10 พ.ค. 2022 เวลา 01:08 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย รับมือเงินเฟ้อ
หนึ่งในข่าวเด็ดประเด็นร้อนของสัปดาห์ที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นข่าวการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ที่ปรับตัวขึ้น 0.50% ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มแรงที่สุดในรอบสองทษวรรษ เลยทีเดียว
📌 ถึงแม้ว่า GDP สหรัฐหดตัว 1.4% ก็ไม่ได้เปลี่ยนใจธนาคารของสหรัฐ จากการขึ้นดอกเบี้ย
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐระบุว่า เศรษฐกิจของสหรัฐหดตัว 1.4% ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยโดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 ซึ่งผิดคาดที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจมีการขยายตัว 1.1% ในไตรมาส 1/65
การลดลงนี้เกิดจากการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น การนำเข้าไปยังสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นในขณะที่การส่งออกลดลง อักทั้งยังมีข้อจำกัดด้านซัปพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคโควิด 19 และ การลงทุนในสินค้าคงคลังของภาคธุรกิจในไตรมาสแรกที่น้อยกว่าปลายปีที่แล้ว จึงเป็นเหตุให้การเติบโตช้าลง
โดยปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจคือการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตรา 2.7% ต่อปีในไตรมาสแรก เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปลายปีที่แล้ว นอกจากนี้ ธุรกิจจำนวนมากได้เพิ่มการลงทุนในอุปกรณ์และการวิจัยและพัฒนา ส่งผลให้การใช้จ่ายของบริษัทเพิ่มขึ้น 9.2%
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า GDP จะหดตัว แต่ Federal Reserve ก็ไม่เปลี่ยนแผนการที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยโยบาย
📌 เฟดขึ้นดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ
ธนาคารกลางสหรัฐ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ 0.50% เพื่อรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่แย่ที่สุดในรอบ 40 ปีของอเมริกา
นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2543 การตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดย เฟดได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดได้เน้นย้ำถึงความรุนแรงของภัยคุกคามต่อเงินเฟ้อในปัจจุบัน
ตามข้อมูลของ CME Group การเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในวันพุธที่ผ่านมาจะทำให้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา อยู่ในช่วง 0.75% -1%
นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐยังได้ประกาศเพิ่มว่าจะเริ่มลดการถือครองสินทรัพย์ในงบดุล 9 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19
ผลจากการการประกาศของธนาคารกลางสหรัฐ ได้ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐทะยานขึ้น ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐร่วงลงและค่าเงินดอลลาร์สหรฐก็อ่อนค่าลง
อย่างไรก็ตาม ดัชนีดาวโนส์ก็ได้ลงมา -1,130 จุด ในชั่วข้ามคืน เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่า ธนาคารกลางสหรัฐ อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือนหน้า ถึงแม้ว่าคุณ เจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดยังไม่ได้พิจารณาเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงขนาดนั้นก็ตาม
📌 นัยต่อเศรษฐกิจไทย
สำหรับนักลงทุนต่างชาติ การเคลื่อนย้ายเงินระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่างกันนั้นมีประโยชน์มากมาย
โดยปกติกระแสเงินทุนจะย้ายไปยังประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ซึ่งจะทำให้สกุลเงินของประเทศที่มีอัตราที่ต่ำกว่าจะอ่อนค่าลงและสกุลเงินของประเทศที่มีอัตราที่สูงขึ้นจะแข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ ผลการประชุมเฟดเป็นไปตามคาด และเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรง สิ่งนี้ได้กระตุ้นให้ผู้เล่นในตลาดค่อย ๆ ลดการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก
โดยหลังการประกาศของธนาคารกลางสหรัฐ ค่าเงินบาทแข็งค่าจาก 34.53 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 34.04 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 5 ปี 2565
อย่างไรก็ตาม ยังปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินไทยอีก เช่น ความไม่แน่นอนของสงครามและสถานการณ์โควิด 19
ดังนั้น นักลงทุนควรจับตากระแสเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติว่าจะไหลเข้ามาเริ่มซื้อหุ้นไทยและพันธบัตรไทยมากขึ้นหรือไม่
นอกเหนือจากสกุลเงินแล้ว นโยบายการเงินเป็นหนึ่งในสิ่งที่เราควรจับตามอง เพราะธนาคารกลางสหรัฐ เป็นหนึ่งในธนาคารกลางที่นักลงทุนและธนาคารกลางทั่วโลกต่างก็จับตามอง
แต่อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามธนาคารกลางของสหรัฐหรือธนาคารกลางของประเทศอื่น ๆ
เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่สูงเกินกรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังไม่แพร่กระจายเป็นวงกว้าง
Bangkok Bank Post ฉบับวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2565
ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา