Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Trick of the Trade
•
ติดตาม
2 มิ.ย. 2022 เวลา 06:00 • การตลาด
ย้อนกลับไปในปี 1992 ช่วงปิดเทอมใหญ่ ผมมีโอกาสได้ไปเป็นเด็กฝึกงานที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาลาดพร้าว ด้วยคำสั่งแกมบังคับของผู้ใหญ่ที่เคารพรักท่านนึงว่า ให้ไปฝึกงานดีกว่านอนอยู่บ้านเฉยๆ
ผมนั้นไม่มีปัญหาอยู่แล้วครับ ตามประสาเด็กว่าง่าย ผู้ใหญ่สั่งให้ทำอะไรก็ทำ (เด็กไทยที่แท้ทรู)
งานที่ได้ฝึกคือ เป็นเด็กตรวจปรู๊ฟต้นฉบับของนิตยสารพรีเมียร์ ที่เป็นนิตยสารแจกฟรีให้กับผู้ถือบัตรเซ็นทรัลการ์ด ถือเป็นงานที่อยู่ใกล้ชิดกับการทำหนังสือมาก และไม่น่าเชื่อว่า 30 ปีให้หลังผมจะกลายมาเป็นคนทำหนังสือเต็มตัว
ยุคนั้น ได้ตามกองถ่ายไปถ่ายแฟชั่น จำได้ว่าเซ็ตนึงที่ได้ถ่ายคือคุณหน่อย บุษกร สมัยพึ่งเป็นสาวแพรว (เธอได้ตำแหน่งในปี 1990) ก็สนุกดีครับ ได้เห็นเบื้องหลังของการถ่ายแฟชั่นสักเซ็ตนึงว่าลำบากวุ่นวายขนาดไหน
ที่จริงแล้ว ก่อนจะฝึกทำหนังสือ ผมมีโอกาสทำอีกงานก่อนหน้านั้นด้วย แม้จะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ แต่ก็ให้อะไรกับผมมากเหลือเกิน
งานแรกของการฝึกงานคือ เป็นเด็กผู้ช่วยตรงแคชเชียร์ ในแผนกซุปเปอร์ของห้าง (สมัยนั้นยังไม่มี Tops) หน้าที่คือคอยหยิบของใส่ถุงให้ลูกค้ากลับบ้าน แค่นั้นเอง
ตอนแรกผมก็งงๆ ให้เราไปทำอะไรตรงนี้เนี่ย แต่สั่งมาก็ทำได้อยู่แล้ว
ผ่านไป 7 วันแรก โดนผู้ใหญ่ท่านนี้เรียกเข้าไปพบและถามว่า
….เห็นอะไรบ้าง? ….
ยอมรับว่า งงจริงครับ มันคืออะไร? ยืนเอาของใส่ถุงแค่นี้ ต้องเห็นอะไร?
พอตอบไม่ได้ เท่านั้นล่ะ โดนด่าแหกหูฉีกไปเลย
"เคยสังเกตไหม ว่าหยิบอะไรใส่ถุงบ้าง ใครมาซื้อ มากี่คน ซื้ออะไรบ้าง หยิบอันไหนใส่ถุงบ่อยๆ ฯลฯ"
ผมรับคำด่าพร้อมกับคำสั่งให้ไปดูมาใหม่ แล้วอีก 7 วันค่อยกลับมารายงาน
1 สัปดาห์ผ่านไป คราวนี้ ฉลาดเลยจร้า
เข้าไปรายงานผลแต่ครั้งนี้มีพี่ผู้จัดการแผนกซุปเปอร์เข้าร่วมฟังด้วย
ข้อมูลที่กลับไปรายงาน เท่าที่เหลือในความจำได้ตอนนี้นะครับ
- สินค้าขายดีแต่ละช่วงจะต่างกัน ตอนกลางวันก็จะเป็นของสด ของใช้ในบ้าน ส่วนหัวค่ำจะมีเครื่องดื่มมากขึ้น
- ทุกวันศุกร์จะมีฝรั่งครอบครัวนึงมาซื้อ ซื้อทีนึง รถเข็นนึงเอาไม่อยู่นะ และเป็นผมที่ต้องเข็นไปส่งที่ประตูห้างทุกครั้ง ซึ่งสุดท้ายผมรู้ว่าเธอซื้อเพื่อเตรียมไปปิกนิก หรือจัดปาร์ตี้ที่บ้านช่วงสุปสัปดาห์
- ทุกบ่ายของวันธรรมดา จะมีคุณลุงคุณป้าคู่นึง เอาเหรียญมาเทตรงแคชเชียร์เพื่อจ่ายเงินค่าของ
- ลูกค้าซุปเปอร์เป็นผู้หญิง 90% แต่ผู้ชายทุกคนที่มา ซื้อเยอะกว่ามาก เฉลี่ยคือ 2 เท่า
- ตอนเข็นรถไปส่งที่ลานจอด จะมีรปภ. อยู่คนเดียวที่มาช่วยผมเอาของขึ้นรถ ส่วนรปภ.คนอื่นนั้น ไม่เคยมาช่วย (ต่อมาภายหลังทราบว่า รปภ.คนนี้ ได้เลื่อนขึ้นเป็นหัวหน้าด้วย)
- ฯลฯ
เมื่อจบการรายงาน พี่ผู้จัดการซุปเปอร์ก็ถูกถามเหมือนกันว่า เคยเห็นอะไรแบบนี้ไหม
แน่นอนว่า คำตอบคือไม่เคย และสุดท้าย ผู้จัดการซุปเปอร์ก็เป็นรายต่อไปที่โดนด่าไม่ต่างจากผมเมื่อสัปดาห์ก่อน
สิ่งที่เกิดขึ้นจากช่วง 2 สัปดาห์นั้น เหมือนการเปิดโลกการทำงานของผมมาก มันสอนให้เป็นคนสังเกตไว้ก่อน เห็นอะไรต้องดู พยายามทำความเข้าใจ และเชื่อมโยงหลายๆสิ่งที่เห็นเข้าด้วยกัน
หลังจากทำงานเอาของใส่ถุงได้ 2 อาทิตย์ ก็โดนย้ายไปแผนกกองกลาง (คือแผนกรับสินค้าเข้าห้าง) คราวนี้หน้าที่คือ รับของเข้า ได้เห็นเลยว่ารถบริษัทไหนมาบ่อยแปลว่าขายดี คนไหนเจอกันครั้งเดียวแปลว่าของน่าจะออกช้ากว่า เห็นราคาส่งสินค้า และเทื่อเอาไปเทียบกับราคาขายเราก็เห็นเลยว่า แต่ละแบรนด์ทำกำไรต่างกันตรงไหน
ในที่สุด นิสัยการสังเกตนี้เองกลายเป็นความสามารถในการ spy ข้อมูลต่างๆ อีกมากมายในเวลาต่อมา ใครจะเปิดร้าน เปิดห้าง อยากรู้ว่าคู่แข่งขายอะไรประมาณไหน ผมจะได้รับมอบหมายให้ไปสังเกตและเอาข้อมูลมาสรุปให้ผู้บริหารฟังอยู่บ่อยครั้ง
ข้อมูลที่ถูก ดีและฟรี ที่มีอยู่รอบตัวเราอยู่แล้ว
ถ้าเราทำงานบนข้อมูล ไม่ใช่การเดา รู้จักเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ มันจะช่วยสร้างความแตกต่างให้กับเราได้มาก แม้ข้อมูลจะไม่ถูกต้อง 100% แต่อย่างน้อยมันก็มีที่มาที่ไปให้เป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจได้
คนที่กำลังทำธุรกิจอยู่ ต้องมีนิสัยเป็นคนช่างสังเกต
เห็นอะไรก็ถ่ายรูปเก็บไว้ เอามาค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่ม
ข้อมูลเดี๋ยวนี้หาง่ายกว่าแต่ก่อนมาก อยากถ่ายรูปอะไรก็ถ่าย ต่างจากสมัยก่อนที่ยกกล้องขึ้นมาทีนึง พนักงานวิ่งกรูกันออกมาไล่
ถ้าไม่อยากทำงานและตัดสินใจผิดด้วยความมืดบอดทางข้อมูล ลองเริ่มต้นสังเกตทุกอย่างรอบตัวครับ แล้วเราจะพบข้อมูลหลายอย่างที่เราเคยมองข้ามไป ทั้งๆ ที่ข้อมูลมันก็อยู่ตรงนั้นนั่นแหละ ไม่เคยหนีไปไหน
ข้อมูลแค่กำลังรอให้เรามองเห็นมันเท่านั้นเอง
#trickofthetrade #data #marketing #business
ธุรกิจ
data
marketing
1 บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ฺBusiness
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย