3 พ.ค. 2022 เวลา 14:10 • ปรัชญา
“ไม่ว่าเราเริ่มต้นด้วยกาย สุดท้ายก็จบลงที่การเห็นอริยสัจ
จะเริ่มด้วยเวทนา สุดท้ายก็จบลงที่อริยสัจ
จะเริ่มจากจิต สุดท้ายก็ลงที่อริยสัจ”
“ … เมื่อวานหลวงพ่อสอนพวกเราหัดดูใจเรา มันมีน้ำหนักขึ้นมา
ปรุงดีก็หนัก ปรุงชั่วก็หนัก ห้ามมันไม่ได้
เพราะความปรุงแต่งทั้งหลาย มันก็นำความทุกข์มาทั้งนั้น
แล้วอยู่ๆ จะไม่ให้ปรุงแต่ง มันก็เป็นไปไม่ได้
จิตมันเคยชินที่จะปรุงแต่ง มันไม่เข้าใจอริยสัจ
ตราบใดที่ไม่เข้าใจอริยสัจ จิตก็ยังปรุงแต่งไม่เลิก
อริยสัจก็เรื่องของทุกข์ เรื่องสมุทัย เรื่องนิโรธ เรื่องมรรค
เวลาเรียนรู้ เราเรียนรู้จากสิ่งที่เรามี
เรามีทุกข์อยู่
สิ่งที่เรียกว่าทุกข์ ก็คือกายกับใจของเรานี่เอง
เราเรียนจนเห็นความจริง
ร่างกายนี้ไม่ใช่ของดีของวิเศษ
ร่างกายนี้มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ไม่ใช่มีทุกข์กับสุขหรอก
พอเห็นอย่างนี้ มันก็จะละสมุทัยได้
รู้ทุกข์เมื่อไหร่ก็ละสมุทัยเมื่อนั้น
สมุทัยก็คือความอยาก
ความไม่รู้ทุกข์เป็นรากเป็นเหง้าให้เกิดตัณหา
อย่างพอเราดูลงไป เราเห็นกายนี้คือตัวทุกข์ล้วนๆ
มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ใจมันเห็นแจ้งตรงนี้
ใจมันก็จะหมดความอยากที่จะให้ร่างกายเป็นสุข
หมดความอยากที่จะไม่ให้ร่างกายมีความทุกข์
ตรงอยากให้มันดี อยากให้มันสุขอะไรนี่ ก็เป็นกามตัณหา
มันเกิดอยากแล้ว มันพอใจในอารมณ์อันนี้
มันก็อยากให้อยู่นานๆ อันนั้นเรียกว่าภวตัณหา
มันเห็นทุกข์ขึ้นมา เกิดใจไม่ชอบ
อยากให้หมดไปสิ้นไป เรียกว่าวิภวตัณหา
ฉะนั้นตัณหาจริงๆ เกิดจากการที่เราไม่รู้ทุกข์
ถ้าเรารู้ทุกข์ของกาย
เราก็จะสิ้นตัณหาในส่วนของกาย
แล้วถ้าเราฝึกเรียนรู้ความจริงของจิตใจ
เราก็จะเห็นว่าจิตใจนี้เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ
มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย
ตรงนี้ดูยาก
อย่างจะดูร่างกายว่ามีแต่ทุกข์ล้วนๆ ก็ยากแล้ว
เพราะเราเห็นว่ากายเราเดี๋ยวก็สุขเดี๋ยวก็ทุกข์
ดูจิต จะให้เห็นว่ามันทุกข์ล้วนๆ ยิ่งยากเข้าไปอีก
เพราะมันละเอียด
เราเห็นได้แค่ว่าจิตใจเราเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์
พอเห็นว่ามันมีทางเลือก สุขก็มี ทุกข์ก็มี
ใจมันก็อยากได้ความสุข ดิ้นรนหาความสุข
สังขารคือภพ มันก็เกิดขึ้น
พอใจมันมีความอยากขึ้นมา
ใจมันก็เกิดความดิ้นรนขึ้นมา
ตัวความดิ้นรนของใจ ของจิตนั่นล่ะ เรียกว่าภพ
เราค่อยภาวนาทุกวันๆ ค่อยๆ ดูไป
ร่างกายนี้เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง จริงหรือเปล่า
หรือเป็นทุกข์ล้วนๆ แต่ทุกข์น้อยบ้าง ทุกข์มากบ้าง
จิตใจนี้เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง จริงหรือเปล่า
หรือว่าจิตใจนี้มีแต่ทุกข์
เพียงแต่ทุกข์มากบ้าง ทุกข์น้อยบ้าง
ถ้าเราเห็นจนถึงขนาดว่า
กายนี้ใจนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ
มากบ้างน้อยบ้าง ก็ทุกข์ทั้งนั้น
เห็นอย่างนี้ถึงจะละสมุทัยได้ ถึงจะละตัณหาได้
แต่ถ้าเห็นว่ากายนี้มีทางเลือก 2 ทาง
สุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้
จิตนี้มีทางเลือก 2 ทาง สุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้
มันก็จะอยากได้สิ่งที่ดี
อยากได้สุข อยากให้ความทุกข์ไม่มี
ความอยากมันเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นตัวอวิชชา ความไม่รู้ความจริง
ความไม่รู้ทุกข์นั่นล่ะ เป็นรากเป็นเหง้าให้เกิดตัณหา
เกิดความอยาก พอใจมันเกิดความอยาก
มันก็จะเกิดความยึดถือ แล้วก็เกิดความดิ้นรน
มันจะยึดถืออารมณ์ดี อารมณ์ร้าย
สุข ทุกข์อะไรพวกนี้ จะยึดถือ
พอมันเข้าไปยึดถือ
มันจะไปหยิบฉวยเอาอายตนะขึ้นมา
ตรงนี้ดูยากแล้ว
แต่ถ้าเราภาวนาเรื่อยๆ บางทีเราเห็นได้
ถึงเป็นปุถุชนก็เห็นได้
เคยมีโยมคนหนึ่งเล่าให้หลวงพ่อฟัง
อย่างเขาเห็นว่าจิตเขาบางทีก็ปล่อยวางจิต
บางทีก็หยิบฉวยจิตขึ้นมาอีก ยึดถือขึ้นมาอีก
ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ทำไมยังไปหยิบขึ้นมาอีก
เพราะมันไม่แจ้งอริยสัจนั่นล่ะ
มันไม่รู้ว่าจิตนี้คือตัวทุกข์ล้วนๆ
อย่างเห็นจิตนี้สุขบ้างทุกข์บ้าง
มันก็ยังชอบใจจิตที่มีความสุข
เกลียดจิตที่มีความทุกข์ ก็ดิ้นรน
พอดิ้นรน ขณะที่ดิ้นรน ก็ประคองรักษาจิตเอาไว้
ยึดถือเอาจิตขึ้นมา
พอมีจิตขึ้นมา ความเกิดก็เกิดขึ้นแล้ว
การยึดถือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจมีขึ้น
ความทุกข์ก็เกิดขึ้นมา
ตรงที่จิตเราเข้าไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย
โดยเฉพาะการหยิบฉวยใจขึ้นมา
เรียกว่าชาติ มีชาติขึ้นมา
ไปหยิบฉวยขึ้นมาปุ๊บ ความทุกข์มันเกิดขึ้นทันทีเลย
ทำไมความทุกข์เกิดขึ้นกับจิตเราได้ทันที
ก็เพราะสิ่งที่เราไปหยิบฉวยนั้น
ที่จริงมันคือตัวทุกข์
รูปธรรมทั้งหลายเป็นตัวทุกข์
ตา หู จมูก ลิ้น กาย มันส่วนของรูปธรรม
นามธรรมทั้งหลายก็คือตัวทุกข์
คือตัวใจของเรานั้น
พอเราไม่เห็นความจริง
เราก็ไปหยิบฉวยเอาตัวทุกข์ขึ้นมาว่าเป็นตัวเราๆ
จิตมันก็เลยทุกข์ขึ้นมา ความทุกข์ก็เกิดขึ้น
นี่กระบวนการที่จิตใจมันทำงาน
มันก็เริ่มมาตั้งแต่เราไม่เห็นความจริงว่ากายนี้ใจนี้คือทุกข์ล้วนๆ ไม่ใช่ทุกข์บ้างสุขบ้าง
มันเป็นทุกข์ล้วนๆ
เพียงแต่ทุกข์มากบ้าง ทุกข์น้อยบ้าง
ถ้าเราสามารถเห็นความจริงตรงนี้ได้
มันจะละตัณหา ละอุปาทาน
ตัณหาเป็นความอยาก อุปาทานเป็นความยึด
พอเราอยากได้อะไรเราก็ยึดอันนั้นไว้
พอมีอุปาทาน ก็มีภพ คือความดิ้นรนของจิต
พอเกิดความดิ้นรนของจิต จะเกิดชาติ
คือการที่จิตมันเข้าไปหยิบฉวยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
โดยเฉพาะการหยิบฉวยเอาใจขึ้นมา
ตัวนี้เป็นตัวสุดท้ายที่จะวางได้
กายนี้เป็นตัวที่มันจะวางได้ก่อน
เพราะมันเห็นง่ายว่ากายนี้มีแต่ทุกข์ ไม่มีของดีหรอก
แต่การจะเห็นว่าจิตนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ ไม่มีของดีหรอก ยากกว่ากัน
แต่ไม่ว่าจะภาวนาอย่างไร
สุดท้ายมันก็ต้องลงมาที่จิตนี่เอง มาตัดกันที่จิตนี่เอง
ตราบใดที่ยังปล่อยวางจิตไม่ได้
การเวียนว่ายตายเกิดก็ยังมี
เพราะว่าอวิชชายังอยู่
มันแค่เห็นว่ากายนี้ไม่ดี ไม่ยึดกาย
แต่มันไปยึดจิตอยู่
สุดท้ายจะจบลงที่อริยสัจ
การที่หลวงพ่อเล่าให้ฟัง
การปฏิบัติมันมีความยึดกาย มีความยึดจิต
มันวางกายได้ก่อน วางจิตได้ทีหลัง
อันนั้นเป็นกระบวนการปล่อยวางของมัน
แต่เวลาที่ลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่ทุกคนต้องเริ่มจากกายก่อน
สติปัฏฐาน 4 กาย เวทนา จิต ธรรม
เปรียบเหมือนประตูเมือง 4 ทิศ
เราเข้าทิศไหนได้ เราก็เข้าเมืองได้
คือถึงฝั่ง ถึงพระนิพพานได้
อยู่ที่จริตนิสัยของเรา
ถ้าจริตนิสัยเราชอบดูกาย เห็นกายมันทำงานได้
ก็เริ่มไปด้วยกายก่อน
บางคนดูกาย จิตใจไม่ชอบไม่อยากดู
ชอบดูเวทนา ก็เริ่มจากเวทนาก่อน
บางคนชอบดูจิต จิตที่เป็นกุศล จิตที่เป็นอกุศล
เกิดดับหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง ไม่หยุด
ถนัดดูจิตก็ดูจิตเอา
หรือจะดูรูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น
ดูกุศลอกุศลทั้งหมดทั้งสิ้นอะไรอย่างนี้
อันนั้นเป็นขั้นละเอียด
หรือเห็นกระบวนการทำงาน
กระบวนการปรุงแต่งความทุกข์
อันนั้นอยู่ในส่วนของธัมมานุปัสสนา ยากๆ
เบื้องต้นก็ดูกาย ดูเวทนา ดูจิตไปก่อน ของง่ายๆ
แล้วสุดท้ายทุกคนจะลงไปที่ธัมมานุปัสสนาทุกคน
เพราะถ้าไม่แจ้งอริยสัจ
อริยสัจเป็นธัมมานุปัสสนาตัวสุดท้ายเลย สูงสูด
เรียกว่าสัจจบรรพ
ในสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาอยู่สูงสุด
ในธัมมานุปัสสนา มีการรู้รูปนามหลากหลาย
ทั้งอกุศล คือนิวรณ์ทั้งหลาย
ทั้งกุศล คือเรื่องของโพชฌงค์
เรียนเรื่องขันธ์ เรื่องธาตุ อายตนะอะไรพวกนี้ มากมาย
แต่ลงท้ายลงด้วยอริยสัจ ลงด้วยปฏิจจสมุปบาท
ไม่ว่าเราเริ่มต้นด้วยกาย สุดท้ายก็จบลงที่การเห็นอริยสัจ
จะเริ่มด้วยเวทนา สุดท้ายก็จบลงที่อริยสัจ
จะเริ่มจากจิต สุดท้ายก็ลงที่อริยสัจ
ทำไมหลวงพ่อพูดเรื่องจิตเยอะ
ก็เรื่องกายเขาพูดกันไปเยอะแล้ว
ครูบาอาจารย์ท่านเคยบอกไว้ว่า คนรุ่นต่อไปนี้
รุ่นต่อไปนี้หมายถึงต่อจากเมื่อ 30 – 40 ปีก่อน
ท่านบอกว่าจะเป็นพวกเจ้าความคิดเจ้าความเห็น
จริตนิสัยเจ้าความคิดเจ้าความเห็น
ไปดูกายก็ไม่มีความสงบพอที่จะดู
มันจะไปคิดเรื่องกายเสียมาก
ดูเวทนา จิตใจก็ทำไม่ไหว ไม่สงบพอ ไม่มีกำลังพอ
เพราะไม่มีสมาธิ เห็นทุกข์เข้า เดี๋ยวก็ทนไม่ได้
ฉะนั้นพวกช่างคิด จิตใจวอกแวกๆ อย่างพวกเราในยุคนี้
บางทีครูบาอาจารย์ท่านเรียกพวกคนเมือง
คนเมืองไม่ได้ทำมาหากินด้วยการออกแรงใช่ไหม
ส่วนใหญ่ก็อาศัยการคิดเอาเป็นตัวหลัก
คิดทำมาหากินอย่างโน้นอย่างนี้
ว่างๆ จากการคิดทำมาหากิน
ก็คิดเรื่องอื่นๆ ต่อไปอีก
คิดเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
การเมืองระหว่างประเทศ เรื่องการทหาร
การสงครามอะไร สารพัดจะคิด
ฉะนั้นเรื่องสมาธิ จะให้มันแข็งแรงเหมือนรุ่นครูบาอาจารย์ มันยาก ของเรามันเต็มไปด้วยเรื่องที่ต้องคิดมากมาย
ฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า
ต่อไปนี้การดูจิตจะรุ่งเรืองในเมือง
เพราะการดูจิตมันเหมาะกับพวกทิฏฐิจริต
อันนี้ในตำรามี การดูจิตมันเหมาะกับพวกทิฏฐิจริต
พวกเจ้าความคิด พวกเจ้าความเห็น
มันเป็นคนละเรื่องกับการทำสมาธิ
การทำสมาธิอยู่ในเรื่องกรรมฐาน 40 ข้อ
ถนัดอันไหนก็เอาอันนั้น
ทำไปแล้วจิตสงบขึ้นมา
ส่วนการเจริญปัญญา
จะดูกายก่อน ดูเวทนาก่อน หรือดูจิตก่อน
แล้วแต่จริตนิสัย
พวกช่างคิดดูจิตไปเลย
แล้วสมาธิระดับอัปปนาสมาธิจะเกิดขึ้นทีหลัง
พวกดูกาย เวทนา สมควรทำสมาธิให้ได้อัปปนาสมาธิก่อน
แล้วมาดูกาย เวทนา มันจะดูได้ดี ดูได้ง่าย
ถ้าใจไม่มีสมาธิระดับอัปปนาสมาธิ ไปดูกาย ไม่ได้เรื่องอะไร
อย่างถ้าจิตเรามีสมาธิระดับอัปปนาสมาธิ
เราดูลงที่กาย ดูผม ผมสลายเลย
ดูขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ดูลงไป
มีแต่สลายตัวให้เราดู
แสดงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ให้ดูต่อหน้าต่อต่อตาเลย
ด้วยกำลังของสมาธิระดับฌาน
ถ้าเราไม่มีกำลังระดับนั้น
ใจเราวอกแวกๆ ทั้งวัน คิดโน่นคิดนี่
หาความสงบยาวๆ ไม่ได้ เราก็ดูจิตเอา …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
24 เมษายน 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา