13 ก.ค. 2022 เวลา 09:48 • ปรัชญา
“จุดเริ่มต้น“
“ … วันนี้ความทุกข์ทั้งหลาย ถ้าใครก็ตามเป็นนักปฏิบัติธรรม ที่เข้ามาเจริญสติก็ดี เข้ามาปฏิบัติภาวนา เข้ามาเจริญมรรคก็ดี
จุดหมายปลายทางของทุกคนที่จะพ้นทุกข์ได้ เข้าถึงพระนิพพานตามคำของพระศาสดา นั่นก็คือ วางอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 ลงทั้งหมด นั่นแหละคือพระนิพพาน
วันนี้เรามาดูกันเรื่องของไตรลักษณ์ ความจริงไตรลักษณ์เนี่ย พูดไปแล้วเหมือนกับจะรู้จักกันทุกคน โดยเฉพาะคำว่า อนิจจัง โอ้โห ใช้กัน เป็นที่เข้าใจกัน อนิจจังไม่เที่ยง อนิจจังไม่เที่ยง
มีใครเสียชีวิต ก็บอก … โอ้ มันอนิจจัง
น้ำท่วม ก็ … อื้ม อนิจจัง
พอน้ำลด ก็ … อนิจจัง
อะไรเกิดขึ้นก็อนิจจัง
แต่สังเกตไหมครับว่า ไม่ว่าใครจะเข้าใจอนิจจังแค่ไหนก็ตาม แต่ไม่เห็นเอา … เอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่เห็นจะพ้นทุกข์กันได้
ดังนั้นที่เราเรียกว่าไตรลักษณ์ ที่บอกว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเนี่ย ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเข้ามาสู่การปฏิบัติธรรมจริง ๆ ไตรลักษณ์มีความสำคัญยังไง
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเริ่มจากเป็นคำ ๆ เพื่อทำความเข้าใจให้ได้ง่าย ๆ ก่อน
อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง ใช่
ทุกขัง คือ สภาพทุกข์ที่ทนอยู่ได้ยาก ไม่เสถียร เมื่อเราพูดถึงความไม่เสถียร คนในยุคปัจจุบันจะเข้าใจได้ง่าย
สิ่งใดที่ไม่เสถียร สิ่งนั้นเนี่ยจะพยายามปรับตัวเอง ปรับไปปรับมา พยายามจะให้เสถียรแต่แล้วมันก็จะไม่เสถียรอีก แล้วมันก็จะปรับไปปรับมา ภายใต้สิ่งแวดล้อมหรือเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา
นี่แหละคือความเป็นทุกขัง คือสภาพทุกข์ นี่คือสภาพทุกข์ ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า นี่คือสภาพทุกข์ ไม่ใช่คำว่าทุกขังคือความทุกข์ เหมือนกับที่ทุกคนเข้าใจ
ทุกขัง คือ สภาพทุกข์ แต่ถ้าเมื่อไหร่มีใครก็ตามเข้าไปยึดถือสภาพทุกข์นั้น คนที่เข้าไปยึดถือจะเป็นทุกข์
เอาล่ะ ทีนี้คำว่าทุกขังจึงกลายเป็น 2 สถานะ สถานะแรกก็คือความที่มันไม่เสถียร มันจึงบีบคั้นตัวเองตลอดเวลา เพื่อจะพยายามทำตัวให้เสถียร … แต่ไม่เสถียร
เมื่อไรก็ตามมีผู้ที่เข้าไปยึดถือสิ่งที่ไม่เสถียร หรือสิ่งที่มีสภาพทุกข์ คนคนนั้นจะทุกข์
อย่างเช่น ถ้ามีรถคันหนึ่งบุโรทั่งเก่า ๆ จอดอยู่ที่เต็นท์รถ วันที่เราขับรถผ่านไปผ่านมา หันไปเห็น เรานึกว่า โอ้ คลาสสิกคาร์ สวยนะ เราก็ว่ามันสวยดี
วันไหนก็ตามเราตัดสินใจซื้อเข้ามา เช้าก็สตาร์ทไม่ติด เย็นวิ่งไปก็รถดับ ทีนี้เราเริ่มเป็นทุกข์ ทำไมเราถึงเป็นทุกข์ ?
เพราะรถนั้นน่ะมันไม่เสถียรแล้ว เดี๋ยวมันก็เสีย เดี๋ยวแบตเตอรี่ก็หมด เดี๋ยวไอ้นั้นก็เสื่อม ไอ้นี่ก็เสีย วิ่งไปก็ตาย ทีนี้พอเราเป็นเจ้าของ ของที่ไม่เสถียรคือมีสภาพทุกข์ คือเกิด ๆ ดับ ๆ อย่างนี้ เราจึงเป็นทุกข์
ตอนที่เราไม่เป็นเจ้าของ จอดอยู่ที่เต็นท์ เราไม่เคยทุกข์กับมันเลย เอาล่ะ นี่คือสภาพทุกขัง
คำอีกคำหนึ่ง คือคำว่า อนัตตา เราได้ยินคำว่า อนัตตา แปลกันว่า ไม่ใช่ตัวตน คำ ๆ นี้ผมเชื่อว่าสร้างปัญหาหรือสร้างความเข้าใจที่ค่อนข้างลำบากให้กับผู้คนค่อนข้างมาก
เพราะว่าเวลาบอกว่า สมมติว่ามีใครบอกว่า สรรพสิ่งเป็นอนัตตา นั่นก็แปลว่ารวมถึงเราด้วยเหรอ ถ้าเราเป็นอนัตตาแล้วเราเป็นใครล่ะ มันจึงเกิดคำถามมากมาย
เอาเป็นว่าเราเข้าใจสภาพก่อน แล้วจากนั้นจะค่อย ๆ อธิบายไป อธิบายไป เข้าไปลึกลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งสร้างความเข้าใจขึ้นมาให้ได้
คำว่า อนัตตา ที่บอกว่า ไม่ใช่ตัวตน ก็ถูก ความที่ไม่ใช่ตัวตน ก็เพราะว่ามันขึ้นกับเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่เข้ามารุมเร้าต่อมัน แล้วมันก็เปลี่ยนแปลงสภาพไปตามเหตุปัจจัย
เพราะฉะนั้นคำว่าไตรลักษณ์ ที่บอกว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ถ้าแปลโดยคำว่าไตรลักษณ์ด้วย
คำว่าไตร ก็คือ สาม ลักษณ์ ก็คือ ลักษณะ
ก็แปลว่า ลักษณะ 3 ประการ ของสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่จะแสดงผลออกมาเป็น 3 อย่างนี้ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
แล้วลักษณะ 3 ของสรรพสิ่งต่าง ๆ คืออะไร ?
ความเป็นจริงถ้าอธิบาย 3 ลักษณะเนี่ย เป็นลักษณะของความเป็นรูปนาม สรรพสิ่งภายในโลกในจักรวาลนี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เลยว่า ทุกอย่างคือรูปนาม
รูปนามจะแสดง สรรพสิ่งจะแสดงลักษณะ 3 ประการออกมา ก็คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เรากลับมาที่เริ่มต้นใหม่ เรารู้จักไตรลักษณ์ เราเริ่มรู้ว่าถ้ารูปนามทั้งหมดแสดงอาการออกมา 3 อย่าง หรือลักษณะ 3 อย่าง
ความพระปรีชาสามารถของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็คือว่า ถ้าจะบอกว่าเธอทุกคนเนี่ย มีความเป็นรูปนาม ไม่ใช่ตัวตน บุคคล เราเขา หรอก เราจะงงมากเลย
ท่านรู้แล้วว่า ไม่มีทางที่จะพูดอย่างนี้ได้ มันต้องเริ่มต้นจาก …
ถ้าผมจะทำความเข้าใจให้กับทุกคน มีต้นไม้ต้นหนึ่ง มีนกเกิดมาบนต้นไม้ แล้วนกก็เข้าไปยึดถือต้นไม้ต้นนั้นว่าเป็นของมัน
เพราะว่ามันเกิดบนต้นไม้ แล้วมันโตมากับต้นไม้ต้นนั้น มันก็อดไม่ได้จริง ๆ ที่มันจะรู้สึกว่าต้นไม้เนี่ยมันเป็นเจ้าของ แล้วตัวมันเองก็มีความผูกพันกับต้นไม้นั้น
ไม่ว่าต้นไม้ต้นจะมีเพลี้ยมีแมลงมากิน มันก็จะเศร้าโศกเสียใจ ถ้าต้นไม้นั้นออกดอกออกลูกออกผล นกก็จะดีใจ
นกมีความผูกพันกับต้นไม้โดยไม่รู้ตัว
จากนั้น ถ้าเราเป็นเจ้าของบ้าน เดินไปบอกนก ถ้าแกเข้าใจผิดอย่างนี้เนี่ย มันจะทำให้แกทุกข์นะ เพราะทุกครั้งที่ต้นไม้มันเหี่ยวเฉาลง แกก็จะทุกข์เศร้าลงไปกับต้นไม้นั้นด้วย
ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเนี่ย เจ้ากับต้นไม้ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย
ต่อให้เราพูดเท่าไหร่ นกมันก็ไม่เชื่อ นกมันก็ไม่ฟัง มันก็บอกอย่างเดียวว่า มันจะเป็นไปอย่างนั้นได้ยังไง ก็ฉันก็ผูกพันกับต้นไม้นี้ มีความรู้สึกเข้ามาเป็นเจ้าของร่วมในใจของมันเอง
ทีนี้ต่อให้เจ้าของบ้านจะไปบอกนก ไปอธิบายให้นกฟังเท่าไหร่เนี่ย นกก็ไม่มีวันเข้าใจ
มันเหลืออย่างเดียวคือ นกต้องเข้าไปสังเกต เอาล่ะ เราจะยังไม่ลงไปที่ประเด็นนั้น แต่เราต้องการที่จะทำความเข้าใจ
ถ้าเรามาสังเกตกันดูจริง ๆ เราจะเห็นว่า นกกับต้นไม้เนี่ย มันมีความผูกพันฝ่ายเดียว ต้นไม้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วย แต่ว่านกไปสร้างความผูกพันกับต้นไม้เอง
นั่นแสดงว่า ถ้านกหมดจากความผูกพันนี้ นกกับต้นไม้ก็เป็นอิสระจากกัน
ซึ่งความเป็นจริง นกกับต้นไม้อิสระจากกันอยู่แล้ว
นกกับต้นไม้ อิสระจากกันอยู่แล้ว
1
นกกับต้นไม้ ไม่เคยเป็นอะไรของกันและกันเลย
นกมีความรู้สึกหนึ่งขึ้นมาเท่านั้นเอง
ความรู้สึกที่ไปผูกพันกับต้นไม้เนี่ย ในทางธรรมะเรียกว่า อุปาทาน
ถ้าต้นไม้นี้เป็นตัวแทนของขันธ์ 5 นี่แหละคือ อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัวทุกข์ล่ะ
เนื่องจากถ้านกแสดงตัวแทนคำว่า จิต แล้วจิตเข้าไปผูกพันกับขันธ์ 5 โดยที่ไม่รู้ตัว มันจะก่อให้เกิดทุกข์ทั้งปวงขึ้น
ถ้าเราเข้าใจเรื่องของนกกับต้นไม้ เราจะเห็นเลยว่า ตอนนี้นกเป็นทุกข์ เพราะมันไปยึดถือต้นไม้ว่าเป็นมันเป็นของมันขึ้นมา
แต่ปัญหาก็คือว่า ไม่ว่าเราจะบอกนกเท่าไหร่ก็ตาม นกไม่เข้าใจ
นี่แหละคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าต้องการให้ทำยังไง ให้ผู้ที่ปฏิบัติธรรมหรือสาวกของท่านทั้งหลาย ที่ปฏิบัติธรรมจะพ้นทุกข์ได้ ด้วยการปล่อยอุปาทานในขันธ์ หรือที่เรียกว่า วางอุปาทานในขันธ์ลง
ถ้าเราเห็นภาพโดยรวม หรือว่าเห็นภาพโดยสรุปแล้วเนี่ย เราจะเห็นเลยว่า ปัญหาไม่น่าเกิดขึ้นเลย แต่ปัญหามันเกิดขึ้นจากที่นกเนี่ยโง่เอง
เรื่องของเรื่อง คือ งานนี้ นกเนี่ยโง่เอง … “
.
ความสำคัญของไตรลักษณ์
โดย อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
สุขทุกวัน ๗ วัน ๗ กูรู
๓๐ มิ.ย. ๒๕๖๐
ติดตามการบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา