Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
19 เม.ย. 2022 เวลา 01:15 • ปรัชญา
“นิโรธ 5”
“ … ความดับทุกข์ เขาเรียกตัวนิโรธ
ที่จริงนิโรธมันมี 5 อย่าง 5 ระดับ
- เป็นความดับด้วยสมถกรรมฐาน
- ดับด้วยวิปัสสนากรรมฐาน
- ดับด้วยอริยมรรค
- ดับด้วยอริยผล
- แล้วก็นิพพาน
มี 5 อัน ค่อยฝึก
ที่เราต้องฝึกนั้นคือตัวสมถะกับวิปัสสนา มันดับอะไร
สมถกรรมฐานดับตัวนิวรณ์
นิวรณ์เป็นตัวกั้นความเจริญทางจิตใจของเรา
กามฉันทะ พยาบาท พวกนี้ไปดูรายละเอียด ศึกษาเอา
แล้วจิตมันทรงสมาธิขึ้นมา ก็ข่มนิวรณ์ไว้ชั่วคราว
เราจะฝึกสมาธิเพื่อฝึกเต็มรูปแบบ ก็ยากเหมือนกัน
ถ้าเราไม่เคยฝึกมาหลายๆ ชาติ
โอกาสที่จะทำฌานให้ได้ ทำยาก ต้องใช้เวลา
…
ดับนิวรณ์ด้วยการทำสมถะ
ถ้าเราต้องการความสงบของจิตจริงๆ อันแรกเลย เราต้องอยู่ในสถานที่ที่มันเกื้อกูลกับความสงบ พระพุทธเจ้าท่านจะสอนให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัดอะไรอย่างนี้ มันสงัดส่วนใหญ่ก็คือมันไม่มีเสียงรบกวน
ในยุคนี้ ที่สงัดอย่างนั้นมันไม่ค่อยมีแล้ว มีแต่ที่วุ่นวายเสียงดังๆ เสียงเป็นศัตรูของการทำปฐมฌาน
อย่างเรานั่งสมาธิ พอจิตจะรวมเข้าปฐมฌาน มีเสียงอะไรแปลกๆ เข้ามา จิตมันก็ถอน แต่เสียงซ้ำๆ เสียงได้ยินซ้ำๆ อย่างบ้านเราอยู่ริมถนนอย่างนี้ มันไม่มีความสงัดหรอก แต่พอเราเคยชิน เราไม่ได้ยิน มันก็สงัดเหมือนกัน
ฉะนั้นอย่างเราอยู่ในบ้านในเมือง คนเยอะๆ อะไรนี้ หรืออยู่ริมถนนได้ยินเสียงรถทั้งวันทั้งคืน เราจะไม่ได้ยิน
หลวงพ่อไปภาวนาตามป่าตามอะไรอย่างนี้ นึกว่าป่ามันไม่มีผู้มีคน มันจะสงัด เปล่า กลางคืน เสียงแมลง เสียงสัตว์ สะเทือนเลื่อนลั่นเลย แต่พอเสียงนั้นเป็นของแปลกปลอม จิตมันสนใจ อันนี้มันจะวอกแวกไป
แต่ถ้าเสียงมันซ้ำๆๆ มันจะชินแล้วมันจะไม่ได้ยิน มันก็สงัดได้เหมือนกัน
ฉะนั้นอยู่ในบ้านเรา มันก็สงัดได้เหมือนกัน เสียงของสัตว์ หรือเสียงของธรรมชาติ ไม่รบกวนมาก ไม่ค่อยรบกวนมาก
ยกเว้นแต่ว่าเสียงผิดปกติจริงๆ อย่างฟ้าผ่าเปรี้ยงอย่างนี้ จิตสะดุ้งขึ้นมา
ถ้าเสียงลมพัด เสียงน้ำไหล เสียงอะไร ไม่ค่อยมีผลอะไร บางทีมันช่วยกล่อมให้จิตสงบง่ายด้วยซ้ำไป
เสียงที่อันตรายที่สุดเลยคือเสียงของคนนั่นล่ะ มันแปลความหมายได้
แล้วเสียงของคนที่อันตรายที่สุดคือเสียงของคนที่เราชอบกับคนที่เราเกลียด เสียงของคนทั่วๆ ไป ได้ยินแล้วก็ผ่านหูไป ใจไม่กระเพื่อมมาก
ถ้าเสียงคนที่เรารัก คนที่เราเกลียด ใจกระเพื่อมเยอะ ฉะนั้นจะภาวนา พยายาม อย่าไปรักใคร อย่าไปเกลียดใครในขณะนั้น วางเสียให้หมด
ถึงเวลาเราภาวนา อย่าไปนึกถึงคนที่เรารัก คนที่เราเกลียด นึกถึงลมหายใจออก นึกถึงลมหายใจเข้าไป เราอยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด มันก็เกื้อกูลให้เราสงบง่าย
บอกแล้ว สงัด ไม่ใช่แปลว่า ไม่มีเสียง
ที่ไหนมันก็มีเสียงทั้งนั้น
เสียงบางอย่างไม่อันตราย
เสียงบางอย่างอันตรายกับจิตใจ
พระพุทธเจ้าท่านบอกเสียงที่เป็นภัยที่สุดต่อบุรุษ พระส่วนใหญ่ ผู้ชาย เสียงที่ทำร้ายจิตใจได้มากที่สุดคือเสียงของสตรี แล้วเสียงของบุรุษก็ทำร้ายสตรีได้มากที่สุด อันนี้ยุคเก่า
ยุคนี้บุรุษบางคนก็ทนเสียงบุรุษไม่ได้ ชอบ หรือสตรีก็ชอบสตรี หลวงพ่อเลยใช้คำกลางๆ เสียงของคนที่เรารักกับคนที่เราไม่รัก คนที่ชอบที่ไม่ชอบ
เสียงที่ชอบที่ไม่ชอบ มันกวน
เพราะฉะนั้นถ้ามันกวนมาก
มีทางเลี่ยงก็เลี่ยงเสีย
เลี่ยงไม่ได้ก็อยู่กับมันให้คุ้นเคย
พอคุ้นเคยแล้ว มันจะไม่ค่อยได้ยิน
เราก็ทำกรรมฐานของเราไป หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ หรืออะไรก็ได้ หรือจะพุทโธๆๆๆ ไปเลยก็ได้ ไม่ต้องสนใจลมหายใจ ให้จิตมันมีเครื่องอยู่
อย่างบริกรรมพุทโธๆ อะไรนี่ เป็นความคิด ก็เป็นอารมณ์บัญญัติ ใช้ทำสมถะได้ หรือเรารู้ลมหายใจ ลมหายใจเป็นตัวรูป เป็นอารมณ์ปรมัตถ์ได้
แต่ถ้าเราเพ่งตัวรูป เราก็ได้สมถะ สมมติว่าเราหายใจเข้าพุท หายใจออกโธ ไม่สนใจเสียงภายนอกแล้ว หายใจไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ ได้ยินแต่เสียงภายใน
เสียงในใจเรา บริกรรมไป ถึงจุดหนึ่งคำบริกรรมมันจะหายไป พอจิตมันสงบลงไป เหลือแต่ลม สงบมากขึ้น ลมก็หายไป กลายเป็นแสงสว่าง
ก็ภาวนาของเราไปเรื่อยๆ ตัวแสงสว่าง จิตมันก็ไปจับอยู่ เรียกว่าวิตก จิตมันเคล้าเคลียอยู่ เรียกว่าวิจาร เราก็ต้องละวิตกวิจารไป
เรารู้ทันว่าจิตมันไหลไปอยู่ที่แสง พอรู้ทันว่าจิตไหลไปที่แสง การไหลของจิตไปที่แสงก็ดับ จิตก็ละวิตกวิจาร เข้าไปสู่ฌานที่สอง
ศัตรูของฌานที่สองก็คือวิตกวิจารนั่นล่ะ ต่อมาเราก็เรียนอีก มันมีปีติเด่นชัดขึ้นมา เรารู้ทันตัวปีติ ปีติมันก็ดับ จิตมีความสุข เข้าถึงฌานที่สาม
ถ้ามันเกิดปีติขึ้นมา ฌานที่สามมันก็ดับ เสื่อมลงมา พอมันมีความสุข เรามีสติรู้ลงไป จิตมันติดอกติดใจในความสุข มันไหลไปเคล้าเคลียอยู่กับความสุข เรารู้ทัน จิตก็วางความสุข เข้ามาเป็นอุเบกขา เป็นฌานที่สี่
ความสุขมันเป็นศัตรูของฌานที่สามไปแล้ว เราค่อยๆ ดับ ค่อยๆ ละเป็นลำดับๆ ไป พอจิตมันถึงฌานที่สี่ก็ละรูปๆ ดับรูปลงไป เหลือแต่ความรู้สึกส่วนของนามธรรม
การดับด้วยสมถะจะเป็นอย่างนี้ ค่อยๆ ดับ ละๆๆๆ ไป ก็เข้าไปสู่อุเบกขา ทรงตัวอยู่กับอุเบกขา ถ้าสูงกว่านั้นเราทำไม่ได้ มันเป็นเรื่องของสมาบัติต่างๆ
ยังทำไม่ได้ก็ยังไม่ต้องไปสนใจมัน เวลาจิตเราเดินฌานไปอย่างนี้ นิวรณ์มันจะดับ ดับไป จิตใจก็ไม่มีเครื่องถ่วง กีดกั้นความเจริญของจิต พอละได้ ใจก็มีกำลังขึ้นมาแล้วก็เดินวิปัสสนา
…
ดับความเห็นผิดด้วยการเจริญวิปัสสนา
วิปัสสนามันก็ดับเหมือนกัน มันดับอะไร
หลวงพ่อบอกทุกวัน วิปัสสนาต้องเห็นไตรลักษณ์
อย่างเราเจริญวิปัสสนา
เราเห็นไตรลักษณ์ของรูปของนามไปอย่างนี้
มันก็จะดับความเห็นผิด
วิปัสสนามันสร้างให้เกิดตัวปัญญา
มันก็ล้างความโง่ ความเห็นผิด
อย่างเราเห็นอนิจจัง มันก็ล้างความเห็นผิดว่าเที่ยง
อย่างเราอย่างนี้ ทุกคน ปุถุชนทุกคนจะรู้สึกว่าตัวเรามีจริงๆ
ร่างกายนี้ จิตใจนี้เป็นตัวเรา
โดยเฉพาะจิตใจนี้ เห็นว่ามันเที่ยง
ร่างกายนี้เรายังเห็นว่ามันไม่เที่ยงได้
อย่างตอนเด็กๆ เราตัวเล็กนิดเดียว
แล้วก็โตขึ้นๆ ยังแข็งแรง
อยู่ไปเรื่อยๆ ก็เริ่มแก่ มีความเจ็บ มีความตาย มีความแก่เกิดขึ้น
เห็นคนอื่นมันก็ตายเหมือนกัน
มันก็เห็นง่ายว่าร่างกายมันไม่เที่ยง
แต่จิตมันไม่มีตัวตนอะไร
การจะเห็นว่าจิตไม่เที่ยงไม่ใช่เรื่องง่าย
แต่ถ้าเรายังเห็นว่าจิตเที่ยง เราก็ละสักกายทิฏฐิไม่ได้
มันยังเหลือสิ่งที่เที่ยงในขันธ์ 5 นี้อยู่
ตรงที่ละสักกายทิฏฐิได้ มันจะต้องเห็นว่า
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
วิญญาณคือตัวจิตนั่นล่ะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ไม่มีตัว ไม่มีตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
ตัวอื่นๆ ดูง่ายว่าไม่เที่ยง
แต่เรารู้สึกว่าจิตเราเที่ยง
จิตเราเดี๋ยวนี้กับจิตเราเมื่อวาน มันก็คนเดิม
จิตเราเดี๋ยวนี้กับจิตเมื่อปีกลาย ก็คนเดิม
จิตเราเดี๋ยวนี้กับจิตชาติก่อนก็คนเดิม
จะรู้สึกอย่างนั้น
เรารู้สึกว่ามีสิ่งที่เที่ยงอยู่ในตัวเราอยู่อย่างหนึ่ง
ก็คือตัวจิตเรานั่นเอง
1
ทำอย่างไรเราจะเห็นความจริงว่ามันไม่เที่ยงได้
เราก็ดูให้เห็นความเกิดดับของมัน
หลวงพ่อสอนอยู่เรื่อยๆ วิธีดูให้เห็นจิตเกิดดับ
จิตไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวตน
เป็นแค่ธรรมชาติที่รู้อารมณ์เท่านั้นเอง
ฉะนั้นเราจะเห็นว่ามันเกิดดับ
เราไปดูมันตรงๆ ไม่เห็นหรอก
ต้องดูสิ่งที่มาประกอบกับมัน คือตัวเจตสิก
ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกดี ความรู้สึกชั่ว
ฉะนั้นเวลามีความโกรธเกิดขึ้น เราก็รู้เอา
เราก็จะเห็น มันอยู่แล้วมันก็ดับไป
ที่จริงความโกรธมันเกิดร่วมกับจิตที่โกรธ
ความโลภมันก็เกิดร่วมกับจิตที่โลภ
โลภเกิดพร้อมกันแล้วก็ดับพร้อมกัน
ฉะนั้นเราอาศัยสิ่งเหล่านี้มาสังเกตจิตใจเรา
จิตเราโลภขึ้นมา เรารู้ แล้วมันก็ดับ
เราก็จะเห็นเลย จิตโลภเกิดแล้วดับ
จิตไม่โลภเกิดขึ้นแทน จิตไม่โลภอยู่ชั่วคราว
เดี๋ยวก็กลายเป็นจิตโกรธขึ้นมาแล้ว
จิตโกรธอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ กลายเป็นจิตไม่โกรธ
เดี๋ยวก็มีจิตหลงเกิดขึ้น
ถ้าคนไม่เคยภาวนา จิตหลงเกิดขึ้นแล้ว ก็แล้วเลย เกิดไปทั้งชาติเลย
ถ้าเราเคยภาวนา จิตเราเคยเป็นผู้รู้ขึ้นมา
มันจะตัดจิตหลงให้ขาด
ฉะนั้นจิตหลงเราก็รู้ทัน จิตหลงก็ดับพร้อมๆ กับความหลง
จิตรู้ก็เกิดขึ้นมา
ฉะนั้นจิตรู้เกิดแล้วก็ดับอีก กลายเป็นจิตหลง
หรือกลายเป็นจิตโลภ จิตโกรธ
จิตสุข จิตทุกข์อะไรขึ้นมาอีก
เฝ้ารู้เฝ้าดูอย่างนี้ แล้วจะเห็นจิตมันเกิดดับ ดูผ่านเจตสิก
เพราะเจตสิกแต่ละตัว มันหน้าตาไม่เหมือนกัน
ความสุขกับความทุกข์ มันไม่เหมือนกัน
ความโลภกับความไม่โลภ
ความโกรธกับความไม่โกรธ
ความหลงกับความไม่หลง
มันไม่เหมือนกัน
ความฟุ้งซ่านกับความหดหู่
มันก็ไม่เหมือนกัน
พอจิตไปเกิดร่วมกับสิ่งเหล่านี้
มันเกิดพร้อมกันแล้วมันก็ดับพร้อมกัน
วันหนึ่งเราก็จะสามารถเห็นได้เลยว่า
จิตมันเกิดดับ
หรือถ้าเราสติ สมาธิเราดีพอ
เราเห็นจิตเกิดดับทางอายตนะ
จิตที่ดูเกิดแล้วก็ดับ
จิตที่ฟังเกิดแล้วก็ดับ
จิตที่ดมกลิ่นเกิดแล้วก็ดับ
จิตที่ลิ้มรสเกิดแล้วก็ดับ
จิตที่รู้สัมผัสทางกายเกิดแล้วก็ดับ
จิตที่ทำงานทางใจ ทำได้สารพัดชนิดเลย เกิดแล้วก็ดับ
อย่างนี้เราก็จะสามารถเห็นจิตเกิดดับได้ อันนี้ยากหน่อย
ที่ง่ายๆ คือหัดดูจิตโกรธก็รู้ จิตไม่โกรธก็รู้อะไรอย่างนี้
จิตโลภก็รู้ จิตไม่โลภก็รู้
หรือมันเฉยๆ ก็ดูไป
จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตไม่สุขไม่ทุกข์ก็รู้
ดูอย่างนี้เรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่ง มันจะมองออก
จิตโกรธก็ดวงหนึ่ง จิตไม่โกรธก็ดวงหนึ่ง
คนละอันกัน
ถ้าสติเราแข็งแรง สมาธิเราแข็งแรงขึ้น
เราจะเห็นจิตเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป
มีช่องว่างเล็กๆ มาคั่น เล็กมาก
มาคั่นอยู่แวบเดียวเท่านั้น
แล้วก็เกิดจิตขึ้นมารับรู้อารมณ์ใหม่
พอรับอารมณ์อยู่ชั่วขณะ มันก็ดับไป
ดับไปชั่วแวบเดียวแล้วก็เกิดจิตอีกดวงหนึ่งมา
เราจะเห็นว่าจิตไม่ได้มีดวงเดียวหรอก
จิตเกิดแล้วดับๆๆ ไป
วิปัสสนามันจะทำให้เราเห็นของไม่เที่ยงว่ามันไม่เที่ยง
อย่างพวกเราจะมีความเห็นผิดว่าจิตเราเที่ยง
จิตกี่ปีกี่ชาติก็อันเดิม
ชาตินี้ชาติหน้าก็อันเดิมนั่นล่ะ
ถ้าเห็นว่าจิตมีดวงเดียว จิตเป็นอันเดิม
ยังล้างสักกายทิฏฐิไม่ขาดหรอก
จิตยังเป็นตัวเราอยู่
แต่ถ้าภาวนาอย่างที่หลวงพ่อบอก ดูมันเกิดดับได้
เราจะรู้เลย มันไม่เที่ยง
ฉะนั้นตัววิปัสสนามันจะดับความเห็นผิด
ความเห็นผิดที่ว่าของไม่เที่ยงเห็นว่าเที่ยง
ของเป็นทุกข์เห็นว่าเป็นสุข
ของเป็นอนัตตาเห็นว่าเป็นอัตตา
อย่างดูจิตจะให้เห็นว่าจิตเป็นทุกข์ เรายังดูไม่ออก
เราจะเห็นจิตเป็นทุกข์ หมายถึงจิตต้องไปรวมเข้ากับความทุกข์
อันนี้ก็ถูกเหมือนกัน
เวลาจิตไหลเข้าไปรวมกับความทุกข์ มันก็ทุกข์
ถ้าภาวนาดีขึ้น จิตประณีตขึ้น
เราจะเห็นว่าจิตไหลเข้าไปจับอารมณ์อะไร
ไม่ว่าจิตไปจับอารมณ์อะไร
กระทั่งอารมณ์ที่มีความสุข มันก็มีความทุกข์เกิดขึ้น
ฉะนั้นตัวที่ว่าสุขๆๆ เอาเข้าจริงเป็นทุกข์
เป็นสิ่งที่แปลกปลอม
เป็นส่วนเกินที่ผ่านเข้ามาสู่ความรับรู้ของจิต
ถ้าเห็นอย่างนี้ได้ เรียกว่าสติปัญญาเราแหลมคมพอสมควรแล้ว
ทีแรกก็เห็นว่าจิตไปอยู่กับความทุกข์ มันถึงจะทุกข์
ต่อมาเห็นว่าจิตจับอารมณ์อะไรก็ทุกข์หมดเลย
ก็นึกคิดว่าถ้าไม่จับอะไรเลย มันคงไม่ทุกข์กระมัง
ถ้าภาวนาละเอียดประณีตสุดขีดขึ้นไป
จิตเราทรงอยู่กับตัวผู้รู้ แล้วพอจิตมันวาง มันจะวางได้
มันเห็นตัวผู้รู้นั่นล่ะคือตัวทุกข์
มันทุกข์โดยตัวของมันเอง
ทุกข์เพราะมันเป็นขันธ์
ไม่ใช่ทุกข์เพราะว่ามันเข้าไปยึดไปถืออารมณ์อะไรหรอก
มันทุกข์ เพราะมันเป็นทุกข์โดยตัวของมันเอง
นี่เรียกว่าเรารู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว มันจะวาง
ตัวนี้ดูยาก ถ้าไม่ได้ทรงฌานจริงๆ ดูไม่ได้
มันประณีตมาก สติจะแตก
มันทุกข์จริงๆ มันทุกข์เหมือนภูเขาทั้งลูกลงมาขยี้
ลงมาที่จิตดวงเดียวเลย
ถ้าเห็นว่าเป็นอนัตตาตัวนี้ดูง่าย
เห็นไหมจิตจะดีหรือจิตจะเลว
จิตจะสุขหรือจิตจะทุกข์
เลือกไม่ได้ สั่งไม่ได้ ห้ามไม่ได้
ควบคุมไม่ได้ รักษาไม่ได้
มีแต่เรื่องว่าเราทำอะไรกับมันไม่ได้ทั้งนั้นเลย
อย่างเราสั่งจิตให้มีความสุข สั่งไม่ได้
ห้ามจิตว่าอย่าทุกข์ ห้ามไม่ได้
สั่งจิตว่าจงดี มันไม่ยอมจะดี
สั่งจิตว่าอย่าชั่ว มันก็ชั่ว
ดูของจริงลงไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าเราบังคับมันไม่ได้
ควบคุมมันไม่ได้ นี้เรียกเห็นอนัตตา
ฉะนั้นการที่เรามีสติระลึกรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของรูป นาม กาย ใจเรื่อยๆ มันจะดับความเห็นผิดว่ารูป นาม กาย ใจนี้เป็นของเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา จะล้างความเห็นผิดไป นั้นคือหน้าที่ของวิปัสสนา ละความเห็นผิด
1
ดับกิเลสด้วยอริยมรรค
พอเราเจริญวิปัสสนามากๆ เราจะไปรู้จักนิโรธตัวที่สาม
นิโรธตัวที่หนึ่ง การทำสมถะแล้วก็ดับนิวรณ์
นิโรธตัวที่สอง การเจริญวิปัสสนาก็ดับความเห็นผิด
รู้จักไตรลักษณ์ขึ้นมา
เพราะฉะนั้นดูไปเรื่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตมีกำลังขึ้นมา เกิดอริยมรรคขึ้นมา
อริยมรรคทำขึ้นมาไม่ได้
มันเกิดเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญาของเราสมบูรณ์
สมบูรณ์ก็สมบูรณ์เป็นขั้นๆ ไป
พระโสดาบันก็มีศีลบริบูรณ์ มีสมาธิเล็กน้อย มีปัญญาเล็กน้อย
ฉะนั้นคำว่าเต็มบริบูรณ์แต่ละขั้นๆ มันไม่เท่ากัน
อริยมรรคมันขึ้นมาเพื่อดับอะไร มันก็ดับกิเลส
ตอนที่โสดาปัตติมรรคเกิด มันดับสังโยชน์ 3 ตัวแรกไป
สังโยชน์มี 10 ตัว ไปดู Google เอาเอง ขี้เกียจบรรยาย ยาว
ตัวหัวโจกเลยคือความเห็นผิดว่ามีตัวเรา
เพราะฉะนั้นที่เราเจริญวิปัสสนาเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามอันนั้น
ถึงจุดหนึ่งมันจะล้างความเห็นผิดว่ามีตัวเราได้
เห็นขันธ์ 5 เป็นเรา เห็นเราเป็นขันธ์ 5
เห็นเราในขันธ์ 5 เห็นเรานอกเหนือจากขันธ์ 5
จะไปเห็นอย่างนี้ ปุถุชนจะเห็นอย่างนั้น
ตอนที่โสดาปัตติมรรคเกิด ก็ล้างความเห็นผิดว่ามีตัวมีตน
พอล้างตัวนี้ปุ๊บ มันก็จะล้างความลังเลสงสัย
พระพุทธเจ้า แต่เดิมเราว่ามีจริงหรือไม่มีจริง
ธรรมะของท่านดีจริงหรือไม่ดีจริง
พาเราพ้นทุกข์ได้จริงไหม
พระสงฆ์ พระอริยะมีจริงหรือเปล่า
เดี๋ยวนี้ชอบแขวนป้าย ตั้งกันองค์นั้นเป็นพระอริยะ
องค์นี้เป็นพระอรหันต์ เพ้อเจ้อมากๆ เลย
เราภาวนาให้เรารู้เท่าทันจิตตัวเองให้ดีก่อน
เข้าถึงความบริสุทธิ์เป็นลำดับๆ ไป ก็จะรู้เลย
มันชอบตั้งกันมั่วๆ มั่วเอามากๆ เลย
ทำสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้อนุญาตไว้
ตั้งกันเป็นพระอริยะอะไรนี่
ฉะนั้นอย่ามาตั้งหลวงพ่อเป็นพระอริยะโน้นนี้ เราไม่มีสิทธิ์
คนที่มีสิทธิ์พยากรณ์ พระพุทธเจ้า กับพยากรณ์ตัวเองได้
วิญญูชนก็รู้ด้วยตัวเอง
ล้างสังโยชน์ได้กี่ตัวแล้ว
ถ้าล้างด้วยอริยมรรคจะล้างเด็ดขาด
ไม่กลับมาอีกแล้วกิเลสตัวนั้น
ตรงที่โสดาปัตติมรรคเกิด เรารู้เลย ตัวเราไม่มีหรอก
โอ้ พระพุทธเจ้าสอนจริงๆ สิ่งที่ท่านสอนจริง
พระพุทธเจ้าก็มีจริง พระธรรมก็มีจริง พระสงฆ์ก็มีจริง
คือผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
จนรู้แจ้งเห็นจริงตามพระพุทธเจ้า
เราก็จะรู้เลย พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์มีจริง
หมดความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย
แล้วเราก็รู้เลยว่าวิธีปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นทำอย่างไร
เราจะเลิกลูบๆ คลำๆ การปฏิบัติ
ทำอย่างนี้น่าจะดีๆ ปุถุชนจะรู้สึก ทำอย่างนี้น่าจะดีๆ
พอเป็นพระโสดาบันเรารู้เลย
นอกจากสมถะ วิปัสสนาแล้วไม่ใช่ทางๆ
นอกจากเรื่องสติปัฏฐาน
สติปัฏฐานทำให้เราได้ทั้งสมถะ ทั้งวิปัสสนา
นอกจากนี้แล้วมันก็ไม่มีทางอื่นหรอก
แล้วก็รู้ทาง ไม่ภาวนาแบบงมงาย
ทำอย่างโน้น ทำอย่างนี้
ละสังโยชน์ 3 ตัว
- สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่ามีตัวมีตน
- วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
- กับสีลัพพตปรามาส การถือศีลบำเพ็ญพรตอย่างงมงาย
ภาวนาต่อไปในที่สุด มรรคตัวที่สองคือสกิทาคามีมรรค มาละกิเลสอีก มาทำราคะ โทสะ โมหะเบาบางลงไปอีก
พอมรรคตัวที่สามเกิดขึ้น ก็ละสังโยชน์ได้อีก 2 ตัว ละกามและปฏิฆะได้
ตัวสุดท้ายจะละสังโยชน์อีก 5 ตัว อรหัตตมรรค
นี่หน้าที่ของมรรค มันดับ ดับกิเลสส่วนลึกลงไป แล้วดับแล้วดับเลย ไม่เหมือนการดับด้วยสมถะ หรือการดับด้วยการพิจารณาต่างๆ
มรรคถ้าละแล้วละเลย ไม่ต้องมาละซ้ำครั้งที่สองแล้ว นี่ก็เป็นตัวนิโรธ ตัวที่สาม
ตัวที่หนึ่งคือสมถะ ดับด้วยสมถะ
ตัวที่สองดับด้วยวิปัสสนา
ตัวที่สามดับด้วยมรรค
…
อันที่สี่เป็นตัวผล นิโรธตัวที่สี่คืออริยผล
อริยผลไม่มีการดับอะไรแล้ว มันดับที่ตัวมรรค
แต่มันดับ อันนี้ตรงที่ดับคือการไม่เกิดขึ้น
อย่างมันดับตัณหา เพราะตัณหามันไม่เกิดขึ้นแล้ว
ไม่ใช่ว่ามันมีขึ้นมาแล้วไปดับมัน
มันไม่มีงานอะไรต้องทำ
ในอริยผลแต่ละชั้นๆ พูดลงรายละเอียดเราก็ไม่เข้าใจ
แล้วนิโรธตัวที่ห้าจริงๆ คือนิพพาน
นิพพานจริงๆ แล้วไม่มีเกิด ไม่มีดับ
โดยตัวของนิพพานเอง
แต่จิตที่เราเข้าไปสัมผัส เข้าไปทรงพระนิพพาน มันดับ
มันดับความไม่รู้ ความไม่เข้าใจอริยสัจ
คือดับอวิชชา ดับตัณหา ดับอุปาทาน
ดับภพ ดับชาติ ดับทุกข์ไป
สิ่งเหล่านี้เดี๋ยวพวกเราก็เจอ
ตอนนี้เรียน 2 ตัวแรกให้แตกฉาน
อย่างถ้าเราภาวนาแล้วมันขี้เกียจ โดนนิวรณ์เล่นงานแล้ว
หรือราคะมันกระตุ้นรบเร้ารุนแรง โดนนิวรณ์เล่นงานแล้ว ทำสมถะๆ ฉะนั้นหลวงพ่อบอกพระหลวงพ่อที่ในวัด ทิ้งสมถะไม่ได้ อย่างไรก็ต้องทำ
อย่างถ้าราคะมันรุนแรงมาก พิจารณาปฏิกูล พิจารณาอสุภะ ถ้ายังสู้ไม่ไหว พิจารณาความตายเข้าไป ความตายเป็นกระบวนท่าไม้ตาย
ที่เราวุ่นวายเพราะเราไม่คิดว่าเราจะตาย ทุกวันนี้แย่งกันอย่างโน้นแย่งกันอย่างนี้ กัดกันอย่างกับหมา วุ่นวายไปทั่วโลก ประเทศโน้นประเทศนี้อะไรอย่างนี้ ถ้ารู้ทันมัน รู้ทันจิตใจ นิวรณ์ครอบงำใจไม่ได้ ใจก็สงบ
…
สู้นิวรณ์ให้ได้ก่อน มีสติรู้ทันเข้าไป
วิธีจัดการให้จิตสงบ มันทำได้หลายอย่าง อันหนึ่งทำฌานเข้าไปเลย พอจิตเข้าถึงปฐมฌาน นิวรณ์ดับหมด
ถ้าเราเข้าฌานไม่ได้ทำอย่างไร อันนี้เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าสอนเหมือนกัน อยู่ในสูตรที่สอง ถัดจากพรหมจริยสูตร ท่านสอนพระเจ้าอชาตศัตรู
อชาตศัตรูก็เหมือนพวกเราอย่างนี้ เป็นชาวโลกตัวจริง วันๆ มีแต่เรื่องวุ่นวาย พระพุทธเจ้าไม่ได้ไปบอกให้ท่านเข้าฌาน เข้าไม่ได้ อาศัยสติรู้นิวรณ์
อย่างใจของเราเกิดกามฉันทะนิวรณ์ ใจมันคำนึงไปถึงกาม คิดไปถึงความสุขความสบาย ความเพลิดเพลินทางโลกอะไรอย่างนี้ มีสติรู้ทันเข้าไปเลย มันก็จะดับ
หรือใจเราคิดอาฆาตพยาบาทอยากทำร้ายคนอื่น อยากทำร้ายสิ่งอื่น มีสติรู้เข้าไปเลย พยาบาทก็ดับ ใจเราฟุ้งซ่าน ใจเรารำคาญใจ มีสติรู้ทันความฟุ้งซ่าน ความรำคาญใจก็ดับ
ความรำคาญใจ ไม่ใช่แค่หงุดหงิดธรรมดา อย่างเราภาวนาแล้วเราก็รู้สึกเมื่อไรจะบรรลุสักทีหนอๆ ตัวนี้ล่ะ ตัวความรำคาญใจ เรียกว่ากุกกุจจะ
เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่แค่หงุดหงิดรำคาญ อันนั้นตื้นไป ตรงที่เรารู้สึก ทำไมมันไม่ดีอย่างที่คิดเสียที ใจมันมีกุกกุจจะ รำคาญใจ ไม่สบายใจ ไม่แช่มชื่นใจ
หรือใจเราเกิดสงสัยขึ้นมา เอ ภาวนา วันนี้จะภาวนาอย่างไรดีหนอ สงสัย
หรือนั่งภาวนาอยู่ จิตสว่างๆ แล้วอยู่ๆ ก็มืดมาอย่างนี้ มัวไปหมดแล้ว สงสัยจะทำอย่างไรดี อาศัยสติรู้เข้าไปตรงๆ เลย จิตสงสัย พอสติรู้ลงไป ความสงสัยมันจะดับเอง ที่มืดที่มัวที่ไม่รู้จะภาวนาท่าไหนต่อไป ดับหมดเลย อัตโนมัติเลย
หรือบางทีจิตเราท้อแท้หมดเรี่ยวหมดแรง มีถีนมิทธะ เซื่องซึมหมดเรี่ยวหมดแรง หดหู่อะไรอย่างนี้ รู้เข้าไปตรงๆ เลย อาศัยสติรู้เข้าไปตรงๆ มันก็ดับ
บางทีจิตหดหู่รู้แล้วทำไมไม่ดับ
จิตไม่เป็นกลางจริง ไม่ได้รู้เฉยๆ
แต่เกลียดมันด้วย อยากหายเห็นไหม
จิตมีตัณหาอยาก
ฉะนั้นเวลาจิตเราไม่ดี ดูอย่างไรก็ไม่หาย
ไปสังเกตให้ดีเถอะ เพราะจิตไม่เป็นกลาง
จิตมีโทสะแทรกอยู่ จิตกำลังมีกิเลส จิตไม่ได้มีสติ
ถ้ามีสติเมื่อไร กิเลสดับทันที
นิวรณ์เป็นกิเลสดับทันที ถ้ามีสติ
แต่ถ้าเราไม่มีสติ อย่างจิตเรามัวอย่างนี้ มืด งงไปหมด
ทำอย่างไรจะหาย ไม่ชอบมันเลย
แล้วไม่เห็นว่าไม่ชอบ
เรียกว่าเราพลาดจากปัจจุบันแล้ว
จิตที่มัวนั้นเป็นอดีตไปแล้ว
จิตปัจจุบัน คือ จิตที่ไม่ชอบว่ามันมัว ไม่เห็นตัวนี้
ดูให้มันตรงปัจจุบัน ปัจจุบันคือไม่ชอบ
ฉะนั้นหลวงพ่อถึงสรุปกรรมฐานไว้
วิปัสสนา มีสติ รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
เป็นกลางสำคัญมาก
อย่างจิตเราโกรธ ดูแล้วไม่หายโกรธ ทำไมไม่หายโกรธ
ก็เพราะตัวเองกำลังโกรธ จิตที่โกรธอยู่
จิตมีราคะ ดูแล้วทำไมไม่หาย หงุดหงิด
มันอยากหายแล้วมันไม่หาย โทสะมันก็ขึ้นมา
ไม่เห็นว่าจิตไม่ชอบ
ถ้ารู้ตรงๆ มันดับเอง
ฉะนั้นการดับนิวรณ์ ไม่ใช่ดับได้ด้วยฌานอย่างเดียว
เพราะพวกเราไม่มีฌาน
เราอาศัยสติรู้ทันนิวรณ์ นิวรณ์ก็ดับเหมือนกัน
จิตสงบได้เหมือนกัน
…
รู้ไตรลักษณ์แจ่มแจ้ง สุดท้ายจะแจ้งอริยสัจ
พอสงบชำนิชำนาญ ต่อไปการทำฌานก็จะไม่ใช่เรื่องยาก
ต้องการความสงบก็ดูจิตเข้าไปตรงๆ เลย มีความเป็นกลาง ไม่ได้ชอบอย่างนั้น ไม่ชอบอย่างนี้ เป็นกลางแล้วมันสงบทันทีเลย แล้วก็มาเดินวิปัสสนา มาล้างความเห็นผิดว่าเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา
ต่อไปก็เกิดอริยมรรค อริยผล เพราะรู้แจ้งอริยสัจ
เห็นไหมรู้อริยสัจ คือรู้ในอริยมรรค
เพราะชื่อมันก็บอกแล้วว่ามันเป็นสัจจะของพระอริยะ
ไม่ใช่ของปุถุชน
ส่วนการรู้ไตรลักษณ์ ปุถุชนก็รู้ได้ ค่อยๆ ฝึกไป
พอรู้ไตรลักษณ์แจ่มแจ้ง สุดท้ายมันจะแจ้งอริยสัจขึ้นมา ตอนที่เกิดอริยมรรค ครูบาอาจารย์องค์หนึ่งของหลวงพ่อ คือหลวงพ่อพุธ ท่านสอนดี ท่านบอก ท่านอธิบาย ตอนพระโกณฑัญญะได้โสดาบัน บอกมีศัพท์อยู่เซตหนึ่ง “จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ”
มีดวงตาเกิดขึ้นๆ คือมีญาณทัศนะ
เห็นสภาวธรรมทั้งหลาย เป็นตัวที่ไปเห็น
เรียกว่าได้ดวงตา ตัวที่เห็นสภาวะ
แล้วท่านก็อธิบาย ตัวญาณัง อุทะปาทิ ตัวที่สอง
คือหยั่งรู้สภาวะของมัน
หยั่งรู้รูปธรรมเกิดขึ้น รู้นามธรรมเกิดขึ้น
รู้ เห็น หยั่งรู้ ตัวญาณ ตัววิญญาณ ตัวความหยั่งรู้
ตัวที่สาม บอกว่าปัญญา อุทะปาทิ
ตัวนี้ท่านบอก เห็นไตรลักษณ์
วิชชา อุทะปาทิ
ท่านบอกว่าเห็นอริยสัจ
อาโลโก อุทะปาทิ แสงสว่างเกิดขึ้นเป็นกระบวนการ ตอนที่เกิดอริยมรรค อริยผล
ความสว่างเกิดขึ้น ไม่ใช่คำเปรียบเทียบ แต่เป็นคำบอกเล่าตรงๆ คนรุ่นหลังภาวนาไม่ถึงก็คิดว่าเป็นคำเปรียบเทียบ แสงสว่างคือขจัดความโง่ได้อะไรอย่างนี้ เทียบๆ เอา จริงๆ มันสว่างจริง มันไม่มีพระอาทิตย์ ไม่มีพระจันทร์อะไรหรอก สว่าง
ค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ฝึก ทีแรกก็สู้นิวรณ์ให้ได้ก่อน มีสติรู้ทันเข้าไป นิวรณ์อะไรเกิด รู้ทันด้วยจิตที่เป็นกลางไว้ก็จะผ่านได้ สมาธิก็จะเกิด
มีสมาธิแล้วก็ดู
สติระลึกรู้กาย ก็ดูความเป็นไตรลักษณ์ของกาย
สติระลึกรู้จิต ก็ดูความเป็นไตรลักษณ์ของจิตไป
สุดท้ายก็จะเข้าถึงมรรคถึงผล ถึงนิโรธตัวที่สาม ตัวที่สี่ ตัวที่ห้า ตัวที่ห้าคือนิพพาน ค่อยๆ ฝึกไป ไม่ยากหรอก ขอให้อดทนเท่านั้นล่ะ
ฉะนั้นมีสติคอยรู้ทันจิตใจของเราไว้
นิวรณ์ตัวไหนเกิดรู้ทันมันเข้าไป
นิวรณ์ดับสมาธิมันก็เกิด
พอมีสมาธิ คือสภาวะที่จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว
โดยไม่ได้เจตนาบังคับ
คราวนี้สติระลึกรู้กาย ก็จะเห็นกายมันของถูกรู้
เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
สติระลึกรู้ เวทนา มันก็เห็นเวทนาเป็นของถูกรู้
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
จิตต้องตั้งมั่นก่อน
ต้องมีสมาธิก่อนถึงจะเห็นไตรลักษณ์ได้
ตำราถึงสอน สัมมาสมาธิ เป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา
แต่มิจฉาสมาธิ ไม่เป็น
อย่างสมาธิโง่ๆ สมาธิเซื่องซึม
สมาธิเคลิบเคลิ้มอะไรอย่างนี้
ไม่ทำให้เกิดปัญญา
สมาธิชนิดที่จิตใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัวโดยไม่ได้เจตนา ไม่ได้บังคับนั่นล่ะ ถึงจะทำให้เกิดปัญญา
พอมันมีจิตใจที่ตั้งมั่นอย่างนี้แล้ว
ถ้าสติระลึกรู้อะไร มันจะเห็นอันนั้นเป็นของถูกรู้
เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไป
แล้วต่อไปมันก็ย้อนเข้ามา ระลึกรู้ตัวจิตเอง
ก็เห็นจิตเองก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
แล้วใครเป็นคนเห็นจิต
ก็จิตดวงใหม่ ไปรู้จิตดวงเก่าที่ดับไปสดๆ ร้อนๆ
จิตนั้นล่ะเป็นตัวรู้จิต
ทีแรกจิตเป็นตัวรู้กาย รู้เวทนา รู้สัญญา รู้สังขาร รู้วิญญาณ จิตที่เกิดดับทางอายตนะ ตรงที่จิต ใครไปรู้จิต
ก็จิตนั่นล่ะรู้จิต
แต่บอกแล้วว่าจิตมันเกิดดับๆ
จิตที่ดูรูป มันดวงหนึ่ง
จิตที่รู้ว่าเมื่อกี้ไปดูรูปเป็นอีกดวงหนึ่งแล้ว
มันเกิดดับอย่างนี้
ฉะนั้นจิตมันก็ตามรู้ตัวมันเองได้ มันก็ไม่ใช่ตัวมันหรอก
มันก็จิตดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน
ฝึกไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็จะเข้าใจ
หลวงพ่อให้ภาพรวมๆ ไว้
พวกเรามาเรียนพร้อมๆ กันทีหนึ่งจำนวนมาก
หลวงพ่อแจกแจงให้ฟังทีละคนไม่ได้ เลยให้ภาพรวมไว้
ใครภาวนามาถึงจุดไหนก็มีแผนที่ที่จะเดินต่อไป
ค่อยๆ ฝึก ทำไป. …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
3 เมษายน 2565
https://www.dhamma.com/nirodha-5/
เยี่ยมชม
dhamma.com
นิโรธ 5
ความดับทุกข์เขาเรียกตัวนิโรธมี 5 ระดับ เป็นความดับด้วยสมถกรรมฐาน ดับด้วยวิปัสสนากรรมฐาน ดับด้วยอริยมรรค ดับด้วยอริยผล แล้วก็นิพพาน
Photo by : Unsplash
7 บันทึก
13
2
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
7
13
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย