8 มิ.ย. 2022 เวลา 05:00 • การศึกษา
Ep. 9 สัมผัสหัวใจของเปียงยาง
รถไฟสีแดง-เขียว จะหยุดหรือจะไปดี?
วันที่ 27 สิงหาคม 2528 วันนี้ ล่ามตุ้ยนุ้ยมาขอพาสปอร์ตของพวกเราไป พร้อมกับขอรูป 2 ใบ บอกว่าจะต้องเอาไปให้แผนกตรวจคนเข้าเมืองประทับตรา แล้วจะเอาไปทำวีซ่าเข้าเมืองจีนให้พวกเรา ทำให้ 4 คนในคณะคือ พี่จินต์ พี่แมว คุณหมอ และคุณนันต์เลยเดือดร้อน เพราะมีรูปไม่พอ ต้องขอคุณหลัง ผู้มีอำนาจในการยืดหยุ่นโปรแกรมของเราให้พาไปแวะร้านถ่ายรูปด้วย
9 โมงเช้า เราออกเดินทางไปในเมือง สองข้างทาง มีนักเรียนตัวน้อยๆ ในชุดฟอร์ม ผูกผ้าพันคอสีแดง คาดศีรษะด้วยดอกไม้ผ้าดอกโต ต่างพากันโบกมือให้เราเมื่อรถแล่นผ่าน เข้าใจว่าครูคงสอนกันมาว่า ถ้าเห็นรถมีป้ายติดดาวไม่ว่าจะสีอะไรก็ให้โบกมือสวัสดีกระมัง แรกๆ พวกเราไม่ทันได้สังเกต ก็ไม่มีใครโบกมือตอบหนูน้อย แต่ตอนหลังชักรู้สึกว่า เป็นหน้าที่ของเราเหมือนกันที่จะต้องตอบสนองการทักทายอันบริสุทธิ์นั้น
เราจึงชมวิวข้างทางสลับกับการคอยโบกมือให้หนูน้อยเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอไปด้วย นายของฟองน้ำเองก็คอยปฏิบัติหน้าที่โบกมือให้หนูน้อยนี้อย่างสม่ำเสมอ โดยหารู้ไม่ว่า พรรคพวกในรถมินิบัสที่ตามหลังมา พากันหัวเราะขำนายกันใหญ่
รถแล่นผ่านนาข้าวเหลืองอร่าม ซึ่งบางแห่งก็เริ่มเก็บเกี่ยวแล้ว และชาวนากำลังลงพืชผักแทนที่ มีทหารมาดูแลการปลูกแห่งละ 2–3 คน บางแห่งเป็นไร่ไม้ดอกสีต่างๆ มีเรือนกระจกใหญ่สำหรับปลูกไม้ดอกในฤดูหนาวด้วย ดินเขาดีเพราะมีระบบชลประทานทั่วถึง แม้ในที่อยู่ห่างไกล ไม่ว่าในป่า หรือบนเขา เท่าที่เราผ่าน ...
และที่ฟองน้ำเห็นแปลกก็คือ ทุกหนทุกแห่งที่ผ่าน จะมีป้ายคำขวัญแผ่นมหึมาติดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นที่ประตูโรงเรียน ตามตึกที่ทำการรัฐบาล ตามสี่แยก ตามสถานีรถไฟ ตามตึกของบริษัทห้างร้าน หรือแม้แต่กลางทุ่งนาก็มี! เอกลักษณ์ของป้ายเหล่านี้เหมือนกันหมด คือเป็นแผ่นป้ายพื้นแดง เขียนตัวอักษรขนาดใหญ่มากสีขาว ทุกประโยคจะจบด้วยเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!)
ตอนกลางคืนก็จะเปิดไฟส่องที่ป้ายเพื่อให้อ่านข้อความได้ตลอดเวลา เรียกได้ว่าป้ายคำขวัญเหล่านี้จะต้องติดตาเตือนใจชาวพาราทั้งปวง ทั้งกลางวันกลางคืน 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว
นายขอให้ตุ้ยนุ้ยที่นั่งคู่คนขับรถตลอดเวลา แปลแผ่นป้ายบางแผ่นพอเป็นตัวอย่าง ดังนี้
“Let us live in our way !”
“Long Live the Great Leader !”
“Let us hand over the Reunification !”
“Korea is ONE !”
“Let us all split campagne with the revolution idea !”
ถึงชานเมืองเปียงยางก็เจอจุดตรวจคนเข้าเมือง (ซึ่งไม่เกี่ยวกับพวกเรา) คนนอกเมืองทุกคนที่จะเข้ามาในนครหลวงจะต้องมีใบผ่านด่าน ในทำนองเดียวกัน หากคนกรุงจะออกบ้านนอก ก็ต้องมีใบผ่านด่านเช่นเดียวกัน การจำกัดการสัญจรไปมานี่กระมังที่ทำให้เปียงยางเป็นเมืองหลวงที่มีคนน้อยจัง ฟองน้ำไม่ทราบตัวเลขที่แท้จริงของประชากรเมืองนี้ เพราะนายถามตุ้ยนุ้ยแล้วเขาก็อ้อมแอ้มว่า จำตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้ (คงไม่อยากบอกมากกว่า)
รถเมล์ไฟฟ้าจะเดินจากชานเมือง ผ่านทะลุใจกลางเมืองไปยังทิศทางตรงข้าม มีกี่สายตุ้ยนุ้ยก็บอกไม่ทราบอีกนั่นแหละ ตอนหลังนายเลยหมดแรง เลิกถามไปเอง รอฟังแต่สิ่งที่เขาอยากบอกอยากเล่าเท่านั้น
นายบ่นเปรย ๆ กับฟองน้ำว่า อยู่เมืองนี้ไม่ควรเป็นคนขี้สงสัยให้มากเรื่อง ต้องมองเอง หาความกระจ่างเอาเอง เพราะคนที่นี่เขาจะอธิบายอะไรๆ แก่เราในขีดจำกัดตามที่ได้รับมอบหมายมาเท่านั้น อันไหนที่มันเกินเลยไปจากคำสั่ง ถึงถามเขาก็จะไม่ตอบเอาดื้อ ๆ
ถนนในเมืองว่างและปลอดคน ด้วยไม่มีแท็กซี่หรือเก๋งส่วนตัว การที่จะมีรถติดในแต่ละวัน คงต้องเป็นปรากฏการณ์พิเศษจริงๆ สำหรับรถป้ายติดดาวทั้งหลายดูจะแล่นอย่างค่อนข้างมีอภิสิทธิ์ เพราะคนขับของเราขับเร็วมาก และพอถึงสี่แยกก็จะกระพริบไฟวาบๆ เป็นทำนองว่าขอตูไปก่อนนะ แทบจะไม่ชะลอเลย
พวกเราต้องมานั่งวิจารณ์การขับรถของทั้ง 3 คนทุกวัน เพื่อประเมินดูว่า วันนี้เราอยู่รอดปลอดภัยจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งน่าจะเกิด แต่โชคดีที่ไม่เกิดนั้น ตอนไหน เวลาใด หรือหวาดเสียวแค่ไหน
แล้วเราก็สรุปอย่างเห็นใจคนขับรถของเราทั้งสามว่า ในเมื่อเขาไม่เคยพบบทเรียนจากของจริงเหมือนคนขับที่กรุงเทพ เขาขับได้แค่นี้ก็นับว่าเก๋แล้ว
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยที่ทำให้เราเพิ่มความหวาดเสียวซึ่งไม่ใช่อยู่ที่คนขับ แต่อยู่ที่บรรดาคนข้ามถนนด้วย คือเวลาจะข้ามถนน เขาจะตั้งท่าแบบนักวิ่งในลู่จะออกสตาร์ท มองขวา-ซ้ายนิดหนี่ง แล้วพุ่งปราดออกมาเลยแล้ววิ่งไปยังฝั่งตรงข้าม แบบนี้รถที่ขับมาเร็ว (เพราะถนนมันว่างนี่) จะไม่เบรคเสียจนเสียงดังสนั่นได้อย่างไร ?
และคุณเชื่อไหมว่า เมืองนี้เขาไม่มีไฟเขียวไฟแดง ? ตามสี่แยกจะมีจราจรหญิงบ้าง ชายบ้าง ผลัดเวรกันมายืนถือไม้พลองสีขาวให้สัญญานอยู่ในพื้นที่ที่หมายไว้เป็นรูปวงกลมกลางสี่แยก ถ้าเป็นตอนกลางคืน ก็จะถือไม้พลองเป็นแก้วใสติดไฟสีแดง เครื่องแบบตำรวจคือเสื้อขาว กางเกงหรือกระโปรงสีฟ้าเข้มเกือบน้ำเงิน
นายมักเพลินดูท่าทางของจราจรทุกสี่แยก จนสรุปความเข้าใจได้ว่า ถ้าจราจรยืนเฉย ๆ แปลว่าทางสะดวกทั้ง 4 ด้าน ผ่านได้เลย ถ้าเขาชูไม้พลองเหนือศีรษะ แปลว่ารถจากทั้ง 4 ด้านต้องชะลอหรือหยุดรอ จากนั้น ถ้าเขาหันหน้าไปทางรถคันใดแล้วชี้ไม้พลองไปทางไหน แปลว่ารถคันนั้นมีสิทธิแล่นไปก่อนได้ ตามทิศทางของไม้พลองนี้ ทั้งหมดนี้ ดูถ้อยทีถ้อยอาศัยกันดีระหว่างฝ่ายผู้ขับกับตำรวจจราจร
อนุสรณ์สถานแห่งแรกที่พาไปชมคือ ประตูชัย มีไกด์สาวรอรับเราอยู่แล้วพร้อมกับโทรโข่ง ไม่ทราบว่าอาชีพไกด์ที่นี่สงวนไว้ให้แต่ผู้หญิงหรือเปล่า เพราะเราไม่เคยเจอไกด์ผู้ชายเลย ในทำนองเดียวกัน อาชีพล่าม ก็คงจำกัดสำหรับผู้ชายเท่านั้น ประตูชัยแห่งนี้ ท่าน คิม จอง อิล บัญชาการสร้าง ในวาระเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดของท่านบิดา คิม อิล ซุง ครบ 70 ปี เมื่อวันที่ 15 เมษายน 1982
ประตูชัยมีความสูง 60 เมตร กว้าง 52.5 เมตร เด่นอยู่บนเชิงเขามอรัน (Moran Hill) กลางกรุงเปียงยาง สร้างด้วยหินแกรนิตก้อนโตสีเทาออกขาวที่คัดสรรอย่างดี แล้วนำมาตกแต่งกว่า 10,500 ก้อน (เนื้อที่ 27 เปอร์เซ็นต์ของประเทศเป็นหินแกรนิต) ด้านซ้ายมือเป็นรูปสลักนูนเขียนว่า ‘ขอท่านผู้นำจงเจริญ’
ด้านขวาเป็นรูปเกี่ยวกับความสำเร็จของการต่อต้านญี่ปุ่น ด้านหลังเป็นภาพ “ภูเขาเป้กตู” ภูเขาศักดิ์สิทธิ์อันเป็นสัญลักษณ์แห่งการปฏิวัติและต่อสู้เพื่ออิสรภาพของเกาหลี ภูเขาของจริงนั้นตั้งอยู่ทางเหนือ ติดชายแดนจีน เป็นภูเขาที่สูงที่สุดของประเทศ (2,744 เมตร)
มีตัวเลข 1925 – 1945 ติดไว้เห็นเด่นชัด ไกด์สาวอธิบายว่า เพื่อแสดงถึงปีที่ท่าน คิม อิล ซุง เริ่มการต่อสู้ จนถึงปีที่ท่านได้รับชัยชนะ และท่านคืนกลับมาจากจีนอย่างผู้ชนะ
กรอบโค้งของประตูชัยแต่ละด้าน สลักรูปดอกอาเซเลีย ดอกไม้สัญลักษณ์ประจำตัวท่านประธานาธิบดี ประตูละ 70 ดอก เท่าอายุของท่านในวันฉลองชัยพอดี
ตรงข้ามกับประตูชัย คือสนามกีฬาใหญ่ จุคนได้ 150,000 คน
คณะของเราข้ามสะพานมายังอีกฝั่งหนี่งของแม่น้ำแตดอง เพื่อไปชมหอจูเช่ อนุสาวรีย์นี้ก็เช่นกัน สร้างโดยความคิดริเริ่มของท่าน คิม จอง อิล ด้วยจุดประสงค์จะให้เป็นอนุสรณ์สำหรับวาระครบ 70 ปีของท่านบิดา และเพื่อรำลึกถึงความสำเร็จในแนวทางปฏิวัติของท่านตามอุดมการณ์จูเช่ ที่ท่านเป็นผู้ริเริ่ม หอนี้ จะเป็นสิ่งเตือนใจให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักและยืนหยัดในอุดมการณ์นี้ด้วย
มีสะพานข้ามแม่น้ำอยู่ไม่ไกลกันนักหลายสะพาน แต่สะพานที่เราข้ามนั้นอยู่ติดหอจูเช่เลยทีเดียว สามารถมองเห็นหอซึ่งตั้งเด่นอยู่บนลานหินแกรนิตได้อย่างใกล้ชิดชัดเจน ดูสวยสง่าและสูงตระหง่าน เมื่อมองจากกลางแม่น้ำเบื้องล่าง หน้าหอจูเช่ มีน้ำพุพวยพุ่งคู่กัน 2 แห่ง สูงถึง 150 เมตร ในแม่น้ำมีเรือสำราญและเรือกรรเชียงอยู่ประปราย
หอจูเช่นี้สูง 170 เมตร ทำด้วยหินแกรนิตขาวจำนวน 25,500 ก้อน สูงเด่นอยู่บนลานกว้างที่ปูด้วยหินแกรนิตเช่นกัน มียอดเรียวสร้างเป็นรูปคบเพลิงทำด้วยแก้วสีแดงสด เฉพาะตัวคบเพลิงสูง 20 เมตร หนักถึง 46 ตัน เมื่อมองในยามค่ำคืนจะรู้สึกเหมือนกับคบเพลิงนี้มีเปลวไฟไหวอยู่ตลอดเวลา ด้วยเขาใช้เทคนิคการเล่นไฟเข้าช่วย ด้านหน้าและด้านหลังของหอ เขียนคำว่า “จูเช่” ด้วยอักษรสีทองขนาดใหญ่มาก มองเห็นเด่นแต่ไกล
แผ่นหินอ่อนสลักคำนิยมเกี่ยวกับ 'จูเช่'ไอเดีย
เข้าไปข้างในพบว่า ฐานของหอเป็นห้องทรงกลม มีเก้าอี้นวมพร้อมเบาะรองนั่ง และผ้ารองศีรษะกับท้าวแขนปักสวยตามเคยวางคลุมอยู่ด้วย ตรงกลางห้องเป็นลิฟต์ซึ่งคงมีตัวเดียว ต้องนั่งรอคิวกัน แต่เราก็ไม่เดือดร้อนอะไร เพราะห้องติดแอร์เย็นฉ่ำ เก้าอี้นวมก็นุ่ม และมีน้ำหวานมาเสิร์ฟแก้คอแห้งถึงที่
ฟองน้ำสังเกตว่า ที่ประตูชัยก็ดี ที่หอจูเช่นี้ก็ดี ล้วนเป็นจุดพาอาคันตุกะต่างชาติมาชมทั้งนั้น แต่ละกลุ่มจะมีล่ามประจำติดตามตลอด แต่เขามีกรรมวิธีสับหลีกได้ดีมาก ไม่ว่าจะไปชมที่ไหน เราจะไม่ค่อยเห็นแขกกลุ่มอื่นมาชมพร้อม ๆ กันกับเรา
ลิฟต์พาเราขึ้นไปชมวิว 4 ด้านที่ใต้ฐานของคบเพลิงนั่นเอง เมืองเปียงยางนี้ เมื่อมองจาก ‘ตาของนก’ แล้ว ช่างสวยสงบเหมือนเมืองตุ๊กตาเกาหลีที่มีกล่องไม้ขีดล้อมรอบ แซมด้วยความเขียวของหมู่ไม้ การรักษาบ้านเมืองให้เป็นสีเขียวนี้ เป็นสิ่งที่ฟองน้ำอดชมเขาไม่ได้เลย
ก่อนอำลา ไกด์ติดเข็มจูเช่รูปคบเพลิงให้พวกเราทุกคนเป็นที่ระลึก และเพื่อเป็นพยานว่า พวกที่ติดเข็มนี้ได้มาเห็นและชื่นชมหอจูเช่นี้แล้ว
คณะเราเซ็นสมุดเยี่ยมเป็นภาษาอังกฤษ และล่ามก็เขียนคำแปลเป็นภาษาเกาหลีกำกับไว้ทันที
ถัดจากการขึ้นหอสูงแล้ว เขาก็พาเรามุดลงดินบ้าง เรากลับมาขึ้นรถ นั่งผ่านตัวเมืองอยู่นานพอสมควร รถก็มาจอดที่ต้นทางสถานีรถไฟใต้ดิน ตัวสถานีสร้างเป็นทรงกลมชั้นเดียว มีประตูเข้า-ออกหลายทาง เมื่อเราเข้าไปถึง ก็มีพนักงานหญิงในเครื่องแบบมาเชิญให้ลงบันไดเลื่อนทางพิเศษซึ่งกั้นไว้ด้วยด้วยเชือกกำมะหยี่เส้นโตสีแดง ห้อยอยู่บนเสาทองเหลืองเตี้ย ๆ
บันไดเลื่อนนี้ชันมาก ลึกถึง 100 เมตร ต้องยืนเมื่อยและหวาดเสียวหน่อย ๆ กว่าจะถึงพื้นใต้ดินที่บรรยากาศอลังการมาก
ทางการคงหมดค่าก่อสร้างและตกแต่งไปหลายอัฐ เพราะสถานีรถใต้ดินชื่อ ‘สถานีปฏิวัติ’ นี้ ช่างเหมือนกับยกอุทยานมาไว้ใต้พิภพเราดีๆ นี่เอง ออกจะหรูเกินความจำเป็นด้วยโคมระย้า กำแพง 2 ข้างเป็นรูปสลักเรื่องราวการแอนตี้ญี่ปุ่น ตรงสุดผนังของชานชาลา มีรูปปั้นหินอ่อนสีขาวของท่าน คิม อิล ซุง ในท่านั่ง เห็นถนัดชัดเจนด้วยแสงส่องของสปอตไลท์
มีประชาชนรอขึ้นรถไฟมากพอสมควร แต่คุณหลังผู้ระแวดระวังเสมอภายใต้ท่าทีอันสงบและเป็นมิตรนั้น มักจะคอยต้อนพวกเราไม่ให้หลงฝูงออกไปปะปนกับผู้อื่นนอกคณะ พนักงานขับรถไฟเองก็คอยดูแลเอาใจใส่ให้เราขึ้นครบถ้วนด้วยตัวเองก่อน แล้วจึงกดปุ่มปิดประตู คนอื่นๆ พากันจ้องมองพวกเราอย่างสงสัยใคร่รู้ว่า เป็นเผ่าไหนกันแน่ ถึงได้ส่งภาษาประหลาด ๆ กัน …
นั่งไปได้เพียงสถานีเดียว เขาก็ให้ลงเพื่อต่อสายใหม่ สถานีนี้ชื่อ National Buildings ประดับผนังสวยด้วยภาพต่อทำด้วยโมเสคเป็นสถานที่สำคัญๆ ต่าง ๆ อาทิเช่น ภูเขาเป้กตู และ หอสมุดแห่งชาติ มีเสาหินอ่อนใหญ่ขนาด 3 คนโอบ เพดานประดับโคมระย้าประกายวาววับ มีภาพของท่าน คิม อิล ซุง กำลังชี้แนะเรื่องการปรับปรุงแม่น้ำให้สะอาด และที่ผนังอีกด้านก็มีภาพแม่น้ำแตดองที่มีเขื่อนกั้นเพื่อทำไฟฟ้าและชลประทาน
1
นั่งอีกสถานีเดียวตามเคยก็ถูกเชิญให้ลงที่สถานีชื่อ Rich Harvest Station ที่นี่จัดบรรยากาศให้โยงไปถึงเรื่องเกษตรกรรมหมด เป็นต้นว่า โคมไฟรูปพวงองุ่น ฝาผนังวาดภาพผักผลไม้ต่าง ๆ และภาพท้องไร่ท้องนาใส่กรอบโมเสคใหญ่ แยกกันอยู่เป็นอย่าง ๆ และแน่นอนที่ขาดไม่ได้ก็คือ รูปท่านคิม อิล ซุง ยืนผึ่งผายอยู่ในทุ่งนาสีทอง ห้อมล้อมด้วยชาวนาและเด็ก ๆ
ค่ารถไฟใต้ดินเท่ากันกับรถเมล์ คือ 10 jon ต่อเที่ยว (1 จอน ประมาณ 1.20 บาท)
บรรยากาศในสถานีรถไฟใต้ดินกรุงเปียงยาง
(ขอขอบคุณภาพจาก Elliot Davies/Earth Nutshell :ภาพบนซ้ายและภาพล่าง
https://commons.wikipedia.org:ภาพบนขวา)
เราโผล่พ้นดินที่สถานีนี้ด้วยบันไดเลื่อนอันสูงชันเช่นเคย ที่หน้าสถานี รถของเราทั้ง 3 คัน
จอดรออยู่แล้วที่เชิงบันได ต้องชมจริงๆ เรื่องการประสานงาน (แบบไม่ให้เรารู้เลย) ไม่ว่าจะไปจุดใด ที่ไหน ทั้งคนรถและไกด์กับเจ้าของสถานที่นั้นๆ จะพร้อมอยู่เสมอ ไม่เคยต้องให้รอเลยสักครั้ง
ช่างภาพเกาหลีเจ้าเก่า ติดตามไปถ่ายรูปพวกเราเช่นเคย
ระหว่างทางกลับไปทานอาหารกลางวันที่บ้านมารัม ตุ้ยนุ้ยก็บรรเลงเพลงกล่อมเราเกี่ยวกับท่าน คิม จอง อิล บุตรชายผู้เป็นทายาททางการเมือง
“ท่าน คิม จอง อิล Dear Leader ของเราเป็นผู้มีสายตากว้างไกล ทำอะไรแทนบิดาของท่านได้หมด ท่านเรียนจบรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย คิม อิล ซุง และท่านก็เก่งทางประวัติศาสตร์และปรัชญาด้วย ท่านปฏิเสธคำเชิญให้ไปเรียนต่อที่รัสเซีย เพราะเห็นว่าเมืองเกาหลีเรามีพร้อมทุกอย่าง ไม่จำเป็นต้องไปเรียนต่างประเทศ
ต่อมาท่านก็มาสนใจศึกษาด้านศิลปะ อาจารย์ชมว่าท่านมีหัวทุกด้าน ครูสถาปัตย์ก็ทึ่งไอเดียออกแบบของท่าน ครูดนตรีก็ว่ามีพรสวรรค์ โดยเฉพาะเปียโนท่านเล่นแจ๋วมาก ...
นี่ไม่ใช่เพราะท่านเป็นลูกประธานาธิบดีนะ แต่ท่านเป็นคนฉลาดโดยเนื้อแท้ ไม่ว่าจะทำอะไร จะสร้างอะไร ถ้าท่านเป็นผู้ให้แนวชี้แนะละก็ ทุกอย่างจะเสร็จเร็วและดีเยี่ยม ...(ตุ้ยนุ้ยชี้มือไปที่โรงละครแห่งชาติที่รถแล่นผ่านพอดี) และว่า โรงละครนี้ ท่านใช้เวลา 1 ปี แทนที่จะเป็น 10 ปี ก็บงการสร้างจนเสร็จ! ”
“เมื่อปี 1982 มีการประชุมใหญ่ครั้งที่ 6 ของพรรคคนงาน (หมายเหตุผู้เรียบเรียง : ต่อมาภายหลังเรียกชื่อเป็น 'พรรคแรงงาน') ได้มีการลงมติเป็นเอกฉันท์จากผู้แทนสมาชิกทั่วประเทศ 3,000 คน เลือกท่าน คิม จอง อิล เป็นทายาททางการเมืองของท่านประธานาธิบดี ผู้เป็น Great Leader ของพวกเรา ปกติแล้ว Dear Leader จะไม่ค่อยปรากฏตัวในที่สาธารณะบ่อยนัก
ในการประชุมใหญ่ครั้งนั้นท่านผอมมาก จึงมีคนเขียนจดหมายมาต่อว่าทส. ของท่านว่าไม่ดูแลสุขภาพเดียร์ลีดเดอร์ให้ดี ... แต่เดี๋ยวนี้ท่านรูปร่างสมบูรณ์ดีแล้ว ... คนเกาหลีรักท่านมาก จึงเรียกท่านว่า เดียร์ลีดเดอร์ ...”
ตุ้ยนุ้ยพากย์เสียเหนื่อยอยู่คนเดียวจนถึงบ้านมารัม
โปรดติดตามตอนต่อไป……….

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา