3 มิ.ย. 2022 เวลา 12:30 • สุขภาพ
"5 วิธี บอกคนใกล้ชิด ให้เข้าพบจิตแพทย์"
หลายๆคนอาจจะมีคนรอบข้างที่เราสงสัยว่าจะมีความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจหรือเปล่า สังเกตจากอาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เก็บตัวแยกตัวผิดปกติ อารมณ์ฉุนเฉียวแปรปรวนง่าย ร้องไห้คนเดียวอยู่บ่อยๆ สมาธิความจำในการทำงานลดน้อยลง การรับประทานอาหารเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ตั้งใจ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนเสียการงานหรือกระทำผิดกฎหมาย ฯลฯ
แต่เมื่อเราคิดจะแนะนำให้คนๆนั้น ไปเข้ารับการตรวจรักษาโดยจิตแพทย์ ก็มักจะไม่แน่ใจว่าจะมีวิธีการพูดอย่างไรดี หรือมีความกังวล/กลัว ว่าจะไปกระตุ้นอารมณ์ของเขา และ ถูกต่อว่ากลับมาได้ สุดท้ายจึงปล่อยเลยตามเลย หรือพยายามอยู่ห่างๆจากคนนั้นไว้
วันนี้จึงอยากจะมาแนะนำ 5 วิธีพูด บอกคนใกล้ชิด ให้ไปพบจิตแพทย์หรือเข้ารับการรักษา ได้อย่างนุ่มนวล และมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น จะมีวิธีอย่างไรบ้าง ลองมาดูกัน
1. ก่อนอื่นเลย การที่จะเข้าไปบอกนั้น ตัวผู้พูดก็ควรจะเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อน โดยเฉพาะเตรียมพร้อมสำหรับถ้อยคำหรือประโยคที่จะใช้พูด ไม่พูดไปทันทีขณะที่กำลังเกิดปัญหาอารมณ์อยู่ต่อหน้า (เจ้าตัวอาจจะรู้สึกว่าถูกตำหนิ/จับผิด หรือยิ่งไปทำให้เหตุการณ์แย่ลงไปได้) ทางที่ดีผู้พูดจึงควรที่จะเรียมตัวก่อน
รวมไปถึงการเตรียมสถานที่ที่จะพูด ต้องเป็นส่วนตัว ไม่พลุกพล่าน ไม่พูดต่อหน้าคนอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้อง
2. โดยวิธีการพูดนั้น ให้เริ่มจากการสะท้อนถึงความเป็นจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลีกเลี่ยงการแสดงทัศนคติของการตัดสินจากตัวเราเอง (เช่น สิ่งที่ทำนั้นมัน ถูก/ผิด, แย่, ดี/ไม่ดี, มาก/น้อย เร็ว/ช้าเกินไป เป็นต้น) เพื่อเป็นการชี้ให้เจ้าตัวเห็นถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก่อน โดยปราศจากตัดสินถึงการกระทำนั้นๆ
3. จากนั้น จึงพูดถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวเราว่ารู้สึกอย่างไร หลังจากเหตุกาณ์นั้นๆ เช่น เราตกใจที่เห็นเธอปาของใส่ผนังเมื่อวาน, เรารู้สึกเสียใจที่เธอต่อว่าเราเมื่อเช้านี้
4. จากนั้น จึงแสดงความเป็นห่วงออกไปอย่างจริงใจ โดยผ่านประโยค I messages แทนการใช้ You message เช่น แทนที่จะบอกว่า "ช่วงนี้ทำไมเธอดูหงุดหงิดจังเลย" แต่เปลี่ยนเป็น "ฉันรู้สึกเป็นห่วง ที่เธอดูหงุดหงิดในช่วงนี้"
5. หลีกเลี่ยงการใช้คำถามว่า "ทำไม" เพราะจะให้ผู้ฟังรู้สึกถึงการถูกตำหนิ แต่ให้เปลี่ยนเป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน ที่ไม่ได้ทำให้รู้สึกเชิงลบ เช่น เพราะอะไร, เกิดอะไรขึ้น
ตัวอย่างเช่น "ทำไมถึงต้องขึ้นเสียงด้วย" เปลี่ยนเป็น "เพราะอะไรถึงต้องขึ้นเสียงใส่กัน" หรือ "ทำไมช่วงนี้ถึงเอาแต่ร้องไห้" เปลี่ยนเป็น "ช่วงนี้เห็นร้องไห้อยู่บ่อยๆ เกิดอะไรขึ้น"
ถึงแม้ความหมายของประโยคจะไม่ต่างกัน แต่ก็ทำให้ผู้ฟังไม่ได้รู้สึกถึงการถูกตำหนิแล้ว
หลังจากนั้น จึงค่อยๆ แนะนำให้เจ้าตัว ลองนัดเพื่อเข้าพบกับจิตแพทย์อีกทีหนึ่ง อาจชักชวนให้ลองไปประเมินอาการดูก่อนก็ได้ หรือว่ามีความเจ็บป่วยที่ผิดปกติ จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยหรือไม่
จะทำอย่างไร หากลองแนะนำแล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธกลับมาทันที
เราสามารถใช้เทคนิกในการทำให้การเข้าพบจิตแพทย์ดูเป็นเรื่องปกติ (Normalization) โดยอธิบายให้เห็นว่า ปัจจุบัน บางคนแค่มีปัญหาความเครียดเล็กๆน้อยๆก็ขอเข้ารับการปรึกษาได้แล้ว ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องใช้เวลาและความอดทน เพราะการเข้ารับบำบัดหรือการไปพบจิตแพทย์ สำหรับบางคน ก็จะยังฟังดูแปลกหรือดูน่ากลัว แต่ถ้าหากได้ลองวิธีการตามที่ได้เล่าให้ฟังตั้งแต่ต้น แล้วปรับเปลี่ยนเป็นคำพูดที่เข้าได้กับสถานการณ์ของเราเอง โอกาสสำเร็จน่าจะเพิ่มสูงมากขึ้นเลยทีเดียว
Credit ภาพ : www.canva.com
โฆษณา