Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
1 เม.ย. 2022 เวลา 03:37 • ปรัชญา
“ไม่ยึดมั่นถือมั่น … ย่อมหลุดพ้น”
“ … เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น ย่อมหลุดพ้น ดังนี้
ฟังดูก็เป็นคำง่าย ๆ เด็ก ๆ ก็พูดได้ เด็ก ๆ ก็พอจะเข้าใจว่าเพราะไม่ยึดมั่น ย่อมหลุดพ้น
1
คือว่าเมื่อไม่ไปติดอยู่ที่อะไร ก็ย่อมจะหลุดพ้น แม้นี้ก็เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เมื่อพระองค์ทรงแสดงธัมมจักกัปวัตรสูตร ก็มีบุคคลที่มองเห็นธรรมเป็นคนแรก คือ พระอัณญาโกญทัญญะ ได้เกิดดวงตาเห็นธรรมว่า
ยังกินจิ สมุทโย สัมพันตังนิโรธธัมมัง
สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นย่อมมีความดับเป็นธรรมดา
เมื่อเห็นว่าทุกสิ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา แล้วก็ต้องดับไปเป็นธรรมดาดังนี้ ก็นำไปสู่ความไม่ยึดมั่น ไม่ยึดถือโดยจิตใจ มาเป็นตัวตน หรือมาเป็นของตน จิตก็ย่อมจะหลุดพ้น แม้ในอันดันแรกของบุคคลผู้เป็นโสดาบัน
ความที่เคยหยิบ เคยยึดมั่นถือมั่นมาแต่ก่อน
ก็ย่อมคลายออก เป็นวิราคะธรรม
คือจางออก คลายออก แห่งความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง
อาการที่จะคลายออกได้ ก็ไม่ยึดมั่น
ก็เพราะเห็นความจริงแห่งสิ่งนั้น ๆ
ว่าไม่ควรยึดมั่น หรือ ไม่ยึดมั่นขึ้นมาเอง
นี่เป็นเวลาที่จะต้องศึกษากันให้เข้าใจเป็นพิเศษ
เห็นความไม่น่ายึดมั่นถือมั่น
แล้วก็เกิดความหน่ายจากความยึดมั่นถือมั่น
แล้วก็เฉย ก็คือการที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยสมบูรณ์
เพราะเฉยได้ จึงไม่ติด
เพราะไม่ติด ก็จะหลุด คือความหลุดอยู่ในตัวมันเอง
ความเบื่อหน่ายนี่ พูดกันอยู่บ่อย ๆ แต่ดูจะเข้าใจผิด อาตมาก็ได้ยินคนพูดถึงความเบื่อหน่ายอยู่บ่อย ๆ แต่มันดูจะคนละเบื่อหน่ายกับความหมายในที่นี้
เบื่อหน่าย เพราะไม่ถูกใจ นี่มันก็มีอยู่ทั่ว ๆ ไป อย่างนี้ก็ไม่หลุดพ้น ความไม่ถูกใจก็คือความยึดติด หรือยึดมั่นถือมั่นอย่างหนึ่งอยู่
เบื่อหน่าย เพราะไม่ถูกใจนี้ ไม่ใช่ความหลุดพ้น
ความเบื่อหน่ายที่แท้จริงในทางธรรมะ เพราะเห็นความเป็น “อนัตตา” เป็นต้นนั้น จะเป็นไปในทางเฉย คือจะเคลื่อนเข้าไปในทางเฉย จนกระทั่งเฉยถึงที่สุด
คนที่เบื่อหน่ายแล้วกระสับกระส่ายอยู่เพราะความไม่ชอบใจนั้น ไม่ใช่ความเบื่อหน่ายในที่นี้ แม้ว่าจะเฉยเพราะเกลียดกัน โกรธกัน ก็ไม่ใช่ความเฉยในที่นี้
ความเฉยในที่นี้ ก็เพราะเห็นความไม่น่ายึดมั่นถือมั่น ซึ่งมีความหมายไปในทางว่า มันเป็นเช่นนั้นเอง ก็นำไปสู่ความเฉย ไม่ใช่ว่าจะเพราะเกลียดชัง หรือไม่ใช่เพราะรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์อะไร
เหมือนท่านเดินไปเห็นของบางอย่าง แล้วเกิดเฉยไม่หยิบขึ้นมา นั่นก็เพราะว่าเห็นว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรกับเรา ตัวเราก็ยังมีอยู่
แต่สิ่งนี้ไม่มีประโยชน์อะไรแก่เรา ก็ไม่หยิบขึ้นมา นี่จะเรียกว่าเฉยก็ได้ ตามธรรมดามันก็เฉย ในแบบของคนที่มีตัวเรา เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์กับตัวเรามันก็เฉยได้ จึงไม่ใช่ความเฉยโดยแท้จริง
ความวางเฉยโดยแท้จริงของพระอริยเจ้านั้น ก็เพราะเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง เช่นนั้นเองในแง่ที่ว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ได้
หรือเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่มี เกิดขึ้น ดับไป ก็ได้
หรือเห็นว่ามันกำลังมีความเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็เฉยได้
ไม่มีความอึดอัดขัดใจ หรือ ไม่ใช่มองเห็นความไม่มีประโยชน์แก่ตน
เหมือนกับว่าเพชรเม็ดหนึ่ง ถ้าไก่เห็นเข้าก็ไม่สนใจ แต่ถ้าข้าวสารเม็ดหนึ่งไก่เห็นเข้ามันก็สนใจ นี่ข้อที่ไก่ไม่สนใจในเพชรเม็ดหนึ่ง แต่เมื่อคนไปเห็นเข้า มันก็จะตาลุกโพลงทีเดียว เพราะมีความสนใจ
ใครไม่สนใจเพราะเห็นความไม่มีประโยชน์อะไร นี่ก็เฉยได้ แต่ถ้าคนจะเฉยในสังขารทั้งหลาย ก็ย่อมเห็นความที่มันไม่น่ายึดมั่นถือมั่น
ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง เพราะมันเป็นอนัตตา เพราะมันว่างจากความหมายที่ควรจะยึดมั่นถือมั่น จึงเรียกว่า สุญญตา
ถ้าเห็นอนัตตา เห็นสุญญตา หรือเห็นตถาคา เหล่านี้ ล้วนแต่มีความหมายอย่างเดียวกันทั้งสิ้น คือทำให้เฉยได้
เราควรจะศึกษาความเฉยได้นี่กันไว้ให้ดี ให้เป็นที่เข้าใจกันทุกคน มันเฉยได้ทั้งที่น่ารัก มันเฉยได้ทั้งที่น่าเกลียด เพราะมันมองเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง
ความเป็นเช่นนั้นเอง ช่วยให้เฉยได้ นับตั้งแต่ช่วยให้เกิดนิพพิทา คือความหน่าย ไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือเกาะไม่ติด หรือมันไม่มียางเหนียวที่จะทำให้เกาะติด
ควรจะสังเกตให้ดีให้ข้อที่ว่า นิพพิทา นี้ไม่ทำอันตราย ไม่ทำให้เบื่อหน่าย การที่เบื่อหน่ายในสังขารแล้วทำลายชีวิตตนเองนั้น ไม่ใช่ความเบื่อหน่ายในที่นี้ เป็นความเบื่อหน่ายด้วยความโง่เขลา
ถ้าเบื่อหน่ายด้วยสติปัญญา มันจะนำไปในทางที่ให้เฉยได้ ไม่ต้องมาฆ่าตัวเองให้เสียเวลา ให้เหน็ดให้เหนื่อย
ความเบื่อหน่ายก็มีอยู่เป็น ๒ ความหมาย
คนที่ชอบพูดว่าเบื่อหน่าย ระวังให้ดี มันเป็นเบื่อหน่ายชนิดนี้ หรือว่าเบื่อหน่ายเพราะอย่างอื่น
เพราะความซ้ำซากไม่เป็นที่ตั้งแห่งความพอใจ นี่ก็เบื่อหน่าย
หรือว่าเพราะเห็นไปในทางที่ว่าไม่เป็นมิตร ไม่เป็นเพื่อน ไม่เป็นผู้หวังดี แล้วก็เบื่อหน่าย นี่เป็นความเบื่อหน่ายชนิดที่ทำอันตรายแก่บุคคลผู้รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่นำไปสู่ความสงบสุข คือความเฉยได้
ถ้าเรามีสัมมาทิฏฐิกันให้สมบูรณ์ ถูกต้องตามหลักแห่งธรรมะ แล้ว สัมมาทิฏฐินั้นจะนำไปสู่ความเบื่อหน่ายที่ถูกต้อง สู่ความวางเฉยที่ถูกต้อง ที่เรียกว่า เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น ย่อมหลุดพ้นดังนี้
ทีนี้คนธรรมดาสามัญทั่วไป ที่ยังไม่ถึงกับเป็นพระอรหันต์นั้น จะได้รับประโยชน์อะไร ในการที่เบื่อหน่ายและเฉยได้
ก็ควรจะมองเห็นตามที่ได้กล่าวมาแล้วตอนต้นว่า เมื่อเฉยไม่ได้ มันก็ต้องยึดถือ ยินดียินร้าย แล้วก็ทำให้เกิดความทุกข์ไปตามแบบของความยึดถืออย่างดี หรืออย่างร้าย
หรือเมื่อสลัดออกไปไม่ได้ มันก็มาเป็นสิ่งที่ทรมานใจ เป็นโรคภัยไข้เจ็บในทางจิตใจ จิตใจที่ทนทรมานนำมาซึ่งโรคทางกายหลาย ๆ ประการ
หรือเป็นโรคระหว่างกายกับใจ เช่นโรคประสาทเป็นต้น ก็หลาย ๆ ประการ นี่คือความที่มันเฉยไม่ได้
พูดกันง่าย ๆ ว่า คนนอนไม่หลับเพราะว่ามันเฉยไม่ได้ มันรบกวนจิตใจอยู่ แม้โดยไม่เจตนา
ถ้าคนเราจะศึกษาเรื่องของตัวเองให้ดี ไม่ต้องศึกษาพระคัมภีร์ก็ยังได้
ศึกษาเรื่องตัวเองให้ดี ให้ครบความยึดมั่นถือมั่นที่มีอยู่โดยแท้จริง เห็นโทษของความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็จะเบื่อหน่ายไปตามทางที่ถูกต้อง ถึงขนาดแล้วก็จะเฉยได้
บางคนอาจจะเก่งกว่านั้น คือมองชะเง้อไปอย่างความเฉยได้ เหมือนกับที่เรียกว่าจะมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เดี๋ยวนี้ยังเฉยไม่ได้ แต่คอยจ้องความที่จะเฉยให้ได้ มีความเฉยได้เป็นอารมณ์อยู่ข้างหน้า อย่างนี้ก็ยังเป็นการดี คือมันจะเขยิบไปข้างหน้า ไปตามทางของความปล่อยวาง
มีความเฉยได้ คือวางได้นั้นเป็นที่สุด
จะต้องรู้จักสังเกตพิจารณาจิตใจของตน ถึงการศึกษาเล่าเรียนในภายในอยู่เสมอ พูดอย่างนี้มีบางคนหาว่า ดูถูก ดูหมิ่น พระคัมภีร์ตำหรับตำรา หนังสือหนังหา ที่เคยอ่านเคยศึกษามาแล้วเป็นอย่างมาก
อาตมาก็ต้องบอกว่า ไม่ได้ดูถูก ดูหมิ่น พระคัมภีร์ตำหรับตำรา หนังสือหนังหา หากแต่ว่า เราจะทำให้สำเร็จประโยชน์ตามพระคัมภีร์ ตำหรับตำรา หนังสือหนังหานั่นเอง
ถ้ามีแต่พระคัมภีร์ ตำหรับตำรา หนังสือหนังหา อยู่เฉย ๆ หรือว่าอ่านแล้วลืม ๆ หรือคิดแล้วลืม ๆ อยู่อย่างนี้ อันนั้นมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร แล้วมันก็ต้องเป็นอย่างนั้นเอง เพราะว่าเขาไม่ได้ทำการศึกษาต่อไปจากตำหรับตำรา หนังสือหนังหา
พูดอีกอย่างหนึ่ง ก็พูดว่า จะต้องเปลี่ยนให้เป็นการปฏิบัติ คือ ยกเอาความรู้ลงไป ใส่ลงไปในการปฏิบัติ ทำความรู้ให้กลายเป็นการปฏิบัติ
ความรู้ เป็นเรื่องของหนังสือหนังหา ตำหรับตำรา
เก็บใจความได้เท่าไร อย่างไร
ความจริงนั้นต้องนำไปสู่การปฏิบัติ
เรียกว่า วางความรู้ลงไปในการปฏิบัติ
นั่นแหละ คือการที่จะต้องศึกษาในภายในต่อไป
ถ้าไม่มีการศึกษาในภายใน ก็เห็นธรรมะอันแท้จริงไม่ได้ ก็ได้แต่ท่องว่า อนัจจิง ทุกขัง อนัตตา อยู่อย่างนกแก้ว นกขุนทอง หรือว่าอัดเป็นเสียงให้ร้อง มันก็ร้องได้ มันก็ร้องอยู่อย่างนั้น
ฉะนั้นสิ่งใดที่ได้เล่าเรียนมา ที่ได้ศึกษามาโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสุญญตา ว่าง เป็นตถตา เช่นนั้นเอง นี่จะต้องเอาไปทำให้เป็นความรู้ที่แท้จริงขึ้นมาในจิตในใจ
แล้วก็ทำให้คล่องแคล่วชำนาญอย่างยิ่ง จนถึงกับว่า จะพิจารณากันที่ไหน เมื่อไรก็ได้
ความรู้ที่แท้จริงนั้น สามารถจะนำไปใช้ที่ไหน เมื่อไรก็ได้ โดยสติที่เพียงพอ ดังที่กล่าวแล้ว ว่าเราได้ฝึกฝนอบรมมาดี ทั้งสติ ทั้งสัมปชัญญะ ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา ทั้งสัมมาทิฏฐิ เหมือนกับว่าที่เรากำลังกระทำอยู่นี้ กระทำบ่อย ๆ
บางอย่างก็ทำทุกปี
บางอย่างก็ทำทุกเดือน
บางอย่างก็ทำทุกวัน
บางอย่างก็ทำวันละหลาย ๆ ครั้ง
นี่ก็เพื่อให้เกิดความรู้ที่ก้าวหน้า ที่สมบูรณ์
เป็นความรู้ที่จะต้องใช้ เกี่ยวกับความรู้สึกในจิตในใจ
ไม่ใช่ความรู้ที่เก็บไว้ในสมุด ในตำรา
เหมือนที่เป็นกันอยู่โดยมาก
เกิดเรื่องอะไร ต้องไปเปิดหนังสือ ต้องไปเปิดตำราดู แล้วมันจะทันเวลากับกิเลสได้อย่างไร ก็เรื่องของกิเลสนั้นว่องไวเหมือนกับสายฟ้าแลบ เราก็จะผัดเพี้ยนเวลาขอเปิดตำราดูก่อน อย่างนี้มันเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้
จะต้องมีความรู้เท่าถึงการณ์ ก่อนแต่ที่กิเลสจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำไป แล้วก็รู้แจ่มแจ้ง เมือกิเลสมันเกิดขึ้น หรือเมื่อความทุกข์มันเกิดขึ้น มีความรู้ชนิดที่แจ่มแจ้งที่ทำลายกิเลสได้ หรือทำลายความทุกข์ได้ นี่คือเรื่องจริงที่จะต้องทำให้ได้
ฉะนั้น การเห็นเช่นนั้นเองก็ดี
การเห็นว่างจากตัวตนก็ดี
ล้วนแต่จะต้องเห็นอย่างแจ่มแจ้ง
ซึ่งท่านอุปมาว่าเป็นเหมือนกับอาวุธที่ดีที่สุด
อย่างเรียกว่า พระขรรค์เพชร ก็เคยมีเรียก
หมายความว่า ความรู้ที่เฉียบแหลมที่สุด ที่มีอำนาจมากที่สุด จะตัดกิเลส หรือต้นเหตุของความทุกข์ใด ๆ ในที่สุด ก็คือ ความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง
ถ้าถามว่าจะต้องตัดอะไร
ก็ต้องตอบว่า ตัดความยึดมั่นถือมั่น
ตัดตามควรแก่โอกาส ตัดเป็นป้องกันล่วงหน้าก็ได้
ตัดเมื่อกำลังจะเกิดก็ได้
ตัดเมื่อเกิดแล้วก็ได้
นั่นแหละคือความแตกฉาน เชี่ยวชาญในญานความรู้ ในมรรคญาน ที่มาแต่ความเห็นแจ้งถึงที่สุด
เพราะฉะนั้นขอให้ท่านทบทวนถึงเรื่องที่จะมีอาวุธอันวิเศษนี้ ซึ่งทำได้ด้วยการศึกษาในภายในต่อไปจากการศึกษาภายนอก
ประเภทนี้ก็เรียกว่าการศึกษาภายนอก แต่ให้มันซึมเข้าไป เป็นการศึกษาภายในต่อไป
อ่านหนังสือ คือการศึกษาภายนอก
เอาไปใช้ ให้มันเป็นการศึกษาภายในต่อไป จึงจะสำเร็จประโยชน์
จะต้องมีจิตใจที่ฝึกฝน อบรม ให้ถูกต้องตามหนทางของความหลุดพ้น เรามีสติปัญญา ตามธรรมชาติ ธรรมดา ซึ่งธรรมชาติให้มาก็สูงกว่าสัตว์เดรัจฉานอยู่แล้ว เอามาเปรียบเทียบกันดู สัตว์เดรัจฉานก็มีความรู้ มนุษย์ก็มีความรู้ แต่มนุษย์มีความรู้อย่างปัญญา
สัตว์เดรัจฉานมีความรู้อย่างสัญชาตญาน คือมันรู้ได้เอง รู้เองตามธรรมชาติ รู้เท่าที่ธรรมชาติให้รู้ หรือถ่ายทอดกันมา เรียกว่ามันเกิดได้เองนั้นก็เพราะมันถ่ายทอดกันมาตามธรรมชาติ
สัตว์เดรัจฉานรู้อะไรได้เท่าที่ตามสัญชาตญานทำให้รู้
แต่มนุษย์นี้มีปัญญา อีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า ภาวิตญาน คือความรู้ที่เราได้มันเกิดขึ้น เพิ่มขึ้น ๆๆ ไม่หยุดอยู่เพียงสัญชาติญาน ซึ่งแปลว่าเกิดได้เอง
แต่ภาวิตญาน แปลว่า ได้ทำให้เกิดขึ้น มนุษย์มีปัญญาชนิด ภาวิตญาน
แม้ว่าจะมีปัญญาอย่างสัญชาตญาน ก็ไม่ได้อาศัยปัญญาชนิดนั้นเพราะมันไม่ใช่ปัญญา แม้ว่าจะเฉลียวฉลาดตามสัญชาตญาน ถ่ายทอดกันมาจากบิดามารดา มันก็ยังไม่ใช่ปัญญา
มันจะต้องมีการศึกษา อบรม ให้ก้าวหน้าเกินไปกว่าที่มันเป็นสัญชาตญาน
มนุษย์ต่างจากสัตว์เดรัจฉานก็ที่ตรงนี้
แต่แล้วมีปัญญานี้ ยังทำผิดเพราะว่ามันฉลาดมากเกินไป ความฉลาดนี้ถ้ามันเดินไปถูกทางมันก็ดี ถ้ามันเดินไปผิดทางมันก็เป็นอันตราย
แม้สิ่งที่เรียกว่า กิเลส ๆ นั้นก็คือปัญญาชนิดหนึ่งด้วยเหมือนกัน แต่ว่ามันเป็นปัญญาที่ผิดทาง เราจึงไม่เรียกว่าปัญญา ไปเรียกว่า กิเลส
เมื่อเราเด็ก ๆ ถ้าให้เราทำผิด เรากลัวพ่อแม่จะตี เราก็ต้องโกหกอย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องแก้ตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำก็บอกว่าไม่ได้ทำ ไปก็บอกว่าไม่ได้ไป โกหกอย่างนี้มันก็เป็นปัญญาหนึ่ง แต่ไม่เรียกว่า ปัญญา ไปเรียกเสียว่า กิเลส
หรือ ไม่มีอะไรจะกิน ปัญญามันก็มีอยู่ มันก็ขโมย ทีนี้การไปขโมยก็คือการใช้ปัญญาชนิดหนึ่ง ซึ่งเราไม่เรียกว่าปัญญา แต่เรียกว่า กิเลส
ไปดูให้ดีเถิด กิเลส หรือ ปัญญา นี้มันก็เป็นสิ่งเดียวกัน เพียงแต่ว่ามันให้ผลต่างกัน
ส่วนที่เป็นกิเลสนั้น จะต้องให้ผลเป็นทุกข์
ส่วนที่เป็นปัญญา เป็นโพธิอันแท้จริงนั้น จะเป็นไปเพื่อดับทุกข์
จะแก้ปัญหาของมนุษย์
ถ้าใช้ปัญญาอย่างกิเลส มันก็อยู่กันไม่ได้ เพราะว่าทุกคนจะเห็นแก่ตน แล้วก็ต้องเบียดเบียนผู้อื่นเป็นแน่นอน ปัญญากิเลสมันก็ใช้ไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนไปเป็นใช้ปัญญาที่ถูกต้อง ไม่เป็นกิเลส
เป็นการเห็นอย่างถูกต้อง ว่าเราจะต้องอยู่ด้วยกัน เราจะต้องช่วยกัน กระทั่งถึงว่าเราจะต้องเป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกัน เราก็ไม่เบียดเบียนกัน เราก็อยู่กันได้
ความรู้ หรือ ปัญญา มันมีอยู่เป็นพื้นฐานตามธรรมชาติ ธรรมดา สัตว์เดรัจฉานเมื่อไม่มีอะไรจะกิน มันต้องขโมยเป็นเหมือนกัน คนเมื่อไม่มีอะไรจะกิน มันก็ขโมยเป็นเหมือนกัน นี่เรียกว่ามันใช้สัญชาตญานไปในทางที่ผิด ควบคุมไม่ได้ ก็ต้องเป็นทุกข์
นี่เราเป็นมนุษย์ เราต้องรู้จัก เราต้องควบคุมได้ เราต้องทำให้เป็นไปในทางที่จะอยู่กันเป็นผาสุกได้
ขอให้ทุกคนรู้จักปัญญาต้นทุน ปัญญาเดิมพัน ที่ธรรมชาติได้ให้มาแล้วด้วยกันทั้งนั้น แล้วก็จัดการกับมันให้ดี หรือฝึกฝนอบรมให้ดี ให้เดินไปตามทางของปัญญา ที่เรียกว่า โพธิอันถูกต้อง
อบรมปัญญาชนิดนี้อยู่ ก็เรียกว่า โพธิสัตว์
เมื่อเสร็จสิ้นในการอบรมปัญญานี้แล้ว ก็กลายเป็น พุทธะ หรือพระพุทธเจ้าขึ้นมา
ทุกคนเป็นพระพุทธเจ้าได้ โดยการอบรมปัญญาของตน ๆ
ถ้าทำได้เองก็เป็นพระพุทธเจ้าชนิดสัมมาสัมพุทธเจ้า
ถ้าฟังของพระพุทธเจ้ามาทำ ก็เป็นพระพุทธเจ้าเดินตาม เรียกว่า อนุพุทธะ เป็นพุทธะที่เดินตาม เพราะไม่อาจจะตรัสรู้ชอบได้ด้วยตนเอง
แต่ก็ไม่เป็นไร เรียนรู้ได้เอง หรือเดินตามนี้มันก็ยังมีผลด้วยกันทั้งนั้น คือดับทุกข์ได้
เราได้ยินได้ฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มาทำให้เป็นปัญญาของเรา นี้ไม่ใช่ขี้ตู่ เป็นเรื่องที่ควรกระทำ
ควรจะรับเอาปัญญาที่พระพุทธเจ้าประสิทธิ์ประสาทให้มา และทำให้เป็นปัญญาของตน ด้วยเกิดความรู้เป็นภายในอย่างแจ่มแจ้ง ให้กลายมาเป็นของตนขึ้นมา ซึ่งมันจะช่วยตนได้ …”
.
ธรรมบรรยาย
โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ
https://youtu.be/cw1tLKiXg6c
เยี่ยมชม
youtube.com
ไม่ยึดมั่นถือมั่น ย่อมหลุดพ้น_ท่านพุทธทาสภิกขุ
ไม่ยึดมั่นถือมั่น ย่อมหลุดพ้นท่านพุทธทาสภิกขุ28 กรกฏาคม 2523
1) นี่คือหัวใจของพุทธศาสนา
2) นี้คือธัมมจัก ฯ
สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นย่อมมีความดับเป็นธรรมดา
จึงทำให้ปล่อยความยึดมั่นเป็นตัวตน บุคคล
3) การคลายออกไม่ยึดมั่น
เพราะเห็นความจริงของสิ่งนั้น
4) เกิดความหน่ายจากการยึดมั่น
เพราะเฉย (อุเบกขา) จึงไม่ติด
5) ความเบื่อหน่าย (เพราะไม่ถูกใจ)
แบบนี้ไม่หลุดพ้น
แม้เกิดความเฉย แต่มาจากโกรธกัน เกลียดกัน
6) ความเบื่อหน่ายที่แท้จริง
คือเห็นความเป็นอนัตตา
จึงเกิดความเฉย
7) การวางเฉยของพระอริยเจ้า
คือเห็นความเป็นเช่นนั้นเอง
หรือเห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
8) การทำลายชีวิตตัวเอง ไม่ใช่นิพพิทา
9) การเบื่อหน่ายด้วยปัญญาจะวางเฉยได้
สัมมาทิฏฐิจะวางเฉยได้อย่างถูกต้อง
(ไม่ดึงเข้าตัว)
10) เฉยไม่ได้ก็เป็นโรคประสาท
11) เห็นโทษภัยของความยึดมั่น
ก็จะวางเฉยได้
12) มรรคญานตัดกิเลส
การศึกษาภายนอก
เอาไปทำให้เป็นการศึกษาภายในต่อไป
13) เดรัจฉานและมนุษย์ มีสัญชาตญาน ( = เกิดเอง)
มนุษย์มีภาวิตญาน ( = ทำให้เกิดขึ้น)
14) กิเลสคือปัญญาที่ผิดทางเพื่อเอาตัวรอด
แต่ไม่เรียกปัญญา
กิเลสให้ผลเป็นทุกข์
ปัญญาเป็นไปเพื่อดับทุกข์
15) ปัญญาต้นทุน ปัญญาเดิมพัน เอามาจัดการให้ดี
ระหว่างนั้นจะเป็นโพธิสัตว์
จากนั้นจะเป็นพุทธะ
.
https://youtu.be/qcEy0VCNkas
เยี่ยมชม
youtube.com
ไม่ยึดมั่นถือมั่น ย่อมหลุดพ้น_ท่านพุทธทาสภิกขุ_สาธยายคำสอนโดยอ.ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
รับชมการบรรยายต้นฉบับนี้ของท่านพุทธทาสภิกขุได้ที่ https://youtu.be/cw1tLKiXg6c
Photo by : Unsplash
3 บันทึก
12
3
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตามรอยธรรม
3
12
3
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย