19 พ.ค. 2022 เวลา 05:00
Ep.6 คำแรกที่เรียนรู้....."อันญุงฮาซึมิกา"
สวัสดีเกาหลี
ในที่สุด หลังจากนั่งๆ นอนๆ และคอยๆๆ อยู่บนรถไฟ 25 ชั่วโมง รถไฟก็เข้าจอดเทียบชานชาลาสถานีปลายทางเปียงยาง เมื่อเวลา 15.50 น. ของวันที่ 25 สิงหาคม 2528
เราหอบสัมภาระพะรุงพะรังอย่างกระปรกกระเปลี้ยลงไปยังชานชาลา ยังไม่ทันได้ตั้งตัว ศาสตราจารย์ชา บอง จู เจ้าของบ้านก็รี่เข้ามาต้อนรับ มีหนูน้อยอายุราว 11-12 ขวบในชุดเกาหลีสีสดใส มีดอกไม้ผ้าสีชมพูจัดคาดอยู่บนศีรษะ นำช่อดอกไม้มามอบให้หัวหน้าคณะเราที่ก้มลงรับด้วยท่าทางเขินๆ มีช่างถ่ายรูปกับช่างถ่ายวิดีโอมาถ่ายการต้อนรับพวกเราด้วย เห็นว่าจะเอาไปทำข่าวลง Pyongyang Times และออกข่าวทีวีวันพรุ่งนี้
ข่าวนี้ทำเอาสะดุ้ง ด้วยเราแต่ละคนหน้าตาโทรมง่วงงุนกันทุกคน และคาดไม่ถึงว่าจะได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการแบบนี้ ถ่ายรูปถ่ายวิดีโอเสร็จ หนูน้อยน่ารักคนนั้นก็ร่ำลา แล้วก็เดินอาดๆ หายลับไปจากชานชาลา ส่วนพวกเราก็ตามท่านชาไปยังห้องรับรอง เพื่อรอให้เจ้าหน้าที่ขนสัมภาระใส่รถให้เรียบร้อยก่อน
ระหว่างที่เจ้าหน้าที่หลายคนกำลังชุลมุนขนของอยู่นั้น ฟองน้ำก็นั่งมองนั่นมองนี่เล่น สังเกตเห็นชัดว่าชาวเมืองตัวจริงนั้น พอลงจากรถไฟแล้ว เขาจะเดินออกประตูทางอื่น ไม่มาปนกับพวกเรา และที่เห็นลงจากรถไฟพรั่งพรูอยู่เมื่อกี้นั้น ชั่วครู่เดียวเขาก็สลายตัวหายไปหมด เหลือแต่เพียงคณะเรากับบรรยากาศขรึมๆ ของสถานี กับห้องรับรองที่มีเสาต้นโตๆ เพดานสูง ม่านและประตูซึ่งดูหนาหนัก ที่กั้นเรากับบรรยากาศภายนอกสถานี
นอกจากท่านชาแล้ว ยังมีโปรเฟสเซอร์อีกคนจากสำนักเดียวกันมารับเราด้วย แต่ฟองน้ำจำชื่อไม่ได้แล้ว เรามีล่ามภาษาอังกฤษ 2 คน เป็นผู้ชายทั้งคู่ คนหนึ่งวัย 27 กะรัต ตัวอ้วนใหญ่แต่คล่องแคล่ว ใส่แว่นกรอบทองหนาเตอะ เป็นหนุ่มเกาหลีคนเดียวที่หนีบกระเป๋าใส่ของจิปาถะ แบบที่ผู้ชายบ้านเราถือกันเวลาไปเที่ยว ฟองน้ำไม่เห็นผู้ชายเกาหลีคนอื่นๆเขาถือกันเลย หนุ่มคนนี้มีนามกรว่า Li
ส่วนล่ามอีกคนชื่อ Kim ตัวผอมสูงใหญ่ หน้าตาหล่อน้องๆ หลี่ถัง แต่เวลาพูดอังกฤษแล้วทรมานหูเราชะมัด เพราะเหมือนกับกัดฟันพูดอยู่ในลำคอ ต้องแปลอังกฤษของคิมเป็นอังกฤษของเราอีกที เหนื่อย !
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 คนนี้เป็นผู้ที่เราต้องพึ่งพาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ตลอดเวลาที่เราอยู่ในเกาหลีเหนือ และเนื่องจากเราต้องเจอกับ 2 ล่ามนี้ทุกวัน ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการนินทาเขาซึ่งๆ หน้าด้วยภาษาไทย เราจึงตั้งฉายาของทั้ง 2 คนใหม่ตามควรกับสเปคว่า “ตุ้ยนุ้ย” หมายถึงลี กับ “กบน้อย” คือคิม (นายบอกว่า หนุ่มรายหลังนี้หน้าตาเขาหล่อคล้ายพระเอกในนิทานเรื่อง “เจ้าชายกบ” ที่นายเคยอ่านเมื่อเด็กๆ )
ออกมาหน้าสถานีก็เห็นรถจอดรออยู่ 3 คัน เป็นรถเบนซ์ทั้งหมด สำหรับหัวหน้าคณะและรองหัวหน้า คนอื่น ๆ ที่เหลือนั้น เขาจัดมินิบัสใหม่ค่อนข้างเอี่ยมให้นั่ง
ล่ามตุ้ยนุ้ยนั้นนั่งคู่คนขับ ประกบหัวหน้าคณะของเราตลอดงาน ส่วนกบน้อยมีหน้าที่คุมพรรคพวกในมินิบัส
แสงแดดยังแจ่มจ้าอยู่ เมื่อขบวนรถทั้ง 3 คันของเราแล่นผ่านใจกลางนครเปียงยาง ถนนกว้างมากและสะอาดสะอ้าน มีต้นไม้อยู่สองฝั่งดูเขียวชอุ่ม แต่ก็ทำให้มองตึกรามสองฟากได้ไม่ถนัดนัก เราผ่านอนุสาวรีย์หลายแห่ง ทุกแห่งดูใหญ่โต สวยงาม และมีสัญลักษณ์เฉพาะตัวทั้งนั้น
บอกไม่ถูกว่า ทำไมฟองน้ำจึงรู้สึกเหงาๆ มันเหมือนขาดอะไรไปบางอย่างในเมืองนี้... ถนนว่าง ปราศจากรถแท็กซี่ และนานๆจึงจะมีรถอื่นสวนเรามาสักคัน เอ... นี่ผู้คนเขาไปไหนกันหมดหนอ ถึงทำให้ฟองน้ำรู้สึกว่า เปียงยางเป็นนครหลวงที่มีชีวิตแต่ไม่มีชีวา ?
ถนนที่ปราศจากรถกับตำรวจจราจรผู้เดียวดาย:ภาพนี้หนึ่งในคณะของนายถ่ายเก็บไว้
บ้านพักรับรองคณะเราชื่อ “มารัม” (Marum) นายว่าจำง่ายชะมัด คิดถึงเพลงรำวง “มา ๆ ซิ มารำ” ละก้อไม่มีลืม อยู่ห่างจากใจกลางเมืองราว 20 กิโลเมตรเห็นจะได้ นายพูดทีเล่นทีจริงว่า น่าจะเรียกว่า “ค่ายกักกันอันน่ารื่นรมย์” มากกว่า
ก่อนถึงบ้านมารัม เราต้องผ่านอุโมงค์ 2 แห่ง แห่งแรกเป็นอุโมงค์สั้นๆ อยู่ประมาณอีก 5 กิโลเมตรก่อนถึงบ้านพัก ส่วนอุโมงค์ที่ 2 เจาะลอดเขาเตี้ยๆ ตรงทางเข้า มีทหารหนุ่มน้อย น่าจะอายุไม่เกิน 20 หนึ่งคนยืนยามอยู่ มีอาวุธคือดาบปลายปืนด้วย ทหารหนุ่มน้อยนี้จะคอยตรวจรถและยกไม้กั้นทางขึ้นให้รถผ่าน อุโมงค์ที่ 2 นี้ยาวราว 400 เมตร
พอโผล่พ้นอุโมงค์ก็ถึงบริเวณบ้านพักรับรองมารัมทันที เราได้เห็นวิวสวยประทับใจอย่างมาก เบื้องหน้าของเราเป็นทะเลสาบกว้าง มองเห็นขุนเขาซับซ้อนไกลลิบ รถแล่นเลียบทะเลสาบไปตามเนินที่เต็มไปด้วยแมกไม้หลายพันธุ์ ไปอีกประมาณ 500 เมตรก็เป็นสนามหญ้า มีทางลาดขึ้นไปยังตัวบ้านพักซึ่งเป็นตึกยาว สูง 3 ชั้นทาสีขาวเห็นเด่น
เขากั้นตึกเป็น 2 ส่วน แยกกันโดยเด็ดขาด มีทางเข้าคนละทาง และแยกการบริการคนละส่วนด้วยเช่นกัน ห้องพักมีทั้งหมดประมาณ 35 ห้อง เขาจัดให้คณะเราแยกกันอยู่ซีกขวา 8 คน ซีกซ้าย 7 คน แยกกันรับประทานอาหาร คนละแห่ง คนละเวลา แต่เวลาไปไหนก็ไปพร้อมกันโดยขบวนรถ 3 คันดังที่ได้เล่าไว้
ฟองน้ำว่า ที่พักนี้สบายกว่าโรงแรมตรงที่เราได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติและสงบเงียบดี (แต่สำหรับคนขี้เหงา เขาคงคิดว่าถูกปล่อยเกาะมากกว่า)
ห้องพักของนายเป็นห้องชุดน่าอยู่ ติดแอร์เย็นฉ่ำ (ช่วงนี้เป็นฤดูร้อนของที่นี่) ครบครันด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ห้องนอนและห้องน้ำแยกเป็นสัดส่วน ในห้องนั่งเล่นมีโต๊ะทำงานและโทรศัพท์ ทีวีและวิทยุเครื่องใหญ่แบบโบราณตั้งอยู่ที่มุมห้องใกล้กับชุดรับแขก อีกมุมหนึ่งมีโต๊ะเล็กๆ วางชาโสมและกระติกน้ำร้อน-เย็น พร้อมกับพานลูกกวาดและช็อกโกแลตกับถั่วอบกระป๋อง
ถ้วยชาและจานรองเป็นกระเบื้องเนื้อดี มีแก้วน้ำเจียระไนวางคู่กัน ทุกอย่างมีผ้าปักสวยรอง และมีผ้าปักผืนใหญ่คลุมโต๊ะเล็กนี้อีกทีเพื่อกันฝุ่นและแมลง ในตู้เย็นมีพานแอปเปิ้ลกับสาลี่ลูกโต เครื่องดื่มมีพร้อม 6 ขวด 6 ชนิดวางเรียงรายอยู่ ทุกอย่างดูอุดมสมบูรณ์ดีแท้ ๆ
ฟองน้ำรู้สึกได้ถึงความเอาใจใส่ของเจ้าบ้าน ที่คงอยากให้เราประทับใจที่สุดในสิ่งที่เขาต้องการให้เราเห็น !
ล่ามลีเล่าให้นายฟังทีหลังว่า บ้านพักรับรองแบบนี้มี 3 แห่ง ท่านคิม อิล ซุงเป็นผู้เลือกทำเลเอง เพื่อให้แขกเมืองได้พักผ่อนอย่างสงบและสบาย จะมีรถประจำบ้านพักเป็นยี่ห้อเบนซ์ทั้งหมด นอกจากหมายเลขประจำรถแล้ว ยังติดดาวไว้บนป้ายด้วย มี 3 สี คือ ป้ายดาวแดง ป้ายดาวเขียว และป้ายดาวน้ำเงิน ของบ้านมารัมเป็นป้ายดาวแดง
เราอาบน้ำแต่งตัวกันอย่างย่อ ๆ เพราะต้องพร้อมสำหรับดินเนอร์ที่เขาจะเลี้ยงต้อนรับเราเวลา 6 โมงเย็น
ท่านชา บอง จู เจ้าภาพ มารออยู่แล้วในห้องรับรองของบ้านพักซึ่งเป็นห้องใหญ่ ปูพรมเขียวเข้ม มีโซฟาตั้งเรียงรายอยู่ 20 กว่าตัว พอพวกเราเข้ามาพร้อมทุกคนแล้ว ท่านชาก็จับจูงหัวหน้าคณะเราออกอีกประตูหนึ่ง นำไปห้องอาหารด้วยมาดที่ออกจะเป็นพิธีรีตองอยู่สักหน่อย
โต๊ะอาหารจัดเป็นรูปไข่อยู่กลางห้องซึ่งโปร่งสบายด้วยหน้าต่าง 2 ด้าน มีม่านลูกไม้ขาวติดชายครุยห้อยย้อยจากเพดาน มองออกไปเห็นหมู่ไม้และสนามเรียบเขียวลาดลงสู่ทะเลสาบ ห่างจากตัวตึกราว 300 เมตร เป็นวิวเดียวกับที่มองเห็นจากหน้าต่างห้องนอนของฟองน้ำ ผนังอีกด้านหนึ่งของห้องอาหารติดรูปวาดขนาดใหญ่ เป็นรูปฝูงนกกำลังบินอยู่เหนือทุ่งนาสีทอง มุ่งไปสู่จุดหมายปลายทางที่มองไม่เห็น
ฟองน้ำมีโอกาสมองภาพนี้วันละ 3 เวลา คือทุกครั้งที่มารับประทานอาหาร มองไปมองมา นอกจากเห็นว่าสวยแล้ว ยังจินตนาการไปได้ไกลอีกว่า นี่คงเป็นภาพวาดที่บรรจุนัยแห่งอุดมการณ์ของคนเกาหลีเหนือเขากระมัง อุดมการณ์ที่จะช่วยกันนำชาติไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ เฉกเช่นนกทุกตัวในรูปที่พร้อมใจกันมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกันหมดโดยไม่แตกฝูงเลย
ผู้ร่วมโต๊ะฝ่ายเกาหลีมี 5 คน นอกจากท่านชาแล้ว ก็มีอาจารย์อีก 2 คนจากสมาคมสังคมศาสตร์ คนหนึ่งชื่อ คุณแบ้ค ซอง มู (Back Song Moo – นายตั้งฉายาให้ว่า คุณหลัง เพราะชื่อของเขาสะกดเป็นภาษาอังกฤษ แปลแล้วก็คือหลังนั่นแหละ) อีกคนทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานให้กลุ่มเราอยู่ที่สำนักงานของสมาคม นายไม่ได้จดชื่อเอาไว้ และล่ามอีก 2 คน รวมกับคณะเราเป็น 20 คนพอดี
โต๊ะอาหารจัดหรูเต็มยศ ปูผ้าซาตินหนาปักด้วยไหมเส้นละเอียดเป็นดอกไม้สีแปร๊ดแต่กลมกลืนและประณีต แซมขอบด้วยเส้นเงินเล็กๆ นายติดใจวิธีปักของเขามาก จนหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องไปหาซื้อกลับบ้านสักชุด ชุดอาหารเป็นกระเบื้องขาวใสเนื้อละเอียด ลายดอกไม้กระจุ๋มกระจิ๋มเช่นกัน มีมีด ส้อม ช้อนคาว-หวานวางแบบตะวันตก ที่เกินมาคือตะเกียบ
ผ้ารองจานแต่ละที่ก็รูปร่างแปลก คือแทนที่จะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเหมือนกับที่เห็น ๆ อยู่ทั่วไป กลับเป็นแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ปลายข้างหนึ่งโค้งมน เวลาจัด เขาจะวางผ้าให้ด้านโค้งนี้ตกห้อยลงไปจากขอบโต๊ะ (คุณเข้าใจที่ฟองน้ำอธิบายไหมเอ่ย ? ถ้าไม่เข้าใจ ฟองน้ำก็ขออภัย)
ที่มุมซ้ายของผ้ารองจานของแต่ละคน วางชามแก้วเจียระไนบรรจุกิมจิหรือผักดองเกาหลี จัดเรียงไว้อย่างสวยงามเป็นรูปกุหลาบหนึ่งดอก โรยด้วยพริกป่นสีแดงอมส้มชวนให้น้ำลายสอ มุมด้านขวาวางขนมปัง เนย และแยม แก้วเครื่องดื่มวางไว้ 4 ประเภท (เป็นแก้วเจียระไนอีกนั่นแหละ) ได้แก่ แก้วเหล้าเรียกน้ำย่อย แก้วไวน์ แก้วเบียร์ และแก้วน้ำ กลางโต๊ะเป็นแจกันดอกไม้สด เคียงข้างคือถาดออเดิร์ฟ จัดไว้สวยเสียจนอยากจะเก็บไว้ดูเฉย ๆ
ท่านชากล่าวสุนทรพจน์ต้อนรับ พร้อมกับเชิญชวนดื่มอวยพรแด่ประมุขของทั้งสองประเทศด้วยเหล้าโสม บริกรของเราเป็นบ๋อย 4 คน แต่งชุดขาวโก้ ผูกเนคไทสีฟ้าสด ส่วนบริกรสาวอีก 2 คน แต่งตัวสวยด้วยเสื้อสีขาวมีระบาย เก็บชายเสื้อไว้ในกระโปรงฟ้าสีเดียวกับเนคไทของบ๋อย บริกรทุกคนผ่านการฝึกการเสิร์ฟ การถอนอาหารอย่างถูกต้องตามแบบสากลเปี๊ยบ
1
เราคอยชำเลืองดูท่านชาว่าท่านจะหยิบจับอะไรก่อน เพราะอาหารเกาหลีมีเครื่องจิ้มเครื่องเคียงเยอะ ท่านชาเริ่มต้นด้วยออเดิร์ฟจานที่กลางโต๊ะก่อน ถัดจากนั้นก็มียำวุ้นเส้น เส้นโตเท่าเส้นก๋วยเตี๋ยวจันท์ใส่เห็ดหอม โรยงา แล้วก็เป็นจานปลาทอดมีมะนาวฝานบาง ๆ วางแนม
1
รายการต่อมาเป็นน้ำซุปแบบแกงจืด ไม่มีผัก เสิร์ฟพร้อมกับข้าวสวยถ้วยเล็กๆ เราเห็นท่านชาเทข้าวใส่ในน้ำซุป แล้วโรยพริกป่น เราก็ทำตามบ้าง แถมเติมซีอิ้วกับซอสเปรี้ยวให้รส
แซ่บยิ่งขึ้น รสชาติซุปก็เลยคล้ายๆ กับข้าวต้มเครื่องของบ้านเรานี่เอง
รายการสุดท้ายเป็นไก่บ้านเนื้อแน่นหวาน ยัดไส้ด้วยโสมป่ากลิ่นละมุนซอยเป็นแว่นๆ นึ่งจนนิ่ม บ๋อยบอกว่านี่เป็นอาหารพิเศษจากครัวมารัม นานๆ จึงจะทำเลี้ยงแขกสักที เพราะโสมป่านั้นหายาก
ระหว่างอาหารเขาก็เสิร์ฟเบียร์ดำ และเหล้าองุ่นป่า (Wild grave wine) แรง 16 ดีกรี รสนุ่มกลมกล่อมดีจริงๆ เหล้าองุ่นป่านี้ไม่ค่อยมีขายทั่วๆ ไป พวกเราไปหาซื้อที่ในเมืองก็หาไม่ได้ ไม่ทราบว่ามีขายกันเป็นพิเศษที่ไหน ถามกบน้อยก็บอกไม่ทราบเพราะเขาไม่ดื่ม
ของหวานได้แก่ข้าวพองรสหวานปะแล่ม ๆ กับงากรอบแผ่นบางหอมอร่อย เข้ากันกับชาโสมร้อนๆ
ระหว่างรับประทานอาหาร ฟองน้ำได้ยินท่านชาคุยแนะนำให้เรารู้จักประเทศเกาหลีตามทัศนะของท่านไปเรื่อยๆ น่าสงสารล่ามลีที่แทบจะไม่มีเวลารับประทาน ต้องคอยแปลประโยคต่อประโยค นายจดบันทึกส่วนตัวไว้ ดังนี้
“ต่อไปนี้เป็นเกร็ดฝอยย่อยอาหาร ... โปรเฟสเซอร์ชาว่า ประเทศนี้ไม่มีคนว่างงาน ไม่มีเด็กไร้ที่เรียน ไม่มีคนขอทาน ไม่มีช่องว่างระหว่างชนชั้น คนเสิร์ฟอาหารให้เราที่เห็นๆ อยู่นี่ก็ล้วนจบปริญญาตรีทั้งนั้น เรายึดหลักการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาคิด “จูเช่” (Juche Idea) หมายความว่าเราต้องพึ่งตนเอง เราถือว่า “คน” สำคัญที่สุด ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วย “คน” ...”
เราๆ ท่านๆ คงจะรู้จักและเข้าใจสังคมเกาหลีเหนือดีไม่ได้ ถ้าไม่เรียนรู้เกี่ยวกับ “จูเช่ ไอเดีย” บ้าง
งานเลี้ยงต้อนรับพวกเราเลิกราเมื่อเวลาเพียง 2 ทุ่มครึ่ง เรามีนัดกับท่านชาอีกในวันพรุ่งนี้หลังอาหารเช้า เพื่อฟังท่านสรุปย่อเรื่องเกาหลีต่อ และจะได้ตกลงกันเรื่องโปรแกรมดูงานก่อนที่จะได้ไปสัมผัสของจริง
เพียงแค่ 3 ทุ่ม “มารัม” ก็ตกอยู่ในความสงัดของราตรีกาล ถนนหน้าตึกที่พักว่างเปล่าเมื่อมองผ่านแสงไฟที่ส่องสว่างจากเสาไฟฟ้าเป็นระยะๆ ไกลออกไปก็คือความมืดมิด ทุกอย่างตกอยู่ในความเงียบสงบ มีเพียงเสียงพริ้วไหวของใบไม้ยามต้องลมอ่อนเท่านั้น
โปรดติดตามตอนต่อไป.....

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา