2 พ.ค. 2022 เวลา 01:08 • ธุรกิจ
“ความเชื่อใจ” ถูกสร้างได้อย่างไร?
ความเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทั้งคนและธุรกิจสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะกับบางอาชีพหรือบางองค์กร ที่การกระทำของพวกเขาส่งผลไปถึงผู้อื่น หากขาดความเชื่อใจจากผู้คนไป อาจจะไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติเลยก็ได้
ถึงหลายคนจะรู้ว่าความเชื่อใจเป็นสิ่งสำคัญ แต่ส่วนของวิธีการสร้างมันนั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลย
📌 เทคนิคที่ภาคธุรกิจสหรัฐฯ ใช้จนเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อใจมากที่สุดในสังคม
มีบทความหนึ่งในนิตยสาร Harvard Business Review ชื่อว่า “How Business Can Build and Maintain Trust” โดยคุณ Tim Ryan เขียนเรื่องการสร้างความน่าเชื่อใจของบริษัทในอเมริกาได้อย่างน่าสนใจ
โดยบทความเริ่มมาด้วยการยกผลสำรวจที่น่าจะทำให้หลายคนประหลาดใจว่า “องค์กรที่ได้รับความเชื่อใจมากที่สุดในสหรัฐ คือ องค์กรภาคธุรกิจ”
โดยอ้างอิงผลสำรวจถึงสองสถาบันจากทั้ง Edelman’s Trust Barometer และ PwC
ซึ่งเมื่อเจาะลงไปในรายละเอียดของงาน PwC มี 4 ปัจจัยหลักที่ทั้งบริษัทและลูกค้าที่เขาสัมภาษณ์เห็นตรงกันว่า เป็นปัจจัยที่ช่วยในการสร้างความเชื่อใจ ประกอบไปด้วย
  • 1.
    Data protection and Cybersecurity หรือ การปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยในโลกไซเบอร์
  • 2.
    Treating employees well หรือ การดูแลลูกจ้างอย่างดี
  • 3.
    Ethical business practices หรือ การดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม
  • 4.
    Admitting mistakes quickly and honestly หรือการยอมรับในความผิดพลาดอย่างรวดเร็ว และซื่อสัตย์
ซึ่งเมื่อพิจารณาดู ทั้ง 4 ข้อนี้ ก็เป็นปัจจัยที่ดูไม่ได้ไกลเกินความคาดคิดของเรา แต่ก็ดันเป็นสิ่งที่หลายองค์กรหลงลืมหรือละเลยที่จะปฏิบัติไป จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมออกมาเสมอ
และอันที่จริง ไม่เพียงแต่กับระดับองค์กรใหญ่ๆ เท่านั้นที่นำไปปรับใช้ได้ บุคคลธรรมดาเองก็น่าจะมีรูปแบบการสร้างความเชื่อใจใกล้เคียงกับ 4 ข้อด้านบน
📌 เกมแห่งความเชื่อใจในวงการเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
ในวงการเศรษฐศาสตร์ ก็มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อใจเช่นกัน หนึ่งในงานที่มีอิทธิพลมากที่สุดในสายนี้ คือ งานที่ “ทฤษฎีเกม” มาศึกษาความเชื่อใจของคน
ซึ่งเราอาจจะเรียกเกมในกลุ่มนี้รวมๆ กันว่ากลุ่ม “Trust Game”
หนึ่งในรูปแบบเกมที่เรียบง่ายที่สุด ทำได้โดยการแบ่งผู้เล่นสองคนกับเงินกองกลางจำนวนหนึ่ง สมมติว่า 100 บาท
โดยผู้เล่นคนแรกจะเริ่มเกมก่อน และเลือกได้ว่า จะส่งเงินให้คนที่สองเท่าไร เลือกได้ตั้งแต่ 0 – 100 บาทเลย
โดยเงินที่ส่งไปให้คนที่สองจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า แปลว่า ถ้าส่งเงินไป 100 บาทให้คนที่สอง ตอนนี้เงินกองกลางก็จะกลายเป็น 300 บาท
และคนที่สองก็จะเลือกได้ว่า จะส่งเงินคืนคนแรกเป็นจำนวนเท่าใดก็ได้
ซึ่งถ้าสมมติว่าคนแรกส่งมา 100 บาทจริง จนกองกลางกลายเป็น 300 บาท และคนที่สองตัดสินใจส่งเงินคืนครึ่งนึง 150 บาท คนแรกก็จะได้ประโยชน์มากกว่าเก็บเงินไว้แต่แรก
แต่อ้างอิงตามหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นแล้วว่า “คนเห็นแก่ตัว” คนเล่นเกมคนแรกต้องไม่ส่งเงินให้คนที่สองเลยสักบาทเดียวแต่แรก
เพราะเขาไม่อาจเชื่อใจได้ว่าคนเล่นเกม “คนที่สองจะไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว” และฮุบเงินไว้คนเดียว
ที่น่าสนใจ คือ สุดท้ายส่วนใหญ่แล้ว เกือบทั้งหมดทั้งผู้เล่นคนแรกและคนที่สองก็เลือกที่จะส่งเงินบางส่วนให้อีกคนหนึ่ง
ทำให้เห็นว่า แม้จะเป็นคนแปลกหน้ากัน คนเราก็มีความเชื่อใจกับคนอื่นในระดับหนึ่งได้อยู่แล้ว
ซึ่งถ้าจะให้อธิบายอิงกับบทความจาก Harvard Business Review ในส่วนแรก ก็อาจจะเป็นได้ว่า มนุษย์เราอาจจะเชื่อในเรื่อง มาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งเป็นข้อ 3 ของปัจจัยในการสร้างความเชื่อใจ
ซึ่งก็มีคำอธิบายว่า สิ่งเหล่านี้อาจจะฝังอยู่กับวิวัฒนาการของมนุษย์ หรืออาจจะเกิดจากการก่อร่างสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ผ่านจารีต ประเพณี เพื่อให้สังคมมนุษย์มีความสงบ
ทำให้มันก็มีความเป็นไปได้ว่า เราสามารถออกแบบสังคมที่ช่วยส่งเสริมให้คนปฏิบัติในทางที่ผู้คนสามารถเชื่อใจกันได้มากขึ้นได้…
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนากานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา