22 มี.ค. 2022 เวลา 05:31 • ไลฟ์สไตล์
“จิตคือหัวโจก”
“ … บางคนชอบฟังธรรม ฟังไปเรื่อย
ฟังเช้า สาย บ่าย เย็น กลางคืนก็ฟัง
อย่างนั้นใช้ไม่ได้หรอก
ต้องมีเวลาดูของจริง ดูกายดูใจของตัวเองไป
เอาแต่ฟังธรรม ไม่เข้าใจหรอก
ธรรมะเรียนไม่ได้ด้วยการฟัง ด้วยการอ่าน ด้วยการคิด
เราฟัง เราอ่าน เราพิจารณาไตร่ตรอง
เพื่อให้รู้วิธีปฏิบัติเท่านั้น
พอรู้วิธีปฏิบัติแล้ว ต้องลงมือทำให้มาก เจริญให้มาก
การปฏิบัติมี 2 ส่วน
ส่วนของสมถกรรมฐานกับส่วนของวิปัสสนากรรมฐาน
สมถกรรมฐานทำไป เป็นการฝึกจิตตัวเองให้มีกำลังแล้วก็ให้ตั้งมั่น พร้อมที่จะเจริญปัญญา
1
วิปัสสนากรรมฐานเป็นการฝึกอบรมจิตใจให้เกิดความรู้ถูกความเห็นถูกในธาตุในขันธ์ ในกายในใจของเรา
ถ้าเรารู้ถูกเห็นถูก
จิตมันจะเริ่มคลายความยึดถือออกไป
พอจิตหมดความยึดถือในธาตุขันธ์
จิตก็หลุดพ้น เป็นอิสระ
ความพ้นทุกข์ก็อยู่ตรงนั้น
กรอบใหญ่ๆ ของการปฏิบัติมันก็มีเท่านี้
นอกนั้นก็เป็นรายละเอียด
เช่น คนนี้จะทำสมถะ จะทำแบบไหน
เวลาจะทำวิปัสสนา จะใช้กรรมฐานอะไร
จะดูรูปหรือดูนาม
ทำสมถะบางคนก็ต้องใช้กรรมฐานชนิดคิดเอา คิดพิจารณา
บางคนก็ไปเห็นเอา เพ่งลงไป
แต่ละคนก็มีเส้นทางของตัวเอง
น้อมเข้ามาเรียนอยู่ในกายในใจ
บางทีครูบาอาจารย์ท่านสอน ยุคนี้เราไปดูให้ดี ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของอนุสติ
อนุสติ 10 อย่าง ไปถามหลวงปู่กูเกิ้ลดู แกรู้ทุกเรื่องล่ะ
อนุสติ มีสติตามระลึกไป ตามพิจารณาคิดไปในอารมณ์ที่ดี 10 อย่าง
เช่น เราคิดถึงคุณของพระพุทธเจ้า จิตเราก็จะมีสมาธิขึ้นมา ถ้าเราเป็นพวกศรัทธาในพระพุทธเจ้า
บางคนให้ความสำคัญกับพระธรรม จิตมันชอบพิจารณาธรรมะ พิจารณาธรรมะ คิดถึงคุณของธรรมะ
คุณของธรรมะมีอย่างไรบ้าง ไปดูคำแปลของบทสวดมนต์
สวากขาโตบทนั้น ภควตา ธัมโม
ธรรมที่พระพุทธเจ้าสอน
สันทิฏฐิโก เห็นตามได้ ไม่ใช่เรื่องลึกลับเหลือเชื่อ
แต่ว่าเห็นตามได้
อกาลิโก ไม่จำกัดด้วยเงื่อนเวลา
เพราะความจริงกี่ยุคกี่สมัยมันก็เป็นความจริง
เอหิปัสสิโก ให้น้อมเข้ามาหาตัวเอง
น้อมเข้ามาที่กายที่ใจของเรานี้
1
เอหิปัสสิโกคืออะไร โอปนยิโก น้อมๆ เข้ามา
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ แปลว่าน้อมเข้ามาอยู่ที่กายที่ใจแล้ว มันก็จะรู้ความจริงด้วยตัวของเราเอง
1
ฉะนั้นเราจะปฏิบัติธรรม ไม่ใช่นั่งคิดฟุ้งๆ ไป
เราต้องเห็นเอา
เห็นความจริงของกาย เห็นความจริงของใจ
เฝ้ารู้ไป จริงๆ ร่างกายเป็นอย่างไร
จริงๆ จิตใจเป็นอย่างไร
น้อมเข้ามาเรียนอยู่ในกายในใจนี้
ถึงจุดหนึ่งก็เห็นความจริงของกายของใจ
กายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
กายนี้เป็นตัวทุกข์ จิตนี้เป็นตัวทุกข์
เห็นเป็นลำดับไป
เห็นตามความเป็นจริงก็เบื่อหน่าย
คลายความยึดถือแล้วก็หลุดพ้น
นี่พระธรรมของพระพุทธเจ้า
ฉะนั้นที่เราสวดๆ เป็นไกด์ไลน์ให้เราปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าสอน แล้วพระสาวกก็ปฏิบัติแล้วก็สอนกันต่อๆ มา
1
เป็นธรรมะที่เห็นตามได้ ไม่ใช่เรื่องบางคนเท่านั้นที่จะเห็น ขอให้ปฏิบัติมันก็เห็นเป็นลำดับไปตามชั้นตามภูมิ
2
ธรรมะไม่มีวันแก่ไม่มีวันเก่า กี่พระพุทธเจ้าก็สอนอันเดียวกันนี้ล่ะ อยู่เหนือกาลเวลา เป็นสิ่งที่ควรท้าพิสูจน์
1
ธรรมะของพระพุทธเจ้า เอหิปัสสิโก เป็นธรรมะท้าพิสูจน์ พึงกล่าวกับผู้อื่นว่ามาลองดูเถิด ไม่ได้บอกให้เชื่อ ให้มาลอง
วิธีลองปฏิบัติธรรมจะลองอย่างไร โอปนยิโก น้อมเข้ามาหาตัวเอง มาเรียนรู้ตัวเองแล้วก็จะรู้ความจริงด้วยตัวของตัวเอง ไม่ต้องฟังใครอีกต่อไปแล้ว
เบื้องต้นฟังพระพุทธเจ้า ฟังครูบาอาจารย์ รู้วิธีปฏิบัติ ให้พยายามน้อมเข้ามาที่ตัวเอง มาเรียนรู้ความจริง
สิ่งที่เรียกว่าตัวเรา ก็คือ รูป นาม กาย ใจ
บางทีก็แยกเป็นขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22
แล้วแต่จะแยก
แยกหยาบๆ ก็คือมีรูปกับนาม มีกายกับใจ
แยกละเอียดขึ้นไปก็มีขันธ์ 5 อายตนะ 6
แยกละเอียดขึ้นไปก็มีธาตุ 18 อินทรีย์ 22 อะไรอย่างนี้
ก็ตัวเดียวกัน แต่กระจายออกไปให้เยอะๆ
บางคนชอบเยอะๆ
บางคนชอบดูจิต ก็เรียนเรื่องขันธ์ 5
เพราะในขันธ์ 5 มีรูปธรรม 1 มีนามธรรม 4
คือส่วนใหญ่เป็นนามธรรม
บางคนชอบทำกรรมฐาน ชอบเรียนรูปธรรม
ก็เรียนเรื่องอายตนะ 6
ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันเป็นรูป ใจมันเป็นนาม
มีรูปตั้ง 5 ตัว
บางคนอยากรู้เยอะๆ เรียนเรื่องธาตุ 18 อินทรีย์ 22
แต่ไม่ว่าจะเริ่มจากการเรียนอะไร
สุดท้ายจะไปลงที่อริยสัจเหมือนกัน
จะเริ่มดูขันธ์ 5 พอรู้แจ้งเห็นจริงก็เข้าใจอริยสัจ
เรียนจากอายตนะ เข้าใจความเป็นจริงแล้วมันก็เข้ามาถึงอริยสัจ
จะเรียนเรื่องธาตุ เรื่องอินทรีย์อะไรนี่ เข้าใจความจริงก็เข้ามาที่อริยสัจ
มันจะรู้เลย รูปนามทั้งหลายที่อุตส่าห์เรียนนั้น มันคือตัวทุกข์ แต่มันเป็นตัวทุกข์ มันก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรา
มันเริ่มเข้ามาเกี่ยวกับเราเพราะเรามีตัณหา
เราไปมีความอยาก มีอุปาทาน
มีความยึดถือ มีชาติ มีภพ
มีชาติ ภพก็คือมีความดิ้นรนของจิต
มีชาติ ก็คือ การที่จิตมันเข้าไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา
ก็ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันคือตัวทุกข์
ไปหยิบฉวยตัวทุกข์ขึ้นมา มันก็ทุกข์นั่นล่ะ
สิ่งที่ตามชาติมาก็คือตัวทุกข์
ชาติคือการที่จิตมันเข้าไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เฝ้ารู้เฝ้าดูจนกระทั่งรู้ความจริงเลย
ไปหยิบเอาตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจขึ้นมา
มันก็ทุกข์ มันคือตัวทุกข์ พอเห็นอย่างนี้แล้ว
จิตมันจะคลายออก มันจะไม่ไปหยิบฉวย
ไม่ไปยึดถือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
คือไม่ยึดถือในรูปในนาม
เส้นทางที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านเดิน ก็เดินกันอย่างนี้
เห็นความจริงของรูปของนาม
จิตก็จะเบื่อหน่าย คลายความยึดถือ แล้วก็หลุดพ้น
พอหลุดพ้นแล้ว วิญญูชนก็รู้ด้วยตัวเอง
เพราะตอนที่หลุดพ้นเป็นวิญญูชนแน่นอน
ทรชนหลุดพ้นไม่ได้
มันรู้ด้วยตัวเอง จิตมันพ้นแล้ว
พ้นจากการเข้าไปยึดถือในรูปธรรมนามธรรม
เวลามันวาง วางรูปก่อน วางนามทีหลัง
รูปเป็นของหยาบ ดูง่าย
ทั้งๆ ที่ตอนเริ่มต้น เราอาจจะเจริญปัญญาด้วยการดูจิต
พอดูจิตดูใจมันทำงานไป
เห็นจิตเกิดดับทางอายตนะทั้ง 6
เห็นจิตมันทำงานได้วิจิตรพิสดาร
เดี๋ยวจิตก็สุข เดี๋ยวจิตก็ทุกข์ เดี๋ยวจิตไม่สุขไม่ทุกข์
เดี๋ยวจิตเป็นกุศล เดี๋ยวจิตเป็นอกุศล
นี่วิจิตรพิสดาร มีเยอะแยะ
เดี๋ยวจิตก็จะเที่ยวแสวงหาอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อันนี้จิตโคจรอยู่ในกามาวจร วุ่นวายอยู่กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
1
บางทีจิตก็มุ่งไปสู่ความสงบ
เพ่งรูป แล้วจิตก็เลยสงบอยู่กับการเพ่งรูป
บางทีก็เพ่งนาม แล้วจิตก็ไปสงบกับการเพ่งนาม
จิตเดี๋ยวก็เป็นกามาวจร
เดี๋ยวก็เป็นรูปาวจร เพ่งรูป
ก็ไปอรูปาวจร ไปเที่ยวอยู่ในอรูป
1
ในอรูปมันเที่ยวอย่างไร
เดี๋ยวมันก็เป็นอากาสานัญจายตนะ เพ่งความว่าง
เดี๋ยวมันก็กลับมาเพ่งตัวผู้รู้
เดี๋ยวมันก็ไม่เพ่งอะไรเลย ปล่อยหมด
เดี๋ยวมันก็รวมเคลิ้มลงไป
บางทีก็โคจรอยู่ในรูป
จิตเข้าฌาน มีวิตก มีวิจาร
ละวิตก วิจาร ก็ทิ้งวิตก วิจารไป พรากไป มีปีติเด่นขึ้นมา
ละปีติ ความสุขเด่นขึ้นมา
ละความสุข อุเบกขาก็เด่นขึ้นมา
จิตก็เคลื่อนขึ้นเคลื่อนลงอยู่ในรูปาวจร ในรูปฌาน
ก็เลยเป็นการสัญจรไปในตัวรูป รูปฌาน
จิตมันเที่ยวไปตลอด
อย่างพวกเราไม่ได้ชำนาญในฌาน
จิตไม่ไปเข้ารูปเข้าอรูปอะไรหรอก
จิตมันอยู่ในกามาวจร
เดี๋ยวก็จรไปทางตา เดี๋ยวก็จรไปทางหู
จรไปทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เฝ้ารู้อย่างนี้ ดูไปๆ สุดท้ายเวลารู้แจ้งขึ้นมา
มันจะรู้เลยว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ตัวเรา
เริ่มต้นเราดูจิตเอาอย่างนี้
เวลารู้ รู้ทั้งหมดเลย ขันธ์ 5 ทั้งหมด
อายตนะทั้งหมด ธาตุทั้งหมด
อินทรีย์ทั้งหมดอะไรอย่างนี้
ไม่ใช่ตัวเรา เป็นแค่รูปธรรม เป็นแค่นามธรรม
มีเหตุก็เกิดขึ้นมา แล้วก็สลายตัวไป
อันนี้เป็นปัญญาเบื้องต้น
เห็นไหมขนาดเริ่มต้นเราเดินปัญญาด้วยการดูจิต
แต่เวลามันเข้าใจธรรมะ มันเข้าใจทั้งหมดเลย
ไม่ได้เข้าใจเฉพาะจิต ความอัศจรรย์มันอยู่ตรงนี้
เข้าใจจิตอันเดียว จะเข้าใจขันธ์ทั้งหมดเลย
ถ้าเราเข้าใจจิตอันเดียว จะเข้าใจขันธ์ทั้งหมดเลย
บางคนเข้ามาที่จิตไม่ได้
ไม่มีกำลังหรือไม่รู้วิธี ก็ไปไล่มัน ดูกายไปก่อน
ดูรูปไป มันไม่หนีไปไหน รูป
มันก็นั่งอยู่อย่างนี้ รู้สึกลงไปเรื่อย
เห็นร่างกายไม่ใช่ตัวเรา
ถัดจากนั้นดูละเอียดขึ้นไปอีก
ในร่างกายไม่ใช่มีแต่ร่างกาย มีเวทนาด้วย
แล้วเวทนานี้ไม่ได้อยู่เฉพาะในกาย อยู่ในใจก็ได้
เวทนาก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
เห็นไปเรื่อยๆ ก็เห็นสัญญา ความจำได้ความหมายรู้
บางทีก็จำได้ บางทีก็จำไม่ได้
บางทีก็หมายรู้ถูก บางทีก็หมายรู้ผิด
บังคับไม่ได้ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
บางทีก็เห็นสังขาร ความปรุงดีปรุงชั่ว
ปรุงไม่ดีไม่ชั่วของจิต จะเห็นเลย
อย่างโลภอย่างนี้ โลภไม่ใช่คน
ใครเห็นโลภเป็นคนก็เพี้ยนแล้ว
ดูลงไปความโลภ ความโกรธ ความหลงไม่ใช่คน
กุศลก็ไม่ใช่คน อกุศลก็ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์
ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
สุดท้ายก็พัฒนาขึ้นไปอีก
ก็เห็นเลยตัวสำคัญคือตัวจิต
จิตนี้เดี๋ยวก็โคจรไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เกิดดับทางอายตนะทั้ง 6
จิตก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์
ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
ฉะนั้นถึงจะเริ่มจากการรู้รูป
สุดท้ายมันก็เข้ามาที่จิตจนได้ล่ะ
แต่ถ้าเราเล่นทางลัด
เข้ามาที่จิตได้ เข้ามาเลย ไม่ต้องเสียเวลาอ้อมค้อม
เข้ามาที่จิต
ถ้าเราเห็นว่าจิตไม่ใช่เราอันเดียว
ขันธ์ 5 ทั้งหมดจะไม่เป็นเราแล้ว
อายตนะทั้งหมดจะไม่เป็นเราแล้ว
เล่นมันที่หัวโจกตัวเดียวเลย
ถ้าเราเห็นตรงนี้เข้ามาถึงจิตไม่ได้
ก็ดูมาตามลำดับ ดูกายดูอะไรมา …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
13 มีนาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา