Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
21 เม.ย. 2022 เวลา 01:22 • ไลฟ์สไตล์
“ฝึกไปเรื่อย ๆ จนเห็นความจริงของกายของใจ
เห็นได้ก็วาง วางได้ก็ไม่ทุกข์”
“ … ทุกวันควรจะแบ่งเวลาไว้ทำสมถะ
วิธีทำสมถะเยอะแยะ สมถะทำไปเพื่อให้จิตมีกำลัง
ใช้อารมณ์กรรมฐานอะไรก็ได้ที่เราถนัด
ใช้อารมณ์บัญญัติก็ได้
เช่น เราบริกรรมพุทโธ ธัมโม สังโฆ
นะมะพะทะ
สัมมาอรหัง พุทธัง สรณัง คัจฉามิ อะไรก็ได้
เอาที่ใจเราชอบแล้วก็บริกรรมไปเรื่อยๆ
จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว คือการบริกรรม จิตก็สงบ
หรือไม่ชอบอย่างนี้ก็ดูอย่างอื่นแทน
คิดถึงทาน คิดถึงศีล คิดเจริญเมตตา จิตก็สงบ
หรือกำหนดลมหายใจ หายใจเข้ารู้สึก หายใจออกรู้สึก
อย่างนี้จิตก็สงบลงไป
แต่ละคนก็มีเครื่องอยู่ของเรา ทางใครทางมัน
ก็ดูตัวเราเองว่าเราอยู่กับอารมณ์ชนิดไหน
แล้วจิตมันได้พักผ่อนก็อยู่กับอันนั้น
ถ้าเราภาวนาไปมากพอ ก็มีเครื่องอยู่อีกชนิดหนึ่ง
เวลาเราต้องการพัก เรารู้ลงไปที่พฤติกรรมของจิตเลย
จิตหมดพฤติกรรม จิตก็หมดความปรุงแต่ง
หมดความคิดนึก ว่าง จิตอยู่กับความว่าง
ไม่คิดไม่นึก ไม่ใช่ว่างที่แต่งขึ้น
แต่มันว่างที่จิตมันหมดความปรุงแต่งของมันเอง
2
มีพระไปถามหลวงปู่ดูลย์บอกว่า “หลวงปู่ดูลย์มีเครื่องอยู่อะไร”
ท่านบอกท่าน “อยู่กับรู้”
องค์นั้นท่านก็ถามว่า “แล้วรู้เป็นอย่างไร” ที่หลวงปู่ดูลย์ไปอยู่กับรู้
ท่านบอกว่า “ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดความปรุงแต่ง
หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต
ไม่มีอะไรเลย ไม่เหลืออะไรสักอย่าง”
นั่นล่ะว่าง เป็นธาตุรู้
อันนั้นเครื่องอยู่ของบางท่าน เรายังทำไม่ถึงทำไม่ได้
เพราะเราไม่มีธาตุรู้ให้เห็น
ธาตุรู้ของเรามีไหม มี
แต่ตอนนี้มันถูกธาตุหลงบังเอาไว้
มันถูกอวิชชาบังเอาไว้
ก็ค่อยๆ ภาวนา
ค่อยๆ ลอกเปลือกความโง่ของเราออกไปเรื่อยๆ
ความหลงผิดว่ากายนี้ใจนี้คือตัวเรา
ตัวเรามีอยู่จริงๆ นี่ความหลงผิดขั้นพื้นฐาน
ต่อไปภาวนาก็ละความหลงผิดที่ประณีตขึ้นไป
จะเห็นกายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษหรอก
กายนี้คือตัวทุกข์
แล้วต่อไปก็มีปัญญาขั้นสูงขึ้นไป
ละความเห็นผิดขั้นสูง จิตนี้ล่ะคือตัวทุกข์ก็วาง
ปล่อยวางจิต
ลีลาของการเจริญปัญญาค่อยๆ ดูไป
ขั้นต้นนี้พวกเราภาวนาไปเรื่อย
ดูสิ ตัวเรามันอยู่ที่ไหน
ตัวเราอยู่ในกายหรือ
หรืออยู่ในความรู้สึกสุขทุกข์
อยู่ในความจำได้หมายรู้
หรืออยู่ในความคิดนึกปรุงแต่ง
หรืออยู่ในจิต
สังเกตไปเรื่อยดูไปเรื่อยๆ
ในกาย ในรูป มันก็ไม่ใช่เรา
ในเวทนาความสุขทุกข์ มันก็ไม่ใช่เรา
ในสัญญาความจำได้ความหมายรู้
ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ไม่ใช่เรา
ความปรุงดี ปรุงชั่ว
ความโลภ โกรธ หลง มันก็ไม่ใช่ตัวเรา
ดูไปเรื่อย แล้วจิตเราเป็นเราไหม
จิตเองก็ไม่ใช่เรา เพราะจิตนี้เกิดดับอยู่ตลอดเวลา
เกิดที่ตาดับที่ตา เกิดที่หูดับที่หู
เกิดที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย แล้วก็ดับลงที่ เกิดตรงไหนก็ดับที่นั้น
จิตเกิดที่ใจก็ดับที่ใจ
มีแต่ของเกิดดับ ไม่เห็นมีตัวมีตนเลย
ภาวนาเรื่อยๆ จะรู้ว่าตัวตนไม่มีหรอกในขันธ์ 5 นี้
ตัวตนมันเป็นมายาที่จิตโง่เขลาสร้างขึ้นมา
จากการหมายรู้ผิด จากการคิดผิด
จนกระทั่งเกิดหลงเชื่อผิดว่ามีเรา
ฉะนั้นจะล้างตัวนี้ได้ก็หัดหมายรู้ให้ถูกเสีย
หมายรู้ให้ถูก
หมายรู้ถูก หมายรู้อย่างไร
ก็หมายรู้ว่ากายนี้ใจนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
นั่นล่ะหมายรู้ถูก
ให้มันหมายรู้ถูกไปเรื่อยๆ คอยรู้สึกๆ ไปเรื่อย
ดูกายก็ไม่ใช่ดูแต่กาย
ให้หมายรู้กายลงไปว่ามันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
การหมายรู้มันไม่ใช่คิด
แต่มันอธิบายภาษามนุษย์นี่ยากมากเลย
ฉะนั้นเบื้องต้นจะคิดไปก่อนก็ได้
แล้วต่อไปจิตมันหมายรู้ได้เองโดยไม่ต้องคิด
อย่างครูบาอาจารย์ทางวัดป่าท่านทำสมาธิ หายใจบ้าง พุทโธบ้าง จิตรวมลงไปแล้ว พอจิตถอยออกมาดูกาย
ท่านคิดว่าร่างกายนี้ไม่สวย ไม่งาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นี้คือการหัดหมายรู้ถูก ทีแรกมันคิดอยู่มันยังไม่ใช่หมายรู้ มันเป็นการคิด
พอมันคุ้นชินที่จะคิดถึงกาย ในเชิงของไตรลักษณ์
ต่อไปมันจะหมายรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของกาย โดยไม่ได้เจตนา
พอหมายรู้ถูกต่อไป จิตเวลาคิดมันก็คิดถูก
แล้วต่อไปมันก็เห็นถูก
มีความเห็นถูกมันก็ล้างความเห็นผิด
ละสักกายทิฏฐิได้
ฝึกนะค่อยๆ ฝึกไป เครื่องมือมีหลายตัว
ระลึกรู้กายรู้ใจด้วยสติ
จิตมีสมาธิก็มีความตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู
พอระลึกรู้ สติระลึกรู้กายจิตตั้งมั่นเป็นคนรู้
แล้วไม่หยุดเฉยอยู่ตรงนี้
ถ้าหยุดเฉยอยู่ตรงนี้เป็นสมถะ
ถ้าจิตมันหมายรู้ลงไปอีก
กายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เห็นมุมใดมุมหนึ่ง ไม่ใช่ต้องดูทั้ง 3 มุม
เห็นมุมใดมุมหนึ่งก็ใช้ได้แล้ว
พอหมายรู้ถูกมันก็เริ่มเจริญปัญญาได้แล้ว
เพราะฉะนั้นการเจริญปัญญานั้นทิ้งสัญญาไม่ได้
บางท่านชอบสอนว่าสัญญากับปัญญาเป็นศัตรูกัน
สัญญาเป็นตัวหลอกให้หลง ปัญญาเป็นตัวรู้จริง
ที่จริงแล้วสัญญามี 2 ค่าย
สัญญาวิปลาส ที่พวกเรามีมันสัญญาวิปลาส
เห็นของไม่สวยไม่งามว่าสวยว่างาม
เห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง
เห็นของเป็นทุกข์ว่าเป็นสุข
เห็นของไม่ใช่ตัวเราว่าเป็นตัวเรา
อันนี้เป็นสัญญาวิปลาส
แต่เวลาเราเจริญวิปัสสนา เจริญปัญญา
เราต้องมีสัญญาที่ถูก
คือการหมายรู้เป็นอนิจจสัญญา
หมายรู้ความเป็นอนิจจัง
ทุกขสัญญา
หมายรู้ทุกข์คือความบีบคั้นให้แตกสลาย
หมายรู้อนัตตสัญญา ความเป็นอนัตตา
หมายรู้อันใดอันหนึ่งก็ได้
อย่างทีแรกคิดเอาพิจารณาเอา
ต่อไปจิตมันคล่องตัวแล้วมันไปหมายรู้โดยไม่เจตนา
ฉะนั้นตรงที่คิดเอา มันตรึกเอา มันวิตกเอา
ตรงที่สัญญามันเกิดแล้วมันทำงานถูกต้องขึ้นมา
มันเป็นการหมายรู้เป็นสัญญาที่ถูก
เพราะฉะนั้นสัญญาไม่ใช่ศัตรูของการเจริญปัญญา
สัญญาที่เป็นศัตรูของการเจริญปัญญา
คือสัญญาวิปลาส 4 ข้อนั้น
- เห็นของไม่สวยไม่งามว่าสวยว่างาม
- เห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง
- เห็นของเป็นทุกข์ว่าเป็นสุข
- เห็นของไม่ใช่เราว่าเป็นเราอย่างนี้ รู้สึกเป็นเราๆ
อันนี้สัญญาวิปลาส
แต่เวลาเจริญวิปัสสนาจิตต้องหมายรู้ไตรลักษณ์
ถ้าหากไม่มีสัญญา ที่ใดไม่มีสัญญาที่นั้นเจริญวิปัสสนาไม่ได้
ในโลกของพรหมลูกฟัก ไม่มีจิต
เพราะฉะนั้นไม่มีเจตสิก ก็ไม่มีสัญญาด้วย
ฉะนั้นพรหมลูกฟักให้นั่งอยู่อย่างนั้นล่ะตั้งหมื่นกัป
ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ไม่ได้ปัญญาขึ้นมา
พระสารีบุตรท่านเคยสอนบอกว่า ในเนวสัญญานาสัญญายตนะ ในอรูปฌานที่ 4 หรือในฌานที่ 8 เรียกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ มันเหลือสัญญาอยู่นิดเดียว ท่านบอกว่า ตรงนี้ยังสามารถทำวิปัสสนาได้
แต่ถ้าเลยจากตรงนี้ไป ไม่มีสัญญาเมื่อไรตรงนั้นทำวิปัสสนาไม่ได้ ท่านถึงสอนบอก “ถ้าเป็นสัญญาสมาบัติ ถึงจะทำวิปัสสนาได้” ถ้าไม่มีสัญญาทำวิปัสสนาไม่ได้จริง เพราะฉะนั้นแยกให้ออก สัญญาไม่ใช่ศัตรูของปัญญา คนละเรื่องเลย ต้องหมายรู้ให้ถูก
ฉะนั้นเวลาสติเราระลึกรู้กาย
เราเห็นกายมันของถูกรู้ จิตมันตั้งมั่นเป็นคนรู้
ค่อยดูลงไปเรื่อยๆ ค่อยๆ สังเกต
ร่างกายที่มันถูกรู้ถูกดูมันเป็นแค่วัตถุ เป็นก้อนธาตุ
เป็นของที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
เป็นของที่ทนอยู่ในภาวะอันใดอันหนึ่งไม่ได้
ค่อยรู้สึกๆ ลงไปแล้วต่อไปจิตมันรู้สึกเอง
พอสติระลึกรู้กายปั๊บจิตตั้งมั่นอยู่ มันระลึกได้เอง
ร่างกายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
พอสติระลึกรู้จิต จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูอยู่
สติระลึกรู้จิตมันก็จะเห็นตัวจิตเอง
ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เกิดดับอยู่ตลอดเวลา บังคับไม่ได้
สั่งอะไรมันไม่ได้ เรียกว่าเราเจริญปัญญาแล้ว
พอเราเห็นความจริงของกายจิตมันจะวางกาย
ความจริงของกายก็คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ย่อๆ ลงมาก็คือมันทุกข์นั่นล่ะ
จะเห็นเลยในกายนี้นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป จะเห็น
พอเห็นแจ้งตรงนี้จิตจะปล่อยวางกายแล้ว ไม่ยึดกาย
ไม่ยึดกายก็คือไม่ยึดตา หู จมูก ลิ้น กาย
เพราะไม่ยึดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
เมื่อไม่ยึดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
กามราคะและปฏิฆะ ความไม่ชอบใจ
ความชอบ ความไม่ชอบในกามคุณอารมณ์ก็ไม่เกิด
เพราะฉะนั้นการละกามและปฏิฆะของพระอนาคามี
ละเพราะมันไม่เกิด
ที่มันไม่เกิดเพราะท่านฉลาดรู้ความจริงของรูปของกาย
พอภาวนาเรื่อยๆ ไป
เห็นความจริงของจิตขั้นสุดท้าย
มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ก็วาง วางลงไป
ตรงจิตนี่เห็นไม่เที่ยงง่าย มันเกิดดับตลอดเวลา
เห็นอนัตตาก็ไม่ยากหรอก เพราะว่าเราบังคับมันไม่ได้
แต่เห็นทุกขังนี่ยาก ต้องทรงสมาธิทรงฌานได้จริงๆ ถึงจะเห็น
เพราะจิตที่มันทรงฌานอยู่มันเต็มไปด้วยความสุข
พอสติปัญญามันพอ มันไหวตัวทีเดียวจากจิตที่เป็นบรมสุข
มันกลายเป็นจิตบรมทุกข์ขึ้นมาเลย
ไม่มีอะไรทุกข์เท่าตัวจิตแล้ว
รากเหง้าของตัวทุกข์มันอยู่ที่จิตนี้เอง
แต่เราไปเห็นว่ามันเป็นตัวดี ก็เลยยึดเอาไว้
พอเห็นความจริงว่ามันเป็นตัวทุกข์มันก็วาง
เห็นทุกข์ถึงจะปล่อยวางได้
เห็นทุกข์ถึงละสมุทัย ละความอยาก ละความยึดได้
ไม่เห็นทุกข์ก็ละวางไม่ได้ มันยังยึดอยู่ ค่อยดูไป
…
สรุปที่สอนวันนี้ก็คือถือศีล 5 ไว้ ทุกวันทำในรูปแบบ
ทำกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แล้วก็รู้ทันจิตตัวเองไป
จิตต้องการพักก็ไม่ฝืนมัน ให้มันพักไป
แต่ถ้ามันพักพอแล้วมันขี้เกียจเจริญปัญญา
ต้องไล่ต้อนมันออกไปเจริญปัญญา
อย่าให้ติดอยู่ในสมาธิ
แต่ถ้าจิตมันเคยเจริญปัญญาแล้ว
มันไม่ยอมพักก็ต้องบังคับมัน
ถึงเวลาหยุดการเจริญปัญญา
ทำความสงบกลับเข้ามา
ถ้าเราไม่ทำจิตมันจะทำของมันเอง
ตรงนั้นมันทำดีก็มี ทำไม่ดีก็มี
มันเครียดจัดๆ มันเป็นพรหมลูกฟัก
เป็นมิจฉาทิฏฐิไปเลยก็มี
ฉะนั้นเราแบ่งเวลาทุกวันทำในรูปแบบ
จะหายใจเข้าพุท หายใจออกโธอะไรก็ทำไปเถอะ
ให้ใจมันได้พักผ่อนบ้าง
อันแรกก็ถือศีล 5
อันที่สองทำในรูปแบบให้จิตใจได้พักผ่อน ฝึกตัวเองไป
อันที่สามคือการเจริญสติในชีวิตประจำวัน
พอใจมีกำลังแล้ว ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์มีสติไว้
เกิดความเปลี่ยนแปลงในจิต รู้
เกิดความเปลี่ยนแปลงในกาย รู้
รู้ไปเรื่อยๆ เห็นกายไป เห็นจิตไป
ว่ามันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
แล้วจะเห็นไตรลักษณ์ของกาย
เห็นไตรลักษณ์ของจิต
เพราะฉะนั้นการปฏิบัติทำให้ครบ 3 อย่างนี้
ศีล 5 ต้องรักษา
ตั้งใจงดเว้นการทำบาปอกุศลทางกาย วาจา 5 อย่าง
สมาธิต้องฝึกทำในรูปแบบทุกวัน แบ่งเวลาไว้เลย
จะเดินจงกรมก็เห็นกายมันเดินใจเป็นคนดูไป
ไม่คิดเรื่องอื่นแล้ว ไม่สนใจว่ามันจะเป็นไตรลักษณ์ไม่เป็น
อย่างนี้จิตมันได้พัก
เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน
ตาเห็นรูปความเปลี่ยนแปลงเกิดที่จิต รู้ทัน
ถ้ารู้ไม่ทันที่จิต ตาเห็นรูป ความเปลี่ยนแปลงเกิดที่กาย รู้ทัน
อย่างเห็นหมาบ้าวิ่งมาใจมันกลัว รู้ว่ากลัวอย่างนี้ได้
หรือนึกถึงผี เดินในที่มืดๆ นึกถึงผี แหม ตัวสั่นขึ้นมา
ดูจิตไม่เป็นว่าจิตกลัว แต่เห็นเหงื่อตกเลย กลัว
รู้สึกร่างกายมันเปลี่ยนแปลงแปลงแล้ว
ฉะนั้นเจริญสติในชีวิตประจำวัน
ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลงในกาย รู้สึก
มีอะไรเปลี่ยนแปลงในจิตใจ รู้สึก
ค่อยฝึกไปเรื่อยๆ เดี๋ยววันหนึ่งเราก็จะเห็นความจริงของกายของใจ
เห็นได้ก็วาง วางได้ก็ไม่ทุกข์
มันทุกข์เพราะเราไปยึดถือเอาไว้
พอวางได้มันก็ไม่มีที่ตั้งของความทุกข์
ท่านใช้คำว่า ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น
พอเราไม่ยึดมั่น มันไม่เป็นที่ตั้งของความยึดมั่นแล้ว
ขันธ์เป็นทุกข์ไหม ก็ทุกข์
แต่ทุกข์ของขันธ์ไม่เกี่ยวกับเรา
จิตมันพ้นทุกข์แต่ขันธ์มันทุกข์ คนละเรื่องกัน
ค่อยฝึกเดี๋ยววันหนึ่งก็จะเจออย่างที่หลวงพ่อเล่าให้ฟัง
หลวงพ่อก็ไม่ได้เก่งอะไรหรอก
แต่หลวงพ่ออดทน คอยรู้คอยดูไป
แล้วก็อ่อนน้อมกับครูบาอาจารย์
ครูบาอาจารย์สอน ทำ
เวลาครูบาอาจารย์บอกให้ทำอะไร
หลวงพ่อทำทันทีเลย ไม่ลังเล
ทำมาเรื่อยๆ
เรียนกับท่านพ่อลี ท่านให้ทำอานาปานสติ
ทำอยู่อย่างนั้น 22 ปีไม่เลิก
เจอหลวงปู่ดูลย์ท่านให้ดูจิต
ดูทุกวันไม่เลิก ดูไปเรื่อยๆ. …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
2 เมษายน 2565
https://www.dhamma.com/3-daily-practices/
เยี่ยมชม
dhamma.com
การปฏิบัติ 3 อย่างที่ต้องทำทุกวัน
ทำให้ครบ 3 อย่างนี้ ศีล 5 ต้องรักษา สมาธิต้องฝึกทำในรูปแบบทุกวัน แบ่งเวลาไว้เลย ให้จิตใจได้พักผ่อน เวลาที่เหลือเจริญสติในชีวิตประจำวัน
Photo by : Unsplash
8 บันทึก
11
3
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
8
11
3
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย