5 มิ.ย. 2022 เวลา 10:09 • อาหาร
"ถั่วแดงเย็น: รู้ยังทำไมคนญี่ปุ่นชอบกินถั่วแดง?"
ถั่วแดง (Red Bean) เป็นวัตถุดิบหรือส่วนผสมสำคัญที่พบในขนมหวานญี่ปุ่นทั่วไป คนญี่ปุ่นจะนำถั่วแดงมาต้มหรือกวนใส่น้ำตาลให้มีรสหวานและเกาะตัวแน่นสำหรับทำเป็นไส้ หรือราดหน้าขนมต่าง ๆ เช่น โอมุซุบิ (ถั่วแดงปั้น) อัง (ถั่วแดงกวน) โมจิ โดรายากิ ไทยากิ โยคัง อังมิซึไดฟุกุ อังดังโงะ โอฮางิ เซนไซ ขนมปัง และเกี๊ยวซ่าไส้ถั่วแดง (Red Bean Gyoza) ขนมเหล่านี้พบได้แทบทุกท้องถิ่นและทุกฤดูกาลของชาวญี่ปุ่น
2
ถั่วแดงต้มน้ำตาลใส่น้ำแข็ง
คนชาติอื่น ๆ กินถั่วแดงกันไหม? ก็น่าเชื่อว่ากินกันโดยทั่วไป และก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปอีกเช่นกันว่า ชาติที่กินถั่วแดงเป็นล่ำเป็นสัน และดูจะเป็นความภาคภูมิใจประจำชาติของตนด้วยก็คือชาวญี่ปุ่น
ถั่วแดงต้มน้ำตาลมีน้ำหวานหรือน้ำเชื่อมในตัว
เหตุผลด้านตำนาน
ถั่วแดงปรากฏในตำนาน "โคจิกิ" และ "นิฮงโชะคิ" ว่า เทพธิดาโอเงสึ มีต้นถั่วแดงงอกออกจากจมูก (คล้ายตำนานน้ำเต้าปุงของไทย) รวมทั้งสามารถบันดาลให้พืชนานาพรรณงอกออกจากร่างกายตนได้ ต่อมา ซุซาโนะโอะโนะมิโคะโตะ เทพเจ้าแห่งลมพายุและผู้ปกครองปีศาจ ได้ลอบสังหารเทพธิดาโอเงสึ แล้วร่างของเทพธิดาโอเงสึก็ได้งอกขึ้นเป็นธัญพืชทั้งห้า นับแต่นั้นมา ผู้คนก็นับถือเทพธิดาโอเงสึเป็นเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหาร
6
เหตุผลด้านความเชื่อ
ชาวญี่ปุ่นเชื่อถือกันว่า ถั่วแดงเป็นธัญพืชที่มีคุณค่าทางโถชนาการ ให้พลังงานสูง เชื่อกันมามาตั้งแต่สมัยโจ มง (Jomon) หรือในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ประมาณ 14,000 - 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช
3
เหตุผลด้านพฤกษชาติ
แม้หลักฐานทางด้านวิทยาศาสตร์จะสามารถระบุได้เพียงว่า ถั่วแดงซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นจากอเมริกาใต้ น่าจะเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เมื่อราวคริสศตวรรษที่ 8 ก็ตาม แต่ก็อาจจะมีความจริงชุดอื่น ๆ ที่วิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ตอนนี้ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อในตำนานถั่วแดงกับเทพธิดาโอเงสึก็ได้ฝังเข้าไปในจิตวิญญาณคนญี่ปุ่นไปแล้ว
1
และคนญี่ปุ่นโบราณเข้าใจถูกต้อง เมื่อนักวิทยาศาสตร์อาหารร่วมสมัยยืนยันว่า ถั่วแดงมีโปรตีนมากพอ ๆ กับเนื้อสัตว์ ให้พลังงานแก่ร่างกายสูง และยังเต็มไปด้วยแคลเซียม โฟเลต และธาตุเหล็ก ไขมันต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และอุดมไปด้วยเส้นใย (Fiber) จึงมีประโยชน์ต่อร่างกายสูง
นมข้นหวานช่วยเพิ่มความข้นและหวานมันให้ถั่วแดงเย็น
ทุกฤดูใบไม้ร่วงในประเทศญี่ปุ่นจะมีเทศกาลเฉลิมฉลองหลังการเก็บเกี่ยว ชาวญี่ปุ่นจะทำ โอมุซุบิ (ข้าวปั้น) บูชาเทพเจ้าเพื่อขอบคุณที่บันดาลให้พืชพรรณอุดมสมบูรณ์ และเนื่องจากข้าวสมัยโบราณเป็นพันธุ์ข้าวกล้องสีแดง โอมุซุบิจึงเป็นสีแดง ทว่าต่อมาข้าวกลับกลายเป็นสีขาว ความเคร่งครัดในรูปลักษณ์ของของเซ่นไหว้ ชาวนาญี่ปุ่นจึงนำถั่วแดงมาต้มแล้วปั้นเป็นก้อน ใช้แทนโอมุซุบิที่เคยทำจากข้าวแดงอย่างสมัยโบราณ
1
ถั่วแดงไม่เพียงปรากฏอยู่ในตำนาน แต่ขนมที่มีส่วนผสมของถั่วแดงยังปรากฏอยู่ในรูปของ Pop Culture วัฒนธรรมกระแสนิยมที่กลายเป็น Soft Power ของญี่ปุ่นที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักถั่วแดงกับขนมญี่ปุ่นผ่านแฟชั่น นิยาย ละคร ภาพยนตร์ บทเพลง งานศิลปะ และการ์ตูน เช่นในกรณีของโดเรมอนกับโดรายากิขนมสุดโปรดของแมวสีฟ้าไม่มีหูจากโลกอนาคตที่มีแฟนคลับอยู่ทั่วโลก
2
เพราะอยากรู้เหตุผลความสัมพันธ์ของคนญี่ปุ่นกับถั่วแดง จึงเป็นที่มาของ "ถั่วแดงเย็น" ถ้วยนี้ และยังพบอีกว่า การทำถั่วแดงเย็นนั้นง่ายพอ ๆ กับการเดินเข้าครัวไปต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แค่ใช้เวลารอมากกว่านิดเดียวเท่านั้น
ถั่วแดงเย็นใช้น้ำกะทิแทนน้ำหวาน น้ำแดง หรือนมข้นหวานก็จะได้รสชาติแบบไทย ที่หอมหวานและเย็นสดชื่นไม่ต่างกัน
เริ่มจากนำถั่วแดงมาล้างทำความสะอาด แช่น้ำไว้คืนหนึ่ง เพราะถั่วแดงมีเนื้อแข็งหากต้มทันทีจะสิ้นเปลืองเวลาและพลังงาน ล้างถั่วแดงที่แช่ไว้ให้สะอาดใส่หม้อต้มสุก สุกขนาดใช้ส้อมจิ้มได้ง่าย ๆ จากนั้นใส่น้ำตาล เผื่อความหวานพอสำหรับกินร่วมกับน้ำแข็ง คนน้ำตาลละลาย ยกลง ปล่อยทิ้งให้เย็น เวลาจะกินให้ตักถั่วแดงใส่ถ้วย เติมน้ำแข็ง ราดน้ำแดง นมข้นหวาน และอาจเติมผลไม้เชื่อมขนมหวานอื่น ๆ ได้ด้วยตามชอบ
Foreground ของบทความนี้อยู่ที่ถั่วแดงในวัฒนธรรมขนมหวานญี่ปุ่น ทำให้นึกถึง Background ของ "Sweet Bean Paste" นิยายแปลชื่อ "โดรายากิขนมนี้ทำด้วยใจ" ซึ่งมี "โดรายากิ" เป็นแกนกลางของเรื่อง และดำเนินเรื่องโดยมีร้านโดรายากิกับต้นซากุระเป็นฉากหลัง
"เซ็นทาโร่" ผู้จัดการหนุ่มร้านโดรายากิมีเรื่องราวในใจชนิดไม่อาจข้ามผ่าน กำลังประสบปัญหากับยอดขายอย่างหนัก เนื่องจากลูกค้าไม่มากเท่าหวัง เพราะโดรายากิของเขามีรสชาติแสนจะธรรมดา กระทั่ง "โทคุเอะ" หญิงชราที่มีนิ้วหงิกงอจากโรคร้ายเข้ามาสมัครเป็นลูกจ้างในร้าน และ "วาคาเนะ" ลูกค้าคนสำคัญของร้าน ซึ่งเป็นเพียงเด็กสาวในวัยมัธยม
ปฏิสัมพันธ์ของคนทั้งสามก่อเกิดเป็นพลังที่ทำให้ร้านโดรายากิที่เคยเหี่ยวเฉาเหมือนซากุระในฤดูผลัดใบ ร้างไร้ผู้คน กลับมามีชีวิตอีกครั้งในวันที่ซากุระบานสะพรั่ง "Sweet Bean Paste" เป็นนิยายที่อัดแน่นด้วยวัฒนธรรมญี่ปุ่น แต่มันทำให้คนอ่านรู้สึกอึดอัดยัดเยียดไหม...ไม่เลย...แถมยังเป็น Bestseller
ข้าวเหนียวมะม่วงของเราเงียบหายไปสักพักแล้ว ขณะที่โดรายากิยังยืนยง คงเป็นเพราะชาวญี่ปุ่นเป็นชาติที่เชี่ยวชาญในการใช้ภูมิปัญญาเก่าผสานความรู้และเทคโนโลยีใหม่อย่างแนบเนียน การผลิต Soft Power ผ่านตำนานเรื่องเล่าอาหารโบราณนานมาที่ดึงให้คนรุ่นใหม่เข้าไปรู้จักผ่าน Pop Culture ฝีมือในระดับที่ต้องเรียกว่า ญี่ปุ๊นนน ญี่ปุ่น
บรรณานุกรม
Durian Sukegawa, แปลโดย ธีราภา ธีรรัตน
สถิต. (2561). โดรายากิขนมนี้ทำด้วยใจ.
กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง.
1
Happy Fresh. (2020). ประโยชน์ของถั่ว 5 สี
สุดมหัศจรรย์ จิ๋วแต่แจ๋ว. สืบค้นเมื่อ 5
มิถุนายน 2565 จาก: https://www.happy
colors-beans-with-the-difference-of-
health-benefits/
Miharu. (2021). ถั่วแดงกับขนมญี่ปุ่น..เพราะเรา
โตมาด้วยกัน. สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2565
-japan-red-bean/
1
โฆษณา