18 เม.ย. 2022 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไมถึงมีการเก็บภาษีหน้าต่าง?
รายได้ ที่ดิน สินค้า หรือ ศุลกากร ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้กันอยู่ทั่วไปว่า เป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อเก็บภาษี แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ในโลกของเรานั้นเคยมีการเก็บภาษีจากส่วนประกอบของบ้านอย่าง “หน้าต่าง” ด้วย...
📌 ภาษีที่ไม่ต้องก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว
ภาษีหน้าต่างเกิดขึ้นครั้งแรกในฝรั่งเศสในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 แต่คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักการเก็บภาษีหน้าต่าง จากการที่อังกฤษนำมันมาใช้ในปี ค.ศ. 1696 ในรัชสมัยของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3
หากคิดด้วยมุมมองปัจจุบัน การเก็บภาษีจากจำนวนหน้าต่างอาจจะดูเป็นสิ่งที่น่าขัน แต่ด้วยสถานการณ์ในตอนนั้น ภาษีนี้ก็ดูเป็นเหตุเป็นผลไม่น้อยครับ ที่จะนำมาใช้เป็นช่องทางหารายได้เข้าสู่รัฐ
ย้อนกลับไปตอนนั้น ประชาชนชาวอังกฤษจำนวนมาก มีแนวคิดต่อต้านการเก็บ “ภาษีจากรายได้” เพราะมองว่าการที่ภาครัฐเข้ามารู้รายได้ของพวกเขา เป็นการละเมิดสิทธิมากจนเกินไป จนทำให้ทางการอังกฤษต้องไปหากลยุทธ์ใหม่เพื่อใช้ในการเก็บภาษี
1
โดยทางเลือกแรกที่ถูกนำมาใช้ เพื่อมาเก็บภาษีแทนรายได้ก็ยังไม่ใช่จำนวนหน้าต่าง แต่เป็นจำนวน “เตาผิง” ที่ถูกนำมาใช้คำนวณภาษีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1963 และใช้เรื่อยมาจนถึงปี 1688
ซึ่งเหตุผลสำคัญที่มันถูกยกเลิกไป ก็มีความคล้ายคลึงกับการที่อังกฤษไม่ได้ใช้ “รายได้เพื่อคำนวณภาษี” ตั้งแต่แรก
ใช่แล้วครับ เหตุผลนั้นก็คือ ประชาชนมองว่าการใช้เตาผิงเพื่อคำนวณภาษี เป็นการก้าวก่ายชีวิตของประชาชนเกินไป เพราะ ทุกครั้งที่จะต้องเก็บภาษี ก็ต้องมีเจ้าหน้าที่ เข้าไปตรวจสอบภายในบ้านของประชาชน จึงทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่คน
1
พอรายได้ก็ไม่ได้ เตาผิงก็ไม่ได้ จึงทำให้อังกฤษเกิดไอเดียใหม่ขึ้นมาคือ “การเก็บภาษีจากจำนวนหน้าต่าง” ที่มีข้อดีคือ เจ้าหน้าที่สามารถนับจำนวนหน้าต่างได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปก้าวก่ายชีวิตภายในบ้านของผู้คนเลย ก็หน้าต่างมันโชว์อยู่ภายนอกของตัวบ้านเลย
2
นอกจากนี้ ในสมัยนั้นการทำหน้าต่าง ถือว่าเป็นงานที่ค่าใช้จ่ายสูง ทำให้จำนวนหน้าต่างที่มาก แสดงถึงความร่ำรวยของเจ้าของบ้านได้ด้วย
1
โดยอัตราภาษีเริ่มแรกที่มาการเก็บนั้น จะเก็บที่ 2 ชิลลิ่ง (เทียบเท่ากับ 14.19 ปอนด์ในปี 2020) กับทุกบ้านที่มีหน้าต่างน้อยกว่า 10 บาน และ ก็จะเก็บเพิ่มเติมกับบ้านที่มีหน้าต่างมากกว่านั้น ทำให้ภาษีหน้าต่างเป็นรูปแบบภาษีแบบอัตราก้าวหน้า (Progressive Tax) รูปแบบหนึ่ง
1
📌 แนวคิดการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า
เป้าหมายหลักของเก็บภาษี คือ การหารายได้ให้กับภาครัฐเพื่อนำมาใช้จ่าย ในกิจการด้านต่างๆ ที่จำเป็นของประเทศ แต่นอกจากเป้าหมายหลักแล้ว หลายคนยังบอกอีกว่า ภาษีสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรได้ด้วย โดยเฉพาะแนวคิดเรื่องอัตราภาษีก้าวหน้า ที่ยิ่งคนมีรายได้มาก ก็จะยิ่งต้องจ่ายภาษีมาก
  • ภาษีอัตราก้าวหน้าในไทย ที่ทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี ก็คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นั่นเอง ที่อัตราภาษีในช่วงรายได้ที่น้อยกว่าจะเสียภาษีในอัตราที่น้อยกว่าด้วย เช่น
  • ในช่วงรายได้ 150,001 – 300,000 จะเสียภาษีในอัตรา 5 % แต่
  • ในช่วงรายได้ตั้งแต่ 5,000,001 บาทขึ้นไปจะเสียภาษี 35%
อย่างไรก็ดี ก็มีนักเศรษฐศาสตร์ที่แนวคิดว่าการเก็บภาษีคนรายได้เยอะมากๆ ก็อาจจะไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า การเก็บภาษีมากๆ จะเป็นการลดแรงจูงใจของคน ทำให้เขาไม่ตั้งใจทำงาน หรือ ไม่ขวนขวายจะพัฒนาคุณภาพการผลิต เพราะทำไปเยอะก็ถูกเก็บภาษีเยอะ
1
อีกหนึ่งเหตุผลของคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีมากๆ คือ การที่เขาเชื่อในบทบาทของตลาดและภาคเอกชนมากกว่าภาครัฐขนาดใหญ่ โดยอาจจะมองว่า ภาครัฐทำงานช้าและไม่มีประสิทธิภาพ หรือ อาจจะมองว่า การเก็บภาษีมากเป็นช่องทางในการคอร์รัปชั่น ไม่ได้ทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ จากคนที่มีมากไปสู่คนที่มีน้อยจริงๆ
2
ทั้งนี้ แต่ละประเทศก็มีรูปแบบการจัดเก็บภาษีและการใช้จ่ายภาครัฐแตกต่างกันไป ซึ่งมันก็อยู่กับบริบทและแนวคิดของแต่ละประเทศ ไม่ได้มีรูปแบบที่ถูกต้องหนึ่งเดียวที่ได้รับการยอมรับกันจากทุกคน
📌 ภาษีเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้คนได้
ย้อนกลับมาที่เรื่องภาษีหน้าต่างกัน หลังจากที่มีการประกาศใช้ภาษีนี้ออกมา ก็ทำให้ผู้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันมากทีเดียว อาคารที่สร้างขึ้นใหม่ก็พยายามที่จะสร้างให้มีหน้าต่างลดลง หรือ อาคารก่อสร้างก่อนหน้า ก็พยายามที่จะลดจำนวนหน้าต่างลงโดยการโบกปูนปิด ถือเป็นสถาปัตยกรรมแปลกตาที่ยังพบเห็นได้บางส่วนของอังกฤษในปัจจุบัน
ซึ่งภาษีชนิดนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า เป็นภาษีที่ลิดรอนสิทธิของประชาชนเช่นกัน ที่แม้แต่จะสร้างบ้านให้เปิดรับแสงแดดอย่างพอเพียงก็ยังทำไม่ได้เลย จนในที่สุด ในปี ค.ศ. 1851 หลังจาก 155 ปี ที่ยาวนาน ทางการอังกฤษก็ได้ยกเลิกการเก็บภาษีจากหน้าต่าง
1
(เกร็ดที่น่าสนใจ: ทางการอังกฤษจัดเก็บภาษีจากรายได้ได้แล้วตั้งแต่ปี 1842)
นอกจากภาษีหน้าต่าง เราก็ยังเคยเห็นภาษีประเภทอื่น ที่หลังจากออกมา ก็ทำให้พฤติกรรมของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปอีก หนึ่งในภาษีที่แปลกและน่าสนใจมากคือ “ภาษีหนวด” ที่ถูกจัดเก็บในรัสเซียในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18
เนื่องจากกษัตริย์ของรัสเซีย เสด็จประพาสยุโรปตะวันตกและเห็นว่า ในศาลของประเทศเหล่านั้น ผู้คนล้วนมีใบหน้าเกลี้ยงเกลา แตกต่างจากชายชาวรัสเซียอย่างมากที่นิยมไว้หนวดเครากัน
จึงรับสั่งให้มีการเก็บภาษีหนวดเครา ผลที่ตามมาก็คือ แทบจะไม่มีชายรัสเซียไว้หนวดเคราอีกเลยในช่วงที่ภาษีนี้ถูกใช้อยู่
1
เรื่องราวที่เหมือนจะแปลกนี้ แท้จริงทำให้เราได้เห็นถึงความสำคัญและบทบาทของภาษี ที่ถ้าถูกออกแบบให้ดีและเหมาะสม มันก็จะเป็นเครื่องมือที่ประสิทธิภาพของภาครัฐได้ แต่ในทางตรงข้ามถ้านำเครื่องมือนี้มาใช้อย่างไม่รอบคอบ ก็อาจจะเกิดโทษได้เช่นกัน แต่ก็อย่างที่บอกไปในบทความ การใช้ภาษีก็ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ และมันก็ไม่ได้มีรูปแบบภาษีหนึ่งเดียวที่ถูกยอมรับจากทุกคนว่าดีที่สุด
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
เครดิตภาพ : Micheael via Flickr

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา