Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
2 พ.ค. 2022 เวลา 13:41 • ไลฟ์สไตล์
“เวลาฟังธรรมะ ฟังสบายๆ ไม่ต้องฟังเครียดๆ
ไม่ต้องฟังเพื่อจะให้รู้เรื่อง
ถ้าอยากรู้เรื่องเป็นเรื่องๆ ไปอ่านพระไตรปิฎก
แต่ถ้าฟังไปแล้วก็สังเกตจิตใจของเราไปเรื่อยๆ
ต่อไปเราจะภาวนาเป็น”
“ … รู้สึกด้วยใจธรรมดา
ขั้นแรกมันก็จะเห็นร่างกายมันทำงาน
หรือจิตใจมันทำงาน สุข ทุกข์ ดี ชั่ว มันทำงานขึ้นมา
ก็แค่ของถูกรู้ถูกดู มันไม่ใช่จิตใจเรา
ร่างกายมันถูกรู้ถูกดู คนที่รู้ที่ดูก็คือจิต
ไม่ต้องไปหามันว่าอยู่ที่ไหน
แค่เห็นว่ามีสิ่งบางสิ่งถูกรู้อยู่
ขณะนั้นมีตัวรู้ขึ้นมาแล้ว ไม่ต้องไปหามัน
ถ้าพยายามหาตัวรู้จะสับสนวุ่นวาย ฟุ้งซ่านทันทีเลย
ถ้าเรามาทางฌาน ตัวรู้นี้จะเด่นดวงอยู่ อันนี้ดูง่าย
แต่ถ้าเราจะใช้ทางขณิกสมาธิ
เคลื่อนไหวแล้วรู้สึกอะไรอย่างนี้
สุข ทุกข์ ดี ชั่วแล้วรู้สึก
สมาธิที่เกิดมันจะสั้นๆ เป็นขณิกะ
ตัวรู้มันยัง … ช่วงแรกๆ มันยังไม่เด่นหรอก
ต้องฝึกรู้บ่อยๆๆๆ
สุดท้ายตัวรู้ก็เด่นดวงได้
คล้ายๆ เทียบกับตัวรู้ที่ได้จากการทำฌาน
ไม่เท่าเขาแต่พอใช้ พอใช้งาน พอทำวิปัสสนาได้
ฉะนั้นต่อไปนี้หายใจออกรู้สึก หายใจเข้ารู้สึก
ใจไม่แน่น ไม่จงใจรู้สึก รู้สึกด้วยใจธรรมดา
แล้วต่อไปมันจะเห็นจิตใจนี้
เดี๋ยวก็รู้การหายใจ เดี๋ยวก็ไปคิดเรื่องอื่น
พอมีสติรู้ทันมันเข้าไปอีก
ก็จะเห็นเลยจิตรู้ก็ไม่เที่ยง
จิตไหลไปคิดก็ไม่เที่ยง จิตไหลไปเพ่งก็ไม่เที่ยง
ก็อย่างนี้ก็เดินปัญญาได้ คือภาวนาเป็น
อยากทำสมถะก็ง่ายๆ
สมถะไม่เลือกอารมณ์ อารมณ์อะไรก็ได้
แต่ถ้าจะทำวิปัสสนาใช้อารมณ์รูปนาม รู้กายรู้ใจ
แล้วก็รู้ด้วยใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่ใจที่แข็งๆ
ใจธรรมดา หัดรู้ด้วยใจธรรมดาบ่อยๆ
ในที่สุดใจธรรมดามันก็ทรงตัวอยู่
ใจธรรมดานั่นล่ะคือตัวจิตผู้รู้
ใจที่มันไม่ธรรมดามันเป็นจิตผู้หลง ผู้ปรุง ผู้แต่ง
ฉะนั้นถ้าใจเรามีหนักๆ ขึ้นมา
แสดงว่ายังไม่ใช่ผู้รู้หรอก ยังเป็นผู้ปรุงแต่งอยู่
เมื่อก่อนหลวงพ่อภาวนา ยังเป็นโยมอยู่
หัดใหม่ๆ แล้วเราก็เห็นเลย
ใจเราแต่ละวันไม่เหมือนกัน
บางวันปลอดโปร่ง สบาย
บางวันเคร่งเครียด หนักๆ แน่นๆ
แต่ละวันไม่เคยเหมือนกันเลย
พอภาวนาละเอียดมากขึ้นก็เริ่มเห็นอีก
ในวันเดียวกันเช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ ดึก
ใจเราก็ไม่เหมือนกัน เดี๋ยวหนัก เดี๋ยวเบา
เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
ในวันเดียวเปลี่ยนตั้งหลายรอบ
เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ ดึก ไม่เหมือนกัน
หัดทีแรกก็ดูเป็นวันๆ
โอ้ จิตใจเราแต่ละวันไม่เคยเหมือนกันเลย
วันนี้สุข วันนี้ทุกข์ วันนี้สงบ วันนี้ฟุ้งซ่าน
พอหัดดูบ่อยๆ สติ สมาธิมันละเอียดขึ้น
จะเห็นในวันเดียวกันนั่นล่ะ
เช้ามันก็อย่างหนึ่ง สายมันก็อย่างหนึ่ง
กลางวัน ตอนบ่าย ตอนค่ำ ตอนดึก
ใจเราไม่เคยเหมือนกันเลย
แล้วพอฝึกมากเข้าๆ
เห็นแต่ละขณะใจเราก็ไม่เหมือนกัน
ขณะที่ตาไปมองเห็นรูปใจเราก็เปลี่ยน
มีน้ำหนักขึ้นมา หนักบ้าง เบาบ้าง
ตอนที่หูได้ยินเสียงใจก็มีน้ำหนักขึ้นมา
หนักบ้าง เบาบ้าง
หลวงพ่อภาวนาไม่ได้ใช้กายเป็นหลัก
หลวงพ่อใช้จิตเป็นหลัก
จะเห็นจิตไปดูรูปน้ำหนักก็เกิด
จิตไปฟังเสียงน้ำหนักก็เกิด
กระทบอารมณ์ทางตาก็มีน้ำหนัก
กระทบอารมณ์ทางหูก็มีน้ำหนัก
กระทบทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
กระทบความคิดทางใจก็มีน้ำหนักขึ้นมา
ก็เห็นใจนี้เดี๋ยวหนัก
เดี๋ยวเบา เดี๋ยวหนัก เดี๋ยวเบา
บังคับมันไม่ได้ ควบคุมมันไม่ได้
ถึงจุดหนึ่งมันก็จะเข้าใจหรอก
จิตใจไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเราหรอก
เราสั่งอะไรมันไม่ได้สักเรื่อง
ฉะนั้นเราคอยรู้สึกไป
ถ้าเรารู้สึกตัวเองได้ รู้สึกใจได้
รู้สึกใจมี 2 ขั้น
ถ้าขั้นละเอียดตาเห็นรูปใจเราเปลี่ยน รู้สึก
หูได้ยินเสียงใจเราเปลี่ยน รู้สึก
จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส
ใจเราเปลี่ยนแปลง รู้สึก
ใจเราคิดเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในใจ รู้สึก
เดี๋ยวหนัก เดี๋ยวเบา เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์
เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย จะเกิดขึ้น รู้สึกเรื่อยๆ
มันเกิดตามหลังการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อันนี้ดูจิตอย่างละเอียด
ถ้าดูจิตอย่างง่ายๆ เราขี้โมโหเราก็เห็น
จิตเดี๋ยวก็โมโห เดี๋ยวก็ไม่โมโห
เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็ไม่โลภ
นี่สำหรับพวกขี้โลภก็ดูจิตโลภ
ถ้าพวกฟุ้งซ่านก็ดูไป
เดี๋ยวจิตก็ฟุ้งซ่าน เดี๋ยวก็ไม่ฟุ้งซ่าน
ต่อไปก็จะเห็นโลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน เป็นของถูกรู้
จิตเป็นคนรู้ มันไม่ใช่จิตหรอก
เพียงแต่จิตรู้แล้วจิตโดนมันครอบ
โดนมันครอบงำเลยรู้สึกว่าเรา
เราโลภ เราโกรธ เราหลง เราสุข เราทุกข์
แต่ขันธ์มันแยกออก แต่มันจะไม่มีเรา
ความเป็นเรา อาศัยการประชุมกันของขันธ์
แล้วก็สัญญาเข้าไปหมายผิดๆ ก็มีเราขึ้นมา
แต่ถ้าเราแยกขันธ์ไป ค่อยๆ แยกไป
สุข ทุกข์ ก็ขันธ์หนึ่ง
ดี ชั่ว ก็ขันธ์หนึ่ง
จิตที่เป็นคนรู้ก็เป็นขันธ์หนึ่ง
อย่างนี้ก็แยกขันธ์ได้
หรือเห็นร่างกายก็อันหนึ่ง เป็นของถูกรู้ถูกดู
จิตเป็นคนรู้คนดู นี่ก็แยกขันธ์ได้
พอแยกขันธ์ได้แล้วก็ดูจะเห็นไตรลักษณ์
อันนั้นขึ้นวิปัสสนาจริงๆ
สังเกตไหมฟังหลวงพ่อเทศน์
ตอนนี้ใจสงบรู้สึกไหม
ส่วนใหญ่ใจสงบ อ่านใจตัวเองไปอย่างนี้
ถ้าฟังหลวงพ่อเทศน์แล้วหวังว่าจะรู้เรื่อง
ไม่ได้ผลอะไรหรอก
ฟังเล่นๆ กรรมฐานไม่ได้ฟังเอาจริงเอาจัง
ไม่ได้ฟังแบบจดเล็กเชอร์
ฟังไปเราก็อ่านจิตตัวเองไปเรื่อยๆ
เมื่อก่อนไปเรียนกับครูบาอาจารย์
ถ้าเราไปนั่งจด ท่านเทศน์อย่างนี้จดๆๆ โดนดุนะ
ท่านให้เราภาวนาไปเลย แล้วท่านก็เทศน์ไป
เดี๋ยวเทศน์เรื่องโน้น เดี๋ยวเทศน์เรื่องนี้
เดี๋ยวเล่าเรื่องเสือ เรื่องช้าง เรื่องหมี เรื่องผี
ใจเราก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปเรื่อย เปลี่ยนๆๆ ไป
แล้วถ้าเรามีสติระลึกอยู่แป๊บเดียวเราก็เข้าใจแล้ว
ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปทั้งสิ้น
สังเกตไหมใจตอนนี้ กับใจเมื่อกี้ก็ไม่เหมือนกันแล้ว รู้สึกไหม
เพราะตอนนี้เริ่มจะพยายามสังเกตใจแล้ว รู้สึกไหม
ตรงที่เริ่มพยายามจะสังเกต แน่นขึ้นมาแล้ว
ตอนที่ฟังหลวงพ่อแล้วเพลินๆ
หลวงพ่อพูดอย่างโน้นอย่างนี้
จับเนื้อหาสาระไม่ค่อยจะได้
ฟังหลวงพ่อเทศน์ไม่ต้องเอาเนื้อหาสาระหรอก
ฟังแล้วก็รู้สึกกายรู้สึกใจของตัวเองไป
แล้วเวลาธรรมะมันพอดีกับใจเรา
ใจมันจะ alert ขึ้นมา มันจะตื่นตัวขึ้นมา
มันจะเข้าใจขึ้นมา
อย่างนั่งฟังครูบาอาจารย์เทศน์
บางทีก็เครียดขึ้นมา เรารู้ว่าเครียด
บางทีฟังแล้วใจเราเบิกบานขึ้นมา เรารู้ว่าเบิกบาน
ไม่ได้ฟังเอาเรื่องหรอก
ไม่ใช่ฟังเอาเรื่องราวอะไรมากมาย
“คิดดีก็ใจเย็น คิดไม่เป็นจะเย็นสบาย”
กรรมฐานเขาเรียนกันสนุกนะ หลวงพ่อเคยเจอครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ชื่อหลวงพ่อเกษม เขมโก หลวงพ่อเกษมขึ้นชื่อลือชาเรื่องอภิญญา
หลวงพ่อไปสัมมนาที่ลำปาง ตกค่ำคนอื่นเขาก็กินเลี้ยงกัน เฮฮา เข้าผับ เข้าบาร์ เราไม่
ชวนพวกที่ชอบเข้าวัดด้วยกันได้ 3 – 4 คน ไปกราบหลวงพ่อเกษม กลางคืนแล้วกว่าจะเสร็จธุระ ไปถึงสุสานไตรลักษณ์มืดตึ๊ดตื๋อเลย นึกว่าจะเปลี่ยวเพราะเป็นสุสาน ที่ไหนได้เข้าไปคนเต็มเลย
คนมานั่งอยู่เยอะแยะเลย จะมารอหวยกะว่าถ้าหลวงพ่อทำอะไรขึ้นมา จะตีความเป็นเลขได้หมด
เราเข้าไปแล้ว โอ้โห คนเยอะแยะเลยถ้าจะไม่ได้เจอหลวงพ่อเกษม เข้าไปนั่งอยู่ใต้ถุนกุฏิหลังหนึ่ง
แป๊บเดียวก็มีลูกศิษย์ท่านเดินมาบอก บอกวันนี้เป็นวันพระหลวงพ่อไม่รับแขกหรอก
หลวงพ่อก็ครับๆ เสียดายไม่ได้เจอท่าน แต่ว่าก็ยอมรับกติกา ไม่พยายามฝ่าฝืนกติกาท่าน ท่านว่าอย่างนั้นเราก็เอาอย่างนั้น
ก็เลยบอกเขาเดี๋ยวผมนั่งสมาธิตรงนี้ล่ะ หายเหนื่อยแล้วเดี๋ยวจะกลับแล้ว ลูกศิษย์ท่านก็ไป
หลวงพ่อนั่งแล้วก็นึกถึงท่าน อยากรู้ว่าท่านภาวนาอย่างไร อยากรู้ อยากรู้เรื่องโน้นเรื่องนี้เกี่ยวกับท่าน พยายามจะรู้
ทีแรกก็เข้าไปรู้นะ สุดท้ายท่านกั้นไม่ให้ดู
เหมือนเข้าไปแล้วเจอกำแพงเลย
เราก็โคตรซนเลยตอนนั้น
กำหนดจิตเหมือนเข็ม เหมือนสว่านไชเข้าไป
ไชๆ เข้าไปได้ ท่านก็ยันอีกที
สร้างกำแพงอีกชั้นหนึ่งดันลงมาอีก เราก็ไชอีก
พอครั้งที่สามท่านดันพรวดเดียว
เราตัวแข็งเลยกระดุกกระดิกไม่ได้เลย
อันนี้มันของเล่น ของเล่นเป็นกีฬาของคนเล่นสมาธิ
พอตัวแข็งปุ๊บทำอย่างไร
เราก็นึกท่านมีพลังฝึกปรือ 60 ปี
เรามีพลังฝึกปรือ 20 ปี เราต้องไม่ต่อต้าน ว่างเลย
ทำใจสบายว่างๆ ท่านกดเดี๋ยวท่านก็เลิก
แล้วท่านก็ให้ลูกศิษย์มาเรียกไปหา
ลูกศิษย์ก็บอกไปได้ แต่ว่าต้องไม่ให้ท่านเสียสัจจะ
ถือว่าท่านไม่ได้รับแขก
ท่านจะนั่งอยู่ในห้องท่านแล้วเปิดประตู
ให้หลวงพ่อไปนั่งที่ระเบียง
กุฏิท่านเล็กนิดเดียว ก็ห่างกันเมตรเดียว
แต่ท่านอยู่ในห้อง หลวงพ่ออยู่นอกห้อง
เขาบอกอย่าเข้าไปในห้องท่าน
ถ้าเข้าไปเดี๋ยวท่านต้องกลายเป็นท่านรับแขก เสียสัจจะ
ปรากฏว่าพอท่านเปิดประตูออกมาเราก็กราบ
ท่านก็เทศน์ให้ฟัง ก.เอ๋ย ก.ไก่ ข.ไข่อยู่ในเล้า
ตะลึงเลย หา!… เทศน์อย่างนี้หรือ
ก.เอ๋ย ก.ไก่ ข.ไข่อยู่ในเล้า ฃ.ขวดของเรา
ค.ควายเข้านาอะไรอย่างนี้
เคยท่องไหมตอนเด็กๆ
ฅ.คนขึงขัง ฆ.ระฆังข้างฝา ท่านจะท่องอย่างนี้
แล้วก็ท่องบทแต่งกลอน
ท่านท่องกลอนที่ท่านแต่งเรื่องโน้นเรื่องนี้
พอหลวงพ่อฟังใจหลวงพ่อนี้แน่น แน่นไปหมดเลย
ก็บอกท่าน รู้ว่าเราคิดในใจท่านรู้หมด
ก็บอกท่านในใจ บอก
“หลวงพ่อ หลวงพ่อเทศน์แบบนี้ให้ผมฟังไม่เป็นไรหรอก แต่อย่าไปเทศน์ให้คนต่างชาติ ต่างศาสนาฟัง เดี๋ยวเขาดูถูกศาสนาพุทธว่าพิลึก เรียนเรื่อง ก.ไก่ ข.ไข่”
ท่านก็ยิ้ม ท่านก็ไม่ว่าอะไรหรอก
พอท่านเล่นจนกระทั่งใจเราป่วนไปหมดแล้ว
ใจเรานี่ โอ๊ย เครียดไปหมดเลย ทุกข์ไปหมดเลย
รู้สึกเป็นห่วงพระศาสนามาก
พอท่านเล่นเราเต็มที่แล้วท่านก็หยุด พูดประโยคเดียว
“คิดดีก็ใจเย็น คิดไม่เป็นจะเย็นสบาย”
ได้ยินประโยคเดียวคุ้มค่าแล้ว ที่มาวันนี้ได้ธรรมะแล้ว
“คิดดี” คืออะไร
คิดไปในทางกุศล จิตใจเราก็ร่มเย็น
“คิดไม่เป็น” เป็นอย่างไร
คิดแล้วไม่มีตัวมีตน ไม่มีคน มีสัตว์ มีเรา มีเขา
จิตพ้นออกจากความคิด
ความคิดส่วนความคิด จิตส่วนจิต
ไม่ปรุงตัวปรุงตนขึ้นมา มันเย็นสบาย
เย็นสบาย ตัวนี้คือคำว่านิพพานนั่นเอง
คิดแล้วไม่เป็น คิดแล้วไม่เป็นตัวเป็นตน
วิธีสอนธรรมะของครูบาอาจารย์แต่ก่อนเล่นกันอย่างนี้เลย
เล่นเราหัวปั่นเป็นจิ้งหรีดเลย
แบบ โห … งงไปหมดเลย เครียดไปหมดเลย
เสร็จแล้วท่านหยอดธรรมะให้ประโยคเดียว
จำมาจนถึงวันนี้เลย
ประโยคเดียวสั้นๆ ครอบคลุมธรรมะไว้มหาศาลเลย
“คิดดีก็ใจเย็น” ถ้าคิดเลวล่ะก็ใจร้อน
คิดในทางไม่ดีใจก็เร่าร้อน
ถ้าคิดไปในทางดีจิตใจก็ร่มเย็น เป็นกุศล
คิดไปทางบุญกุศล
“คิดไม่เป็น” ก็คือคิดแล้วไม่มีตัวมีตน
ขั้นสุดท้ายมันหมดความคิด
“คิดไม่เป็น” ไม่คิดอะไรเลยแล้วเย็นสบาย มันดับสนิท
ฉะนั้นเวลาฟังธรรมะ ฟังสบายๆ ไม่ต้องฟังเครียดๆ
ไม่ต้องฟังเพื่อจะให้รู้เรื่อง
ถ้าอยากรู้เรื่องเป็นเรื่องๆ ไปอ่านพระไตรปิฎก
แต่ถ้าฟังไปแล้วก็สังเกตจิตใจของเราไปเรื่อยๆ
ต่อไปเราจะภาวนาเป็น
อย่างเราอยู่กับครูบาอาจารย์ท่านเทศน์อย่างนี้
จิตใจเราเบื่อหน่าย รู้ว่าเบื่อ
ท่านเทศน์อย่างนี้จิตใจเราร่าเริง รู้ว่าร่าเริง
พอท่านเลิกเทศน์แล้วเรามาอยู่กับโลกข้างนอก
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์เกิดเบื่อหน่าย
รู้ว่าเบื่อหน่าย มันเคยรู้มาแล้วนี่
มันเกิดชื่นมื่นมีความสุข ร่มเย็นเป็นสุข ก็รู้
มันเคยรู้มาแล้วนี่
เพราะฉะนั้นเวลานั่งทำกรรมฐาน
นั่งทำกรรมฐานของเราไปเลย
ครูบาอาจารย์เทศน์ก็เทศน์ไปเถอะ
แล้วเราจะเห็นว่าใจเรามันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
เดี๋ยวสงบ เดี๋ยวฟุ้งซ่าน เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์
เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย รู้มันไปเรื่อยๆ
พอเลิกฟังกรรมฐานแล้ว
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์
แล้วใจเราเปลี่ยนอีกแล้ว
มันเคยเห็นจิตใจที่เปลี่ยนแปลงแล้ว
มันจะเห็นได้เองโดยไม่ได้เจตนาจะเห็น
อันนี้สำหรับพวกดูจิต
แต่ถ้าจะดูกาย รู้สึกมันไปเลย
กายหายใจออก หายใจเข้า
กายยืน เดิน นั่ง นอน
กายเคลื่อนไหว กายหยุดนิ่ง
รู้ด้วยใจที่ธรรมดาไม่มีน้ำหนัก
ถ้ามีน้ำหนักขึ้นมา รู้ทัน
ก็จะเห็นใจนี้เดี๋ยวก็หนักมาก เดี๋ยวก็หนักน้อย
นี่เข้ามาดูจิตแล้ว เข้ามาดูจิตได้แล้ว. …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
23 เมษายน 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
https://www.dhamma.com/indicator/
เยี่ยมชม
dhamma.com
น้ำหนักในใจคือดัชนีชี้วัด
น้ำหนักที่เกิดขึ้นในใจเป็นดัชนีชี้วัดได้ว่าเรารู้เป็นธรรมชาติไหม หรือรู้แบบมีตัณหาแทรกเข้ามา ถ้ารู้อย่างเป็นธรรมชาติจะไม่มีน้ำหนัก
youtube.com
[รีรัน] 23 เม.ย. 2565 ไลฟ์สดหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
ติดตามข่าวสาร อ่านพระธรรมคำสอน และดาวน์โหลดไฟล์เสียง เว็บไซต์ทางการ: https://dhamma.comhttps://fb.com/dhammateachingshttps://instagram.com/dhammadotcomhttp:...
เยี่ยมชม
Photo by : Unsplash
2 บันทึก
9
2
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
อ่านธรรม : อ่านใจ
2
9
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย