29 เม.ย. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง
โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคไม่ติดต่อที่พบได้บ่อย สำหรับประเทศไทยพบว่า ประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มีความชุกของโรคความดันโลหิตสูง ถึงร้อยละ 24.7 เกือบราว ๆ 1 ใน 4 ของประชากรผู้ใหญ่ โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน และหลอดเลือดในสมองแตก โรคไต ภาวะตามัว และอาจพบร่วมกับโรคอ้วน เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง ถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษา ควบคุมความดันได้อย่างรวดเร็ว ก็จะลดความเสี่ยงเหล่านี้ลงได้
อะไรคือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโรคความดันโลหิต
มีความเข้าใจหนึ่งของหลาย ๆ คน มักบอกว่า ฉันสบายดี ไม่มีปวดหัว ไม่เวียนหัว ไม่มีเหนื่อย ดังนั้นฉันไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ความเข้าใจนี้ คือ เข้าใจว่า โรคความดันโลหิตสูง นั้นจะต้องมีอาการเสมอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว โรคความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่ที่ตรวจพบในผู้ป่วย ส่วนใหญ่เลย ไม่มีอาการ รู้สึกสบายดี แต่ตรวจพบจากการวัดความดันโลหิตด้วยเครื่องวัดความดัน ดังนั้น ถ้าไม่ตรวจก็ไม่รู้ ทำไมความดันโลหิตสูงแล้วคนส่วนใหญ่ที่เป็นมักไม่มีอาการ อธิบายจาก โรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่ มักจะมีความดันโลหิตสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นแล้วร่างกายจะสามารถปรับตัวได้ โดยอาศัยกลไกการหดตัวของหลอดเลือดตามอวัยวะต่าง ๆ
ถ้าอธิบายจากหลักการทางฟิสิกส์ ความดันเลือด เท่ากับ ผลคูณระหว่างอัตราไหลของเลือดกับความต้านทานของหลอดเลือด ดังนั้นแล้วเมื่อความดันเลือดสูงขึ้น อัตราไหลเลือดจะสูงมากขึ้น ถ้าร่างกายไม่ปรับตัว หรือ ความดันเลือดสูงขึ้นมาก ๆ อย่างเฉียบพลัน จะทำให้เลือดไปที่สมองมากขึ้น จนทำให้มีอาการปวดศีรษะ บางรายหลอดเลือดสมองแตกได้ แต่ร่างกายเราปกติ สามารถปรับตัวโดยการเพิ่มความต้านทานหลอดเลือดโดยอาศัยการหดตัวของหลอดเลือด ทำให้เลือดไปยังสมองลดลง จึงไม่เกิดอันตรายดังกล่าว และถ้าการเปลี่ยนแปลงความดันเป็นไปอย่างช้า ๆ ผู้ป่วยที่มีโรคความดันโลหิตสูง ย่อมไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นอะไร
ดังนั้นแล้วจึงแนะนำว่า ถ้ามีโอกาส ควรตรวจวัดความดันโลหิตของตนเอง แม้ว่าจะไม่มีอาการก็ตาม
ถ้าไปวัดที่สถานพยาบาล แล้วพบว่า ความดันโลหิตซิสโตลิก หรือความดันตัวบน มากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิเมตรปรอท หรือความดันไดแอสโตลิก หรือความดันตัวล่าง มากกว่าหรือเท่ากับ 90 มิลลิเมตรปรอท ภายหลังได้นั่งพัก งดทานกาแฟ ไม่สูบบุหรี่ และตรวจอย่างถูกต้อง ถือว่า มีภาวะความดันโลหิตสูง
นอกจากนี้ ถ้ามีเครื่องวัดความดันโลหิตอยู่ที่บ้าน ถ้าวัดความดันโลหิตซิสโตลิก หรือความดันตัวบน มากกว่าหรือเท่ากับ 135 มิลลิเมตรปรอท หรือความดันไดแอสโตลิก หรือความดันตัวล่าง มากกว่าหรือเท่ากับ 85 มิลลิเมตรปรอท ถือว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง
ขอเน้นย้ำอีกที ว่า ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ ถ้ามีอาการแปลว่าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง หรือมีภาวะความดันโลหิตสูงมาก ๆ และสูงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะความดันสูงกว่า 180/110 มิลลิเมตรปรอท
แนะนำว่าควรตรวจวัดความดันโลหิต ปีละ 1 ครั้ง อย่ารอให้เป็นโรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือ โรคไต เสียก่อน ก่อนที่จะรู้ว่าตัวเองนั้นมีโรคความดันโลหิตสูง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา