25 เม.ย. 2022 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำความรู้จัก Mental Accounting หนึ่งในอคติที่ทำให้นักลงทุนไม่รวยเท่าที่ควร
เมื่อพูดถึงศัตรูของการลงทุน หลายคนอาจจะนึกถึงภาวะเศรษฐกิจผันผวนหรือผลประกอบการของบริษัทที่หลุดเป้า
แต่ยังมีอีกหนึ่งศัตรูตัวฉกาจของการลงทุน ที่หลายคนมักจะมองข้ามไปจนทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุนเท่าที่ควร ศัตรูตัวฉกาจนั้นก็คือ “อคติที่เกิดขึ้นในการตัดสินใจของมนุษย์”
ซึ่งอคติในการตัดสินใจของมนุษย์ที่มาเกี่ยวข้องกับการเงินก็มีหลากหลายอย่าง จนถึงขั้นมีวิชาที่ทำการศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ เรียกกันว่า “Behavioral Finance”
โดยในบทความนี้ ทาง Bnomics เราได้นำหนึ่งในอคติทางตัดสินใจอย่าง “Mental Accounting หรือ การคิดบัญชีในใจ” มาแบ่งปันกับผู้อ่านทุกท่านกันครับ
📌 การคิดบัญชีในใจทำให้แต่ละบัญชีเงินแต่ละบัญชีไม่เท่ากัน
แนวคิด Mental Accounting หรือ การคิดบัญชีในใจ เป็นแนวคิดที่บอกว่า คนเรานั้นจะมีการแบ่งเงินที่ตัวเองได้รับมาออกเป็นบัญชีย่อยๆ ในหัว ซึ่งเราก็จะให้น้ำหนักกับเงินแต่ละบัญชีไม่เท่ากัน
ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้คนให้คุณค่ากับเงินแต่ละก้อนไม่เท่ากัน คือ “ที่มาของเงิน” และ “เป้าหมายของการนำไปใช้”
ยกตัวอย่างเช่น คนเรามักจะให้คุณค่ากับเงิน 1,000 บาทที่ได้รับมาจากการทำงานมากกว่าเงิน 1,000 บาท ที่ได้มาจากการถูกหวย และก็จะนำเงินก้อนหลังไปใช้อย่างไม่ระมัดระวังมากกว่า
1
อีกหนึ่งตัวอย่างเช่น เสื้อตัวที่คุณซื้อมามักจะทำให้คุณรู้สึกมีความสุขน้อยกว่าตัวที่คู่สมรสของคุณซื้อให้ แม้ว่าทั้งสองตัวจะเป็นเสื้อแบบเดียวกัน ซื้อมาในราคาเดียวกัน และพวกคุณทั้งสองก็ยังใช้บัญชีธนาคารเดียวกันบัญชีเดียวกันในการนำเงินออกไปซื้อเสื้อนี้
สองตัวอย่างข้างต้น เป็นตัวอย่างในชีวิตประจำวัน ที่แสดงให้เห็นว่า แม้จะเป็นเงิน (หรือสินค้าที่มีมูลค่าเท่ากัน) ก็ถูกตีค่าแตกต่างกันได้ ผ่านอคติในการตัดสินใจในเรื่องการคิดบัญชีในใจ
4
ในส่วนของเรื่องการลงทุน การคิดบัญชีในใจก็เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจอยู่ตลอดเช่นกัน
ที่นักลงทุนก็มักจะมีการแบ่งการลงทุนออกเป็นกลุ่มๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ การแบ่งเงินสำหรับลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยง และสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
แต่หลายคนก็อาจจะสงสัยว่า มันดูคล้ายกับสิ่งที่เราเรียกกันว่า “การกระจายความเสี่ยง (Diversification)” หรือเปล่า?
📌 การคิดบัญชีในใจ vs. การกระจายความเสี่ยง
ต้องบอกว่า โดยหลักการพื้นฐานทั้งสองวิธีการดูจะคล้ายคลึงกันมาก เพราะเป็นการแบ่งการลงทุนออกเป็นกลุ่มๆ เหมือนกัน
แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย ตรงที่ว่า การคิดบัญชีในใจให้คุณค่ากับเงินแต่ละกลุ่มอย่างไม่เท่ากัน ซึ่งมันอาจจะทำให้พลาดโอกาสที่สำคัญไปได้
หนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจ ที่มีการยกไว้ในงานศึกษาของริชาร์ด เทเลอร์ (Richard Thaler) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เจ้าของแนวคิดการคิดบัญชีในใจคนแรก ได้กล่าวไว้ว่า
ถ้าคนเราซื้อหุ้นสองตัว ตัวหนึ่งราคาพุ่งสูงขึ้นและหุ้นอีกตัวราคาตกต่ำลง พอต่อมาเราต้องการนำเงินออกมาเพื่อลงทุนในสินทรัพย์อื่น โดยจำเป็นต้องขายหุ้นตัวใดตัวหนึ่งไปก่อน
📌 คำถาม คือ คนทั่วไปจะขายหุ้นตัวไหน?
ไม่น่าเชื่อว่า มีหลักฐานสนับสนุนว่า คนเรามักจะขายหุ้นที่ราคาพุ่งขึ้นสูงก่อนหุ้นที่มีราคาตกต่ำลง ที่เป็นแบบนี้ เพราะว่า คนเราจะแบ่งการคิดบัญชีในใจของหุ้นทั้งสองตัวออกจากกัน
หุ้นที่ราคาตกต่ำลงนั้น ที่ตกต่ำลงไปก็เพียงแต่บนหน้ากระดาษ ถ้ายังไม่ขายก็จะยังไม่เจ็บตัว แต่หุ้นที่ราคาขึ้นไปแล้วนั้น ขายในวันนี้ก็จะสร้างกำไรให้เราได้แล้ว
1
แต่แท้จริงแล้ว เราต้องนำความเป็นไปได้ของหุ้นทั้งสองตัวมาคิดรวมกัน และการกระทำที่เหมาะสมกว่าก็ควรเป็นการเก็บหุ้นที่ราคาเพิ่มขึ้นไว้ก่อน และตัดใจขายหุ้นที่ราคาต่ำลงไป
1
แต่ถ้าการแยกบัญชีในใจนี้ ปรับเปลี่ยนไปตามสภาพเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม มีวินัยอย่างพอเหมาะพอดี เวลาที่ควรจัดสรรใหม่ก็ทำอย่างมีเหตุผลใหม่ แบบนั้นเราก็จะเรียกว่า “การกระจายความเสี่ยง” นั่นเอง
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา