3 มิ.ย. 2022 เวลา 08:00 • ไลฟ์สไตล์
ต้นไม้ในความทรงจำ...มะม่วงหิมพานต์
ต้นไม้ในความทรงจำที่จะพูดถึงต่อไปนี้ เป็นต้นไม้ที่ดูแปลก โดยเฉพาะเมล็ด ปกติแล้วเมล็ดของผลไม้จะอยู่ด้านในของผล แต่ไม้ชนิดนี้เมล็ดกลับโผล่อยู่ด้านนอก แล้วเมล็ดมีรสชาติอร่อยมาก...ต้นไม้ที่ผมจะพูดถึงนี้ก็คือ "มะม่วงหิมพานต์"
ในภาคใต้มีชื่อเรียกมะม่วงหิมพานต์อยู่หลายชื่อ เช่น ยาร่วง กาหยู หัวครก เล็ดล่อ (เมล็ดล่อ) ถ้าดูจากผลจะมีอยู่หลักๆ 2 พันธุ์คือสีแดงกับสีเหลือง
ผลมะม่วงหิมพานต์
ในสวนมะพร้าวของปู่จะมีที่ว่างระหว่างแถวอยู่บ้าง ปู่จึงปลูกมะม่วงหิมพานต์แซมเอาไว้ระหว่างแถวหลายต้น ถึงฤดูที่มะม่วงหิมพานต์ออกลูก จะดูสวยดี มีทั้งสีเขียว เหลืองและแดงเต็มสวน แต่สิ่งที่มีราคาไม่ใช่ผลที่มีสีสวยสด แต่จะเป็นส่วนของเม็ดที่โผล่ออกมาจากผล ราคาต่อกิโลกรัมก็หลายบาทอยู่ ส่วนที่เป็นผลก็นำมากินได้รสชาติหวานๆ ซ่าๆลิ้น แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมกินกันสักเท่าไหร่
ก่อนที่มะม่วงหิมพานต์จะออกดอก จะแตกยอดอ่อนออกมาก่อน ซึ่งส่วนยอดนี้นำมากินเป็นผักสดแกล้มกับน้ำพริก หรือกับขนมจีนอร่อยมาก รสชาติจะฝาดๆ ถ้ามาเที่ยวภาคใต้แล้วแวะกินขนมจีน จะพบยอดอ่อนมะม่วงหิมพานต์กินเป็นผักเกือบทุกร้าน🌿🌿🌿🌿🌿🌿
แมงพลัด
ช่วงที่มะม่วงหิมพานต์แตกยอดอ่อนนั้น มักจะมีแมงชนิดหนึ่งมากินยอดอ่อนนั่นคือแมงพลัด ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่เด็กๆจะได้อร่อยกับของกินนั่นคือ แมงพลัดผลัดกะทิ...
แมงพลัดเป็นแมลงชนิดหนึ่งก่อนจะเป็นตัวเต็มวัย จะเป็นหนอนอยู่ใต้ดิน พอถึงช่วงเต็มวัยก็จะบินออกมาจากใต้ดินเพื่อออกมาหากินและผสมพันธุ์ มันชอบกินยอดอ่อนของต้นไม้เกือบทุกชนิด แต่ที่มันโปรดปรานก็คือยอดมะม่วงหิมพานต์ การจับแมงพลัดถ้าจะให้ได้เยอะๆต้องจับตอนกลางคืน เพราะตอนกลางวันมันจะหลบหาตัวยาก ตอนเด็กๆ ผมกับพี่ๆจะเอาไฟฉายส่องหาแมงพลัดตามยอดต้นมะม่วงหิมพานต์ต้นเตี้ยๆ🐞🐞🐞🐞🐞
แต่ถ้าเป็นต้นไม้สูงๆ เช่น ต้นมะขามก็จะมีแมงพลัดเยอะเหมือนกัน ต้องใช้วิธีก่อกองไฟใต้ต้นไม้แล้วให้คนขึ้นไปขย่มบนต้น แมงพลัดก็จะบินลงมาใกล้กองไฟ พวกเด็กๆ ก็จับกันอย่างสนุกสนาน แต่การจับแมงพลัดต้องระวังด้วยเพราะที่ขาของมันจะมีหนามคมๆ ถ้าจับไม่ดีจะโดนข่วนเป็นแผล
ในปัจจุบันการจับแมงพลัดมักใช้ไฟสีม่วงมาล่อ ซึ่งแมงพลัดก็จะมาเล่นไฟ คนก็จับแบบง่ายๆ ไม่ต้องเสี่ยงปีนต้นไม้เหมือนเมื่อก่อนแล้ว🐞🐞🐞🐞🐞
เล่าเรื่องแมงพลัดมาตั้งนานคงสงสัยกันว่า แล้วเอามากินยังไง ซึ่งก็ไม่มีอะไรซับซ้อน นำแมงพลัดมาเด็ดปีกออก เด็ดส่วนก้นออกเพื่อดึงเอาขี้ออก เอาล้างน้ำซะหน่อย จากนั้นตั้งกะทิ ใส่กะทิ กะเทียมตำกับพริกไทยใส่ลงไป พอกะทิเดือดก็นำแมงพลัดใส่ลงไป เคี่ยวไปเรื่อยๆ จนกะทิเริ่มงวดและแมงพลัดสุก ปรุงรสตามชอบ แค่นี้ก็เรียบร้อย ถ้าให้ดีต้องจับตอนที่แมงพลัดเริ่มมีไข่ จะอร่อยมากขึ้นไปอีก
ตอนเด็กๆ พวกเราชอบเอาเม็ดมะม่วงหิมพานต์มาเล่นกัน เรียกว่า "ฟัดราว" โดยนำไม้แผ่นเล็กๆ(ราว) มาวางบนท่อนไม้หรือก้อนหิน นำเม็ดมะม่วงหิมพานต์วางเรียงลงบนแผ่นไม้ จากนั้นในมือก็มีเม็ดมะม่วงหิมพานต์คนละลูกสำหรับเขวี้ยง(ฟัด) เพื่อให้โดนราว พอเขวี้ยงโดนเม็ดมะม่วงหิมพานต์ก็จะตกจากราว คนเขวี้ยงก็จะได้เม็ดที่ร่วงไป
การเล่นฟัดราว
เมื่อได้เม็ดมะม่วงหิมพานต์มาเยอะๆ ก็ได้เวลาอร่อยอีกแล้ว....
สุดยอดของอร่อยอยู่ข้างในของเม็ดมะม่วงหิมพานต์ แต่กว่าที่จะได้ลิ้มรสต้องผ่านขั้นตอนเสียหน่อย เริ่มจากต้องหาก้อนหินมาสักสามก้อน มาวางเป็นก้อนเส้า หาหม้อเก่าๆมาสักหนึ่งใบ อย่าเผลอใช้หม้อที่ยังดีๆอยู่เชียวล่ะ เพราะตอนคั่วบนไฟจะมีน้ำมันจากเม็ดมะม่วงหิมพานต์ออกมาเยอะ ติดหม้อจนไหม้ล้างไม่ออก อาจต้องทิ้งหม้อใบนั้นไปเลย
ได้เวลาก่อไฟแล้วเอาหม้อวางบนเตา นำเม็ดมะม่วงหิมพานต์ใส่ลงไปในหม้อ
คั่วเม็ดมะม่วงหิมพานต์
หาไม้ยาวสักอัน ไว้สำหรับคนลงไปในหม้อ เพื่อให้เม็ดมะม่วงหิมพานต์โดนไฟทั่วถึง ใช้เวลาสักพักน้ำมันหรือยางที่อยู่ในเม็ดมะม่วงหิมพานต์จะเริ่มไหลเยิ้มออกมาเพราะโดนความร้อน คอยคนไปเรื่อยๆ ควรอยู่ห่างๆ อย่าเข้าใกล้หม้อ เพราะน้ำมันจะกระเด็นไปโดนเอาได้
ถึงช่วงหนึ่งไฟจะเริ่มลุกเพราะน้ำมันที่ออกมาเยอะ ไฟอาจลุกไปติดในหม้อ อย่าตกใจ!!!! คนไปสักพักพอเม็ดเริ่มเป็นสีดำ ให้ยกลงและรีบดับไฟที่ติดในหม้อ มิฉะนั้น อาจอดกินของอร่อย เพราะเนื้อด้านในเม็ดจะไหม้เสียก่อน
หลังจากผ่านความหวาดเสียวมาแล้วก็ถึงเวลาได้ลิ้มรสของอร่อยเสียที หาเครื่องมือส่วนตัวอาจเป็นก้อนหินหรือไม้ ค่อยเคาะๆ ทุบๆ ลงบนเม็ดที่คั่วแล้ว พอเปลือกเริ่มแตกออกก็จะพบกับความมันอร่อยที่อยู่ด้านใน 😋😋😋😋😋
เม็ดมะม่วงหิมพานต์อบ
สำหรับส่วนของเนื้อไม้ของมะม่วงหิมพานต์นั้น ไม่นิยมนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างบ้านเรือน เนื่องจากเนื้อไม้ค่อนข้างอ่อน มียางอยู่ในเนื้อไม้ และมักมีแมลงเจาะ ส่วนมากจะนำไปทำฟืนหรือเผาถ่าน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา