Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
10 พ.ค. 2022 เวลา 01:12 • ไลฟ์สไตล์
“เรื่องของโลกิยะนั้น ต้องการอย่างดี
แต่เรื่องของโลกุตตระ ต้องการให้ปล่อยหมด
ทั้งสองอย่างนี้จะเป็นไปโดยพร้อม ๆ กันไม่ได้”
การอยู่ป่า อยู่ง่าย กินง่ายอย่างนี้
การมีตัวของตัว ก็จะน้อยไปเอง
เสือจะมากิน ช้างจะมาเหยียบเมื่อไรก็ได้
ถึงจะไม่สละ มันก็ต้องสละเป็นการชิมลอง
การสละเป็นการเสียสละอย่างอัตโนมัติ
สิ่งแวดล้อม ต้นไม้ ความสงัด เป็นเครื่องช่วย
บุคคลผู้ใดได้ชิมลองอย่างนี้ จะได้ความรู้แล้วแต่จะสามารถเพียงไร
การนอนที่โคนไม้กับในกระต๊อบย่อมผิดกัน แม้ในมุ้งกับในกลดก็ยังผิดกัน
การฝึกอยู่ง่าย กินง่าย ก็เพื่อดำเนินรอยตามพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย ให้คล้ายท่านให้มากที่สุด
คิด นึก กำหนดให้เหมือนท่านว่า ท่านมีความคิดนึกภายในจิตใจอย่างไร แม้ไม่เต็มที่ก็ให้ได้สักครึ่งก่อน
เมื่อเรายังไม่เคยกินหนเดียว ก็ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร
ไม่เคยนอนเสื่อ ก็ไม่ทราบว่านอนเสื่อเป็นอย่างไร
พระองค์ทรงชักชวนให้ใช้หมอนไม้ ก็ไม่ทราบว่าการหนุนหนอนไม้เป็นอย่างไร
เป็นเรื่องของการนอนน้อย และนอนด้วยความจำเป็นจริง ๆ
ลองมาฝึกความเป็นอยู่ ด้วยการรับประทานอาหารแบบข้าวราดแกง นอนโคนไม้
ถ้าสังเกตให้ดี จะรู้สึกว่าผิดกันมาก เราต้องเสียสละเรื่องตัวของตัว งานทางบ้านจะเป็นอย่างไร ต้องเสียสละ ลืม แล้วจะเบา จะได้รับรสใหม่แปลกเป็นความรู้
แม้จะเกิดขโมย ไฟไหม้ ก็ต้องหยุดไว้ก่อน มาเรียนเรื่องไม่มีอะไร ไม่เอาอะไร จะอยู่สักกี่วันก็ตาม ชั่วโมงเดียวก็ยังดี
ต้องปัดเรื่องต่าง ๆ ทิ้ง ยอมให้ไฟไหม้ โจรปล้น สิ่งเหล่านั้นช่วยอะไรไม่ได้ ทำเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว แล้วจะได้รับประโยชน์มาก
มิฉะนั้น จะคิดถึง จะหม่นหมอง จะไม่ได้รับประโยชน์ในการมาที่นี่ จะเหนื่อยเปล่า
พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์สมัยโน้น ท่านเดินอย่างไร ถ้าเทียบกันแล้ว เราแทบจะไม่ได้เดิน
เมื่อพระพุทธเจ้าประทับที่เขาคิชกูฏ ซึ่งสูงมาก แล้วเสด็จไปบิณฑบาตถึงนครราชคฤห์ เช้าก็ลงมาบิณฑบาต พอเย็นก็กลับขึ้นไป ดูแล้วไม่น่าสนุกเลย
ถ้าเราลองขยันเดิน ขยันเป็นอยู่อย่างนี้ ก็จะได้รู้ว่า พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายท่านมีความเป็นอยู่อย่างไร
ในครั้งพุทธกาล ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเดินทั้งนั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องธรรมดาของคนในสมัยโน้น แต่เป็นเรื่องลำบากของคนในสมัยนี้
1
ถ้าใครทำอย่างนี้ได้ ก็เป็นคนพิเศษ ความสามารถในทางกายและจิตจะผิดกันมาก ฉะนั้น ควรลองดู
เราอยากรู้ เราจึงทำให้เหมือน ไม่ใช่อวดว่า เราเป็น
เราจึงเรียนแบบเพื่อให้ง่ายขึ้น เราจะอ่านแต่คัมภีร์พระสูตรเท่านั้นไม่พอ เราต้องปฏิบัติด้วยการอยู่ป่า มีโอกาสในการปฎิบัติมากกว่าอยู่ในเมือง
การทำอันใดที่เป็นการบรรเทากิเลส กำจัดกิเลส เป็นสิ่งที่ควรทำ
อย่างการรับประทานอาหาร ท่านให้ถือเสมือนว่า กินอย่างหยอดน้ำมันเพลาเกวียน คือเพียงให้ล้อเกวียนมันหมุนไปได้คล่อง ๆ เท่านั้น
1
ครั้งกระโน้น การรับประทานไม่ได้กำหนดมื้อ พระพุทธองค์จึงทรงชักชวนให้ฉันเพียงมื้อเดียว ด้วยภาชนะอันเดียว โดยการบิณฑบาต ถ้าฆราวาสทำอย่างนี้บ้าง ก็จะได้ผลมากในการปฏิบัติ
เรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติจริง ๆ นั้นไม่ใช่อื่น
ให้ดูความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ที่ผ่านมาในใจ
แล้วเห็นเป็นสิ่งที่น่าสั่นหัว เป็นใช้ได้
“น่าสันหัว” หมายถึง ไม่น่ายุ่งด้วย
จะใช้คำอื่นแทน “น่าสั่นหัว”
ว่า ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น ไม่น่าหลงรัก ไม่น่ายึดถือ
ไม่น่าเล่นด้วย ไม่น่าเสน่หา ไม่น่าผูกพัน ฯลฯ ก็ได้
แต่พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า “ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”
ถ้าใครรู้จริง ก็ไม่มีอภิชฌา ไม่มีโทมนัส
ลองคิดดู เกิดมาเป็นคนน่าสนุกหรือไม่ ?
ต้องศึกษาจริง ๆ ต้องเพ่งให้แจ้งจนเห็นชัดลงไปว่า
“ไม่น่าสนุก”
แม้ความเห็นไม่น่าสนุกนี้ มันก็ไม่ตายตัว มันกลับได้
มันอาจไปสนุกอีก
ดังนั้น ต้องเพ่งให้แจ้ง จะเป็นกี่วัน กี่เดือน กี่ปีก็ตาม
จนกว่าจะเห็นแจ้งอย่างเด็ดขาด
ให้รู้แจ้งด้วยตนเองแล้วจะเห็นว่า ไม่น่าสนุก
“ไม่น่าสนุก” หมายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
แต่จะใช้คำว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันดูโก้ไปว่าเป็นธรรมะขั้นสูง ถ้าพูดว่าไม่น่าสนุก น่าขยะแขยง มันก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง
พระอรหันต์บางองค์ไม่ได้ยินคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เลย แต่ท่านเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตัวจริงด้วยใจ
พวกที่ท่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ได้แต่ท่องด้วยปาก ไม่เห็นตัวจริง จึงไม่มีความรู้สึกว่า เกิดมาเป็นคนนี้ไม่น่าสนุกเลย
ฉะนั้น จึงต้องเอาธรรมตัวจริงมาเพ่ง ไม่ใช่เอาเสียง
ต้องเอาความรู้สึกอย่างนั้นมาเพ่งทุกลมหายใจเข้าออก
จนเกิดอนิจจานุปัสสี วิราคานุปัสสี นิโรธานุปัสสี
และปฎินิสสัคานุปัสสึ
ทั้งสี่ข้อนี้ล้วนแต่บอกว่า เกิดมาไม่น่าสนุก
ถ้ามีความรู้สึกพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง
ความปราศจากราคะ
ความดับสนิท
และความสลัดคืน
อย่างนี้ไว้ในใจอยู่เป็นประจำแล้วก็เป็นวิปัสสนาแท้
เป็นหมวดสุดท้ายของอานาปานสติ
มีคนเป็นพระอรหันต์ โดยไม่ได้ยินคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่เข้าถึงตัวธรรมนั้น
พวกเราโดยมากมักไม่ถึงตัวธรรม จึงได้ยินแต่ชื่อ ถ้าเข้าไม่ถึงตัวธรรมอย่างนั้น ก็หลงสวดอยู่นั่นเอง สวดเหมือนอย่างจานเสียง
ถ้าปรากฏแจ่มแจ้งอยู่ในใจแล้ว จะสวดก็ได้ ไม่สวดก็ได้
เราไม่เห็นแจ้ง เราจึงเอามาสวด เพื่อให้กระทบจิตให้สำนึก ให้สำเหนียก ให้พิจารณา
ถ้าเอามาสวดแล้วไม่รู้ ก็เป็นเรื่องเอาบุญอย่างเหมา ๆ
ที่สวดกันเหมือนจานเสียง คือไม่รู้อะไรนั้น ก็ยังดีกว่าไม่สวด เพราะยังเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง แต่ถ้าสามารถเพ่งพิจารณาได้อย่างละเอียดลึกซึ้งแล้ว ย่อมดีกว่าสวด
ครั้งพุทธกาลจึงไม่มีเอ่ยถึงการสวด มีแต่การพิจารณาอย่างแจ่มแจ้งในใจทุกอิริยาบถ
มาสมัยนี้กลายเป็นเรื่องปริยัติ สวดเก่ง อธิบายเก่ง เป็นเรื่องเพิ่มกิเลสว่าจำเก่ง สวดเก่ง สอนเก่ง สิ่งเหล่านี้ควรคิดนึกให้สลดใจ ว่า จะบ้ากันเสียแล้ว จะได้ไม่ประมาท
เมื่อรู้สึกได้ว่า เกิดเป็นสัตว์หรือเป็นคนไม่น่าสนุก มันก็จะไปเข้ารูปของมันเอง จะเป็นนาย บ่าว เศรษฐี ขอทาน สามี ภรรยา บิดา บุตร ฯลฯ ก็น่าสั่นหัว
ให้รู้สึกอย่างนี้ทุกลมหายใจเข้าออก
ให้ความรู้สึกนี้มันอยู่ในใจและคุมมันอยู่ด้วย
แล้วโลภะ โทสะ โมหะ มันก็จะขาดเหตุ ขาดปัจจัย
ค่อยร่อยหรอลง
เหมือนสัตว์ที่ถูกขังอยู่ในกรง ขาดอาหาร
ถ้าทำอย่างนี้ก็เท่ากับเราเอากรงขังกิเลส
ไม่ให้มันกินอาหาร
ถ้าเป็นอยู่โดยชอบอย่างนี้แล้ว โลกก็จะไม่ว่างจากพระอรหันต์
เพราะเป็นการดำเนินตามมรรคมีองค์แปดอยู่ในตัว
นับตั้งแต่สัมมาทิฏฐิจนถึงสัมมาสมาธิ
ความคิดอย่างอื่นจะไม่มี นี่เป็นเรื่องเอาชนะกิเลส
การเรียนธรรมะ ต้องตั้งอยู่บน Spiritual Experience คือ การผ่านมาอย่างซึมซาบในทางจิตหรือวิญญาน
หมายถึงความจัดเจนในทางชีวิตหรือวิญญาน
เช่น การเป็นบิดา มารดา คนยากจน เศรษฐี นายโจร เป็นต้น ผู้ปฎิบัติต้องได้ผ่านพบมากับตัวเองจริง ๆ ไม่ใช่รู้จากการอ่านหนังสือหรือฟังเทศน์
พื้นฐานของผู้ปฎิบัติควรได้ผ่านความรู้สึกอย่างนั้นมาก่อน
เมื่อผู้ปฎิบัติได้ผ่านสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาอย่างซึมซาบจนเจนใจ ก็อาจอนุมานในสิ่งอื่นได้ เช่น ผู้ที่เป็นบิดา ก็อาจเดาความรู้สึกของมารดาได้
ผู้ปฎิบัติต้องเคยผ่าน “การเอา การเป็น” อย่างใดอย่างหนึ่งมาแล้ว
เมื่อเห็นแจ้งในสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่า “ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น” ก็อาจอนุมานสิ่งอื่นได้ เห็นทุกสิ่งว่า “ไม่น่าเอา ไม่น่าเป็น” แล้ววางเฉยได้
พิจารณาดูให้ดีจะเห็นว่า เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ตรงนี้ เขาเอาไปแจกรูปปริยัติกันยืดยาวเลยจำกันไม่ไหว พูดกันไป อธิบายกันไปไม่จบ
เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จริง ๆ
ดีกว่าไปเรียน 9 ประโยค
ถามดูว่า “มีตัวตนอยู่นี้” มันน่าสนุกไหม ?
ถ้าเห็นจริง รู้จริง จะสั่นหัวทุกคน
ยิ่งมองเห็นชัดว่า การเกิดมาเป็นตัวเป็นตน เป็นการทนทรมาน
เพียงแต่จะรู้สึก หรือไม่รู้สึกเท่านั้น
การทนทรมานที่เปิดเผย ได้แก่ ทุกขเวทนา
และทุกข์ที่เร้นลับ ได้แก่ สิ่งที่เราเรียกว่า ความสุข
พระพุทธเจ้าจึงใช้คำว่า “เห็นความทุกข์ในความสุข”
จึงเบื่อหน่ายในทุกสิ่ง
เพราะเห็นแล้วว่าเป็นความทุกข์ทั้งนั้น
นั่นแหละจะถึงความหมดจด คือ พระนิพพาน
ถ้ายังไม่เห็นความทุกข์ในสิ่งที่เป็นสุข นั่นยังไม่เข้าหนทาง
ความเบื่อหน่าย ไม่ใช่ความรำคาญ ไม่ใช่ความเกลียด
เป็นความเบื่อหน่ายอย่างอยากสละ อยากละ อยากทิ้ง
เป็นความเบื่อหน่ายที่จะนำไปสู่ความมีอุเบกขา
เศรษฐี เทวดา ผู้มีความสุขนั้น ต่างก็เป็นผู้มีความทุกข์อย่างของตน เศรษฐีก็ทุกข์อย่างเศรษฐี เทวดาก็ทุกข์อย่างเทวดา
ความทุกข์ ก็คือ ความทุกข์ที่เปิดเผย หรือทุกข์โดยตรง
ความสุข ก็คือ ความทุกข์ที่เร้นลับ ซึ่งแอบแฝงอยู่ในตัวของความสุขนั่นเอง
เมื่อใดเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในสิ่งทั้งปวง
นั่นจะเป็นทางเข้าถึงพระนิพพาน
1
แต่คนมักติดเหยื่อ เห็นความทุกข์ที่เร้นลับว่า เป็นความสุข เป็นของดี
เรียนข้อนี้ข้อเดียว ข้ออื่นไม่จำเป็น
ทุกสิ่งมารวมอยู่ในสิ่งนี้สิ่งเดียว
พระพุทธองค์ทรงสรุปว่า
“สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”
(สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย)
แต่ประโยคนี้ไม่มีใครสนใจ ไปสนใจเรื่องอื่นกันเสียหมด
พวกเรามาอยู่ป่ากันที่นี่ มันบังคับไปในตัว ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น จึงมีความเบาสบาย โปร่ง โล่ง ไม่กังวล
ถ้ายึดมั่นถือมั่น ก็ทุกข์
ความหลุดพ้น มีความหมายคล้ายอย่างนี้
ปล่อยได้เท่าไร ก็เบาเท่านั้น
ปล่อยตัวเรา ปล่อยของของเรา
มาในป่าต้องมาหัดซักซ้อม ชิมลองความง่าย บางคนที่มีความยึดถือ ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปอย่างอัตโนมัติ แม้สักหนึ่งหรือสองชั่วโมงก็ยังดี
ปล่อยเด็ดขาด ก็พ้นทุกข์เด็ดขาด
ปล่อยชั่วคราว ก็พ้นทุกข์ชั่วคราว
ฉะนั้น ต้องทำให้ได้ อย่าทำแต่ปาก ต้องไม่หลอกตัวเองและผู้อื่นโดยเด็ดขาด จึงจะได้
อย่าลืมเรื่อง “ไม่ยึดถือ” เรื่องเดียวเท่านั้น
ต้องทำ คือ พิจารณาอยู่เรื่อย ๆ
บางคนพิจารณาไป ๆ แล้วก็ไปเปลี่ยน แต่อย่างไรก็ไม่พ้นไปจากเรื่องนี้
ตามหลักว่า ให้พิจารณาอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ไม่มีขีดจำกัดว่า เท่านั้นปี เท่านี้ปี ให้แต่มันแรงขึ้น ละเอียดขึ้น ลึกขึ้น
ไม่ต้องเปลี่ยนเรื่อง ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา
เปลี่ยนแต่ความลึกและความละเอียดขึ้น
เรื่องฌานยังไม่จำเป็นต้องสนใจ
ทางพ้นทุกข์มีอยู่แบบเดียว การปฏิบัติส่วนมากที่ทำกันมีมากแบบ แต่มองให้ลึกจะเห็นว่า มีแบบเดียว
การปฏิบัติมีทางที่จะถูกทาง หรือผิดทางได้
ฉะนั้น ควรจะศึกษาสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
จะได้ไม่ไขว้เขวโดยไม่รู้สึกตัว
การปฏิบัติเป็นเรื่องจริงของธรรมชาติ ที่บุคคลควรจะเข้าใจตนเอง ไม่ใช่เรื่องของแบบ ควรเข้าใจในเรื่องนี้ให้ถูกต้อง
ถ้ายึดแบบ มันจะปนกันยุ่ง
ทุกคนก็ต้องการไปพระนิพพานกัน
ดังนั้น พวกที่ต้องการความพ้นทุกข์จริง
จะต้องทิ้งแบบและลัทธิยึดถือต่าง ๆ
เรื่องของโลกิยะนั้น ต้องการอย่างดี
แต่เรื่องของโลกุตตระ ต้องการให้ปล่อยหมด
ทั้งสองอย่างนี้จะเป็นไปโดยพร้อม ๆ กันไม่ได้
เราก็เป็นอย่างเรา เขาก็เป็นอย่างเขา
เราก็ทำอย่างของเรา (หมายถึงทำด้วยปัญญา)
เราจะทำอย่างเขาก็ได้ แต่เราจะต้องรู้ว่า
เราทำอย่างนั้นเพื่ออะไร
ในสังคมบางทีเราต้องอนุโลมตามเหมือนกันดีกว่าจะถือรั้น เพื่อประโยชน์ของสังคม
.
ธรรมะบนดอยบวกห้า
โอวาทของท่านอาจารย์ พุทธทาสภิกขุ
27 เมษายน 2502 ตอนเช้า
Photo by : Unsplash
2 บันทึก
9
3
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตามรอยธรรม
2
9
3
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย