Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
9 พ.ค. 2022 เวลา 01:11 • หนังสือ
“เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาท”
“ … การศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องสำคัญหรือจำเป็นสำหรับพุทธบริษัท
ดังบาลีในสังคีติสูตร ทีฆนิกาย (๑๑/๒๒๖/๒๒๗) ตอนสังคีติยทุกัง ซึ่งมีอยู่ว่า
“ธรรมสองอย่าง อันพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้เห็น
ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้ดีแล้ว มีอยู่
อันภิกษุทั้งหลายพึงทำสังคีติ (คือสอบสวน)
ในธรรมสองอย่างนั้น ไม่พึงวิวาทกันในธรรมนั้น
โดยประการที่พรหมจรรย์ (ศาสนา) นี้จะพึงมั่นคง ตั้งอยู่นาน
ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อหิตสุขแก่มหาชนเป็นอันมาก
เพื่ออนุเคราะห์โลก
เพื่อประโยชน์หิตสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ธรรมสองประการนั้นคืออะไรเล่า ?
ธรรมสองประการนั้นคือ
อายตนกุสลตา ความเป็นผู้ฉลาดในเรื่องอายตนะ ๑
ปฏิจจสมุปบาทกุสลตา ความเป็นผู้ฉลาดในเรื่องปฏิจจสมุปบาท ๑”
นี้แสดงว่า เรื่องปฏิจจสมุปบาทเป็นสิ่งที่พวกเราจักต้องพยายามช่วยกัน ทำให้เกิดมีความเข้าใจอันถูกต้องในระหว่างกันและกัน
ทั้งเพื่อเห็นแก่ตัวเอง แก่ศาสนา และแก่ประโยชน์ของเทวดาและมนุษย์
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อการไม่ทะเลาะวิวาทกัน ในหมู่พุทธบริษัทเอง ดังที่กล่าวมาแล้ว โดยที่เรามีปัญหาเกิดขึ้น เกี่ยวกับการปฏิบัติในเรื่องนี้ เพราะมีความเห็นไม่ตรงกัน
หนทางใดมีอยู่เพื่อความเป็นเช่นนั้น เราจะถือประโยชน์จากหนทางนั้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
คำบรรยายเรื่องนี้ มิได้มุ่งหมายเพื่อสร้างเงื่อนปมสำหรับวิวาทกัน หากแต่เพื่อขจัด “การทะเลาะวิวาทกัน” ระหว่างครูผู้สอนกับศิษย์ผู้เรียน เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้เท่านั้น
ตลอดถึงคู่ที่ทำการศึกษาสนทนาเรื่องนี้ในรูปอื่น ๆ นอกโรงเรียน
ปฏิจจสมุปบาท เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งที่สุด สมกับเป็นหัวใจของพุทธศาสนา หรือ ตัวแท้ของศาสนา
ดังนั้นจึงจำเป็นอยู่เอง ที่จะทำให้เกิดปัญหาบางอย่างขึ้น จนกระทั่งปัญหานั้นย้อนกลับมาเป็นอันตรายแก่ตัวศาสนาเอง
เช่น ทำให้พุทธบริษัทไม่ได้รับประโยชน์ จากตัวแท้ของพุทธศาสนาในเรื่องนี้
เมื่อพระอานนท์กราบทูลว่า เรื่องปฎิจจสมุปบาท ดูเป็นเรื่องง่ายเรื่องตื้นสำหรับตัวท่านเอง พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า
“ดูก่อนอานนท์ ! อย่ากล่าวอย่างนั้น
ดูก่อนอานนท์ ! อย่ากล่าวอย่างนั้น
ปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องลึก ลักษณะหน้าตาก็ดูเป็นเรื่องลึก
หมู่สัตว์นี้ไม่รู้ ไม่รู้ตามเราสอน
ไม่แทงตลอดซึ่งปฏิจจสมุปบาท
จิตจึงยุ่งเหมือนกลุ่มด้ายยุ่ง
เหมือนกลุ่มเศษด้ายที่เป็นปม
พัวพันกันยุ่งเหมือนเซิงหญ้ามุญชะและหญ้าปัพพชะ
ไม่ล่วงพ้นสังสาระคืออบาย ทุคติวินิบาต ไปได้” ดังนี้
ข้อนี้เป็นสิ่งที่แสดงว่า เราจะทำเล่น ๆ กับเรื่องนี้ไม่ได้
แต่จะต้องระดมทุ่มเทกำลังสติปัญญาทั้งหมด
ศึกษาเรื่องนี้ด้วยความไม่ประมาท
สำหรับชาวบ้านธรรมดาสามัญ ที่รู้จักแต่สัสสตทิฏฐิ คือมีความรู้สึกว่ามีตัวตนอยู่ตลอดเวลานั้น เรื่องปฏิจจสมุปบาทก็เป็นเรื่องลึกเกินกว่าจะเข้าใจได้ง่าย ๆ
แล้วก็กลายเป็นเรื่องปรัชญาอันลึกซึ้ง ยุ่งเหยิง เหมือนกลุ่มด้ายดังที่กล่าวแล้ว แล้วจะต้องทุ่มเถียงกันเหมือนคนตาบอดคลำช้างที่คลำถูกอวัยวะของช้างในที่ต่างกัน
แต่สำหรับพระอรหันต์นั้น เรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องวิชาธรรมชาติ หรือเป็นวิทยาศาสตร์อันเปิดเผย เหมือนสิ่งของที่เอามาใส่ฝ่ามือดูเล่น ทั้งที่ไม่รู้จักชื่อของมันก็ได้
กล่าวคือ ท่านรู้จักสิ่งต่าง ๆ ดีจนไม่ยึดมั่นในสิ่งใด เพราะความมีสติสมบูรณ์ถึงที่สุด ท่านดับทุกข์ได้สิ้นเชิงตามวิธีการของปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวาร
แต่ท่านไม่จำเป็นต้องรู้จักชื่อทั้ง ๑๑ ชื่อของอาการแห่งปฏิจจสมุปบาททั้งหมดนั้นก็ได้
ท่านพ้นทุกข์ไปแล้วตามวิถีทางของปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวารแล้ว แต่ท่านอาจจะสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาทโดยละเอียดแก่ใครไม่ได้ หรือถึงกับพูดไม่เป็นเอาเสียเลย ดังนี้ก็ได้
1
นั่นแหละคือ ความลึกซึ้งของปฏิจจสมุปบาท ที่ลึกซึ้งถึงขนาดที่ต้องใช้สติปัญญาในขั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในการค้นคว้า และนำมาอธิบายสั่งสอนแก่คนทั่วไป
แต่ก็ยังยากลำบากที่สัตว์ทั้งหลายจะเข้าใจ จนถึงกับพระองค์ทรงดำริน้อมพระทัยไปในทางที่จะไม่สั่งสอนใครเสียเลย ในคราวตรัสรู้ใหม่ ๆ โดยทรงเห็นว่าจะเหนื่อยเปล่า หรือได้ผลไม่คุ้มค่าเหนื่อย
แต่ในที่สุด กำลังพระมหากรุณากระตุ้นให้พระองค์ทรงทนลำบาก เพื่อสอนเรื่องที่ยากหรือลึกซึ้งนี้จนได้ เพื่อเห็นแก่คนบางคน ที่อาจจะเข้าใจได้และมีอยู่ในโลก
ข้อนี้ เราจะต้องเห็นความยากลำบากของพระพุทธองค์ในการที่จะทรงอธิบายเรื่องที่คนธรรมดาสามัญเข้าใจไม่ได้ ให้เข้าใจจนได้
ข้อเท็จจริงอันลึกซึ้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีอยู่ว่า พระพุทธเจ้าท่านประกาศศาสนาด้วยความยากลำบาก คือต้องตรัสด้วยภาษาถึงสองภาษาในคราวเดียวกัน
คือตรัสโดย “ภาษาคน” สำหรับสอนศีลธรรมแก่คนที่ยังหนาไปด้วยสัสสตทิฏฐิ คือมีความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน เป็นของ ๆ ตน จนยึดมั่นอยู่อย่างเหนียวแน่นเป็นประจำ
และตรัสโดย “ภาษาธรรม” สำหรับสอนคนที่มีธุลีในดวงตาอันเบาบางแล้ว จะได้เข้าใจปรมัตถธรรม
เป็นการสอนปรมัตถธรรมให้รอดพ้นไปจากสัสสตทิฏฐิอันเป็นสมบัติดั้งเดิม เพื่อให้ทิ้งสมบัติดั้งเดิมนั้นเสีย
มันเป็นภาษา 2 ภาษากันอยู่ดังนี้
สำหรับปฏิจจสมุปบาทนั้น เป็นเรื่องปรมัตถธรรม ที่ต้องพูดกันด้วย “ภาษาธรรม” เป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามไปหมดจากเรื่องศีลธรรม แล้วจะนำมาตรัสด้วยภาษาคน ที่ใช้สำหรับเรื่องศีลธรรมได้โดยวิธีใด หรืออย่างไร ?
เมื่อตรัสโดยภาษาคน มันตรัสไม่ได้ ถ้าตรัสโดยภาษาธรรม คนฟังก็ตีความภาษาคนไปหมด เลยไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดอย่างตรงกันข้ามไปเสีย
อันนี้เองเป็นต้นตอของปัญหาอันยุ่งยากสำหรับการสอนเรื่องปฏิจจสมุปบาท ที่ทำให้ทรงท้อพระทัยในทีแรกถึงกับจะไม่ทรงสอน
ที่ทรงสอนแล้วก็ยังไม่เข้าใจ ดังเรื่องของภิกษุสาติเกวัฏฏบุตร กระทั่งถึงพวกเราเวลานี้
สอนเรื่องนี้กันไม่รู้เรื่อง พูดกันไม่รู้เรื่อง สนทนากันไม่รู้เรื่อง รับคำสอนแล้วปฏิบัติอะไรไม่ได้ ยิ่งปฏิบัติยิ่งผิดไกลออกไปอีก ดังนี้เป็นต้น
เมื่อทรงสอนศีลธรรม ก็ต้องตรัสอย่างมีสัตว์ มีบุคคล มีตัวตน กระทั่งมีตถาคตเอง กระทั่งสอนให้ทำบุญกุศล ตายแล้วจะได้รับผลบุญกุศลที่สร้างไว้
ครั้นทรงสอนเรื่องปรมัตถธรรม ก็ตรัสอย่างไม่มีสัตว์ บุคคล กระทั่งตถาคตเอง มีแต่สิ่งที่อาศัยกันเกิดขึ้นชั่วขณะ ๆ ทยอยกันไป
ที่เรียกว่า ปฏิจจสมุปปันนธรรมแต่ละอย่าง ๆ ติดต่อกันเป็นสายเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท
ไม่มีทางที่จะพูดว่าตัวใคร แม้ในขณะนี้
จึงไม่มีใครเกิด หรือใครตาย
ไปรับผลกรรมเก่าทำนองสัสสตทิฏฐิ
และทั้งไม่ใช่ ตายแล้วสูญไปในทำนอง อุจเฉททิฏฐิ
เพราะว่าไม่มีคนที่จะตายไป ขาดสูญเสียแล้วตั้งแต่บัดนี้
ความอยู่ที่ตรงกลางนี้แหละ คือ เรื่องปฏิจจสมุปบาท หรือ มัชฌิมาปฏิปทาทางปรมัตถธรรม
คู่อริยมรรคมีองค์แปด ซึ่งเป็นมัชฌิทาปฏิปทา ที่ใช้ได้กระทั่งทางศีลธรรม
ตามปกรติคนธรรมดาทั่วไป ก็ยึดถือทางศีลธรรม เพื่อสบายใจอยู่ด้วยความดี ตลอดเวลาที่เหตุปัจจัยของความดียังไม่เปลี่ยนแปลง
พอเหตุปัจจัยนั้นเปลี่ยนแปลง หรือว่ามันแสดงความไม่เที่ยง เป็นอนัตตา และเป็นทุกข์เพราะความยึดถือขึ้นมา ความรู้เพียงแค่ศีลธรรมนั้นก็ไม่เป็นที่พึ่งได้
จึงต้องหันไปหาเรื่องปรมัตถธรรม เช่น เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ เพื่อกำจัดความรู้สึกเป็นทุกข์ ที่เลื่อนระดับสูงขึ้นไป
คือมีใจอยู่เหนือความมีตัวตน หรืออะไรที่เป็นของตน กระทั่งความดีชั่ว บุญบาป สุขทุกข์ โดยไม่มีความทุกข์อะไรเหลืออยู่เลย
ดังนั้น การสอนปฏิจจสมุปบาทชนิดที่มีตัวตน และเนื่องกันเป็นชาติ ๆ ไปนั้น ผิดหลักปฏิจจสมุปบาท หรือผิดหลักของพุทธวจนะ
ซึ่งต้องการจะสอนให้คนหมดสิ้นความรู้สึกว่าตัวตน หรืออยู่เหนือความรู้สึกว่ามีตัวตนโดยประการทั้งปวง
ดังนั้น เรื่องปฎิจจสมุปบาทจึงไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องศีลธรรม นี่ยังต้องอาศัยสัสสตทิฏฐิ หรือความมีตัวตนเป็นมูลฐาน แต่ประการใด …”
.
โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ
บางส่วนจาก คำนำ เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องปฏิจจสมุปบาท
คัดจากธรรมโฆษณ์ ฉบับปฏิจจสมุปบาท และโอสาเรตัพพธรรม
จากหนังสือปฏิจจสมุปบาท
2 บันทึก
9
8
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ตามรอยธรรม
2
9
8
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย