน หลังถูกปฏิเสธจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตกในการประชุมสุดยอดประชาธิปไตย และถูกกลุ่มประเทศG7 (ฝรั่งเศส สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ญี่ปุ่น อิตาลี แคนาดา) กล่าวหารัสเซียว่ารุกรานยูเครน และวิพากษ์วิจารณ์จีนเรื่องละเมิดสิทธิ์ในฮ่องกงและชาวอุยกูร์
17 ธ.ค.64 EU จะคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียหากบุกยูเครน โดยยังไม่ระบุมาตรการที่ชัดเจน
จากเหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นเพียงการนำเสนอสถานการณ์ตามลำดับเวลาในห้วงแรกก่อนที่สถานการณ์จะขยายความตึงเครียดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เท่านั้น ท่านผู้อ่านจะเห็นภาพว่า แต่ละฝ่าย (รัสเซีย NATO และสหรัฐฯ) ต่างดำเนินกลยุทธ์คู่ขนานกันไป และมีสิ่งบอกเหตุมาโดยตลอดว่า ไม่มีใครก้าวถอยหลังให้กัน เนื่องจากกลัวจะพลาดพลั้งในการดำเนินกลยุทธ์ครั้งนี้ จนนำไปสู่จุดเสียประโยชน์ด้านความมั่นคงที่ไม่อยู่ในจุดที่แต่ละฝ่ายสามารถยอมรับได้โดยเฉพาะรัสเซียที่กำลังถูกยุทธศาสตร์หมากล้อมของ NATO กับสหรัฐฯ เหตุการณ์นี้จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ยูเครนจึงตกอยู่ในสถานะฉนวนกั้นและเขตแดนที่แบ่งฝั่งยุโรปตะวันตกที่เป็นตัวแทนของแนวคิดโลกเสรีนิยมและระบบเศรษฐกิจนิยมใหม่ กับฝั่งยุโรปตะวันตกที่ยังมีความเชื่อมโยงกับแนวคิดและอิทธิพลโลกยุคหลังม่านเหล็กอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา