6 มิ.ย. 2022 เวลา 04:28 • ปรัชญา
“ศีลที่ไม่ต้องรักษา
สติมันรักษาศีลเอง สมาธิ ปัญญา มันรักษาศีลเอง”
“ … สะสางกิเลสของเราเอง – ตั้งใจรักษาศีล 5 ข้อให้ดี
ศีล 5 ข้อมันจะเป็นเครื่องสู้กิเลสอย่างหยาบๆ คือจะไม่ให้เราทำผิดทางกาย ทางวาจา ด้วยอำนาจของกิเลสราคะ โทสะ โมหะ ที่มันรุนแรง
อย่างโทสะเราเกิด เราก็เกิดการไปทำร้ายร่างกายเขาก็ได้ ไปทำลายทรัพย์สินเขาก็ได้ โทสะเกิดไปแย่งชิงคนรักของเขาก็ได้ ทำลายครอบครัวของเขา เพราะโทสะ
หรือไปด่าว่าเขา โกรธเขาก็ไปด่าเขา ไปกระแนะกระแหนเขา มีให้เห็นเรื่อยๆ น่าเกลียด บางทีกระแนะกระแหน ประชดประชัน ไม่ใช่ ศีลด่างพร้อยไปเรียบร้อยแล้ว
หรือบางทีเรามีราคะก็ทำผิดศีลได้ เรามีราคะเราอยากได้สมบัติคนอื่น เราก็ไปฆ่าเขาก็ได้ ทำร้ายร่างกายเขาก็ได้ ผิดศีลข้อ 1
ไปจี้ ไปปล้น ไปขโมย ไปฉ้อโกง อันนี้ผิดศีลข้อ 2 การฉ้อโกง ในยุคนี้มันประณีต สมัยก่อนก็โกงกันดิบๆ เดี๋ยวนี้มีวิธีโกงที่ประณีตมากมาย บางทีดูแล้วดูดี
อย่างหลวงพ่อเคยอยู่ในวงราชการ ในวงรัฐวิสาหกิจ เคยเห็นนักการเมืองนี่ตัวดีเลย วิธีโกงของเขาคือกำหนดนโยบายที่แอบแฝง มีนโยบายนี้แต่แอบแฝงผลประโยชน์ของส่วนตัว
เข้าไป จะทำโน่นทำนี่เพื่อประชาชน ประชาชนก็จนอย่างเดิมหรือยิ่งกว่าเดิม พวกนี้รวยกว่าเดิม อันนี้ก็โลภก็เลยผิดศีลข้อ 2 เอาทรัพย์สินของที่ควรจะเป็นของแผ่นดิน หรือของคนส่วนใหญ่มาเป็นของตัวเอง เพราะอะไร ก็เพราะโลภ
หรือเจ้าชู้เรี่ยราดก็เพราะโลภ เพราะโลภะ บางทีปลิ้นปล้อนหลอกลวงผิดศีลข้อ 4 ก็เพราะโลภให้เขาหลงเชื่อ
ฉะนั้นตัวกิเลสนั่นล่ะมันทำให้เราทำผิดศีล ศีลเลยเป็นเครื่องข่มใจตัวเอง ถึงกิเลสมาแรงเราสู้ไม่ไหว แต่เราไม่ยอมทำผิดศีล ตั้งใจให้เด็ดขาดเลยว่าจะเป็นจะตายอย่างไร ขอรักษาศีลไว้ก่อน
ดูแล้วคนบางคนมันจะรู้สึกพวกนี้โง่ พวกถือศีลนี้โง่ โง่ก็โง่ ระยะยาวเราจะเห็นเอง พวกฉลาดนี้ลงนรกไปหมดแล้ว หรือไม่ต้องตกนรกหรอก ตอนยังไม่ตายชีวิตก็ลำบาก หลบๆ ซ่อนๆ
ฉะนั้นเราถือศีลโง่ๆ ของเราอยู่อย่างนี้ก็มีความสุข มีความสงบ มีความสบาย
ฉะนั้นเรามีศีลเพื่อจะข่มใจตัวเอง ศีลเป็นเครื่องข่มใจตัวเอง ไม่ให้ทำตามกิเลสที่มีกำลังแรงกล้า นี่เป็นการสู้กิเลสชั้นหยาบ
ส่วนสมาธินั้นเป็นการสู้กิเลสระดับกลางคือพวกนิวรณ์ นิวรณ์มันไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นราคะ โทสะ โมหะ
นิวรณ์มันเป็นความเศร้าหมองของใจ มันเป็นพื้นซ่อนอยู่ข้างในยังไม่ทำงานขึ้นมา
ถ้ามันทำงานขึ้นมา มันก็จะมาเป็นกิเลส มาเป็นอาสวะที่ซ่อนลึกๆ นิ่งๆ อยู่ เหมือนตะกอนที่อยู่ในก้นโอ่งน้ำ
สมัยก่อนมันจะมีโอ่งน้ำ ตักน้ำมาใส่เอาไว้น้ำขุ่นๆ ตักน้ำมาทิ้งไว้นานๆ มันตกตะกอนน้ำก็ใส แต่พอมีอะไรไปกระทบน้ำนิดหนึ่งกระเพื่อม
พอน้ำกระเพื่อมตะกอนนั้นก็ขึ้นมา นิวรณ์นั่นล่ะคือตะกอนกิเลสในใจเรา เรียกว่านิวรณ์
เวลาเรามีสมาธิใจเราก็นิ่ง สงบ ตั้งมั่น มันก็เหมือนโอ่งน้ำที่มันไม่มีอะไรมาทำให้น้ำกระเพื่อม ตะกอนมันก็ยังอยู่ข้างล่างแต่มันไม่ขึ้นมา
แต่ถ้าเราไม่มีสมาธิจิตเราแกว่งไปแกว่งมา ก็เหมือนเราเอามือไปกวนในตุ่มน้ำที่มีตะกอน ตะกอนมันก็ขึ้นมาเป็นอาสวกิเลสขึ้นมา
เพราะฉะนั้นเราฝึกสมาธิทุกวันควรจะทำ ฝึกสมาธิมันจะข่มให้นิวรณ์มันตกตะกอนไม่ขึ้นมา ถ้ามันขึ้นมามันจะมากลายเป็นกิเลส กิเลสมันเคยชินมันย้อมใจเรา เรียกอาสวกิเลส
ฉะนั้นศีลเป็นเครื่องข่มกิเลสอย่างหยาบ
สมาธิเป็นเครื่องข่มกิเลสอย่างกลาง
คือข่มนิวรณ์ทั้งหลาย
ไปดูเอาเองนิวรณ์มี 5 ตัว
กามฉันทนิวรณ์
ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
พยาปาทะ
ความยินร้าย ไม่พออกพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
อุทธัจจกุกกุจจะ
ความฟุ้งซ่าน ความรำคาญใจ
วิจิกิจฉา
ความลังเลสงสัย
ถีนมิทธะ
ความซึมเซา เซื่องซึม นี้เป็นตัวนิวรณ์
ถ้ายังไม่มีการกระเพื่อม จิตใจยังไม่กระเพื่อม นิวรณ์ก็ไม่ขึ้นมาทำงาน ตุ่มน้ำมีน้ำอยู่ในตุ่ม น้ำกระเพื่อมขึ้นเพราะมีการกระทบ เช่น เราเอามือไปแกว่ง
จิตเรามีนิวรณ์ซ่อนอยู่ยังไม่ทำงานขึ้นมา แต่มีการกระทบคือมีผัสสะ การกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์ปุ๊บ ใจก็กระเทือนกระเพื่อมขึ้นมา
ใจกระเพื่อมก็คือน้ำในตุ่มกระเทือนขึ้นมาแล้ว นิวรณ์ก็ขึ้นมาปรุงกลายเป็นกิเลสหยาบๆ เข้ามาครอบงำใจของเราอีกทีหนึ่ง
ศีลที่ไม่ต้องรักษา
ศีลนั้นต้องตั้งใจรักษาไว้ก่อน เบื้องต้นตั้งใจรักษา แต่เบื้องปลายถ้าสติเราดีจะเกิดศีลอัตโนมัติขึ้นมา คือไม่ต้องเจตนารักษา จิตที่มันฝึกดีแล้วมันมีศีลอัตโนมัติขึ้นมาเอง
อย่างพอกิเลสเกิดสติระลึกปั๊บ กิเลสดับไม่ผิดศีลแล้ว จะไม่ทำผิดศีลแล้ว อย่างนี้เราถือศีลได้ดี ถือศีลโดยไม่ต้องถือ ฝึกสติให้ดี แต่เบื้องต้นต้องเจตนางดเว้นการทำบาปอกุศลไว้ก่อน
ฉะนั้นตัวเจตนาเป็นการกระทำกรรม แต่เจตนางดเว้น เรียกเจตนาวิรัติ เจตนางดเว้นการทำชั่วนั่นล่ะคือตัวศีล
ต่อไปไม่ได้เจตนา สติเร็ว พอกิเลสเกิดปุ๊บรู้ปั๊บ มันเกิดศีลที่ประณีตขึ้นไป
ตาเห็นรูปจิตเริ่มยินดียินร้ายขึ้นมารู้ทันแล้ว สติรู้ทันแล้ว จิตก็ไม่เกิดกิเลสที่เกิดจากผัสสะทางตา
หูได้ยินเสียงเกิดกิเลสในใจ สติรู้ทันกิเลสก็จะดับ กิเลสดับ หูได้ยินเสียงใจก็ไม่กระเพื่อม
จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจก็ไม่กระเพื่อม ศีลของเราก็อัตโนมัติขึ้นมา
ส่วนเรื่องสมาธิก็ต้องฝึก ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องฝึกมี 3 อัน
คือเรื่องของฝึกอย่างไรให้มีศีล
ฝึกอย่างไรให้เกิดสมาธิ
ฝึกอย่างไรให้เกิดปัญญา
การเรียนรู้ที่จะให้เกิดศีลเรียกว่า อธิศีลสิกขา
การเรียนรู้ที่จะให้เกิดสมาธิที่ถูกต้องเรียกว่า อธิจิตตสิกขา
เรียนเรื่องจิตแล้วจะได้สมาธิ แล้วก็อธิปัญญาสิกขา
เรียนว่าทำอย่างไรจะเกิดปัญญา
พวกเราทุกคนเป็นนักเรียน ผู้ที่พ้นจากการเป็นนักเรียนคือพระอรหันต์เท่านั้น นอกนั้นคือนักเรียน
พวกเราปุถุชนยิ่งต้องเรียนให้หนัก เรียกว่าพวกยังไม่เข้าโรงเรียนจริงเลย พวกเตรียมอนุบาลยังไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาจริง
ได้โสดาบันถึงจะเป็นนักเรียนจริง ถ้ายังไม่ได้โสดาบันยังไม่ใช่นักเรียนตัวจริงหรอก
นักเรียนเรียกเป็น เสขบุคคล เสขบุคคลก็คือพระอริยบุคลล ระดับโสดาบัน สกทาคามี อนาคามี
ส่วนพระอรหันต์นั้นเรียกว่า อเสขบุคคล ผู้ไม่ต้องศึกษาอีกแล้ว ไม่ต้องทำอะไรแล้ว มันอัตโนมัติเอง
อย่างตรงนี้พวกคนก็สับสน ทำไมพระอรหันต์หลงลืม หลงลืมมันเป็นเรื่องของขันธ์ ขันธ์ 5 อย่างไรก็ไม่เที่ยง เพราะขันธ์ 5 เป็นสังขาร
“สัพเพสังขารา อนิจจา สัพเพสังขารา ทุกขา” อย่างไรก็ไม่เที่ยง อย่างไรก็ทนอยู่ไม่ได้ แต่จิตที่ฝึกดีแล้ว รู้แจ้งแทงตลอดอริยสัจแล้ว มันแยกตัวเองออกไปจากขันธ์ มันพราก
ในพระไตรปิฎกใช้คำว่า มันพรากออกจากขันธ์
อย่างพระอรหันต์ท่านยังมีกำลังอยู่ ท่านก็เจริญสติปัฏฐาน พวกเราเจริญสติปัฏฐานเพื่อให้เกิดสติ เกิดปัญญา แต่พระอรหันต์ท่านก็เจริญสติปัฏฐานอยู่ แล้วต่อท้ายด้วยประโยคที่ว่า “จิตพรากออกจากขันธ์” ไปดูในมหาสติปัฏฐานสูตร
ถ้าเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ทำไปเพื่อความมีสติ หรือเพื่อความมีปัญญา แต่ทำเป็นเครื่องอยู่แล้วจิตมันพรากจากขันธ์
ขันธ์มันก็เสื่อมไป แต่จิตที่พรากจากขันธ์แล้วมันไม่ได้เสื่อมตามไปด้วย
อย่างจิตดวงนั้นไม่กลับมาโง่ ไม่กลับมาเห็นว่าขันธ์ 5 เป็นของดีของวิเศษ จิตที่มันพรากออกไปแล้วมันไม่เห็นหรอก
ถึงสมองจะฝ่อไปหมดแล้ว แต่จิตดวงนี้ก็จะไม่เข้ามาเกาะขันธ์ ไม่เข้ามายึดขันธ์อีกแล้ว เพราะจิตนั้นพรากจากขันธ์
แต่ขันธ์เสื่อมไหม ขันธ์เสื่อมแน่นอนอย่างไรก็เสื่อม ทำไมมันหลุดออกมาเรื่องนี้ได้ ค่อยๆ ฝึก เรียนตัวเอง มีศีลในเบื้องต้น ก็ต้องตั้งใจงดเว้นบาปอกุศล 5 ข้อนั่นล่ะ
ต่อมาก็ค่อยฝึกสติตัวเองว่องไวขึ้น กิเลสเกิดปุ๊บรู้ปั๊บไม่ผิดศีลหรอก อันนี้เราจะมีศีลที่ชั้นสูงขึ้นมา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์แล้วจิตไม่กระเพื่อมหวั่นไหว เรียกอินทรียสังวรศีล
ศีลก็พัฒนาไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายมันกลายเป็นศีลที่พระอริยเจ้าทั้งหลายชมเชย คือศีลที่ไม่ต้องรักษา สติมันรักษาศีลเอง สมาธิ ปัญญา มันรักษาศีลเอง …”
1
.
หลวงพ่อปราโมทย์​ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
28 พฤษภาคม 2565
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา