Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขมานันทะในใจเรา - ชาติพันธุ์ภาวนา
•
ติดตาม
6 มิ.ย. 2022 เวลา 08:48 • ปรัชญา
๔. สุดปลายแผ่นดิน
(จินตนิยายอิงประวัติศาสตร์ จากสุวรรณภูมิถึงเยรูซาเล็ม) มี ๑๗ บท
บทที่ ๘ สันยาสิน ศิวนาท
ที่กลีลายเราหาได้พบพระคริสต์ตามตั้งใจไม่ เพราะว่าก่อนหน้าเราไปถึงเล็กน้อย พระคริสต์เสด็จพร้อมด้วยสาวกจำนวนหนึ่งลงไปยังเยรูซาเล็ม เนื่องในเทศกาลฉลองวิหารของโซโลโมเสียแล้ว
แผนการเดินทางของเราจึงเบนเป้าหมายย้อนไปยังเยรูซาเล็ม
สองสามวันที่เรากำลังรีรอเพื่อจัดหาซื้อเสบียงเดินทางอยู่ที่คาฟารนาอูมนั่นเอง เหตุการณ์สำคัญในชีวิตของข้าพเจ้าที่จะได้รู้จักกับชายคนหนึ่งก็มีขึ้น นั่นคือท่านศิวนาท สันยาสินหนุ่มจากชมพูทวีปผู้มากับข่าวประเสริฐ “อาตมันเป็นสิ่งไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย”... ท่านศิวนาทเป็นสันยาสินร่างสูงใหญ่ ห่มกายด้วยจีวรสีเหลืองคล้ำตามแบบของฮินดู
ท่านไม่มีเงินหรือทรัพย์สมบัติใดๆ นอกจากจีวรผืนเดียวและไม้เท้าอันแข็งแรงที่ถืออยู่ในมือ
แต่ท่านก็รอดมาได้ในความเชื่อ ไม่มีใครฆ่าท่านศิวนาทเพราะท่านประกาศข่าวพระเจ้าพรหมา – พระผู้สร้างที่อิสราเอลหัวเราะเยาะเพราะว่าพระเจ้าของอิสราเอลนั้น “ทรงมเหสักข์เป็นเอกสภาวะ” เขาไม่รู้ว่าท่านศิวนาทประกาศอาตมันและปรมาตมันด้วยอาการของการสร้าง, การทรงและการสลาย และเป็นสิ่งเดียวกับพระยะโฮวาเจ้า
ข้าพเจ้ากับอิสไมเลียพบกับท่านบนทางเดินระหว่างหุบเขา จีวรสีเหลืองคล้ำทำให้ข้าพเจ้ายกมือขึ้นลูบศีรษะตัวเองและรำลึกถึงสมณเพศผู้ละความปรารถนา
ข้าพเจ้าได้เล่าประวัติที่แท้จริงให้เขาทราบและเราก็ได้เก็บปัญหาเรื่องอาตมันและอนัตตาไว้ชั่วครู่ ข้าพเจ้าและอิสไมเลียผลัดกันสวมกอดท่านศิวนาทด้วยน้ำตาคลอ ปาระซี, ชมพูทวีปและสุวรรณทวีปได้ถูกเชื่อมด้วยถนนแห่งความรักและความเห็นใจที่หุบเขาข้างทะเลกลีลาย
ท่านได้แสดงความเห็นใจต่อข้าพเจ้าที่ไม่สามารถเปิดเผยสมณเพศได้ และที่จริงแล้วศิวนาทดูจะเข้าใจและศรัทธาในพระพุทธองค์มาก จะมีส่วนเล็กน้อยที่ท่านไม่กระจ่างอยู่บ้างก็ในเรื่อง “ความเป็นอนัตตาของสิ่งทั้งปวง”
เราไม่จำเป็นที่จะต้องเล่าถึงเหตุผลของคณะที่กำลังติดตามหาพระคริสต์เจ้าแก่ศิวนาทแต่อย่างใดไม่ เพราะว่าท่านศิวนาทเองก็ได้ออกติดตามพระเยซูคริสต์จากชมพูทวีปมาจนถึงบัดนี้ !
เป็นความปีติปราโมทย์ของท่านศิวนาทเหลือที่จะกล่าวได้ที่ท่านจะได้พบกับพระคริสต์เจ้า หลังจาก ๓ ปีเต็มของการจากกัน และเป็น ๓ ปีแห่งการจาริกเพื่อจะได้พบองค์พระคริสต์ผู้ที่ท่านเชื่อว่าเห็นพระเจ้าอยู่เฉพาะหน้า !
พระคริสต์เจ้าเคยเสด็จไปถึงชมพูทวีป นี้เป็นข่าวใหม่ที่ทำความบริบูรณ์ให้แก่ประวัติของพระคริสต์เจ้า
ท่านอาโรน, ท่านยะโฮซูอะ, อันดะเรอา, อิสไมเลีย และบ่าวของท่านยะโฮซูอะต่างปิติยินดีในจุดมุ่งหมายของศิวนาท สันยาสินหนุ่มผู้หวังจะพบพระคริสต์ และขบวนเดินทางของเราก็อบอุ่นด้วยน้ำเสียงของความเชื่อจากตัวแทนของต่างศาสนาที่เป็นดุจทูตแห่งสวรรค์
บทที่ ๙ อัตตา – อนัตตา
ไม่นานนักในการเดินทางร่วมกัน รอนแรมไปตามริมฝั่งแม่น้ำยอร์แดน ข้าพเจ้าและศิวนาทก็สนิทสนมชอบพอกันยิ่ง เพราะท่านเป็นสัตบุรุษแท้ พระธรรมเจ้าก็ได้กลายมาเป็นเส้นใยแห่งภราดรภาพ และอัตตากับอนัตตาค่อยสลายตัวจากตัวหนังสือหรือเสียงเข้าสู่สัจที่ไม่เกี่ยวกับตัวหนังสือหรือเสียง
อัตตาของศิวนาทก็ละบัญญัติทางอักษรศาสตร์ แต่ก็คงเรียกอัตตา, อนัตตาของสุเมธะภิกษุก็ได้ละทิ้งบัญญัติไว้เหลือแต่ความจริงที่เกินนั้น และอนัตตาก็คงเหลืออยู่ที่ริมฝีปาก
เราพูดกันเรื่องพรหมาผู้สร้าง, นารายณ์หรือวิษณุผู้ทรงไว้ และศิวะผู้ทำลายให้สลาย ในฐานะกระแสแห่งการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป เราตั้งต้นด้วยขันธ์ห้าที่เป็นบาทฐานของการเกิดขึ้นของความรู้และการไตร่ตรองทั้งมวล ท่านศิวนาทแย้งว่า เราจะแพร่กระจายการวิเคราะห์ออกจากตนภายในหรือว่าตนใหญ่ของเอกภพเล่า
ข้าพเจ้ากล่าวว่า ตนใหญ่เป็นแรงดึงให้ชีวิตมีกำลังมุ่งสู่เป้าหมาย จากการวิเคราะห์ภายในเป็นการเปิดเผยถึงสัจที่ใจ อันประกอบพร้อมด้วยอหังการ มโน พุทธิ จิต
จากสัจแห่งมายาคือตนแห่งอหังการ เข้าสู่สัจที่สิ้นอหังการแล้วเราจะกล่าวถึงที่มาที่ไปทำไมอีก ท่านศิวนาทแย้งว่าวิถีทางแห่งพุทธนั้น ข้าพเจ้ากริ่งเกรงว่าจะติดกับของอหังการที่มาในรูปของพุทธิ ดังนั้นฮินดูจึงต้องตั้งอาตมันเพื่อที่จะปฏิเสธอัตตาของอหังการอยู่ทุกระยะ
จึงได้มีบทว่า โสหัง – “ข้าพระองค์คือสิ่งนั้น” และเนติหากว่า “นี่หาใช่ไม่” ข้าพเจ้าจึงเสนอว่า จริงแล้ว มายาของอหังการอันซับซ้อนจะต้องถูกขจัดด้วยการกระทำในใจไว้อย่างแยบคายและด้วยการมุ่งละตัณหา อหังการก็สิ้นฤทธิ์
ศิวนาทเสริมว่า นั่นเองนิพพานก็คืออาตมันที่ปฏิเสธทุกสิ่ง ข้าพเจ้าแย้งว่านิพพานหาใช่อาตมันไม่ ศิวนาทกล่าวขึ้นว่า
“สหายรัก, หากว่าคำพูดหรือภาษาที่มนุษย์ตั้งขึ้นนี้ได้เล็งถึงสิ่งเดียวกันแล้ว เรามิเขลาไปหรือ ด้วยว่า หากฮินดูจะเรียกนิพพานว่าเป็นอาตมันในความหมายที่ปฏิเสธอัตตาอื่น และนิพพานหรืออาตมันก็สักแต่ว่าชื่อที่ท่านผู้รู้แจ่มแจ้งแล้วเพียงแต่เรียกกันคนละชื่อแล้ว เรามิเป็นคนโฉดเขลากันละหรือ ข้าพเจ้าเคยได้ยินมาว่า พระศากยมุนีตถาคตเจ้าตรัสว่า...
อายตนะนั้นมีอยู่ภิกษุทั้งหลาย
อายตนะนั้นคืออะไรเล่า – ดิน,
น้ำ, ไฟ, ลม ก็หาใช่ไม่ อากาสานัญจายตนะ,
วิญญาณัญจายตนะ ก็หาใช่ไม่
อากิญจัญายตนะ ก็หาใช่ไม่
เนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็หาใช่ไม่
โลกนี้, โลกหน้า
จันทร์และอาทิตย์ทั้งสอง ก็หาใช่ไม่
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตย่อมไม่กล่าวอายตนะนั้นว่า
มีการมา, การไป หารหยุด, การเคลื่อน, การเกิดขึ้น
อายตนะนั้น ไม่ตั้งอยู่ ณ ที่ใด, ไม่มีความเป็นไป เป็นธรรมชาติ
มิใช่อารมณ์ นั่นแลเป็นที่สุดแห่งทุกข์
สหายสุเมธะ, และความมีอยู่แห่งอายตนะนั้นว่างจากตัวตน อาตมันของฮินดูก็คือความมีแห่งอาตมันที่ปฏิเสธอหังการและตนทั้งสิ้นมิใช่หรือ, สหาย ถ้าเราเรียกอากาศว่าชื่อไร ก็นั่นแหละภาษาของมนุษย์ที่เป็นสักว่าชื่อ ไม่ว่าเราจะเรียกชื่ออนัตตาหรือาตมันหรือมิใช่”
ข้าพเจ้าเองคิดว่าสมมติแห่งภาษานั่นเองที่เป็นทั้งเครื่องมือในการวิเคราะห์ และก็สมมติแห่งภาษานั่นเองเป็นอุปสรรคขึ้น กว่าเราจะอยู่เหนือภาษานั้นเสียได้ และเมื่อคลองแห่งถ้อยคำถูกเพิกถอนสมมติบัญญัติแล้ว ชื่อก็เป็นอันถูกเพิกถอนสิ้นด้วย ข้าพเจ้าดำริฉะนี้แล้วจึงนิ่งอยู่
ศิวนาทเห็นข้าพเจ้านิ่ง ดังนั้นท่านจึงกล่าวต่อไปว่า
“ข้าพเจ้าอาจเอื้อมกระไรหนอที่ไปหลู่คุณของพระศาสดาจารย์ ที่ว่าเมื่ออาตมันคือหลักของฮินดูอันถูกต้องแล้วพระตถาคตจะต้องมาตรัสถึงนิพพานทำไมอีก!
สหายสุเมธะ, ข้าพเจ้ากำลังแสดงความรู้สึกกับท่านว่า สำหรับพระตถาคตเจ้าพระองค์นั้น ข้าพเจ้าเทิดอยู่เหนือหัว เพราะว่าพระผู้เป็นเจ้าได้อวตารลงมาคราวหนึ่งๆ นั้น พระองค์ได้ขนถ่ายสัตว์ผู้เชื่อร่วมทางไปกับพระองค์ดุจคลื่นยักษ์ในมหาสมุทรได้พาระลอกคลื่นน้อยโถมเข้าหาฝั่งแห่งความพ้นพิเศษ
พระองค์หาได้กระทำด้วยคำพูดไม่ แต่ด้วยพลังแห่งความบริสุทธิ์ที่เป็นพระตถาคตแท้ ส่วนพระวจนะนั้นบางสมัยก็ผ่านมาทางอาตมัน โดยรามจันทราวตารแลกฤษณาอวตาร บางสมัยคำตรัสอนัตตาผ่านทางพุทธาวตาร ทั้งหมดของความแผกของสิ่งสิ่งเดียว คือ ธรรมลีลา ลีลาแห่งพระผู้เป็นเจ้า
(อ่านต่อเนื่องโพสต์ถัดไป บทที่ ๑๐ บทเพลงแห่งชีวิต)
หมายเหตุ: เนื่องจากเป็นงานเขียนในรูปแบบนิยาย ซึ่งมีการวางเรื่องให้คลี่คลายในภายหลัง ข้อความที่โพสต์ซึ่งเน้นไปที่การดำเนินเรื่อง อาจทำให้ขาดถ้อยคำสำคัญไปได้
...
"สุดปลายแผ่นดิน" (จินตนิยายอิงประวัติศาสตร์ จากสุวรรณภูมิถึงเยรูซาเล็ม) เป็นผลงานวรรณกรรม ของท่านเขมานันทะเล่มเดียวที่เสนอในรูปแบบนิยาย ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ ๒๕๑๘ โดยครั้งนั้น ใช้ชื่อปกว่า "สุดปลายแผ่นดินโลก" และใช้นามปากกาว่า "มุนีนันทะ"
จินตนิยายเล่มนี้ เป็นเพียงข้อเสนอความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างศาสนา ท่านเขมานันทะเขียนในคำปรารภว่า ถ้ามีข้อผิดพลาด ซึ่งอาจนำความเสียหาย แก่ศาสนาใดแล้ว ผู้เขียนขอประทานอภัย เพราะไม่ได้เป็นจุดมุ่งหมายของการเขียน
2 บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สุดปลายแผ่นดิน
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย