Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
23 เม.ย. 2022 เวลา 14:21 • ปรัชญา
“บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา”
1
เรียนรู้อายตนะเพื่อละตัณหา
ศาสนาพุทธยอมรับเรื่องกฎของกรรม
คือการกระทำ มีการกระทำ มีผลของการกระทำ
การกระทำทางฝ่ายดีและฝ่ายชั่วก็มีผลแตกต่างกัน
การกระทำฝ่ายชั่วมีเหตุคือตัวอวิชชา ตัณหา อุปาทาน
โดยเฉพาะตัวที่ดูง่าย ตัวตัณหา ตัวอยาก
เวลามีความอยากเกิดขึ้น
มันจะผลักดันจิตใจให้ไปทำกรรม
ความอยากมันมี 3 อย่าง
ของที่ยังไม่มีก็อยากให้มี อยากได้
พอได้มาแล้ว ถ้าพอใจก็อยากให้มันอยู่ตลอดไป
ถ้าไม่พอใจ ก็อยากให้มันหมดไปสิ้นไปเร็วๆ
อยากได้อะไร อยากได้อารมณ์ อยากได้อารมณ์ที่ดี
อารมณ์ไม่ได้แปลว่า emotion
มันหมายถึงตัว object สิ่งที่อยากได้
อารมณ์ที่อยากได้ มีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส
มีสิ่งที่สัมผัสร่างกาย และมีอารมณ์ทางใจ
อยากได้อารมณ์แบบไหน อยากได้อารมณ์ดีๆ
ตรงที่อยากเห็นรูป อยากได้ยินเสียง
อยากได้กลิ่นที่ดี อยากได้รสที่ดี
อยากได้สัมผัสทางร่างกายที่ดี
อยากมีเรื่องราวทางใจที่ดี
1
พออยากได้ก็เกิดการแสวงหา
พยายามสอดส่ายตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจออกไปกระทบอารมณ์
ตัณหามันทำให้เกิดกระบวนการทำงาน
คือการกระทำกรรมขึ้น
จิตใจมันก็แส่ส่ายออกไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ตัณหามันมี 3 ลักษณะใช่ไหม
กามตัณหา อยากได้
ภวตัณหา อยากให้มันคงอยู่
อยากให้มันเป็นอมตะ
แล้วก็อยากให้มันหมดไปสิ้นไป
สิ่งที่อยากก็มี 6 อย่าง
คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
ฉะนั้นตัณหา รวมๆ แล้วตัณหามีทั้งหมด 18 อย่าง
อยากได้รูปที่ดี
อยากรักษารูปที่ดีเอาไว้
อยากให้รูปที่ไม่พอใจหมดไปสิ้นไป
อายตนะหนึ่งก็มี 3 อย่าง มีความอยากเกิดขึ้น
…
หน้าที่ของเราต่อตัณหา คือการละ
ฉะนั้นความอยากมันเกิดขึ้นกับเราเยอะแยะไปหมดเลย แต่ละวันๆ
อยากได้ยินเสียงที่ดี เสียงที่ชอบใจ
ถ้าได้ยินเสียงที่ชอบใจแล้วก็อยากได้ยินเรื่อยๆ
ไม่อยากให้มันหมดไป
ได้ยินเสียงที่ไม่ชอบใจก็อยากให้มันหมดไป
ตัณหามันก็ทำงานอย่างนี้ ทำงานทางอายตนะ
หน้าที่ของเราต่อตัณหาคือการละ
วิธีที่จะละมัน ไม่ใช่ไปข่มใจ
ไปสั่งตัวเองว่าอย่าอยากๆ
ตรงที่คิดว่าอย่าอยาก นั้นอยากเรียบร้อยแล้ว ไม่ชอบ มีความอยากเกิดขึ้นแล้ว
จะละตัณหาได้ ก็ต้องเห็นว่าสิ่งที่เราปรารถนา
หรืออารมณ์ที่เราปรารถนา
ทั้งรูป ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งสัมผัส ทั้งธรรมารมณ์
ไม่ใช่ของดีของวิเศษอะไร
รูปทั้งหลายที่ตามองเห็น มันก็แค่ของชั่วคราว
ถ้ารู้ว่ามันเป็นของชั่วคราว จะไปหิวมันทำไม
จะไปอยากได้มันทำไม
ได้มาเดี๋ยวเดียวก็หายไปแล้ว
หรือจะไปอยากให้มันคงอยู่ตลอด มันไร้เดียงสา
สิ่งทั้งหลายมันเกิดได้ มันก็ดับได้
ไม่มีอะไรที่คงทนถาวร
แล้วก็เราก็บังคับมันไม่ได้ ไม่ใช่เป็นของเราอย่างแท้จริง
รูปทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์
แล้วก็ไม่ใช่ตัวเราของเรา บังคับไม่ได้
ถ้าเห็นความจริงแจ่มแจ้ง
ความอยากมันก็จะไม่เกิดขึ้น
เสียงก็เหมือนกัน ถ้าเรามีสติระลึกรู้อยู่
เสียงเกิดขึ้นก็ชั่วคราว
เสียงยังไม่มี อยากให้มันมีอะไรอย่างนี้
มันก็เป็นความใฝ่ฝันลมๆ แล้งๆ
มีเหตุมันก็มี ไม่มีเหตุ อย่างไรมันก็ไม่มี
พอมีแล้ว ชอบใจเสียงอันนี้ อยากให้มันมีตลอด
มันก็ไม่อยู่ตลอด
เสียงอันนี้ไม่ชอบใจ
อย่างเรานอนอยู่แล้วหมามันเห่า หนวกหูเรา
อยากให้มันเลิกเห่า ก็ปากของหมา หมามันก็เห่า
มีหูเราได้ยิน ไปห้ามมันไม่ให้เห่า
หรือไปห้ามหูไม่ให้ได้ยิน มันทำไม่ได้
เสียงก็ไม่มีสาระอะไร
เป็นของที่เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็ดับไป
กลิ่นก็เหมือนกัน
จะกลิ่นที่ถูกใจหรือกลิ่นที่ไม่ถูกใจ
มันก็อยู่ชั่วคราว
แล้วก็อยู่แล้วก็ไม่นานก็ดับไป
ถึงอยากให้มันอยู่นาน มันก็อยู่ไม่ได้
อย่างเรามีดอกไม้สวยๆ หอมๆ
ญาติโยมก็หาดอกไม้หอมๆ มาไหว้พระอยู่ข้างหลังหลวงพ่อ
มันก็หอมวันหนึ่ง 2 วัน
ต่อไปความหอมมันก็ไม่เหลือ
มันกลายเป็นเหม็นด้วยซ้ำไป มันเริ่มเน่า
ถ้าเราเข้าใจ เราก็จะไม่หิวกลิ่น
ไม่ได้อยากได้กลิ่นอย่างโน้นกลิ่นอย่างนี้
หรือเกลียดกลิ่นอย่างนั้นอย่างนี้
กลิ่นจะหอมหรือกลิ่นจะเหม็น
มันก็อยู่ชั่วคราวทั้งหมด เหมือนๆ กันหมด
รสทั้งหลายก็เหมือนกัน เป็นของไม่เที่ยง
เป็นของทนอยู่ไม่ได้ตลอดไป
เป็นของที่บังคับไม่ได้
สิ่งที่สัมผัสทางกาย ความรู้สึกที่มาสัมผัสทางกาย
เป็นความเย็นบ้าง ความร้อนบ้าง
ความอ่อน ความแข็ง ความตึง ความไหวอะไรนี่
สิ่งที่มาสัมผัสทางกายก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์
คือไม่เที่ยงเหมือนกัน
ทนอยู่ได้ไม่นาน ก็ดับไป สลายไป
เรื่องราวทางใจ ธรรมารมณ์
สิ่งที่ใจไปรู้ เป็นอารมณ์ทางใจ
ก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เหมือนกันหมด
เกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
บังคับไม่ได้ ห้ามไม่ได้ ควบคุมอะไรไม่ได้
ถ้าเรามีปัญญา เรารู้เท่าทันสิ่งทั้งหลายที่มันปรากฏขึ้นมา
มันมีเหตุมันก็เกิด หมดเหตุมันก็ดับ
บังคับควบคุมอะไรมันไม่ได้
ฉะนั้นถ้าจิตเราฉลาดขึ้นมาอย่างนี้
จิตก็จะไม่เกิดความอยาก
มันจะอยากอะไรนักหนากับของซึ่งไม่ยั่งยืน
มีชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เดี๋ยวก็ไปแล้ว
1
ที่จริงแล้ว อารมณ์ทั้งหลายมันอยู่ชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นล่ะ
ชั่วขณะที่จิตไปรับรู้เข้า
อย่างกลิ่นมันมีตลอดเวลา รูปทั้งหลายมีกลิ่นทั้งหมดล่ะ
แต่ถ้าเราไม่ได้สนใจเรื่องกลิ่น
เราสนใจเรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องอะไรอย่างนี้ เราก็ไม่ได้กลิ่น
ฉะนั้นเวลาเราได้กลิ่น ก็ได้กลิ่นชั่วขณะหนึ่งเท่านั้นเอง
เห็นรูปก็เห็นชั่วขณะ สัมผัสรสก็ชั่วขณะ เดี๋ยวก็หมดแล้ว
สัมผัสทางกายก็ชั่วขณะ
…
วิธีที่เราจะละตัณหา คือรู้ความจริง
เฝ้ารู้ เรียนรู้ความจริง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ทั้งหลาย อารมณ์ทั้งหลายที่คนโง่คนเขลาใฝ่หา แสวงหา ฆ่าฟันทำร้ายกันเพื่อแย่งอารมณ์ที่ดี เพื่อจะผลักไสอารมณ์ที่ไม่ดี แล้วตกเป็นทาสของอารมณ์ทั้งหลาย
ถ้าเราภาวนาเราก็รู้ ของชั่วคราวเท่านั้นเอง
ของชั่วขณะจิตหนึ่งเท่านั้นเอง
สั้นนิดเดียว เดี๋ยวก็ไปแล้ว
ถ้ารู้อย่างนี้ ความอยากมันจะไม่เกิด
ตรงที่เราเห็นความจริงนั่นล่ะ เรียกว่าเรามีปัญญา
มีวิชชา ตัณหามันก็ไม่เกิด
ถ้ามีอวิชชา ไม่รู้ความจริง ตัณหามันก็เกิด
ฉะนั้นวิธีที่เราจะละตัณหา คือรู้ความจริงลงไป
รู้ความจริงของทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้มันไปเรื่อยๆ
ทีแรกก็หัดง่ายๆ อย่างนี้ รูปก็ชั่วคราว
ชั่วอะไร ชั่วคราว ชั่วแค่ไหน ชั่วขณะที่จิตรู้
กลิ่นก็อยู่ชั่วขณะที่จิตรู้ รส เสียงอะไรนี่ อยู่ชั่วขณะที่จิตรู้เท่านั้นเอง
จิตมันเกิดดับรวดเร็วมาก เปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก
ฉะนั้นทุกสิ่งถึงมันมีอยู่
แต่จิตไม่ได้ไปสัมผัสกับมัน ก็เหมือนไม่มี
มีก็เหมือนไม่มี มีไปอย่างนั้นเอง
ค่อยภาวนา ค่อยดูไป ทีแรกก็เห็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
จิตที่ไปรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ก็ไม่เที่ยง
จิตที่ไปดูรูปอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ
จิตที่ไปฟังเสียงอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ
จิตที่ดมกลิ่น จิตที่ลิ้มรส จิตที่รู้สัมผัสทางกาย
จิตที่รู้อารมณ์ทางใจอยู่ชั่วคราวแล้วก็ดับ
อารมณ์ภายนอกเกิดแล้วก็ดับ
อารมณ์ทั้งหลายเกิดแล้วก็ดับ
จิตที่เป็นผู้ไปรู้อารมณ์ทั้งหลายเกิดแล้วก็ดับ
เฝ้ารู้เฝ้าดูลงไป แล้วอารมณ์มันไปเกิดที่ไหน
อารมณ์มันเกิดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ
มีตาอยู่ ถ้าจิตมันไม่สนใจจะดู
มีตามันก็เหมือนสิ่งไม่มีชีวิต
เหมือนตาของไม้อะไรอย่างนี้
ตาของต้นไม้ มองอะไรไม่เห็น
มีหู ครูบาอาจารย์ท่านชอบเทียบ
สมัยก่อนบอกมีตาก็เหมือนตาไม้ รู้จักตาไม้ไหม
เป็นตาของต้นไม้ มีหูก็เหมือนหูหม้อ หูกระทะ ไม่รับฟังอะไร
เพราะมันไม่มีจิตเข้าไปจับอารมณ์ตัวนั้น
ฉะนั้นเวลามันจะกระทบอารมณ์ มันจะต้องมีรูป มีตา แล้วก็มีจิต ถึงจะเกิดการกระทบอารมณ์ ต้องมี 3 อย่างประกอบกัน
มีอายตนะภายนอก คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
มีอายตนะภายใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
มีความรับรู้เกิดขึ้นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เรียกว่าจิตหรือวิญญาณ จะต้องมี 3 สิ่งนี้ประกอบกัน
อารมณ์ถึงจะปรากฏให้เรารับรู้ได้
โลกทั้งโลกปรากฏขึ้นมาด้วยสิ่งนี้เอง
ด้วยปัจจัย 3 ตัวนี้มาประกอบกัน
เรียกว่าผัสสะ
ผัสสะมี 3 อย่างนี้ประกอบกันขึ้นมา
มีอายตนะภายนอก อายตนะภายใน ก็มีจิตมีวิญญาณ
ทุกอย่างเป็นของชั่วคราวทั้งหมดเลย
เรามีตา มันก็เห็นรูปชั่วคราว ไม่ได้เห็นได้ตลอดเวลา
มีหูมันก็ฟังเสียงได้ชั่วคราว ไม่ได้ฟังตลอดเวลา
ตาก็ยังอยู่แต่ไม่ได้เห็นรูป หูก็ยังอยู่แต่ไม่ได้ฟังเสียง
ถ้าจิตมันไม่ไปเกิดที่นั่น
เราทดสอบดู ว่าตาเห็นรูปได้ชั่วคราวจริงหรือเปล่า ง่ายๆ เลย เราลองตั้งใจดูอะไรสักอย่าง ถ้าอยู่ที่วัด หลวงพ่อก็จะให้ดูพระพุทธรูปข้างหลัง หรือดูรูปหลวงปู่ดูลย์ข้างหลังก็ได้ ลองดูสิ เราเห็นรูปนี้ชัดเจนตลอดเวลาไหม หรือเราเห็นชัดชั่วขณะเดียว
ดูออกไหม ตาเห็นรูป เห็นชัดชั่วขณะเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้นอารมณ์ที่จิตไปรู้เข้า
มันก็ปรากฏขึ้นให้เรารับรู้ชั่วขณะ
ตาเองก็ทำงานได้ทีละขณะ ชั่วขณะ
จิตก็เกิดขึ้นเป็นขณะๆ ทางอายตนะทั้ง 6
มันมีแต่ของชั่วคราวทั้งหมดเลย
อายตนะภายนอก อายตนะภายใน จิต วิญญาณที่เกิดทางอายตนะทั้ง 6 ล้วนแต่เป็นของชั่วคราว เกิดแล้วก็ทนอยู่ไม่ได้ ก็ดับไป แตกสลายไป แล้วก็บังคับมันไม่ได้ควบคุมมันไม่ได้
เราลองดูนิ้วของตัวเองก็ได้ ลองสั่งสิว่าให้เราเห็นให้ชัดตลอดเวลา ดูสิมันชัดตลอดเวลาไหม
มันจะชัดนิดหนึ่งแล้วก็เบลอไป เลือนๆ ไป เราต้องใส่ใจที่จะดูอีกทีหนึ่ง ก็ชัดอีกทีหนึ่งแล้วก็เบลอๆ ไป นี่จิตมันเกิดดับที่ตา มันรับรู้ได้เป็นช่วงสั้นๆ เท่านั้นเอง
ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็แบบเดียวกัน ฉะนั้นเราจะไปหลงอะไรกับโลก มันของชั่วคราว
โลกมันปรากฏกับเราก็คือตัวรูป ตัวเสียง ตัวกลิ่น ตัวรส ตัวโผฏฐัพพะ ตัวธรรมารมณ์เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรน่าหวงแหน น่ารักใคร่มากมาย
พอเราเห็นความจริงซ้ำๆๆ ไปเรื่อย เราก็ทำเหตุที่ดี คือเจริญสติเจริญปัญญาไปเรื่อย เรียกว่าเราเจริญมรรคอยู่
ทำเหตุ คือสร้างมรรค ภาวนา
หน้าที่ต่อมรรคคือภาวนา
ทำให้เจริญ ทำบ่อยๆ มีสติบ่อยๆ
มีจิตอยู่กับเนื้อกับตัวบ่อยๆ
เห็นความจริงของกายของใจ
ของอายตนะภายในภายนอก ของจิตวิญญาณ
เห็นบ่อยๆ นี่เรียกเจริญปัญญา
แล้วมีสติ มีสมาธิ มีปัญญาบ่อยๆ
ต่อไปจิตมันจะปิ๊งขึ้นมา มันเข้าใจขึ้นมา
เวลาจิตมันเข้าใจความจริง มันเข้าใจในชั่วขณะเดียวเอง
เวลาเรียนรู้ เรียนรู้ยาวนาน
แต่เวลาที่เข้าใจ เข้าใจในขณะจิตเดียวล่ะ
อย่างเราอ่านหนังสืออะไรที่ยากๆ สักเล่มหนึ่ง
หนังสือนี้ยากมากเลย อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง
เราอ่านแล้วอ่านอีกๆ ถึงจุดหนึ่งมันเข้าใจขึ้นมา
ปิ๊งขึ้นมา เข้าใจในพริบตาเดียว
เราเจริญมรรคไปเรื่อยๆ
มีศีล มีสมาธิ เจริญปัญญาไป พัฒนาไปเรื่อย
ถึงเวลาเข้าใจ มันเข้าใจในพริบตาเดียวเท่านั้นเอง
ถ้าเข้าใจได้มันก็จะวาง ไปยึดมันทำไม มันของไม่เที่ยง
โลกทั้งโลกก็ไม่มีอะไร มีแต่ของไม่เที่ยง
มีแต่ของที่ทนอยู่ไม่ได้นาน
มีแต่ของที่บังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้
อยู่ชั่วคราวแล้วก็แตกสลายไป
ถ้าเห็นความจริงอย่างนี้ มันก็จะล้างตัณหาได้
นี่วิธีที่จะล้างตัณหาให้เด็ดขาด ก็เจริญปัญญาไป
จะเจริญปัญญาได้ก็ต้องมีสมาธิที่ถูกต้อง
สมาธิจะมีได้ เราต้องมีศีล
ถ้าศีลเราไม่ดี สมาธิ เราแตกอย่างรวดเร็วเลย
แล้วสมาธิไม่มี เจริญปัญญาไม่ได้จริง
สร้างเหตุฝ่ายดี ละเหตุฝ่ายชั่วเรื่อยๆ ไป
เพราะฉะนั้นเราก็ตั้งอกตั้งใจสร้างเหตุฝ่ายดี
ละเหตุฝ่ายชั่วเรื่อยๆ ไป
ละเหตุฝ่ายชั่ว ถ้าละสูงสุดเลยก็ละด้วยปัญญา
ด้วยการทำเหตุฝ่ายดีให้เต็มที่ ละเหตุฝ่ายชั่วได้
แต่ถ้าเหตุฝ่ายดีของเรายังไม่เต็ม พลังยังไม่พอ
เราก็ใช้เครื่องมือตัวอื่นๆ มาละ
อย่างมีความอยาก มีตัณหาเกิดขึ้น
มีสติรู้ลงไป มีความอยากเกิดขึ้นแล้ว
ความอยากผลักดันให้จิตดิ้นรนวุ่นวาย
นำความทุกข์มาให้อะไรอย่างนี้ รู้ลงไปเรื่อยๆ
ความอยากมันก็จะดับ
ที่จริงทันทีที่สติเกิด ความอยากจะดับอัตโนมัติเลย
เพราะตัวความอยากมันเป็นกิเลส
เมื่อไรมีสติ เมื่อนั้นต้องไม่มีกิเลส
เมื่อไรมีกิเลส เมื่อนั้นไม่มีสติ
ฉะนั้นเราหัดรู้เนืองๆ ใจเราอยากดูรูป รู้ทัน
อยากฟังเสียง รู้ทัน อยากได้กลิ่น รู้ทัน
อยากได้รส รู้ทัน
อยากได้สัมผัสทางกายที่ดีๆ รู้ทันไป
อยากได้เรื่องราวทางใจที่มีความสุข
พออกพอใจอะไร รู้ทันความอยาก
ความอยาก พอมันเกิดแล้วเรารู้ทัน มันจะดับอัตโนมัติ
อย่าไปอยากดับ ถ้าอยากดับก็คือเกิดความอยากตัวใหม่ขึ้นมาอีกแล้ว
เพราะฉะนั้นเราคอยรู้ทันจิตของเราไว้
จิตมีความอยากเกิดขึ้น รู้ทันไป
อยากดูรูป อยากฟังเสียงอะไรอย่างนี้
หรือแยกละเอียด อยากเห็นรูป
อยากให้รูปนี้คงอยู่ อยากให้รูปนี้หมดไป
อยากได้ยินเสียงอย่างนี้
อยากให้เสียงนี้คงอยู่ อยากให้เสียงนี้หมดไป
ความอยากอยู่ในอายตนะทั้ง 6 ช่อง
แต่ละช่องมี 3 รูปแบบ ก็รวมแล้ว 18
3 คูณ 6 เท่ากับ 18
ฉะนั้นความอยากก็ตัณหา มี 18 ตัวนี้
คอยรู้ลงไป มันเกิดขึ้นมาก็รู้ ไม่ใช่ห้ามมัน
ห้ามมันไม่ได้
จิตเรายังมีอวิชชาอยู่ ยังไม่รู้ความจริงของชีวิต ของโลก มันก็ยังเกิดความอยากได้อยู่ พอเกิดแล้วมีสติรู้เข้าไป มันจะดับอัตโนมัติ
ถ้าดูแล้วมันไม่ดับ ไปสังเกตให้ดีเถอะ มันอยากดับ มันมีความอยากซ้อนความอยากเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นสังเกตจิตไปเรื่อยๆ ความอยากนั้นจะดับชั่วคราว ขาดสติแล้วเดี๋ยวมันก็เกิดใหม่ มันละได้ชั่วคราว
หรือใจมันอยากในกามคุณอารมณ์ อยากดูรูป อยากฟังเสียงอะไรอย่างนี้ เราละมันด้วยสมาธิก็ได้
นั่งสมาธิไป พอจิตเรารวม จิตเราสงบ ความอยากจะดูรูป อยากฟังเสียงอะไร ไม่มีหรอก จิตมันพอใจอิ่มอกอิ่มใจในความสงบอยู่ อันนี้ก็ละด้วยสมาธิ ออกจากสมาธิ มันก็กลับมาอยากอีก
ละด้วยสติก็ได้ รู้ทันมันก็ดับ พอขาดสติมันก็มาอีก
ละด้วยสมาธิ พอมีสมาธิมันก็ละความอยากในกามคุณอารมณ์ทั้งหลาย ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะทั้งหลาย จะไปพอใจในอารมณ์ที่ละเอียดทางใจ คือความสุขความสงบของสมาธิ มันก็อยากลึกซึ้งลงไปอีก รู้ทันลงไป แล้วพอมีสติรู้ทัน ความอยากก็ดับ
มีสมาธิ ความอยากในกามคุณอารมณ์ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอะไรนี่ก็ดับ อันนี้ยังดับชั่วคราวอยู่
เราต้องเจริญสติ เจริญปัญญาไปเรื่อย
จะเห็นทุกอย่างเกิดแล้วดับๆ รูปทั้งหลายเกิดแล้วดับ
เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ทั้งหลายเกิดแล้วดับ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำงานได้ชั่วขณะแล้วก็ดับ ดับการรับรู้ลงไป
จิตที่ไปรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเกิดแล้วก็ดับ
ภาวนาเรื่อยๆ ตามสังเกตของจริงไป
จะรู้เลย ทุกอย่างเกิดแล้วดับหมดเลย
จะอายตนะภายนอก เกิดแล้วก็ดับ
อายตนะภายในเกิดแล้วก็ดับ
จิตวิญญาณที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดแล้วก็ดับ
ไม่มีอะไรยั่งยืนสักอย่างเดียว
ถ้าอย่างนี้ ดูอย่างนี้เรื่อยๆ มันจะละตัณหา
แล้วมันละเด็ดขาด ละแล้วไม่เกิดอีก
ละทีเดียวแล้วเลิกกันไปเลย
ถ้ายังไม่เห็นแจ้งในสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด
ก็ละด้วยสติ ด้วยสมาธิได้ชั่วคราว
แต่เจริญปัญญาจะละได้เด็ดขาด
พระพุทธเจ้าถึงสอน “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา”
ไม่ใช่ด้วยศีล ไม่ใช่ด้วยสติ ด้วยสมาธิอะไรหรอก
พวกนั้นมันละได้ชั่วคราว
ยากไปไหม วันนี้มาเทศน์เรื่องอายตนะ
เวลาภาวนาด้วยเรื่องอายตนะ
ก็ดูอย่างที่หลวงพ่อบอกนี่ล่ะ
มีองค์ธรรมเกิดร่วมกันมากมาย.
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
10 เมษายน 2565
https://www.dhamma.com/sense-doors/
เยี่ยมชม
dhamma.com
เรียนรู้อายตนะเพื่อละตัณหา
ตามสังเกตของจริงไป จะอายตนะภายนอกเกิดแล้วก็ดับ อายตนะภายในเกิดแล้วก็ดับ ไม่มีอะไรยั่งยืนสักอย่างเดียว ดูอย่างนี้เรื่อยๆ มันจะละตัณหา
Photo by : Unsplash
4 บันทึก
13
6
6
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
4
13
6
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย