16 เม.ย. 2022 เวลา 23:44 • ปรัชญา
๒๔. . ผู้นำ-ผู้ตาม และ ธรรม​บรรยาย
ปัญหาของชีวิตไม่ใช่อะไรอื่น คือความไม่รู้ พฤติกรรมที่แสดงออกทางกาย ทางวาจาและทางจิตไม่ถูกรู้ถูกเห็นตามเป็นจริง พฤติกรรมของเราจึงเป็นเครื่องสะท้อนออกถึงความสับสนในภายใน
เสียงที่เราขู่กรรโชกเพื่อน ท่าทีกระด้าง ภาคภูมิอย่างหยิ่ง อะไรเหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนออกถึงความสับสนในภายใน เป็นเหตุให้เราก้าวร้าว หรือรุนแรง หรือยอมรับความเห็นผู้อื่น ปรองดองกับผู้อื่นยากขึ้น แต่เมื่อใดหายสับสนในภายในขึ้น ความรู้แจ้งเห็นจริงต่อปรากฏการณ์ประจำวันนั้นจะกระจ่างแล้ว ก็นำไปสู่การสร้างสรรค์เสมอไป
ความรักจะไม่สับสน คบมิตรจะไม่นำไปสู่การเกลียดชังในภายหลัง งานทุกชนิดไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาจากอำนาจของความสับสน แต่งานเป็นเครื่องสะท้อนออกของความสิ้นสับสนในหัวใจของผู้นั้น พฤติกรรมทุกชนิดจะสอดคล้องกัน งานทุกชนิดจะสอดคล้องกันโดยไม่ต้องตั้งใจ คำพูดจะมีสาระโดยไม่ต้องตั้งโครงการอะไรนัก
ความสุขของมนุษย์เป็นเพียงผลของความสิ้นสับสน ความสุขไม่ใช่เครื่องระบายอารมณ์หรือเครื่องกลบเกลื่อนความยุ่งๆ ในหัวใจ โดยไม่ต้องคิด เรามักจะเห็นผู้คนใช้งานรื่นเริง เต้นรำ เพียงเพื่อกลบร่องรอยความขัดแย้งหรือสับสนอย่างขอไปที แต่ความรื่นเริงหรือความสุขที่แท้จริงนั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่ต้องสะท้อนออกจากความสิ้นสับสน หมายความว่า เมื่อภายในสิ้นสับสน ความสัมพันธ์กันระหว่างบุคคลต่อบุคคลก็จะเป็นการเติบโตของมิตรภาพหรือความรัก
เราคิดว่างานสร้างสรรค์อยู่ที่โครงการดีๆ หรือมีประโยชน์กับมนุษยชาติ แต่เราต้องรู้ด้วยว่าประโยชน์ของมนุษยชาติคือทำให้มนุษย์สิ้นสุดความสับสนนั่นเอง
ที่เขาเรียกกันว่างานสร้างสรรค์บางทียังไม่ใช่ อาจจะเป็นเพียงการสะท้อนความยุ่งๆ ออกมาทางสังคม ประโยชน์ที่มนุษยชาติพึงได้ก็คือ เขาต้องกระจ่างเข้าไปในการดำรงชีวิตอยู่
ธาตุแท้ของผู้คนนั้นบริสุทธิ์ เป็นผู้ที่ปรารถนาแต่สันติสุขด้วยกัน การที่จะรู้เรื่องนี้ในหัวใจของเราต้องสิ้นสับสนก่อน เมื่อในหัวใจของเราสิ้นสับสน เราจึงจะรู้ว่าอะไรเป็นสาระ อะไรไม่ใช่สาระ เราจะรู้ว่าคำพูดใดที่เป็นคำพูดสะท้อนออกมาจากสัจจะ คำพูดใดเป็นเครื่องสะท้อนออกของความสับสนในการค้นหาสัจจะ
มนุษย์ทุกคนในโลกนี้แท้ที่จริงแล้วเป็นผู้กำลังค้นหาสัจธรรม ไม่ว่าเขาจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว เพราะว่าทุกความสับสนในหัวใจของเขานั้นเองผลักดันให้เขาต้องกระทำอะไรหลายๆ อย่างเพื่อพ้นจากภาวะที่สับสน เหมือนพฤติกรรมของเขานั้น แง่หนึ่งเป็นการสะท้อนออกของความสับสน อีกแง่หนึ่งก็คือเครื่องมือที่จะนำไปสู่การสิ้นสับสน แต่ความลับอันสำคัญของมนุษย์เราคือว่า เมื่อเขารู้สึกสับสนแล้ว มนุษย์ทั่วไปจะทนไม่ไหวที่จะเรียนรู้ธรรมลักษณะของความสับสนนั้นตรงๆ ซื่อ ๆ
คือเราทนไม่ไหว เราอ่อนแอเกินไปที่จะเรียนรู้มันตรงๆ ว่า ความสับสนนี้มีอาการอย่างไร เกิดขึ้นอย่างไร ตั้งอยู่อย่างไรแล้วจบสิ้นลงได้อย่างไร เราไม่กล้า เราไม่องอาจพอ ดังนั้นเมื่อความสับสนเกิดขึ้นแทนที่จะได้ประโยชน์จากมันเราก็วิ่งเข้าหาที่พึ่งอะไรต่างๆ
ดังนั้นเราทุกคนจึงมีความรู้สึกเรียกร้องชนิดหนึ่ง โปรดเห็นใจฉันบ้าง ขอให้มีบางสิ่งเพื่อยกชีวิตจากความสับสน ขอให้มีอำนาจอะไรบางอย่าง จะเป็นโชคชะตาหรืออะไรก็สุดแท้ จะเป็นความรู้หรือคู่ครอง คู่รัก หรือเงิน เพียงเพื่อให้พ้นจากภาวะที่สับสน แต่ทีนี้เมื่อเราไม่รู้ว่าภาวะสับสนมีธรรมชาติอย่างไร กลายเป็นวิ่งหาที่พึ่งภายนอก
ดังนั้นไม่ว่าทฤษฎีใดๆ ทั้งสิ้น จะเป็นทฤษฎีของพระพุทธองค์หรือของใครๆก็ตาม ในโลกนี้จะดีเลิศประเสริฐสักแค่ไหนก็ตาม ตราบใดที่เรายังไม่รู้รากเหง้าของความสับสนด้วยตัวของเราเองแล้ว ทฤษฎีเหล่านั้นก็ยังคงเป็นทฤษฎีอยู่เท่านั้น เราจะไม่รู้สึกว่ามันมีทฤษฎีไหนที่เป็นทฤษฎีจริงแท้ หรือเป็นเพียงคำโฆษณาอวดอ้างเท่านั้น
ธรรมบรรยาย ณ วัดสนามใน นนทบุรี ขณะนั้นท่านเขมานันทะยังครองสมณะเพศ
ถอดเทปและจัดพิมพ์ (โรเนียว-เย็บเล่ม) โดยกลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม เมื่อกันยายน พ.ศ.๒๕๒๒

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา