6 พ.ค. 2022 เวลา 01:31 • สุขภาพ
ใบแปะก๊วย ช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้จริงหรือ
ใบแปะก๊วย (Ginkgo biloba)
ภาวะสมองเสื่อม (dementia) เป็นภาวะที่บุคคลมีความผิดปกติในการจดจำ การคิดเป็นเหตุเป็นผล และความสามารถในการตัดสินใจ ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมส่วนใหญ่มักมีอาการสูญเสียความทรงจำร่วมกับความผิดปกติอื่น ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ ความสามารถในการพูด การเขียน การจดจำสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือการวางแผนการจัดการปัญหาที่ซับซ้อน
ภาวะสมองเสื่อม ถือเป็นปัญหาที่สำคัญในยุคปัจจุบัน และทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคสมัยของสังคมผู้สูงอายุ (aging society) โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ คิดเป็นร้อยละ 60-80 ของผู้ป่วยสมองเสื่อมทั้งหมด
ด้วยปัญหาดังกล่าว มนุษย์เราจึงพยายามค้นหาวิธีในการป้องกันภาวะสมองเสื่อม หนึ่งในแนวทางที่เราได้ยินมาช้านาน คือ การรับประทานใบแปะก๊วย (Ginkgo biloba) เรามักได้ยินการนำสารสกัดของใบแปะก๊วยมาใส่ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และโฆษณาต่าง ๆ ว่ามีคุณสมบัติในการเพิ่มความจำ และอาจป้องกันโรคสมองเสื่อมได้อยู่ตลอดเวลา
แล้วใบแปะก๊วยสามารถป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้จริงหรือไม่
จากงานวิจัยทางการแพทย์ขนาดใหญ่ เปรียบเทียบการใช้สารสกัดจากใบแปะก๊วยเทียบกับยาหลอกในผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 75 ปี) จำนวน 3000 กว่าราย หลังติดตามไปราว ๆ 6 ปี พบว่า ใบแปะก๊วยไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันภาวะสมองเสื่อม รวมทั้งไม่สามารถป้องกันการเสื่อมถอยของสติปัญญาอีกด้วย (อัตราการเกิดภาวะสมองเสื่อมในกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากใบแปะก๊วย ไม่แตกต่างกับกลุ่มคนที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ) นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยทางการแพทย์อีกงานหนึ่ง ทำการทดลองในผู้ป่วยที่เริ่มมีปัญหาเรื่องความจำ (mild cognitive impairment) พบว่าสารสกัดจากใบแปะก๊วยก็ไม่สามารถลดโอกาสการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน หลังจากติดตามผู้ป่วยไปนาน 5 ปี
นอกจากการป้องกันภาวะสมองเสื่อมแล้ว การนำสารสกัดจากใบแปะก๊วยมาใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมแล้วยังมีประสิทธิภาพในการรักษาที่ไม่แน่ชัดอีกด้วย (มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งรายงานว่ามีประสิทธิภาพ แต่งานวิจัยอื่น ๆ ซึ่งระเบียบวิธีวิจัยรัดกุมมากกว่า รายงานว่าสารสกัดจากใบแปะก๊วยไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา)
ดังนั้นแล้ว ใครที่พยายามหาใบแปะก๊วยหรือสารสกัดจากใบแปะก๊วยมารับประทานโดยหวังที่จะทานเพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อม ขอบอกตรงนี้เลยว่า "ไม่มีประโยชน์" และถ้าทานมากไปอาจมีภาวะแทรกซ้อนโดยเฉพาะภาวะเลือดออกง่าย เนื่องจากเกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ การทานใบแปะก๊วยหรือสารสกัดนั้น ต้องระมัดระวังถ้ารับประทานร่วมกับยาต้านเกล็ดเลือด หรือ ยาละลายลิ่มเลือด หรือในผู้ป่วยที่กำลังจะต้องผ่าตัดเพราะอาจมีภาวะเลือดออกไม่หยุดได้
ฟังมาเช่นนี้แล้ว คงมีคำถามต่อ ถ้าแปะก๊วยไม่ได้ผล แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อมกันดี
ปัจจุบันงานวิจัยทางการแพทย์หลาย ๆ งานวิจัย พบว่ายังไม่มีแนวทาง วิธี หรือยาอย่างใดอย่างหนึ่ง ในการป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้อย่างชะงัก อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำทางการแพทย์เบื้องต้นในการป้องกันภาวะสมองเสื่อมดังนี้
- กระตุ้นผู้สูงอายุทั้งมีภาวะสมองเสื่อมเริ่มแรกหรือคนที่ยังไม่เป็นแต่มีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม ให้มีกิจกรรมทางกาย (physical activity) รวมทั้งออกกำลังกายให้บ่อยครั้งมากเท่าที่ทำได้ กระตุ้นให้มีกิจกรรมที่ใช้สมอง (จะฝึกบวกลบคูณหาร เล่นเกม หรือเล่นไพ่ก็ได้นะครับ ถ้าชอบ) รวมทั้งกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม กระตุ้นให้มีการสื่อสารระหว่างคนรอบข้างอย่างสม่ำเสมอ
- ถ้ามีโรความดันโลหิตสูงซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม ให้รักษาและควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- เลือกรับประทานอาหารสไตล์เมดิเตอเรเนียน (Mediterranean diet) กล่าวคือ ทานผัก ผลไม้ ถั่ว โฮลเกรน ธัญพืชไม่ขัดสี และเลือกใช้น้ำมันมะกอกเป็นแหล่งของไขมัน ซึ่งอาหารสไตล์นี้มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่ามีประโยชน์ในการลดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย
- นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการนอนหลับที่ไม่เพียงพอกับโอกาสการเกิดภาวะสมองเสื่อม ดังนั้นจึงควรนอนหลับอย่างน้อยวันละ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม
นอกจากการใช้ใบแปะก๊วยจะไม่มีประโยชน์ในการป้องกันภาวะสมองเสื่อม การใช้ยาวิตามินที่มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ ยาลดไขมันชนิดสตาติน ยากลุ่มที่ใช้รักษาอัลไซเมอร์ชนิด cholinesterase inhibitors การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเสริมในผู้หญิงหมดประจำเดือน ยาเอ็นเสด (NSAIDs) พบว่าไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันภาวะสมองเสื่อมเช่นกัน
โดยสรุป ถ้าอยากป้องกันสมองเสื่อม ไม่ต้องหาซื้อใบแปะก๊วยหรือสารสกัดมารับประทานให้สิ้นเปลืองเงินครับ แนะนำให้ออกกกำลังกายหรือมีกิจกรรมทางกายให้มากขึ้น หากิจกรรมฝึกสมอง ร่วมกับการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมให้มากขึ้น ถ้ามีโรคความดันโลหิตสูงให้รักษาควบคุมให้ดี เลือกรับประทานอาหารสไตล์เมดิเตอเรเนียน เน้นผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ใช้น้ำมันมะกอก และนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และถ้าเริ่มมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ สงสัยว่าจะเข้าข่ายภาวะสมองเสื่อม แนะนำให้ไปพบอายุรแพทย์ระบบประสาทหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองครับ เท่านี้ก็สามารถชะลอการเสื่อมของสมองลงได้ไม่มากก็น้อยแล้วหละครับ
เอกสารอ้างอิง
- DeKosky ST, Williamson JD, Fitzpatrick AL, Kronmal RA, Ives DG, Saxton JA, Lopez OL, Burke G, Carlson MC, Fried LP, Kuller LH, Robbins JA, Tracy RP, Woolard NF, Dunn L, Snitz BE, Nahin RL, Furberg CD; Ginkgo Evaluation of Memory (GEM) Study Investigators. Ginkgo biloba for prevention of dementia: a randomized controlled trial. JAMA. 2008 Nov 19;300(19):2253-62. doi: 10.1001/jama.2008.683. Erratum in: JAMA. 2008 Dec 17;300(23):2730.
- Snitz BE, O'Meara ES, Carlson MC, Arnold AM, Ives DG, Rapp SR, Saxton J, Lopez OL, Dunn LO, Sink KM, DeKosky ST; Ginkgo Evaluation of Memory (GEM) Study Investigators. Ginkgo biloba for preventing cognitive decline in older adults: a randomized trial. JAMA. 2009 Dec 23;302(24):2663-70.
- Vellas B, Coley N, Ousset PJ, Berrut G, Dartigues JF, Dubois B, Grandjean H, Pasquier F, Piette F, Robert P, Touchon J, Garnier P, Mathiex-Fortunet H, Andrieu S; GuidAge Study Group. Long-term use of standardised Ginkgo biloba extract for the prevention of Alzheimer's disease (GuidAge): a randomised placebo-controlled trial. Lancet Neurol. 2012 Oct;11(10):851-9.
โฆษณา