26 พ.ค. 2022 เวลา 11:30 • ไลฟ์สไตล์
“สิ่งทั้งปวงเกิด-ดับ ว่างจากตัวตน”
“ … จะเห็นว่าวิญญานก็เกิด-ดับ เกิด-ดับ ตลอดเวลา
การกระทบทางกายที่เรียกว่า โผฏฐัพพะ ดับ ก็มาเกิดเป็นลมหายใจ เกิด
ฉะนั้นสิ่งทั้งปวงเกิด-ดับ ไม่ได้มีตัวเราของเราอะไรเลย เป็นไปตามธรรมชาติ มองให้เห็นอย่างนี้ เวลาภาวนาเห็นอย่างนี้
เกิด-ดับ ว่าง … เกิด-ดับ ว่าง … เกิด-ดับ ว่าง
ไม่มีอะไรที่เกิดดับ แล้วไม่ว่าง
คำว่า ว่าง หมายถึง ว่างจากตัวตน
มีแต่ธรรมชาติ การทำงานเท่านั้นเอง
ฉะนั้นการภาวนาอย่างนี้ จิตจะโฟกัสเข้าไปให้เกิดปัญญา 6*5 30 ที่พระพุทธเจ้าบอกก็อยู่แค่นี้แหละ สิ่งทั้งปวงนี่แหละ ไล่มาตั้งแต่อายตนะ ผัสสะ เวทนา
เมื่อใครรู้แจ้งตรงนี้ เห็นความจริงตามนี้
การปล่อยวางก็จะเกิดขึ้น
การเบื่อหน่าย คลายความยึดถือก็จะเกิดขึ้น
ถ้าเราฟังหลวงพ่อเมื่อคืน
ท่านก็บอกว่าท่านหลุดพ้นจากตรงนี้
เสียงทุกอย่างที่กระทบล้วนเกิดดับ
การเข้าไปรับรู้ล้วนเกิดดับทั้งสิ้น
เสียงต่าง ๆ ที่มากระทบจะไม่มีความหมายอะไรเลย
ถ้าไม่มีวิญญานเข้าไปรับรู้
แต่ความหมายที่วิญญานแปล บางทีมันเลย
กลายเป็นชอบ ไม่ชอบขึ้นมา
แต่ก็ล้วนเกิด-ดับทั้งสิ้น
มีแต่การทำงานของธรรมชาติ ว่างจากตัวตน
สิ่งทั้งปวงเกิดดับ ว่างจากตัวตน
สิ่งทั้งปวงเกิดดับ ว่างจากตัวตน
ไม่ใช่แค่นั่งท่องไปนะ มันจะรู้แจ้งได้ มันต้องเข้าใจ
เข้าไปเห็นความจริงที่กำลังเกิดขึ้น
อะไรคือสิ่งทั้งปวง ?
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือสิ่งทั้งปวง
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ คือสิ่งทั้งปวง
วิญญานที่ไปตั้งอาศัยที่ผัสสะต่าง ๆ คือสิ่งทั้งปวง
เวทนา คือผลจากการกระทบ คือสิ่งทั้งปวง
นั่งอยู่นี่เห็นอะไรในสิ่งทั้งปวง
เสียงที่กระทบมีอยู่มั้ยตอนนี้ ที่กำลังได้ยินอยู่นี้
สังเกตมั้ยว่าเราเห็นแต่เสียง เราเห็นหูไหมล่ะ
ถ้าหูไม่เกิด เสียงมันจะเกิดไหมล่ะ
ถ้าไม่มีวิญญานเข้ามารับรู้ด้วย
เสียงเหล่านั้นก็จะผ่านไปเฉย ๆ ไม่มีค่า
เหมือนเสียง ฟังเสียงผมอยู่ แต่มีเสียงจิ้งหรีดไหมล่ะ
มันจะมีค่าไหม ถ้าวิญญานไม่เข้าไปตั้งอาศัย
ฉะนั้นทุกอย่างเกิดดับ ๆ ๆ ไปทีละขณะ เป็นธรรมชาติ ว่างจากตัวตนทั้งสิ้น ไม่ได้มีอะไรเป็นอะไรอย่างที่เราคิด
ถ้ามีเราคิด … ก็จบล่ะ
ดังนั้น เห็นประจักษ์แจ้ง ไม่ต้องเอาเราไปใส่
ไปรับรู้เสียงจิ้งหรีด …
สิ่งทั้งปวงเกิดดับ ว่างจากตัวตน
ไม่ใช่เราเข้าไปรู้ มันมีกระบวนการรับรู้
ก็เดี๋ยวกลับมาอยู่กับลมหายใจ เสียงจิ้งหรีดก็หายไป
วิญญานก็มารับรู้ที่รูป รูปกาย
ลมหายใจเป็นกาย
จะไปรับรู้ที่ลมได้ไหม ถ้ามันไม่มีการรับรู้ที่จมูก
ถ้ากรรมฐานเราอ่อน เราจะเห็นแค่ …
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แค่นั้นเอง
นั่นคือความตั้งมั่นของจิตไม่พอ
ทำยังไงถึงจะเห็นตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
จากนั้นลึกลงไป เห็นวิญญานที่เข้าไปรับรู้
เสียงกระทบหู ถ้าไม่มีวิญญานรับรู้
สิ่งเหล่านั้นก็ไม่มีค่าอะไร
มีเสียงเป็นสิบเสียงตอนนี้
แต่เราได้ยินแต่เสียงอะไร
จากนั้นก็เกิดดับ แล้วก็กลับไปรู้ลม
ใจกำลังคิด วิญญานก็เข้าไปรับรู้ที่ธรรมารมณ์ อยู่ที่ใจ
เพราะฉะนั้นฝึกไป จนกระทั่งเห็นครบสามฐานนั่นแหละ
เราได้ยินแต่เสียง เราได้ยินแต่เสียง
แต่เราไม่เคยเห็นหูเลย
หูมาตอนไหนเนี่ย
ท้ง ๆ ที่มันอยู่โจ้ง ๆ ประจักษ์อยู่
ก็ไม่เคยเห็น
ถ้าหูก็ไม่เห็น วิญญานจะเห็นไหม
วิญญานทางหู
รู้แต่เสียง รู้แต่เสียง
ฟังแต่ธรรม แต่ไม่เคยเห็นธรรมจริง ๆ ข้างใน
ฉะนั้นเห็น วันไหนเห็น ก็จะเห็นสิ่งทั้งปวงเกิดดับ ว่างจากตัวตนทั้งสิ้น เขาทำงานของเขาเองตามธรรมชาติ ไม่ได้มี “เรา” เลย
จากนั้นมันก็จะเกิดวิราคะธรรม คือเบื่อหน่าย คลายความยึดถือ
ไอ้คำว่า “เรา” “เรา” “เรา” ทั้งหลายเนี่ย
ตาก็เรา ใจก็เรา ความรู้สึกทั้งหมดก็เป็นเรา
ก็กอดกลมกันแน่นอยู่นั่น
รู้แจ้งได้เพราะมันเห็นหมด
ขยับไปทางไหน ก็เห็นแต่ว่างจากตัวตน ๆ
ก็จะเข้าถึงความเป็น อนัตตา
ผู้รู้ ก็ อนัตตา
ผู้ถูกรู้ ก็ อนัตตา
ผู้รู้ก็ว่างจากตัวตนหมด
ตอนนี้มันมีสองข้างอยู่
ข้างหนึ่ง หูกับเสียง
อีกข้างหนึ่ง เป็นผู้รู้ คือโสตะวิญญาน
สามอย่างทำงานร่วมกัน กระทบปั๊บ เรียกว่าผัสสะทางหู
ถ้ากรรมฐานผิว ๆ ก็เห็นแต่เสียง หูยังหาไม่เจอเลย
ตอนรับรู้เสียงตุ๊กแก มีเสียงจิ้งหรีดอีกไหม
จะได้รู้ว่าวิญญานเกิดดับ ๆ ๆ
ว่างจากตัวตนกันหมด
สั่งให้เข้าไปรู้เหรอ
ต่อให้สั่ง คนสั่งยังไม่ใช่เราเลย
แค่สังขาร
เพราะฉะนั้นเวลาฟังธรรม ได้ยินสิ่งทั้งปวงเกิดดับ ว่างจากตัวตน นึกว่าเรารู้ เราเข้าใจหมดน่ะ มาจากสัญญาหมด
ทีนี้ถ้าธรรมมันไม่ประจักษ์แจ้งที่ใจ
อะไรล่ะที่จะเกิดประโยชน์
ก็ผ่านหูไปรูด ๆ อย่างนั้น
เจาะเข้าไปให้เห็น เจาะเข้าไปให้เห็น
ถึงจะเข้าใจคำว่า พุธโธแตกออก ของหลวงพ่อ
เมื่อไรพุธโธแตกออกเนี่ย เมื่อนั้นก็จบ
คำพูดที่บอกว่า “พุธโธ ๆๆ” เมือไหร่พุธโธมันแตกออก จิตก็จะเข้าถึงพุทธะ
สิ่งที่หลวงพ่อพูดถึงเมื่อคืนน่ะ ไม่ใช่คำเลย
มันเป็นบัญญัติใช้แทนสภาวะทั้งสิ้นเลย
สัมมาญานะ กับ ธรรมญาน
คำนี้เกินสัมมาทิฏฐิไปแล้วนะ
สัมมัตตะ ๑๐ เกิดในพระอรหันต์แล้วนะ
พระโสดาบัน สกทาคามี พระอนาคามี
ยังอยู่ในสัมมาทิฏฐิอยู่เลย
ยังมีการยึดถือ ยังมีอุปาทาน
การรับรู้ ได้ยิน ได้กลิ่น ความคิด ยังถูกยึดถืออยู่เลย
แต่เห็นความจริงแล้ว
พอถึงพระอรหันต์ การรับรู้ทั้งหมดไม่ผ่านวิญญานแล้ว
เข้าไปที่จิตเดิมแท้เลย
จิตคือพุทธะ รับรู้สภาพตามจริง
ไม่มีผู้รู้ ผู้ถูกรู้แล้ว
ผู้รู้ ผู้ถูกรู้ คือสิ่งเดียวกันหมด
เรียก ธรรมญาน
จากนั้นก็เข้าสู่วิมุตติ เป็นผลถัดต่อไป
ถ้าเห็นได้จริง ๆ ก็ไม่ต้องไปดีใจกับสภาวธรรมอะไรนะ
มันต้องเห็นอย่างนี้ เป็นหมื่น เป็นแสนครั้ง
จิตมันถึงจะยอมปล่อย
เพราะความยึดถือมันเหนียวแน่น
พอเหนียวแน่น ก็เป็นเราอีก
เห็นอะไรก็ว่าเป็นเราอีก
ไหนล่ะ บอกว่าว่างจากตัวตน
เรารับรู้ ยังดูไม่ออกเลย
เพราะเกิดมามันก็มีเราแล้ว
วันไหนที่เกิดปัญญาขึ้นมาอย่างเต็มที่
หูที่พูดถึง ตาที่พูดถึง
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่พูดถึง เกิดที่ไหน ?
…​ เกิดขึ้นที่จิตนั่นแหละ
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ มีอยู่จริงเหรอ
… มีอยู่ที่จิตนั่นแหละ
วิญญานที่เข้าไปรับรู้ รู้นั่นที รู้นี่ที ๆ
เกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป มันอยู่ที่ไหนล่ะ ?
… มันอยู่ที่จิต
สุดท้ายเมื่อเห็นอย่างแจ่มแจ้งแล้วเนี่ย
ทั้งผู้รู้ หยาบ ๆ คือวิญญาน
ผู้ถูกรู้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์
ล้วนอยู่ที่จิตทั้งหมด … โลกนี้มีแต่จิต
จากนั้นผู้รู้ และผู้ถูกรู้ จะกลายเป็นสิ่งเดียวกัน
มีอยู่อย่างเดียว คือ จิต
วิญญานจะดับทันที
จิตเองก็ว่างจากตัวตน
เมื่อนั้นจะเกิดการหลุดพ้น วางอุปาทานขันธ์
เข้าถึง นิพพาน
ไม่มีอะไรเลยโลกนี้ นอกจากจิต
ที่เราเคยได้ยินผู้รู้ และผู้ถูกรู้ คือสิ่งเดียวกัน นั่นแหละ
แต่วันนี้เราต้องมานั่งท่องว่า สิ่งทั้งปวงเกิดดับ ว่างจากตัวตน เอาเป็นสองฝั่ง หรือใครจะเห็นเป็นสามฝั่งก็ตาม
มีตา มีรูป มีวิญญานเข้าไปรับรู้
จนกว่าจะ “เห็นแจ้ง” ขึ้นมาทั้งหมดนั่นแหละ
ทั้งหมดอยู่ที่จิต ทั้งหมดเลยนี่
ไม่ได้มีอะไรเป็นบัญญัติแบบนั้นเลย
ทุกอย่างอยู่ที่ จิต
สลายความเห็นผิด จึงเกิดธรรมญาน
คือ สัมมาญานะ นั่นแหละ
ในสัมมัตตะ ๑๐
เข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ แล้วก็หลุดพ้นไป
วันนี้เห็นได้แค่ไหน ก็เอาแค่นั้น
ไปเปิดปฏิปทาเป็นที่สบายสู่พระนิพพานนั่นแหละ
นี่แหละคือสิ่งที่หลวงพ่อกำลังพูดให้ฟัง
ถ้าเราพอจำได้ที่เปิดบ่อย ๆ
พระพุทธเจ้าถามสาวกว่า ตาเป็นอนิจจัง ตาเที่ยงหรือไม่เที่ยง
สาวกก็ตอบว่า ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า
หูเที่ยงหรือไม่เที่ยง แล้วก็ถามไปจนครบ
แล้วถามว่ารูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง
วิธีเจาะเข้าไป ก็คือเจาะแบบนี้
รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เที่ยงหรือไม่เที่ยง
ไม่ใช่ตอบจากความคิด
จากการกระทบตอนนี้
ลมกระทบผิวกาย การรับรู้เกิดดับ ๆ ๆ เที่ยงหรือไม่เที่ยง
เขาปฏิบัติกันอย่างนี้นะ เขาปฏิบัติกันอย่างนี้ … “
.
เคล็ดลับการปฏิบัติให้ก้าวหน้า ตอนที่ 1
พระธรรมเทศนา โดย
พระครูวินัยธร มหาทรงศักดิ์ วิโนทโก (หลวงพ่อเอี้ยน)
๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ณ สวนยินดีเกาะละพวย จ.สุราษฏร์ธานี
เคล็ดลับการปฏิบัติให้ก้าวหน้า ตอนที่ 2
ธรรมบรรยาย โดย อ. ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕
ณ สวนยินดีเกาะพะลวย จ.สุราษฏร์ธานี
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา