4 มิ.ย. 2022 เวลา 23:38 • ปรัชญา
๓. สุดปลายแผ่นดิน
(จินตนิยายอิงประวัติศาสตร์ จากสุวรรณภูมิถึงเยรูซาเล็ม) มี ๑๗ บท
บทที่ ๖ พระผู้เป็นเจ้า​และ​รอยยิ้ม​ของ​มิ​เรียม​
อันดะเรอาได้จากเบธเลเฮ็มไปเพื่องานของพระคริสต์ในการเผยแพร่ทางของสวรรค์ และท่านได้สัญญากับพวกเราว่า ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ท่านได้จากไป ขอให้ท่านยะโฮซูอะได้นำข้าพเจ้าทั้งอิสไมเลียและสามเณรขึ้นไปสมทบกับท่านที่เมืองซูฆารในแคว้นสะมาเรีย
อิสไมเลียดูเหมือนว่ากระหายที่จะได้เข้าเฝ้าพระคริสต์ยิ่งนัก มีอะไรบางสิ่งในใจของอิสไมเลียในเรื่องพระผู้เป็นเจ้าและพระธรรม
ส่วนข้าพเจ้าเองนั้นยังไม่กระจ่างนักในหลักลัทธิที่ว่าด้วยพระผู้เป็นเจ้าเป็นมูลกรณีย์ เพราะว่าพุทธธรรมของเรานั้นย่อมไม่บัญญัติว่ามีพระผู้เป็นใหญ่ที่จะมาบงการลิขิตชีวิตใครที่ไหนได้ นอกจากกรรมเท่านั้นจำแนกสัตว์ให้หยาบหรือประณีต
3
แม้กระนั้นก็ดีข้าพเจ้าก็ต้องยอมรับว่า ศาสนาที่มีพระผู้เป็นเจ้านี้ช่างทำให้วัฒนธรรมหยั่งรากลึกเหลือเกิน อะไรๆ ก็ยกแก่พระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าได้ถูกระบุถึงวันหนึ่งๆ นับด้วยแสนครั้ง ดูจะไม่มีใครสนใจเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ที่เป็นอยู่จริงในชีวิตประจำวันเลย
เย็นวันหนึ่ง ข้าพเจ้าได้มีโอกาสอยู่สองต่อสองกับอิสไมเลียสหายคู่ยาก ส่วนสามเณรการุณนั้นมิเรียมบุตรีของท่านยะโฮซูอะได้ชวนไปที่ใดที่หนึ่ง ดูเหมือนว่าข้าพเจ้ายังมิได้เล่าถึงมิเรียมไว้ก่อนหน้านี้เลย เธอเป็นธิดาคนสวยอายุอยู่ในวัยสาว สามเณรการุณผู้เป็นบุตรชายของหะซัน สับบาร์ จึงได้เป็นที่ชอบใจของมิเรียมที่เธอได้น้องชายชาวปาระซีเพิ่มขึ้นในครอบครัว
“พระคุณท่านที่รัก,” อิสไมเลียเอ่ยขึ้น และต่อจากนั้นท่านก็ได้ระบุชื่อของข้าพเจ้าเป็นภาษาบาลี ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าล่องลอยกลับไปสู่เรือของนายวาณิชในมหาสมุทรแห่งความหลัง
“อิสไมเลีย ท่านควรจะเรียกข้าพเจ้าว่า หะซัน สับบาร์ ตามที่ท่านตั้งให้ไปตามเดิม และเราควรจะพูดภาษาอาราเมคกันให้ติดปาก กันพลั้งเผลอไว้จะดีกว่า”
“จริงของท่านด้วยหะซัน สับบาร์ และข้าพเจ้าต้องกราบขออภัยต่อพระคุณท่านด้วยที่จำเป็นต้องทำอย่างนี้”
“อิสไมเลียที่รัก อย่าลำบากใจเลย เพราะเรามีความจำเป็นจะต้องทำเช่นนี้ และดูเหมือนว่าท่านกล่าวเช่นนี้มาหลายครั้งแล้วน่ะ จงสะดวกใจเถิด ท่านผู้มีพระคุณ”
อิสไมเลียได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าเลิกเรียกเขาว่าท่านผู้มีพระคุณเสียที เพราะเราต่างได้กลายเป็นคนคนเดียวกันเสียแล้วในเหตุการณ์เช่นนี้ เพราะว่าเราคือพุทธบริษัทในเครื่องแบบของปาระซีด้วยกัน
“หะซันที่เคารพ ท่านคิดอย่างไรในเรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวกับพระคริสต์ ที่เราฟังอยู่เกือบทุกค่ำคืนที่เราสนทนากับยะโฮซูอะ?”
“อิสไมเลีย, พระเยซูจะเป็นพระบุตรของพระเจ้าหรือว่าจะเป็นองค์พระเจ้าหรือไม่นั้น ข้าพเจ้าจะทราบได้อย่างไรเล่า และข้าพเจ้าจะออกความเห็นใดๆ ก็ยังไม่สมควรอยู่ดี”
“หะซัน สับบาร์ เหมือนดังได้เคยเล่าให้ท่านฟังแล้วนั่นแหละว่าพระบิดายะโฮวา หรืออโดนอย นั้นเป็นคำสูงสุดในแถบอนุทวีปนี้ เช่นเดียวกับที่เหล่าปาระซีมีอาหุระมาสดา พระเทพบิดรเช่นกัน เรื่องนี้ข้าพเจ้าเองเห็นด้วยกับท่านอันดะเรอาเป็นอย่างยิ่ง พระเป็นเจ้าคือสัจจะ สัจจะอันโดดเด่นเพียงอันเดียวเท่านั้น
นี่ไม่ใช่หรือที่พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราได้ตรัสว่า เอกํ หิ สจฺจํน ทุติยมฺมตฺถิ – สัจจะมีหนึ่งเดียวแท้เทียว สัจจะที่สองหามีไม่”
เราเดินลาดลงสู่ที่ราบในความเงียบ ได้ยินแต่เสียงของปลายไม้เท้าของข้าพเจ้ากระทบดิน หรือที่จ้ำลงไปบนเงาหัวของตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่า พร้อมกับความคิดที่สับสนอยู่แต่ “พระเจ้าคือพระธรรม” ข้าพเจ้านิ่งงันอยู่ในปัญหานี้จนแทบจะไม่ได้ยินเสียงฝูงแกะที่ถูกต้อนลงจากเนินเขาข้างหน้า พร้อมกับเสียงเรียกชื่อจากปากของมิเรียมและสามเณรการุณ พร้อมด้วยดวงตาที่มองข้าพเจ้าจนเกินกาลของมิเรียมธิดาสาวของยะโฮซูอะ
บทที่ ๗ ตามรอยบาทพระคริสต์
... กำหนดเวลาหนึ่งเดือนที่ท่านอันดะเรอาจะไปจากเบธเลเฮ็มก็มาถึง
ข้าพเจ้าได้จากเบธเลเฮ็มไปในวันอังคาร คณะเดินทางอันประกอบด้วยยะโฮซูอะ นับเป็นความสะเพร่าที่ทำให้ความลับของเราต้องเปิดเผยแก่มิเรียม หญิงอิสราเอลผู้ฉลาด สามเณรการุณ หรือชื่อปาระซีที่อิสไมเลียตั้งให้ว่าฮะกิมนั้นแม้จะเฉลียวฉลาดแต่ก็ยังเด็กเกินไป ไหนจะทันต่อดวงตาที่คมกริบของมิเรียมได้
เราออกเดินทางตอนบ่าย มุ่งไปสู่เยรูซาเล็มเมืองของกษัตริย์ดาวิด เมืองประวัติศาสตร์ของชนชาติอิสราเอล
เราเดินทางถึงเยรูซาเล็มในรุ่งเช้า
และในคืนนั้นเราได้พักที่บ้านสหายของท่านยะโฮซูอะในเยรูซาเล็มเมืองศักดิ์สิทธิ์ เราได้ถูกแนะนำให้รู้จักกับชาวอิสราเอลบ้างพร้อมทั้งเรื่องราวของเยรูซาเล็มและยะโฮวา ข้าพเจ้าและอิสไมเลียย่อมได้รับความอบอุ่นเนื่องจากเป็นปาระซีของอดีตจักรพรรดิไซรัสผู้ปลดปล่อยอิสราเอลจากบาบิโลนมาสู่เยรูซาเล็มแหล่งดั้งเดิม
ตกกลางคืนเจ้าของบ้านผู้อารีได้จัดหาคนที่มีความทรงจำคัมภีร์เป็นเยี่ยมมาสาธยายให้ฟัง
อิสไมเลียและข้าพเจ้าจึงได้รับฟังคำสอนของกษัตริย์โซโลโมราชบุตรของดาวิดที่ตรัสสอนปวงประชาชาติอิสราเอลอย่างน่าจับใจ
ตอนสายวันนั้นเองเราได้ร่ำลาเจ้าของบ้านผู้ใจดีพร้อมกับละเยรูซาเล็มไว้เบื้องหลัง มุ่งไปตามถนนสู่เมืองเซซาเรยา, สู่ซูฆารที่นัดหมายไว้กับท่านอันดะเรอา
เรารอนแรมไปตามทางนั้นประมาณ ๑๕ วัน ก็ลุถึงเมืองสะมาเรียอันเป็นใจกลางของแคว้นสะมาเรีย และอีกวันเดียวก็ถึงเมืองซูฆารที่นัดหมายไว้กับท่านอันดะเรอา
เราออกเดินทางจากเมืองซูฆารในเวลาบ่ายคล้อย มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือสู่เมืองนาซาเรทในแคว้นกลีลาย
หลังจากข้ามแม่น้ำแล้วเราก็เข้าสู่แคว้นกลีลาย และไม่ช้าก็มาถึงนาซาเร็ทหมู่บ้านอันเป็นที่เจริญวัยของพระเยซู ซึ่งต่อมาเป็นที่เรียกติดปากของคนทั่วไปว่า “พระเยซูแห่งนาซาเร็ท” หากแต่ว่าชาวนาซาเร็ทหาได้ยอมรับว่าพระองค์ท่านว่าเป็นพระคริสต์ไม่
คืนวันที่สอง ที่เราได้มาถึงนาซาเร็ท และพักอยู่ที่บ้านของสาวกของพระคริสต์
เรานั่งกับพื้นบนพรมผืนใหญ่, ยะโฮซูอะและท่านอันดะเรอากับเจ้าของบ้านสนทนากันอย่างสนิทสนม ข้าพเจ้านั่งข้างอิสไมเลียและบ่าวของยะโฮซูอะมีเหล้าองุ่นอยู่ในถังที่อาโรนเจ้าของบ้านเอามาเลี้ยงวางอยู่ตรงกลาง เมื่อต่างได้ดื่มทั่วกันแล้วการสนทนาก็เป็นไปอย่างอบอุ่นยิ่งแม้จะเป็นเวลาย่ำค่ำ
ล่วงเข้ามัชฌิมยาม อากาศหนาวจัด เป็นคืนข้างแรม เมื่อการสนทนาของเราจวนจะสิ้นสุดลงนั้นเอง
ชายเดินทางคนหนึ่งปรากฏกายขึ้น
ท่านอันดะเรอาอุทานเบาๆ ว่า “ยูดาส อิสคาริโอธ!”
ข่าวของพระคริสต์จากผู้มาใหม่ที่ชื่อ ยูดาส อิสคาริโอธ ทำให้เราต้องเปลี่ยนแผนการเดินทาง เพราะว่ายูดาส ๑ ใน ๑๒ ของอัครสาวกที่พระคริสต์เลือกไว้ได้บอกเรา
ทีแรกนั้นข้าพเจ้าคิดว่า ไม่มีใครเคยได้ยินเรื่องราวของพระศากยมุนี แต่แล้วท่านอาโรนผู้ชราและรอบรู้ ได้ระบุหลายครั้งถึงพระศากยมุนีและคำสอนที่พระธรรมทูตครั้งพระเจ้าอโศกถูกส่งมายังถิ่นนี้ และประสบกับความรุ่งโรจน์อยู่ช่วงเดียว โดยเฉพาะในปาระซี
... ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรดีในเรื่องนี้ ถ้าข้าพเจ้าประกาศตัวเป็นบรรพชิตในพุทธศาสนา ข้าพเจ้าย่อมไม่ประสบความสวัสดีโดยแน่นอน คิดดังนี้แล้วก็ได้แต่ทอดอาลัยในชีวิต และปล่อยให้วันคืนล่วงไปพร้อมๆ กับเรื่องราวของพระคริสต์เจ้าซึมซาบเข้ามา จนบัดนี้ข้าพเจ้าสงสัยว่า หะซัน สับบาร์ เป็นปาระซีผู้ถืออาหุระมาสดา หรือว่าเป็นพระสุเมธะสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันแน่?...
เราออกจากนาซาเร็ทโดยมีท่านอาโรนผู้เฒ่าผู้เป็นรัตตัญญูรอบรู้ในศาสตร์ร่วมขบวนด้วย มุ่งไปยังเมืองคานาที่พระคริสต์เจ้าได้แสดงปาฎิหารย์ให้น้ำกลายเป็นเหล้าองุ่น
(อ่านต่อเนื่อง​โพสต์​ถัดไป บทที่ ๘ สันยาสิน ศิวนาท)​
"สุดปลายแผ่นดิน" (จินตนิยายอิงประวัติศาสตร์ จากสุวรรณภูมิถึงเยรูซาเล็ม)​ เป็นผลงานวรรณกรรม ของท่านเขมานันทะเล่มเดียวที่เสนอในรูปแบบนิยาย ตีพิมพ์ครั้งแรก​เมื่อปี พ.ศ ๒๕๑๘ โดยครั้งนั้น ใช้ชื่อปกว่า "สุดปลายแผ่นดินโลก" และใช้นามปากกาว่า "มุนีนันทะ"
จินตนิยาย​เล่มนี้ เป็นเพียงข้อเสนอความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างศาสนา ท่านเขมานันทะ​เขียนในคำปรารภว่า ถ้ามีข้อผิดพลาด ซึ่งอาจนำความเสียหาย แก่ศาสนาใดแล้ว ผู้เขียนขอประทานอภัย เพราะไม่ได้เป็นจุดมุ่งหมายของการเขียน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา