21 มี.ค. 2022 เวลา 10:29 • ปรัชญา
“ก่อนจะเห็นความจริงของขันธ์ 5
ต้องแยกขันธ์ให้ออกก่อน”
“ … การภาวนา เข้าเรื่องธรรมะสักที การภาวนานั้นไม่ได้ยากอะไรหรอก เรียนรู้ตัวเองจนเข้าใจตัวเอง
ถ้าเข้าใจเบื้องต้น ก็รู้ว่าตัวเราไม่มีหรอก
เข้าใจเบื้องปลาย ก็รู้ว่าสิ่งที่มีคือ ขันธ์ 5
แล้วขันธ์ 5 นี้คือตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวเรา มันคือตัวทุกข์
เราจะต้องพัฒนาปัญญามาในเส้นทางอันนี้
เบื้องต้นภาวนาไปจนเห็นความจริง
เมื่อตัวเราไม่มี สิ่งที่เรียกว่าตัวเรา
แยกออกไปก็เป็นขันธ์ 5
แล้วมาดูความจริงของขันธ์ 5
จนเห็นความจริงว่าไม่ใช่เราหรอก
ของหยาบที่สุดในขันธ์ 5 คือ ตัวรูป
อย่างเราก็เห็นรูปที่หายใจออก
เห็นรูปที่หายใจเข้า อะไรมันหายใจ
รูปมันหายใจ ร่างกายมันหายใจ
พูดภาษาสมัยนี้คือร่างกายมันหายใจ
คนที่ไม่ได้ภาวนาไม่สามารถแยกขันธ์ได้
เวลาเห็นร่างกายหายใจก็คิดว่า เราหายใจ
แต่ถ้าดูไปเรื่อย ร่างกายมันหายใจต่างหาก
ร่างกายมันหายใจเข้า ร่างกายมันหายใจออก
นี่มันไม่เที่ยง
ทำไมมันต้องหายใจเข้าแล้วก็หายใจออก
ทำไมหายใจออกแล้วหายใจเข้า
เพราะมันถูกความทุกข์บีบคั้น นั่นคือเป็นทุกข์
แล้วดูลงไปอย่างแท้จริงร่างกายเป็นแค่วัตถุ
เป็นธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สมบัติของโลก
เรามายืมใช้ชั่วคราวเอง
2
ฉะนั้นร่างกายเป็นแค่วัตถุธาตุของโลก
ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
ยืมเขามาใช้วันหนึ่งก็ต้องคืนเจ้าของ
อย่างนี้เราเห็น อนัตตา
เรามารู้ความจริง ดูลงในกาย
เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อย่างนี้ถือว่าเราเจริญปัญญาแล้ว
แต่ก่อนจะเห็นตรงนี้ได้
เราก็ต้องแยกขันธ์ให้ออกก่อน
แยกร่างกายกับจิตคนละอันกัน
ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า
เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นคนรู้คนดู
กายกับจิตคนละส่วนกัน
ถ้ากายกับจิตรวมกันมันจะกลายเป็นตัวเรา
กลายเป็นเราขึ้นมาแล้ว
แต่ถ้าเราสามารถแยกขันธ์ออกไปได้
ขันธ์แต่ละขันธ์ๆ กายก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง
เวทนาก็อันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง
สัญญาอันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง
สังขารอันหนึ่ง จิตก็อันหนึ่ง
วิญญาณก็คือตัวจิตที่เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
แต่ละตัวๆ จิตที่เกิดที่ตาก็อันหนึ่ง
จิตที่เกิดที่หูก็อันหนึ่ง
จิตที่เกิดที่ใจก็เป็นอีกอันหนึ่ง
คนละอันกัน ก็ค่อยๆ แยกๆๆ ไป
สุดท้ายจะพบว่า … แต่ละอย่างไม่มีตัวเราหรอก
อย่างหยาบที่สุดเลยก็ดูลงในร่างกาย
ร่างกายกำลังนั่งอยู่ รู้สึกลงไปร่างกายมันนั่ง
สังเกตดูร่างกายที่นั่งมันบอกไหมว่ามันเป็นตัวเรา
หรือร่างกายที่เดินมันบอกไหมว่าร่างกายเป็นตัวเรา
ร่างกายไม่เคยพูดอะไรเลย
ใจเราต่างหากเป็นคนพากย์ เป็นคนคิด
ฉะนั้นตัวกายจริงๆ มันเป็นวัตถุเท่านั้นเอง
เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง ไม่มีชีวิตจิตใจอะไรหรอก
เป็นแค่ก้อนธาตุ
ดูความจริงลงไปจะเห็นร่างกายนี้ไม่ใช่เราหรอก
อย่างนั่งอยู่ คนไม่ได้ภาวนาถามว่านั่งอยู่รู้ไหม รู้
เรากำลังนั่ง มันมีเราขึ้นมาแล้ว
แต่ถ้าจิตมันแยกมาเป็นคนดูได้
มันนั่งอยู่นี่มันก็จะเห็นร่างกายมันนั่ง จิตเป็นคนรู้คนดู
ร่างกายมันยืน จิตเป็นคนรู้คนดู
ร่างกายมันเดิน จิตเป็นคนรู้คนดู
ร่างกายมันนอน จิตเป็นคนรู้คนดู
ร่างกายหายใจออก ร่างกายหายใจเข้า จิตเป็นคนรู้คนดู
ต้องมีจิตที่แยกออกมา เราถึงจะแยกขันธ์ได้
พอแยกขันธ์ได้แล้ว
เราจะเห็นว่าขันธ์แต่ละขันธ์ ไม่ใช่ตัวเราหรอก
วิธีแยกขันธ์ที่ง่ายที่สุด
ฉะนั้นเราต้องพยายามฝึก ค่อยๆ รู้สึกไป
คนไหนยังแยกขันธ์ไม่เป็น ทำใจให้สบาย
จะสอนวิธีแยกขันธ์ที่เบสิกที่สุด ง่ายที่สุด
ทำใจสบายๆ อย่าคิดเรื่องแยกขันธ์
อย่าคิดเรื่องธรรมะ
รู้สึก รู้สึกไหมร่างกายกำลังนั่งอยู่ รู้สึก
ถ้าเรารู้สึกร่างกายกำลังนั่งอยู่ ค่อยๆ รู้สึกไป
จะเห็นเลยร่างกายมันเป็นของถูกรู้สึก เป็นของถูกรู้
ทันทีที่มีสิ่งที่ถูกรู้ มันก็มีจิตผู้รู้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
เป็นเรื่องง่ายๆ แค่นี้เอง
คือเมื่อไรเรารู้สภาวะได้
เมื่อนั้นจิตผู้รู้มันจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ
อย่างส่วนใหญ่ที่ครูบาอาจารย์สอน
จิตหนีไปคิด จิตหนีไปคิดเรารู้
จิตหนีไปคิดคือจิตอะไร คือจิตฟุ้งซ่าน
ทันทีที่รู้ว่าจิตหนีไปคิด
หรือรู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน เรารู้สภาวะแล้ว
จิตฟุ้งซ่านคือจิตที่มีอุทธัจจะ
พอเรารู้สภาวะปุ๊บ จิตฟุ้งซ่านมันเป็นอกุศล
มันดับทันทีที่สติเกิด
แล้วตัวรู้มันจะเกิดขึ้นอัตโนมัติ
การที่เราจิตไหลไปแล้วเรารู้ ก็เกิดผู้รู้ขึ้นมา
อันนี้ไม่ได้มีวิธีแค่นี้หรอก
อย่างเรานั่งอยู่ รูปนั่ง
ตัวรูปธรรมนี้เป็นสภาวธรรม
รูปนี้มันนั่งอยู่ แล้วเราเห็นว่ารูปมันนั่ง
นี่เรียกว่าเราเห็นสภาวะแล้ว ผู้รู้มันก็เกิด
ลองยิ้มหวานสิ ทุกคนลองยิ้มหวานๆ ยิ้ม
รู้สึกถึงร่างกายที่ยิ้ม แค่รู้สึก
เห็นร่างกายมันยิ้ม แค่นี้ตัวผู้รู้มันก็เกิดแล้ว
เห็นไหมธรรมะจริงๆ ไม่ได้วิเศษวิโสแบบยากเย็นเข็ญใจ
มนุษย์ธรรมดาทำไม่ได้
ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนเป็นธรรมะระดับกลางๆ เท่านั้นเอง
เป็นระดับที่มนุษย์ธรรมดาๆ อย่าพวกเราทำได้
สิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ท่านไม่สอนหรอก
อย่างท่านสอนเทวดาท่านสอนอภิธรรม
ทำไมท่านไม่สอนอภิธรรมให้มนุษย์
เพราะมนุษย์เอาไปทำอะไรไม่ได้
อย่างเรียนอภิธรรมก็เอาไว้สอบ
สอบเสร็จแล้วก็ลืมไม่ได้อะไรเท่าไร
สิ่งที่ท่านสอนมนุษย์มันรวมอยู่ในพระสูตร
ที่พระสาวกผู้ใหญ่ท่านสอนรวมอยู่ในพระสูตร
อันนี้ล่ะเป็นสิ่งที่เราทำได้จริง
ฉะนั้นธรรมะไม่ใช่เรื่องเหลือวิสัยที่เราจะทำได้
เป็นเรื่องที่คนธรรมดาทำได้
ขอให้สนใจที่จะทำเท่านั้น
อย่างตอนนี้นั่งอยู่รู้สึกไหม
ร่างกายมันนั่งรู้สึกไหม
พยักหน้ารู้สึกไหม
แค่รู้สึก รู้สึกไปเรื่อยๆ รู้สภาวะไปเรื่อยๆ
ถึงจุดหนึ่งมันจะสังเกตเห็น นี่มันแค่ของถูกรู้
รู้สึกไหมร่างกายมันของถูกรู้ ตัวนี้ถูกรู้
พอมันถูกรู้ผู้รู้มันมีเอง
ผู้รู้มันเกิดอัตโนมัติแล้ว
แต่แรกๆ มันเกิดแรกๆ ยังจับมันไม่ถูก
ยังดูมันไม่ออกไม่เป็นไร
รู้สภาวะไปเรื่อยๆ
อย่างรู้ร่างกายหายใจออก รู้สึก
ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก
ถึงจุดหนึ่งก็จะรู้สึก
จะรู้ขึ้นมาร่างกายที่หายใจออก
หายใจเข้ามันของถูกรู้ถูกดู
มันไม่ใช่ตัวเราหรอก ของมันง่ายๆ แค่นี้ล่ะ
ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอน มันถูกรู้ถูกดู
ไม่ใช่ตัวเราหรอก
บางคนเรียนเห็นร่างกายหายใจ
ก็เรียนมุ่งไปทางอานาปานสติ
สูงสุดเลยละเอียดที่สุดเลยมี 16 ขั้น
แบ่งเป็น 4 – 4 – 4 – 4
4 อันแรกอยู่ในกายานุปัสสนา
4 อันที่สองอยู่ในเวทนานุปัสสนา
4 อันที่สามอยู่ในจิตตานุปัสสนา
4 อันที่สี่อยู่ในธัมมานุปัสสนา
รวมแล้ว 16 ขั้น
ในยุคนี้หลวงพ่อยังเห็นคนที่ทำอานาปานสติทั้ง 16 ขั้น ยังไม่เคยเจอเลย
ฉะนั้นเราทำแค่เบื้องต้นก่อน
ถ้าทำได้แค่ 4 ขั้นก็ถือว่าโอเคแล้ว
เราได้อัปปนาสมาธิที่เข้มแข็งแล้ว
แต่ว่าจริงๆ แล้วยังไม่ค่อยจะได้กันเท่าไร
นี้จะไปมุ่งทำหายใจเพื่อให้เกิดฌาน
หรือหายใจเพื่อให้เกิดปัญญา
อย่าง 16 ขั้นนี้ครอบคลุมถึงปัญญาเลย
หรือจะหายใจแค่เพื่อความสงบถึงฌานที่ 4
แค่นี้ก็ทำยากแล้ว
วิธีที่ง่ายกว่านั้น
เห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนรู้สึก
ไม่ใช่ไปรู้ลมหายใจ
ถ้ารู้ลมหายใจ ลมจะค่อยระงับกลายเป็นแสง
จากแสงสว่างย่อได้ขยายได้
จิตก็จะเข้าสู่ฌาน ก็เข้าไปถึงฌาน 1 2 3 4
ลมหายใจระงับไป เหมือนกับไม่หายใจ
อันนั้นพวกเราทำยากในยุคนี้
อานาปานสติ
ฉะนั้นถ้าเราจะรู้การหายใจ
เอาง่ายๆ เลยเห็นร่างกายหายใจ
ไม่ใช่เห็นลมหายใจ
ถ้าเห็นลมหายใจมันจะมุ่งไปทางกสิณ
กสิณลมอะไรพวกนี้ลูกเล่นมันเยอะ
อานาปานสติเป็นกรรมฐานที่พิสดารกว้างขวางที่สุดเลยในกรรมฐานทั้งหลาย เรียกว่าเป็นเหมือนเป็นกรรมฐานแม่บท ครอบคลุมกรรมฐานอื่นๆ ไว้ทั้งนั้น
เราเล่นอย่างนั้นไม่ไหว เล่นไม่ไหวเราเอาของง่าย
เอาที่เราทำได้ หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก
แค่รู้สึก
ลองไปดูในสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าสอน
“ดูกรภิกษุทั้งหลายให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง”
คู้บัลลังก์คือนั่งขัดสมาธิ
ทำไมต้องนั่งขัดสมาธิ
มันเป็นท่านั่งกับพื้นที่นั่งได้นานที่สุด
ถ้าของเรายุคนี้นั่งกับพื้นไม่เป็น
นั่งเก้าอี้ก็ได้แต่อย่าถึงขนาดเก้าอี้นวม
นั่งแล้วหลับก็แล้วกัน
หรือเก้าอี้นั่งแล้วก็นวดไปด้วย ไม่ได้เรื่องหรอก
เก้าอี้ธรรมดาอย่างนี้ล่ะ นั่ง
ถนัดนั่งเก้าอี้ก็นั่งเอา นั่งแล้วก็เห็นร่างกายมันหายใจ
“ดูกรภิกษุทั้งหลายให้เธอคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง”
ตั้งกายตรงก็คือตรงตามสภาพของเรา
ไม่ได้ตรงแบบนักเรียนนายร้อย
นักเรียนเตรียมทหารตรงเป๊ะเลย
ตรงทื่อๆ อันนั้นโอเวอร์ไป เราไม่ได้เป็นทหาร
หรือเป็นทหารเราก็ไม่ได้อยู่ในแถวตลอดเวลา
ฉะนั้นเราตัวตรงๆ ก็คือไม่ได้นั่งระทดระทวย เดี๋ยวก็หลับ
เอาแค่ตรงๆ ไม่ต้องตรงเป๊ะอย่างนี้หรอก เมื่อย
“คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า”
สติเฉพาะหน้า คืออยู่กับปัจจุบัน
เห็นร่างกายหายใจออกยาว รู้ว่าร่างกายหายใจออกยาว
เห็นไหม รู้ว่าร่างกายหายใจออกยาว
ร่างกายหายใจเข้ายาวก็รู้ว่าร่างกายหายใจเข้ายาว
ท่านบอกว่าหายใจออกยาว ก็รู้ว่าหายใจออกยาว
ใครเป็นคนหายใจออกยาว
ร่างกายหายใจออกยาว
เราก็เห็นร่างกายหายใจออกยาว
ร่างกายหายใจเข้ายาว ร่างกายหายใจออกสั้น
ร่างกายหายใจเข้าสั้น ร่างกายหยุดหายใจ
มันจะหยุดเป็นระยะๆ เวลามันสงบรวมลงไป
มันเหมือนไม่หายใจได้ชั่วคราว
ให้รู้ที่ร่างกายไม่ใช่รู้ที่ลม
แค่รู้สึกร่างกายไปเรื่อยๆ
ถ้าไม่ถนัดที่จะรู้ร่างกายหายใจ
ก็ดูร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน นั่งอยู่รู้สึกร่างกายนั่ง
หรือรู้ละเอียดลงไปอีก
ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง
ร่างกายเคลื่อนไหว เช่น ร่างกายยิ้มๆ ยิ้ม
ร่างกายยิ้ม ก็เห็น คือรู้สึก รู้สึกว่าร่างกายมันกำลังยิ้ม
พยักหน้า รู้สึกว่าร่างกายพยักหน้า รู้สึกๆๆ ไป
สุดท้ายเราจะดูออกเลยว่า
ร่างกายนี้มันของถูกรู้ถูกดู
มันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก
ไปฝึก เอาเท่านี้ก่อนก็พอ
เวทนาในกายในใจ
ใครไม่ถนัดรู้ร่างกายก็ดูเวทนาไปก็ได้
ความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในกาย
ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ เกิดขึ้นในใจ
ไม่ได้ดูเพื่อให้หาย
อย่างความทุกข์เกิดในร่างกาย
ไม่ได้ดูเพื่อให้หายปวดหายเมื่อย
แต่ดูไปเรื่อยๆ มันเป็นของถูกรู้ มันไม่เที่ยงหรอก
ความทุกข์ในร่างกายมันขยับขึ้นขยับลง
เดี๋ยวทุกข์มาก เดี๋ยวทุกข์น้อย ขึ้นๆ ลงๆ
เดี๋ยวหายไป เดี๋ยวมาใหม่
มีแต่ของไม่เที่ยง
หรือความสุขเกิดขึ้น
ความสุขก็ทนอยู่ไม่ได้นาน เดี๋ยวก็หายไป
เกิดความเฉยๆ ขึ้นมาแทน
หรือเกิดความทุกข์ขึ้นมาแทน
มันหมุนตลอดเวลา
ฉะนั้นตัวเวทนาในกายในใจนี้
มีแต่ความเปลี่ยนแปลง
ในกายนี้เปลี่ยนแปลงช้าหน่อย
แต่ในใจนี้เปลี่ยนเร็วมาก
คิดเรื่องนี้ปุ๊บมีความสุข คิดเรื่องนี้ปุ๊บมีความทุกข์
เปลี่ยนรวดเร็ว
แต่เวทนาทางกายก็เปลี่ยนช้าหน่อย
อย่างเวลาความปวดความเมื่อยเกิดขึ้น
จะไปนั่งดูให้มันหายปวดหายเมื่อย นาน
อย่างนั่งสมาธิขาเป็นเหน็บชา รู้จักไหมเป็นเหน็บชา
เป็นเหน็บชาแล้วถ้าใจแข็งนั่งมันไปเรื่อยๆ ไม่ลุกขึ้นมา
สุดท้ายมันหายเหน็บชา มันหายได้เอง
เพราะมันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นร่างกายมันจะสุข
หรือมันจะทุกข์อะไร
มันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน
เวลามันทุกข์ วิธีดูให้เห็นว่ามันเป็นอนิจจัง
ดูดีกรีของความทุกข์ อย่างเราปวดหัว
เราสังเกตไปหัวมันปวดเราดูไป
เราจะพบว่าความปวดมันขึ้นๆ ลงๆ
เดี๋ยวปวดมาก เดี๋ยวปวดน้อย
เดี๋ยวปวดมากเหมือนหัวจะแตกแล้ว
เดี๋ยวก็เบาลงนิดหนึ่ง เดี๋ยวแรงขึ้น
หัดรู้หัดดูไป
ต่อไปเราจะเห็นเลยความปวดนี้มันไม่เที่ยง
แกว่งขึ้นแกว่งลง
แต่ถ้าเป็นความทุกข์ในใจ
หรือสุขในใจเกิดดับรวดเร็ว
แต่ในกายดูดีกรีของมัน มันเปลี่ยนแปลง
ค่อยๆ ดู ดูไปๆ ก็จะเห็นมีแต่ของไม่เที่ยง
มีแต่ของที่ถูกบีบคั้น
อย่างร่างกายนี้ความทุกข์เกิดขึ้น
ความทุกข์ก็ถูกบีบคั้นแต่มันนาน
อย่างนั่งไปหลายชั่วโมงที่เป็นเหน็บแล้วหาย
มันใช้เวลานาน
แต่ถ้าเวทนาทางใจนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเลย
หลวงพ่อเลยแนะนำให้ดูเวทนาทางใจ …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
5 มีนาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา