18 เม.ย. 2022 เวลา 11:29 • ปรัชญา
๒๗. ผู้นำ-ผู้ตาม และ ธรรมบรรยาย
เราลองมาวินิจฉัยอย่างง่ายๆ ตรงๆ ซื่อๆ ว่าสัจธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เกินวิสัยที่มนุษย์สามัญที่จะเข้าถึง หรือว่าเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนควรจะเป็น ควรจะได้รับมันอย่างง่ายๆ
ความข้อนี้เราต้องตั้งฐานของการพิจารณาจากข้อเท็จจริงเท่านั้น สัจธรรมไม่อาจปรากฏด้วยสมมติฐานที่ห่างไกลจากข้อเท็จจริง
ถ้าจะมีสิ่งที่เรียกว่าสัจธรรม สัจธรรมนั้นต้องอยู่ใกล้ใจของมนุษย์ไม่ใช่อยู่ไกล ถ้าสัจธรรมนั้นเป็นสัจธรรมที่ลอยอยู่ที่อื่นไม่เกี่ยวข้องกับใจของมนุษย์ เราก็ไม่ควรที่จะใส่ใจสัจธรรมเช่นนั้น เพราะไม่เกี่ยวกับตัวเรา
ดังนั้นสัจธรรมต้องคือตัวเรา ฉะนั้นสัจธรรมนั้นมันจะเป็นสัจจะเด็ดขาด จะอยู่ในสภาพเช่นไร ความทุกข์สับสนนี้ถือเป็นสัจธรรมได้หรือไม่ ความสงบ ความสุข ความชั่วทรามต่างๆ สิ่งหลายสิ่งที่มีอะไรสัมพันธ์กันอยู่เหล่านี้ คุณค่าเหล่านี้ ข้อเท็จจริงมันอยู่อย่างไร นี่เป็นสิ่งแรกที่เราต้องสำรวจ
เราอาจจะไม่เรียกว่าสัจธรรม แต่เราเรียกว่าข้อเท็จจริงในตัวมัน คือ fact ในตัวมัน ว่ามันมีอยู่อย่างไร เกิดขึ้นแล้วมันให้อาการอย่างไร จากไปอย่างไร เหมือนการค้นหาสัจธรรม แทนที่จะเป็นภาระของความเชื่อ ตามที่พวกพระโฆษณานั้น กลับกลายเป็นต้องทำลายความเชื่อสิ่งที่ผู้อื่นสอนลง แต่ย้อนไปเสริมสร้างความเชื่อมั่น จากพื้นฐานที่ว่า ตัวเรานี้แหละสัจธรรม แหล่งของสัจธรรมต้องอยู่ที่ตัวเรานี่ เป็นสิ่งแรกที่นักศึกษาควรตระหนักถึงสิ่งที่เรียกว่าศาสนธรรม
โดยเฉพาะพุทธธรรมแล้ว ต้องเป็นผู้ที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ แต่เป็นผู้ที่ค้นหาข้อเท็จจริง ในสภาพชีวิตประจำวันนี้ ไม่ใช่หลังตาย ไม่ใช่ชาติก่อน และไม่ใช่ในวัดหรือในป่า ในถ้ำ การค้นหาสัจธรรมนั้นต้องในระบบชีวิตประจำวัน ในความรู้สึกนึกคิดในความดี ในความชั่ว ในความรู้สึกที่สัมผัสได้
ศิลปะแห่งการฟังนั้นก็คือศิลปะแห่งการกระทำให้ตัวเองสิ้นสับสนจากการวิพากษ์วิจารณ์ จากการตอบโต้หรือรับ จากการที่ต้องเชื่อหรือปฏิเสธ จากการที่ต้องแสดงท่าทีฉลาดหรือโง่เง่าออกมา
เรื่องราวของสัจธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องของคนฉลาดหรือคนโง่ แต่สัจธรรมนั้นก็คือสัจธรรมซึ่งไม่เกี่ยวกับความโง่หรือความฉลาด ไม่ใช่ว่าคนฉลาดเท่านั้นที่เป็นเจ้าของสัจธรรม แต่คนฉลาดอาจจะรู้ได้เร็วในขณะที่คนโง่อาจจะรู้ได้ช้า แต่ทั้งคนโง่คนฉลาดเขาเองคือที่ตั้งของสัจธรรม
เป็นสัจธรรมเช่นไร ต้องไม่ใช่สัจธรรมหลังตาย หรือไม่ใช่สัจธรรมที่เป็นบันทึกทางคัมภีร์ศาสนา สัจธรรมที่แสดงออกด้วยหนังสืออักษรทางคัมภีร์นั้น เป็นเหมือนซากของสัตว์โบราณเท่านั้น ซึ่งไม่มีชีวิต สัจธรรมเช่นนั้นพูดไปก็เหนื่อยเปล่าไม่มีประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น
ภาระแห่งการค้นหาสัจธรรมต้องทำทุกขณะจิต ไม่มีเหตุผลใดเลยที่จะบอกว่า พรุ่งนี้ค่อยทำ ทำในวัด หรือว่าขึ้นรถเมล์อยู่เพื่อจะไปฝึกสมาธิในวัด ไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะคิดเช่นนั้น ในรถเมล์ขณะที่จะไปฝึกสมาธิตรงนั้นคือการแสวงหาสัจธรรม ในขณะที่ตกทุกข์ได้ยาก น้ำตาคลอหน่วย ในขณะที่เร่าร้อน ในขณะที่ขมขื่น ในขณะที่ร่าเริง ทุกขณะจิตคือการค้นหาสัจธรรม
ธรรมบรรยาย ณ วัดสนามใน นนทบุรี ขณะนั้นท่านเขมานันทะยังครองสมณะเพศ
ถอดเทปและจัดพิมพ์ (โรเนียว-เย็บเล่ม) โดยกลุ่มศึกษาและปฏิบัติธรรม เมื่อกันยายน พ.ศ.๒๕๒๒

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา