Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
23 เม.ย. 2022 เวลา 02:57 • ปรัชญา
“ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น
… จะไม่ยึดได้จริง จะปล่อยได้จริงก็ต่อเมื่อเห็นทุกข์”
1
เคยมีผู้ถามพระพุทธเจ้าว่า ถ้าจะย่อคำสอนของท่านให้สั้นที่สุดจะพูดว่าอย่างไร
ท่านก็พูดประโยคเดียว คำสอนของท่านทั้งหมด จุดสำคัญ หัวใจของธรรมะทั้งหมด
บอก “ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น”
1
พูดง่ายมันทำยาก เพราะเรามันชอบยึด ถ้าไม่ยึดอะไรเลยก็กลัวจะตกลงไปในความว่าง เวิ้งว้าง รู้สึกเหมือนตกเหว ต้องเกาะต้องยึดอะไรไว้ตลอดเวลา
คำว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวง” เป็นคำที่กว้างที่สุดแล้ว ครอบคลุมตั้งแต่โลกียธรรม
รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย กุศลอกุศลทั้งหลาย
หรือธรรมะที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล
ตั้งแต่ส่วนธรรมดาๆ จนถึงโลกุตตรธรรม
มรรคผล นิพพาน ไม่ได้เอาไว้ถือมั่น
ไม่ได้เอาไว้ยึดมั่น
เรายึดเมื่อไรเราก็ทุกข์เมื่อนั้น
ที่หลวงพ่อบอกว่ามันพูดง่าย ใครๆ ก็พูดได้ว่าไม่ยึดๆ
แล้วทำอย่างไรมันจะไม่ยึดได้จริง
จิตมันจะปล่อยได้ต่อเมื่อมันเห็นทุกข์
อย่างมันเห็นความจริงของกาย ของรูป
ความจริงคือมันทุกข์ พอเห็นความจริงก็วาง
หรือเห็นเวทนาความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉยๆ มันก็คือทุกข์
เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วก็เสียดแทงจิตใจ
ให้เสียความเป็นปกติ
อย่างความสุขเกิดขึ้น ใจก็หวือหวาดีอกดีใจ
ความทุกข์เกิดขึ้นใจก็เศร้าหมอง
มันเสียดแทงใจของเราให้กระเพื่อมขึ้นกระเพื่อมลง
ถ้าเราไม่ยึดในเวทนาได้ จิตมันก็ไม่กระเพื่อมเพราะเวทนา
จะไม่ยึดเวทนาได้ต้องเห็นทุกข์
ความสุขก็เป็นทุกข์อันหนึ่ง
มันเป็นของเสียดแทงจิตใจ
ทำให้จิตใจเราเสียสมดุล
ความทุกข์ดูง่ายอยู่แล้วว่ามันทุกข์
กุศล อกุศลทั้งหลาย
ความปรุงแต่งทั้งดีและชั่วมันก็เป็นทุกข์
ถ้าเราเห็นว่ามันเป็นทุกข์มันจะวาง
ถ้าไม่เห็นมันไม่วางหรอก
อย่างอกุศล โลภ โกรธ หลงเกิด ดูง่ายว่าทุกข์
เวลาใจมันโลภ ใจมันก็ดิ้นรนวุ่นวาย
เวลามันโกรธใจมันก็ดิ้นรนวุ่นวาย
เวลาใจมันหลงใจยิ่งฟุ้งซ่านเตลิดเปิดเปิงไปเลย
ไม่รู้ผิดชอบชั่วดีไปเลย
อันนี้ดูง่าย ฝ่ายชั่ว
ถ้าเราเห็นว่าเวลามันโลภมันก็ทุกข์
เวลามันโกรธมันก็ทุกข์ เวลามันหลงมันก็ทุกข์
ใจมันก็คลายออก
แล้วความปรุงดีมันทุกข์อย่างไร ดูยาก
ความปรุงดีเราก็รู้สึกดี
ศีลมันดีไหม ดี สมาธิดีไหม ดี ปัญญาดีไหม ดี
ความปรุงแต่งทั้งหลาย
ศรัทธาแบบมีเหตุมีผลดีไหม ก็ดี
วิริยะดีไหม ก็ดี
ความพากเพียร สติดีไหม ก็ดี
ของดีๆ ทั้งนั้นเลย
วางของไม่ดีวางง่าย แต่วางของดีวางยาก
เรามีศีลเพื่อเป็นเครื่องมือ
เป็นบาทเป็นฐานเพื่อให้เข้าถึงสมาธิที่มั่นคงแข็งแรง
เรามีสมาธิที่มั่นคงแข็งแรงเพื่อเอาไว้เจริญปัญญา
ฉะนั้นเราไม่ได้ไปยึดตัวศีล ไม่ได้ยึดตัวสมาธิ
ไม่ได้ยึดกระทั่งตัวปัญญา
ถ้าเราภาวนาแล้วเราก็ยึดตัวปัญญา
ใจก็ฟุ้งซ่านไม่มีความสงบสุขหรอก
แต่เราต้องมีศีล มีสมาธิ มีปัญญา
เพื่อให้เกิดมรรคผล เพื่อให้เกิดอริยมรรค อริยผล
ถ้าศีล สมาธิ ปัญญาเราสมบูรณ์
มรรคผลนั้นก็เกิดขึ้น ”เอง”
ภาระ
เพราะฉะนั้นตัวศีล สมาธิ ปัญญาไม่ใช่เป้าหมาย
ความปรุงดียังไม่ใช่เป็นจุดสิ้นสุดของการปฏิบัติ
ปรุงดีเพื่อจะส่งทอดจิตใจขึ้นไป
พ้นจากความปรุงแต่งขึ้นไปโลกุตตรธรรม
เราจะดูอย่างไรตัวดีๆ จะเห็นว่าตัวดีๆ มันทุกข์
ก็ภาวนาเรื่อยๆ สังเกตไป
อย่างจิตเราอยากฟังธรรมมันทุกข์ไหม
จิตมันอยากทำบุญใส่บาตร ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า
อยากทำสังคมสงเคราะห์ มันทุกข์หรือเปล่า ดู
ภาระมันเกิดขึ้น ทุกข์หยาบๆ เราก็เห็นว่าเป็นทุกข์
ทุกข์ละเอียดก็เห็นว่ามันเป็นภาระเท่านั้น
แค่มันเป็นภาระของจิตมันก็ทุกข์แล้ว
จิตมันเสียสมดุล เสียความเป็นปกติของมัน
ค่อยเฝ้ารู้เฝ้าดูมันจะเห็น รู้ความจริงของกาย
กายนี้เป็นตัวทุกข์จิตมันก็วาง
มันรู้ว่าทุกข์ มันจะไปถือไว้ทำไม
มันเห็นเวทนา เวทนาทั้งดีทั้งชั่ว สุข ทุกข์
มีความสุขก็ว่าดี เวลามีความทุกข์ก็ว่าไม่ดี
จะสุขหรือจะทุกข์มันก็ทุกข์ทั้งหมด
แต่ทุกข์คนละแบบ
ความทุกข์ ตัวทุกข์ตรงๆ ความทุกข์ ความรู้สึกทุกข์
มันเป็นทุกข์ที่เร่าร้อน
ความสุขมันเป็นทุกข์ที่ประณีต รู้สึกเย็นสบาย
คือจริงๆ ภาวนาแล้วจะรู้เลยมันเป็นภาระ
อกุศลก็เป็นทุกข์เพราะว่ามันเร่าร้อน มันร้อนมาก
ท่านบอก “ราคะเป็นไฟ โทสะเป็นไฟ โมหะเป็นไฟ เป็นตัวทุกข์”
แต่ตอนที่เป็นกุศลดูว่าอย่างไรว่าเป็นทุกข์
ไม่โลภ จิตมีความไม่โลภมันทุกข์อย่างไร
จิตมันไม่โกรธมีความเมตตากรุณา มันทุกข์อย่างไร
เวลาจิตมีความเมตตามันทุกข์ไหม ดูยาก
ต้องค่อยๆ สังเกตไป ทำความรู้จักจิตที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งก่อน
มันจะเข้าไปดูจิตที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งคือจิตเดิม
จิตเดิมพระพุทธเจ้าท่านบอก “จิตเดิมนั้นมันประภัสสร มันผ่องใส แต่มันเศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา”
อะไรจรมา ?
จริงๆ อะไรจรมาก็เศร้าหมอง
กุศลจรมาก็ยังมีภาระของจิต
เป็นคนดีก็ทุกข์อย่างคนดี เป็นคนชั่วมันก็ทุกข์มาก
เป็นคนดีก็ทุกข์ประณีต
ตัวจิตเองเฝ้ารู้เฝ้าดูลงที่ตัวจิต
จะปล่อยวางจิตตัวนี้ยากที่สุด
เพราะตัวจิตมันว่าง โดยตัวมันเองมันว่างๆ ไม่มีอะไร
มันปนเปื้อนกับความสุขความทุกข์
ปนเปื้อนกับกุศล อกุศล
พอสิ่งปนเปื้อนมันหลุดออกไปแล้ว
มันก็รู้สึกตัวจิตนี้ แหม มันดี มันสะอาด มันผ่องใส มันสงบ
มันดีอย่างโน้น มันดีอย่างนี้
เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไปอีกก็เห็นว่ามันทุกข์อีก
ตัวจิตเองมันทุกข์เพราะมันทนอยู่ไม่ได้
มันถูกบีบคั้นให้แตกสลายอยู่ตลอดเวลา
จิตที่ไปดูรูปมันก็อยู่ชั่วคราวแล้วมันก็ดับ
จิตที่ไปฟังเสียงอยู่ได้ชั่วคราวแล้วก็ดับ
จิตที่ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย
อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ
จิตที่ไปรู้ธรรมารมณ์ทางใจ อยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ
เพราะฉะนั้นมันไม่มีจิตอะไรที่ดีวิเศษเป็นอมตะ
ที่เราจะฝากเป็นฝากตายพึ่งพาอาศัยได้
จิตทุกอย่างเกิดแล้วดับ
อย่าว่าแต่จิตในโลกียะเลย จิตในโลกุตระ
มรรคจิต เกิดแล้วก็ดับ ผลจิตเกิดแล้วก็ดับ
ฉะนั้นเราก็ไม่ได้เอามรรคผลมาเป็นจุดหมายปลายทาง
ภาวนาไปจนถึงจุดหนึ่งมันวางขันธ์ทั้งหมด
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ที่วางได้เพราะมันเห็นทุกข์
พอวางแล้วมันจะเจอความสงบสุข
เจอพระนิพพาน
นิพพานเป็นความสงบคือความสันติ
จิตใจของเราไม่เคยสงบ ไม่เคยสันติเลย
แกว่งขึ้นแกว่งลงตลอดเวลา
เพราะสุขบ้าง เพราะทุกข์บ้าง
เพราะรูปบ้าง เพราะกลิ่นบ้าง เพราะเสียงบ้าง
แกว่งไปแกว่งมา เพราะกุศลบ้าง เพราะอกุศลบ้าง
เฝ้าดูไปเรื่อยๆ
เข้าใจทุกข์ขึ้นมาเมื่อไรก็วาง
เห็นทุกข์จึงจะวางได้
เมื่อปลายปี 2526 นานแล้ว หลวงพ่อเคยไปกราบหลวงปู่เทสก์ครั้งแรกเลย ไปกับน้องชายคนหนึ่งเขาไปถามหลวงปู่ บอก “หลวงปู่ครับ ผมอยากละกาม แต่ว่าใจมันยังอาลัยอาวรณ์ในกามอยู่” ไปบอกท่านอย่างนี้
ท่านอุทานออกมาเลย “อ้าว อาลัยอาวรณ์มันก็ละไม่ได้สิ”
แล้วท่านก็เฉลยให้ฟัง มันต้องเห็นโทษของมัน คือเห็นทุกข์นั่นล่ะ เราจะวางกามได้ ต้องเห็นกามมันนำทุกข์มาให้ จิตมันก็วาง
ความขัดใจ ความโกรธเคือง ความไม่พอใจ ความเหี่ยวแห้งใจ ความเซ็ง ถ้าเราเห็นมันนำความทุกข์มาให้ มันก็วาง
ฉะนั้นเราจะวางได้ก็ต้องเห็นทุกข์
อกุศลเราก็เห็นทุกข์ เห็นง่าย
แต่กุศลเห็นว่ามันเป็นทุกข์ ยาก
ยิ่งตัวจิตจะเห็นมันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ง่ายเลย
การที่จะเห็นทุกข์ อาจจะเห็นในมุมใดมุมหนึ่งของทุกข์
คืออนิจจังก็ได้ ทุกขังก็ได้ อนัตตาก็ได้
เห็นอนิจจังก็เรียกว่าเห็นทุกข์เหมือนกัน
เห็นทุกขังก็เรียกว่าเห็นทุกข์
เห็นอนัตตาก็เห็นทุกข์เหมือนกัน
หรือถ้าจิตทั่วๆ ไปเราเห็นมันไม่เที่ยง
เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย
เดี๋ยวก็ดูรูป เดี๋ยวก็ฟังเสียง เดี๋ยวก็ดมกลิ่น ลิ้มรส
รู้สัมผัสทางกาย คิดนึกทางใจ
เฝ้าดูไปเห็นแต่ความไม่เที่ยง
ถึงจุดหนึ่งบางท่านก็วาง
เพราะเห็นว่าไม่มีอะไรที่คงที่เลย
มีแต่เกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น จิตทุกชนิดเกิดแล้วดับ
เห็นอย่างนี้จิตมันก็วางจิต
ไปยึดอะไร มันของเกิดๆ ดับๆ
นี่เรียกว่าหลุดพ้นด้วยอนิมิตตวิโมกข์
ไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีที่สังเกต
เพราะทุกอย่างมีขึ้นมา มีนิมิต
มีเครื่องหมายของมันแล้วก็ดับหมด
ฉะนั้นจิตเกิดดับๆๆ เห็นอย่างนี้เรียกเห็นอนิจจังก็หลุดพ้นได้
ถือว่าเห็นทุกข์นั่นล่ะ เป็นของที่ไม่ดีไม่วิเศษ
หรือเห็นว่าเราบังคับมันไม่ได้
จิตนี้ สั่งให้ดีไม่ได้ ห้ามชั่วไม่ได้
สั่งให้สุขไม่ได้ ห้ามทุกข์ไม่ได้
ทำอะไรกับมันไม่ได้เลย
สั่งว่าจงดูรูปอย่างเดียวห้ามฟังเสียง ยังทำไม่ได้เลย
อย่างเราลองไปดูซีรีส์ สังเกตดูซีรีส์อย่ามัวแต่ดูซีรีส์
ดูซีรีส์แล้วสังเกตจิตดูบ้าง
บางทีจิตมันก็หลงไปดู บางทีจิตมันก็ไปฟัง
เดี๋ยวมันก็สลับมาคิดทบทวน สิ่งที่ดู สิ่งที่ฟัง
แล้วก็รู้เรื่องขึ้นมา
เราจะเห็นเลยว่าจิตจะดูหรือจิตจะฟัง
เราเลือกไม่ได้หรอก สั่งไม่ได้
ถ้าเราสั่งได้ สมมติเราจะนอน หมาข้างบ้านมันเห่าหนวกหู เราก็สั่งอย่าไปรับรู้เสียง นอนไม่ต้องฟังเสียง มันสั่งไม่ได้
การที่เราเห็นว่าจิตเป็นของสั่งไม่ได้ เรียกเห็นอนัตตา
จิตมันเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ
อันนี้ก็เรียกว่าเห็นทุกข์เหมือนกัน
คือเห็นความบกพร่องของมันไม่ใช่ของดีของวิเศษ
เห็นเป็นข้อบกพร่อง มันจะเห็นจิตเป็นตัวทุกข์
ทุกขตา โอ๊ย ตัวนี้ดูยาก ถ้าไม่ทรงสมาธิก็ไม่เห็น
ถ้าหลุดพ้นด้วยการเห็นความไม่เที่ยง เรียก อนิมิตตวิโมกข์
ถ้าหลุดพ้นเพราะเห็นอนัตตาเรียก สุญญตวิโมกข์ เห็นสุญญตา
ถ้าหลุดพ้นด้วยการเห็นจิตนั้นเป็นตัวทุกข์เรียก อัปปณิหิตวิโมกข์
อันนี้ต้องคนทรงฌานถึงจะเห็น
ฉะนั้นพวกที่ทรงสมาธิมากๆ
เวลาหลุดพ้นมักจะหลุดพ้นด้วยอัปปณิหิตวิโมกข์
เห็นทุกข์ เห็นจิตเป็นทุกขตา
ไม่ใช่ความทุกข์นะ เป็นทุกขตา
ค่อยภาวนาแล้วค่อยๆ เห็นเป็นลำดับๆ ไป
ตัวรูปทั้งหลายจะดีจะวิเศษแค่ไหน
สุดท้ายมันก็แก่ มันก็เจ็บ มันก็ตาย
ฟันหัก หนังเหี่ยว หัวหงอกอะไรขึ้นมา ตัวย่นๆ ดูไม่ได้
เฝ้าดูของจริงจะเห็นมันไม่มีสาระแก่นสาร
พอเห็นของจริงแล้วใจมันก็วาง
คราวนี้ร่างกายจะแก่จิตใจก็ไม่เศร้าหมอง
ร่างกายจะเจ็บจิตก็ไม่เศร้าหมอง
ร่างกายจะตายจิตก็ไม่เศร้าหมอง
รู้อยู่แล้วมันของไม่เที่ยง เป็นของไม่คงที่
อยู่ได้แค่นี้ ถูกความทุกข์ โรคภัยไข้เจ็บ
ความร้อน ความเย็น มันบีบคั้นให้แตกสลาย
ดูไปเรื่อยๆ ในขันธ์ 5 นั้นจะสตาร์ตจากอะไรก่อนก็แล้วแต่จริตนิสัย
ถ้าเป็นพวกรักสุข รักสบาย รักสวย รักงาม แล้วก็ไม่ได้ฌาน
ดูเวทนาในใจ ดูอย่างนั้นไป
ถ้าเรามีสมาธิพอสมควร ดูกายดูง่าย มันไม่ยากหรอก
มันต้องอดทน ดูแล้วดูอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ดูทุกวัน ดูทั้งวัน
หลวงพ่อบอกพวกเราเสมอ
หลวงพ่อไม่ใช่คนเก่ง แต่หลวงพ่ออดทน
เป็นคนที่อดทนมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว
ทำอะไรก็ทน ฝึกกระบี่กระบอง อดทน
ฝึกอยู่ท่าเบสิกนั่นล่ะ คนอื่นเขารำได้หลายท่า
เรามีท่าเดียวตั้งการ์ดเฉยๆ
ใครเขาเอาชนะเราไม่ลงแล้ว
มีกระบวนท่าเดียว อดทนฝึกอยู่อย่างนั้น
ฝึกสมาธิหายใจออก หายใจเข้า ฝึกอยู่นั่นล่ะ
หายใจเรื่อยๆ ไปจะทำอะไรก็ทนเอา
เจอหลวงปู่ดูลย์ท่านสอนให้ดูจิตก็ดูไปด้วยความอดทน ดูตลอดเวลาเลยตั้งแต่ตื่นจนหลับ ยกเว้นเวลาทำงานที่ต้องคิด
ตื่นนอนมานึกได้ว่าวันนี้วันจันทร์ เบื่อมากเลยวันจันทร์ วันอังคาร รถติดเยอะ เดี๋ยวนี้ไม่รู้ติดหรือเปล่า ทิ้งกรุงเทพฯ มานานแล้ว เมื่อก่อน โอ้ เช้าๆ รถแน่นมากเลย เต็มถนนเลย
เบื่อ ตื่นนอนขึ้นมาคิดได้ว่าวันนี้วันจันทร์ วันอังคาร ใจมันเบื่อ เห็นใจที่เบื่อนี่ปฏิบัติแล้ว ดูจิตตัวเองได้แล้ว
พอเห็นผู้หญิงสวยๆ ใจมันชอบ เกิดราคะรู้ว่ามีราคะนี่ก็ปฏิบัติแล้ว
ไปถึงที่ทำงานเร็ว ไปเซ็นชื่อทัน ดีใจรู้ว่าดีใจนี่ปฏิบัติแล้ว
เพราะฉะนั้นไม่ว่าทำอะไร จะกินข้าว จะอาบน้ำ จะขับถ่ายอะไรอย่างนี้ ปฏิบัติได้หมด
คอยอ่านจิตอ่านใจไปเรื่อยๆ มันใช้เวลาไม่มากหรอก ถ้าอดทนดูได้เยอะๆ จิตมันคงไม่โง่ถาวรหรอก ยกเว้นแต่ว่ามันมีวิบากบางอย่างมาขวางไว้ มีอกุศลรุนแรงบางอย่างมากั้นก็ไปไม่รอด
หรือบางทีมีกุศลรุนแรงมากั้นก็ไปไม่ได้ ไม่บรรลุมรรคผลหรอก อย่างปรารถนาพุทธภูมิ ภาวนาให้ตาย ทำความดีให้ตาย ไม่บรรลุหรอก ไม่เกิดมรรคเกิดผล เห็นไหมความดีของดีของวิเศษ ก็กั้นมรรคผลได้เหมือนกัน
เลือกคู่ชกที่พอดีกัน
เฝ้ารู้เฝ้าดู อดทนไว้ให้มาก อ่านตัวเองไป ดูกายได้ก็ดูไป ดูใจได้ก็ดูไป ครูบาอาจารย์ให้ความสำคัญกับจิต จิตเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า เป็นประธานในธรรมทั้งปวง
ฉะนั้นดูจิตได้ดูจิตไป ดูจิตไม่ได้ก็ดูกายไป
ดูกายมากๆ เข้าจิตก็มีกำลังขึ้นมาก็เข้าไปดูจิตได้
จิตมันละเอียด สติก็ต้องละเอียดถึงจะดูกันได้
คล้ายๆ คู่ชกที่พอดีๆ กัน
เราหยาบ จริตนิสัยเราหยาบเราก็ดูของหยาบ ดูร่างกาย
ของที่ละเอียดกว่าร่างกายคือเวทนา
ของที่ละเอียดกว่าเวทนาคือสังขาร
ของที่ละเอียดกว่าสังขารก็คือจิต
มันเป็นความละเอียด เป็นขั้นเป็นตอนของมัน
ดูได้แค่ไหนเอาแค่นั้น
ถ้าเห็นจิตได้ก็เห็นไปเลย จิตมันเกิดดับทางทวารทั้ง 6 เห็นไป
มันจะเกิดทางทวารไหนมันก็ดับที่ทวารนั้น
เดี๋ยวมันจะเกิดทางทวารใดเราเลือกไม่ได้ สั่งไม่ได้
มันเป็นของมันเอง ดูของจริง
ตรงนี้มันละเอียด ถ้าดูตัวนี้แล้วดูไม่ไหว ดูให้หยาบขึ้นหน่อยหนึ่ง
ดูจิตที่เป็นกุศล จิตที่เป็นอกุศล โลภ โกรธ หลงอะไรอย่างนี้
จิตโลภก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ก็รู้
จิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ ดูมันไป
จิตเป็นกุศลก็รู้ ช่วงนี้ แหม เกิดศรัทธาในพระพุทธเจ้า
อีกช่วงหนึ่งศรัทธาตกเสียแล้ว ก็รู้ไป
ถ้าดูตรงนี้ก็ยังดูไม่ไหว ก็ดูของที่หยาบขึ้นไปอีก
ดูเวทนา ไม่ใช่เรื่องยากนะเวทนา
อย่างใจเราตอนนี้สุข หรือใจเราตอนนี้ทุกข์
หรือใจตอนนี้เฉยๆ จะไปยากอะไร
ก็แค่รู้ว่าตอนนี้มันสุขก็รู้ ตอนนี้มันทุกข์ก็รู้
ตอนนี้มันเฉยก็รู้ ดูไป
หรือเวทนาในกาย ตอนนี้มันเจ็บมันปวดตรงนี้
เจ็บปวดตรงนี้อยู่ชั่วคราวแล้วก็หาย
แต่ตัวนี้ดูยากนิดหนึ่ง
เวทนาทางกายถ้าไม่ทรงฌาน สติแตก
ของง่ายก็ดูเวทนาทางใจ
ใจนี้เดี๋ยวก็สุข ใจนี้เดี๋ยวก็ทุกข์ ใจนี้เดี๋ยวก็เฉย
แสดงว่าอะไร
แสดงว่าสุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง เฉยๆ ก็ไม่เที่ยง
แล้วมันก็เป็นอนัตตา สั่งไม่ได้
สั่งให้สุขอย่างเดียวก็ไม่ได้ ห้ามทุกข์ก็ไม่ได้
ก็ดูง่ายๆอย่างนี้
ถ้าดูเวทนายังไม่ได้อีก ดูของที่หยาบที่สุดแล้ว
ดูกาย ดูร่างกาย ตอนนี้ร่างกายกำลังหายใจออก
ร่างกายกำลังหายใจเข้า
ร่างกายกำลังยืน กำลังเดิน กำลังนั่ง กำลังนอน
กำลังคู้ กำลังเหยียด กำลังเคลื่อนไหว
กำลังหยุดนิ่ง รู้สึกลงเรื่อยๆ
ฉะนั้นถ้าละเอียดที่สุดเลย
ก็ดูจิตมันเกิดดับทางทวารทั้ง 6 ไป
หยาบลงมาหน่อยก็ดูจิตเป็นกุศลเกิดแล้วก็ดับ
จิตโลภ โกรธ หลง เกิดแล้วก็ดับ
มันมีให้ดูเยอะแยะ
กุศลก็มีหลายแบบ อกุศลก็มีเยอะแยะ
อย่างยกตัวอย่างโทสะตัวเดียว
ลักษณะของโทสะคือมันทำใจเราไม่แช่มชื่น
อย่างความตระหนี่ ความขี้เหนียวเป็นโทสะ
เวลาเกิดความรู้สึกขี้เหนียว
ส่วนใหญ่จะไปนึกว่าเป็นราคะ
ที่จริงตอนรู้สึกหวงแหนอะไรนี่จิตใจไม่มีความสุข
ตรงนั้นจิตเป็นโทสะ
เบื่ออย่างนี้ เบื่อก็เป็นโทสะ
เวลาความเบื่อเกิดขึ้นจิตใจไม่แช่มชื่น
ฉะนั้นการดูสังขารมันมีเยอะ มีมากมาย
การดูเวทนามันง่ายกว่า
มันก็มีแค่สุข ทุกข์ เฉยๆ เท่านั้นล่ะ
ถ้าดูกายก็ดูไป ง่ายนิดเดียวเลย
ร่างกายเคลื่อนไหวก็รู้ ร่างกายหยุดนิ่งก็รู้
อย่างหายใจออก หายใจเข้าก็คือร่างกายเคลื่อนไหวนั่นเอง
ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ก็คือร่างกายเคลื่อนไหว
ร่างกายขยับ ร่างกายหยุดนิ่ง ก็เป็นการเปลี่ยนก็เคลื่อนไหวนั่นล่ะ
เฝ้ารู้เฝ้าดูเรื่อยไป ถ้าดูกายยังดูไม่ไหวอีกจะทำอย่างไร
ทำอะไรไม่ได้แล้วทำสมถะ ไม่ใช่ว่าไม่ต้องทำ
ทำอะไรไม่ได้แล้วก็สวดมนต์ในใจไป “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” อะไรก็สวดไปเถอะ “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ” “เมตตา คุณัง อรหัง เมตตา” สวดไปเรื่อยๆ ก็ได้ บริกรรมไปให้ใจมันอยู่ในอารมณ์อันเดียว เดี๋ยวมันก็สงบ
พอสงบมันก็จะมีสติ มีปัญญา เอาไปดูกายดูใจต่อได้
อันนี้ไม่ได้พูดแบบกางตำราพูดเลยนะ
ผ่านมาด้วยตัวเองเลย
เวลาทำอะไรไม่ได้ทำสมถะไว้ก่อน
ทำอะไรไม่ได้ทำสมถะไว้ก่อน
หลวงพ่อไปกราบหลวงปู่ดูลย์ครั้งแรกวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2525 เข้าไปกราบท่านสอนให้ดูจิตบอก “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง”
ท่านถาม “เข้าใจไหม” ตอนนั้นปลื้มบอก “เข้าใจครับ เข้าใจ”
เสร็จแล้วพอกราบลาท่านมาขึ้นรถไฟจะมาโคราช จะมากราบหลวงพ่อพุธอีกองค์หนึ่งเป็นของแถม เพราะเป็นทางผ่าน
พอรถไฟเคลื่อนจากสุรินทร์เท่านั้นตอน 10 โมง
นึกขึ้นได้หลวงปู่บอกให้ดูจิต
จิตมันเป็นอย่างไร จิตเป็นอย่างไรก็ไม่รู้
จิตมันอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้
จะเอาอะไรไปดูก็ไม่รู้ จะดูอย่างไรก็ไม่รู้
รวมแล้วไม่รู้อะไรสักอย่างเลย
ตายแล้ว แล้วไปบอกหลวงปู่ว่าเข้าใจแล้ว
ทั้งๆ ที่ไม่รู้อะไรสักอย่างเลย
จิตเป็นอย่างไรยังไม่รู้เลย
จิตอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ จะดูอย่างไรก็ไม่รู้
จะเอาอะไรไปดูก็ไม่รู้ ไม่รู้อะไรเลย
คราวนี้ใจเร่าร้อนขึ้นมาแล้ว โอ้ เราอุตส่าห์เดินทางมาสุรินทร์ สมัยก่อนมันไม่ได้ไปง่ายๆ หรอก ไม่สบายเหมือนยุคนี้หรอกนั่งเครื่องบินไปก็ได้ แต่ก่อนทุลักทุเล
ตกใจไปไหนไม่ถูกแล้ว ภาวนาไม่ถูกแล้ว ทำอย่างไรดี
ทำอะไรไม่ถูกก็ทำใจสบายให้ก่อน
หายใจเข้าพุท หายใจออกโธไป เคยทำสมาธิมานี่
หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ
พอจิตสงบใช้เวลาไม่นานเพราะเราฝึกมาเยอะ
หายใจไม่กี่ที่ก็สงบ
พอจิตไม่ฟุ้งซ่านแล้วปัญญามันก็เกิด
เอ๊ะ จิตมันต้องอยู่ในร่างกายเรานี่ล่ะ
จิตไม่ไปอยู่ข้างนอกหรอก
จิตต้องอยู่ในกายนี่ล่ะ
เพราะฉะนั้นต่อไปนี้เราจะภาวนา
เราจะไม่ให้เกินกายออกไป
เราจะรู้วนเวียนอยู่ไม่ให้เกินร่างกายนี้ออกไป
ไม่ไปดูแล้วสวรรค์ เทวดา ผีสางนางไม้อะไร ไม่ไปดูมันแล้ว
ไม่ดูอดีต ดูอนาคตอะไรไม่เอาทั้งสิ้น
จะดูอยู่ในร่างกายไม่ให้เกินกายออกไป
ก็มาดูต่อ จิตอยู่ในกายแล้วอยู่ตรงไหนของกาย
อยู่ที่ผมหรือ ดูลงไปกำหนดจิตลงไปที่ผม
ผมก็สลายไปไม่เห็นมีจิตโผล่ขึ้นมา
ไล่ตั้งแต่หัวถึงเท้า เท้าถึงหัวไล่ขึ้นไล่ลง
ร่างกายก็ดับๆๆๆ ลงไป
ก็ไม่เห็นมีจิตโผล่ขึ้นจากร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง
อ้อ ก็รู้ขึ้นมาว่าจิตอยู่ในร่างกาย
แต่ไม่ได้อยู่ตรงไหนของกาย
ฟังแล้วแปลกๆ อยู่ในกายแต่ไม่ได้อยู่ที่ไหน
ไม่ได้อยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกาย
หรือจิตอยู่ในเวทนา ก็ทำจิตให้มีความสุขขึ้นมา
แล้วดูลงไปในความสุข ความสุขก็ดับก็ไม่เห็นจิต
นั่งนิ่งๆ ให้ร่างกายมีความทุกข์ ก็นั่งดูไปเรื่อย
ความทุกข์ดับก็ไม่เห็นจิต
ทำอะไรไม่ถูกค่อยๆ คลำๆๆ ไป
แยกไปตามขันธ์นี่เลยเป็น. ลำดับไป
ฉะนั้นทำอะไรไม่ได้ทำสมถะไว้
พอใจมันมีสมาธิแล้วมันเกิดสติ
เกิดปัญญาคลำทางไปได้
ถ้าใจไม่มีสมาธิมันก็คลำตกเหวไปเลย
ฉะนั้นสมาธิเป็นของสำคัญทิ้งไม่ได้
เสร็จแล้วหลวงพ่อก็มาดูต่อ
หรือว่าจิตอยู่ในสังขาร
สังขารเป็นความปรุงแต่ง
ตอนนั้นยังอินโนเซนต์คิดว่าสังขารคือความคิด ก็จงใจคิด คิดสวดมนต์ “พุทโธ สุสุทโธ กะรุณามะหัณณะโว คิดอย่างนี้ พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดั่งห้วงมหรรณพ”
เห็นกระแสความคิดมันเลื้อยขึ้นมาจากกลางอก มันผุดขึ้นมา ผุดๆ พอเห็นเท่านั้นมันขาดสะบั้นลงไป
พอรู้ว่าจิตคิด จิตคิดก็ดับ จิตรู้ก็เกิดขึ้นมา
อุ้ย เจอจิตแล้ว มันก็คือตัวรู้ที่เราฝึกมาได้ตั้งแต่เด็ก
แต่ไม่รู้ว่ามันสำคัญ หลวงปู่บอกให้ดูจิตทีนี้เลยจะเฝ้าดูตัวรู้นี้ล่ะ
ก็เฝ้าดู บางทีก็ดูได้
บางทีมันก็ไหลเข้าไปรวม เข้าไปคลุกกับอารมณ์
คลุกอยู่ในความปรุงแต่ง
ก็ดูจนมันหลุดออกมาจากความปรุงแต่ง
ก็เป็นผู้รู้ขึ้นมาอีก เดี๋ยวก็รวมเข้าไปอีก
เดี๋ยวก็แยก เดี๋ยวก็รวมอยู่อย่างนั้น
ฝึกไปเรื่อยจนกระทั่งแยกตัวออกมาเด่นดวงอยู่อย่างนั้น
ก็คิดว่านี่ดูจิต
ไปกราบหลวงปู่บอก “ผมดูจิตได้แล้ว”
หลวงปู่บอก “เป็นอย่างไรดูจิต”
“ผมเห็นจิตมันทำงานได้สารพัดเลย มีกิริยาอาการต่างๆ ผมฝึกจนกระทั่งมันนิ่งไปหมดแล้ว เหลือแต่รู้อยู่เฉยๆ”
หลวงปู่บอกว่า “นั่นยังไม่ได้ดูจิตหรอก นั่นไปแทรกแซงจิต จิตมีธรรมชาติคิดนึกปรุงแต่ง ไปแทรกแซงจนมันไม่คิด ไม่นึก ไม่ปรุง ไม่แต่ง เฉยๆ อยู่”
ที่จริงคือมันไปแต่งเฉย แต่งความเฉยๆ ขึ้นมา ท่านบอก “ผิดแล้ว ไปดูใหม่ ให้ไปดู”
เลยเก็บเอาคำว่า ดู
จับประเด็นคำว่า ดู เหมือนเราดูหนัง
ดูหนังเราไม่ใช่คนเขียนบท เราเป็นแค่คนดู
เราไม่ใช่ผู้กำกับจะคอยว่าดาราคนนี้แสดงดีไม่ดีอะไรอย่างนี้
ไม่ใช่นักวิจารณ์หนัง หนังเรื่องนี้ดีไม่ดี
เป็นแค่คนดู
…
เราจะดูจิตเราก็ปล่อยให้จิตมันทำงาน เราก็ดูมันทำงานไป
เราก็จะเห็นจิตมันเกิดดับ เกิดที่ไหนก็ดับที่นั่น
เกิดทางตาดับทางตา เกิดทางหูก็ดับที่หู
เกิดทางใจก็ดับที่ใจ
แล้วจิตแต่ละดวงที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดเพียวๆ
จะเกิดร่วมกับเวทนาบางอย่าง
เกิดร่วมกับสังขารบางอย่างเสมอ
จิตเพียวๆ ไม่มี มีจิตจะต้องมีเจตสิก
สิ่งที่เกิดร่วมกับจิต ต้องมีร่วมกันเสมอ
อย่างจิตทุกดวงจะมีเอกัคคตา ความเป็นหนึ่ง
รู้อารมณ์ได้ทีละหนึ่งนี้เป็นธรรมชาติของมัน
หรือมันต้องมีเวทนาอันใดอันหนึ่ง
สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ต้องมี
ก็ต้องมีสังขารความปรุง
ถ้าไม่ปรุงดีก็ปรุงชั่ว
ถ้าไม่ปรุงดี ไม่ปรุงชั่ว ก็ปรุงเฉยๆ
มันจะต้องมี
เฝ้าดูค่อยๆ เข้าใจมันเยอะขึ้นๆ
พอเข้าใจแล้วใจก็เห็น
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป
เห็นทุกข์ ร่างกายนี้ก็เป็นทุกข์
เวทนาก็เป็นทุกข์
สัญญา สังขาร วิญญาณ
วิญญาณคือตัวจิตก็เป็นทุกข์ทั้งหมดเลย
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
มีแล้วหายไป บังคับไม่ได้
เป็นไปตามเหตุ ไม่ใช่ตามที่เราอยาก
สั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้
ดูเรื่อยๆ ไป แล้วก็เป็นภาระ เป็นเครื่องบีบคั้น
อย่างเราจะรักษาจิตผู้รู้ไว้นี้เป็นภาระ
ถ้าภาวนาไม่ละเอียดก็ไม่รู้สึกว่ามันเป็นภาระ
รู้สึกมันดี ตัวผู้รู้
จริงๆ ตัวผู้รู้ก็เป็นภาระตัวหนึ่งเหมือนกัน
ค่อยดูเรื่อยๆ ต่อไปจิตมันรู้ว่า
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป
เห็นทุกข์นั่นล่ะมันถึงจะวาง
เพราะฉะนั้นบางคนชอบพูด
โน่นก็ไม่ยึด นี่ก็ไม่ยึด ไม่ได้รู้ทุกข์
ไม่รู้ทุกข์ไม่มีทางละสมุทัย
ไม่ละสมุทัยไม่มีทางแจ้งนิโรธ
ไม่เกิดมรรคเกิดผล ไม่เห็นนิพพานหรอก
ไม่แจ้งนิโรธก็ไม่มีอริยมรรคเกิดขึ้นหรอก
เพราะตอนเกิดมรรคเกิดผลใช้นิพพานเป็นอารมณ์
ไม่ได้ใช้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เป็นอารมณ์
แต่นิพพานเป็นธรรมารมณ์อย่างหนึ่ง
ข้อยกเว้นอันหนึ่งจะรู้ด้วยใจ รู้ด้วยตาไม่ได้
ฉะนั้นถ้าเรานั่งสมาธิแล้วก็ลืมตา ไปเห็นโลกพระนิพพาน
เห็นพระพุทธเจ้านั่งอยู่หลายองค์
อันนั้นไม่ใช่นิพพาน เป็นความปรุงแต่ง เป็นนิมิต
ฉะนั้นก่อนที่จะถึงคำว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวง สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” ต้องรู้ว่าเราไม่ยึดเพราะเห็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ก็ยังยึดอยู่นั่นล่ะ
จะเห็นทุกข์ก็ต้องดูกาย
มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
คือมีสมาธิที่ดี ตั้งมั่นและเป็นกลาง
นี่เรื่องของสมาธิ
สติเป็นตัวรู้ทันว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ
แต่รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
คือจิตที่ทรงสมาธิที่ถูกต้องอยู่
ปัญญามันถึงจะเกิด
มีปัญญาก็ไม่ใช่เพื่อจะมีปัญญา
มีปัญญาเพื่อจะได้เห็นทุกข์
แล้วจิตมันถึงจะปล่อยวางของมันเอง
มันเป็นของมันเอง
ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รู้ไป ฝึกทุกวัน
อดทนดูแล้วดูอีกไป.
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
9 เมษายน 2565
https://www.dhamma.com/clinging/
เยี่ยมชม
dhamma.com
ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น
เราไม่ยึดเพราะเห็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์ก็ยังยึดอยู่ จะเห็นทุกข์ก็ต้องมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง รู้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง
Photo by : Unsplash
3 บันทึก
10
2
7
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
3
10
2
7
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย