Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Safe zone
•
ติดตาม
7 มิ.ย. 2022 เวลา 12:00 • สุขภาพ
"เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เป็นไบโพล่าร์รึเปล่าเนี้ย?"
เชื่อว่าหลายๆคน คงเคยมีประสบการณ์เจอคนรอบข้างที่มีลักษณะ อารมณ์ขึ้นๆลงๆ เปลี่ยนไวมาก ขี้เหวี่ยงวีน เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย หงุดหงิดง่าย (ขอเรียกรวมๆว่าอาการ "mood swing") จนเดาทางไม่ถูก หรือบางคนก็เป็นเสียเอง จนคนรอบข้างเริ่มหนีหายไปเรื่อยๆ เพราะทนกับอารมณ์ของตัวเราไม่ได้
จนมักจะมีคนบอกว่า อารมณ์เหวี่ยงขนาดนี้ "เป็นไบโพล่าร์รึเปล่าเนี้ย?" หรือหลายๆครั้งก็มักจะเอาไว้ใช้นินทาเจ้านายกัน
แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่มีอารมณ์ขึ้นๆลงๆ ถือเป็นโรคไบโพล่าร์หรืออารมณ์สองขั้วทุกคนจริงหรือ?
เพราะอาการ mood swing สามารถจัดเป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ที่ปกติได้ เช่น ในตอนเช้าตื่นมาด้วยความสดชื่น มีความสุข แต่พอช่วงสายๆ เข้างานถูกเจ้านายด่า ก็ทำให้รู้สึกดาวน์ลงไปบ้าง ช่วงบ่าย ถูกลูกค้าตามทวงงาน ก็อาจจะทำให้หงุดหงิด แต่เมื่อตกเย็นแล้ว แฟนพาไปหาอะไรอร่อยๆทานกัน อารมณ์ก็สามารถที่จะกลับมาเป็นปกติหรือมีความสุขได้อีกครั้ง
ซึ่งหากอารมณ์ดังกล่าว เกิดขึ้น และแกว่งอยู่ในช่วงปกติ มีที่มาที่ไป ไม่คงค้างที่อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานจนเกินไป ก็จะถือว่าเป็นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของมนุษย์เราได้
แต่ถ้าหาก อารมณ์ที่แกว่งนั้นรุนแรง รวดเร็ว หรือคงค้างที่อารมณ์หนึ่งๆอยู่เป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดปัญหาในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรือเจ้าตัวรู้สึกเป็นทุกข์กับอารมณ์เช่นนี้ ก็จะนับเป็นอาการ mood swing ที่ผิดปกติได้
โดยสาเหตุของอาการ mood swing แบบผิดปกตินั้น ไม่ได้มีแต่เพียงไบโพล่าร์เท่านั้น ยังมีสาเหตุอีกหลายอย่าง ที่วันนี้จะมายกตัวอย่างให้ได้ทราบกันเพิ่มเติม
1. Bipolar disorder : น่าจะคุ้นเคยกันที่สุดสำหรับโรคไบโพล่าร์หรืออารมณ์สองขั้ว ถือว่าเป็นความผิดปกติทางด้านอารมณ์ที่มีสาเหตุมาจากสารเคมีในสมองที่ผิดปกติไป ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ที่สลับกันไปมาระหว่างสองขั้วตามชื่อโรค นั่นก็คือ ขั้วซึมเศร้า(depression) และขั้วแมเนีย(mania)
ซึ่งในขั้วแมเนียนี่เอง ที่จะทำให้ผู้ป่วย มีอาการหงุดหงิดอยู่ตลอดเวลา อารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรง หรือในบางคน ขณะมีอาการขั้วแมเนีย ก็จะมีอารมณ์คึกคัก สนุกสนานครื้นเครงแบบมากผิดปกติ
โดยอารมณ์แต่ละขั้วมาจะมาเป็นช่วงๆ ไม่ว่าจะเป็น ช่วงแมเนีย หรือขั้วซึมเศร้า สลับกัน 1-2 สัปดาห์ โดยระหว่างที่มีอาการของขั้วนั้นๆ อารมณ์จะไม่สามารถกลับมาอยู่ในช่วงปกติได้ และมักจะไม่ใช่อาการเศร้าสลับแมเนียในวันเดียวกัน อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกัน
2. Borderline personality disorder หรือโรคบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง คือความผิดปกติทางด้านบุคลิกภาพแบบหนึ่ง ซึ่ง ในคนทั่วไปที่มีอารมณ์แปรปรวนมากๆ น่าจะตรงกับภาวะนี้
มากกว่าโรคไบโพล่าร์ เพราะผู้ป่วยในกลุ่มนี้ จะมีอารมณ์ที่แปรปรวน และรวดเร็วมาก ไล่ตั้งแต่ อารมณ์ซึมเศร้า เปลี่ยนไปเป็นปกติ หลังจากนั้นก็อาจจะมีสนุกสนานร่าเริง และตามมาด้วยอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว
ซึ่งระยะเวลาที่อารมณ์เปลี่ยนแปลงนี้อาจจะอยู่ในหลักชั่วโมง หรือเพียงไม่กี่วัน ต่างจากผู้ป่วยไบโพล่าร์ที่อารมณ์ขั้วใดขั้วหนึ่งนั้น มักจะคงค้างอยู่เช่นนั้น ระยะเวลาเป็นสัปดาห์ ไม่เปลี่ยนแปลงไวอย่างเช่นผู้ป่วยในกลุ่มที่ 2 นี้
3. พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือนอนไม่หลับติดต่อกัน เนื่องจาก ในขณะที่เรานอนหลับนั้น อารมณ์ขุ่นเคืองหรือเหตุการณ์ที่เราเจอในแต่ละวัน ก็จะได้รับการจัดการให้คลี่คลายไปในแต่ละคืน หรือบางครั้ง ก็มีกระบวนการของความฝันเข้ามาร่วมจัดการด้วย
หากมีการพักผ่อนไม่เพียงพอติดต่อกันหลายๆวันแล้ว อารมณ์ขุ่นมัว ก็จะถูกสะสมมากขึ้น และสติในการรับรู้หรือควบคุมตัวเอง ก็จะพร่องลงไปเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ก็จะทำให้คนๆนั้นมีอาการ mood swing อย่างผิดปกติขึ้นมาได้
นอกเหนือจาก 3 ภาวะข้างต้น ก็ยังมีภาวะเจ็บป่วยทางจิตเวชอื่นๆได้อีก ที่ผู้ป่วยอาจจะแสดงอาการหงุดหงิด ฉุนเฉียวแปรปรวนออกมาได้ เช่น PMS (Premenstrual syndrome หรือภาวะอารมณ์ผิดปกติ ที่จะเกิดขึ้น 1-2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน), MDD with mixed feature (ภาวะซึมเศร้าแบบมีอาการหงุดหงิดร่วม), Persistent depressive disorder(ซึมเศร้าเรื้อรัง) โดยเฉพาะอาการที่เกิดในผู้ป่วยวัยรุ่น, ภาวะสมาธิสั้น (ADHD) เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ในความเป็นจริงแล้ว อาการ mood swing เป็นเพียงอาการแสดงหนึ่งเท่านั้น เกิดได้ทั้งในคนทั่วๆไป หรือภาวะการเจ็บป่วยอื่นๆ ไม่ได้เท่ากับโรคไบโพล่าร์เสมอไป ซึ่งหากใครเจอคนรอบข้างที่กำลังมีปัญหานี้อยู่ ก็ลองแนะให้ลองเข้ามารับการปรึกษากับจิตแพทย์ เพื่อประเมินอาการ หรือวางแผนการรักษาต่อไปครับ
References :
-
https://psychcentral.com/lib/all-about-mood-swings#1
-
https://healthysleep.med.harvard.edu/need-sleep/whats-in-it-for-you/mood
Credit ภาพ :
www.canva.com
ไบโพลาร์
ซึมเศร้า
สุขภาพจิต
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย