9 มิ.ย. 2022 เวลา 13:30 • การศึกษา
ประกันสังคม กรณีว่างงาน-ตกงาน
จากสถานการณ์ในปัจจุบัน อาจจะพบเห็นว่ามีคนตกงาน หรือว่างงานกันบ่อยขึ้น แต่การตกงานอาจไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายมากนัก หากเราอยู่ในระบบประกันสังคมก็พอจะช่วยบรรเทาภาระลงได้บ้าง
1
ปัจจุบันมีการปรับวิธีการขึ้นทะเบียนว่างงานและรายงานตัวรูปแบบใหม่ โดยผู้ประกันตน ม.33 สามารถขึ้นทะเบียนว่างงานผ่านระบบออนไลน์ได้เลย
โดยขั้นตอนการลงทะเบียน มีดังนี้
1)ไปที่เว็บไซต์ของกรมการจัดหางานผ่านระบบใหม่ https://e-service.doe.go.th
ผู้ประกันตนที่จะขึ้นทะเบียนในระบบดังกล่าวจะต้องทำการลงทะเบียนขอใช้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล / Digital ID ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.)
ผู้ประกันตนสามารถเข้าสู่ระบบ (Login) โดยใช้ User / Password ที่ลงทะเบียน Digital ID ในกรณีขึ้นทะเบียนว่างงาน และรายงานตัวตามนัดหมาย
เพียงแค่กรอกข้อมูลรายละเอียดตามระบบ และแนบไฟล์บัญชีธนาคาร โดยผู้ประกันตนไม่ต้องยื่นเอกสารใดๆ กับทางสำนักงานประกันสังคมอีก
2) กรณีที่ผู้ประกันตนไม่สามารถลงทะเบียนว่างงานผ่านออนไลน์ได้ สามารถติดต่อโดยตรงได้ที่กองพัฒนาระบบบริการจัดหางาน กรมการจัดหางาน โทร 02-2469292 หรือ สอบถามข้อมูลเบื้องต้น ที่สายด่วน 1506 กด 2 หรือ สำนักจัดหางานกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่/จังหวัด
⛳ หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์
เมื่อผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน (ถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา) โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย
 
⛳ เงื่อนไขการเกิดสิทธิ์
 
1) ต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วันนับแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน เพื่อเป็นการแสดงสิทธิ์ในเบื้องต้น
หากยื่นสิทธิเกินกว่า 30 วัน จะไม่ได้รับสิทธิย้อนหลัง และหากยื่นสิทธิเกินวันที่จะได้รับสิทธิไปแล้ว จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน
2) ต้องรายงานตัวเดือนละ 1 ครั้ง ผ่านระบบออนไลน์
3) ผู้ที่ว่างงานต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากกรณี
- ทุจริตต่อหน้าที่
- กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
- จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
- ฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรง
- ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
- ประมาทเลินล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
- ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
4) ต้องมิใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
5) ไม่เป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39
 
6) มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 นับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย
⛳ สิทธิที่จะได้รับจากประโยชน์ทดแทน
>> กรณีถูกเลิกจ้าง
1
จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
ตัวอย่าง ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท (10,000 x 50%)
>> กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา
จะได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
ตัวอย่าง ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท (10,000 x 30%)
เมื่อผู้ประกันตนสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (ลาออก) สามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยมิต้องเสียค่าใช้จ่าย (กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพและกรณีเสียชีวิต)
หมายเหตุ :
ในกรณียื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนทุกครั้ง รวมกันไม่เกิน 180 วัน
แต่ในกรณียื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง เกินกว่า 1 ครั้ง ภายใน 1 ปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนรวมกันไม่เกิน 90 วัน
การว่างงานไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี แม้เราจะได้รับประโยชน์จากประกันสังคมก็ตาม แต่ถ้าเป็นกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็อย่าลืมดูแลสิทธิของตัวเอง โดยการขอรับประโยชน์เงินทดแทนจากประกันสังคมกันนะคะ
อ้างอิง : สำนักงานประกันสังคม
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา